โควิด JN.1 สายพันธุ์ย่อยตัวใหม่ของโอมิครอน กำลังระบาดในหลายประเทศทั่วโลก และจะกลายเป็นโควิดสายพันธุ์หลักในประเทศไทย แต่ยังไม่ทันไรก็ต้องเตรียมรับมือกับโควิดโอมิครอนกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ BA.2.X หลังพบผู้ติดเชื้อ 8 รายในแอฟริกาใต้ และคาดกันว่าจะกลายพันธุ์มากที่สุดในปี 2567 เข้ามาแข่งกับโควิด JN.1

ล่าสุดฐานข้อมูลโควิดโลกจีเสส (GISAID) ได้เผยแพร่รหัสพันธุกรรมของโควิดโอมิครอน BA.2.X ซึ่งถูกตั้งชื่ออย่างไม่เป็นทางการ มีการแตกกิ่งวิวัฒนาการโดยตรงมาจากโอมิครอนบรรพบุรุษดั้งเดิมตระกูล BA.2 ไม่ได้กลายพันธุ์มาจากโอมิครอน BA.2.86 หรือ JN.1 โดยพบว่ามีการกลายพันธุ์ทั้งจีโนมต่างจากโอมิครอน BA.2 กว่า 100 ตำแหน่ง และกลายพันธุ์ส่วนหนามต่างจากโอมิครอน BA.2 มากกว่า 30 ตำแหน่ง

เริ่มในแอฟริกา หวั่นลามไปทั่วโลก เหมือนโอมิครอน

การกลายพันธุ์ของโควิดต้องติดตามอย่างเนื่อง เพื่อการเตรียมพร้อม ทำให้ "ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์" หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ต้องออกมาเตือนเป็นระยะๆ ไม่ต่างจากระบบเตือนภัยสึนามิ จากการถอดรหัสพันธุกรรมโควิด ติดตามการกลายพันธุ์ เพื่อวิเคราะห์ความรวดเร็วของการแพร่เชื้อ และความรุนแรงของอาการ ในการจะลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นได้

...

แม้ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลว่า โควิดโอมิครอน BA.2.X สามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันและจับกับผิวเซลล์ในร่างกายได้ดี หรือแย่กว่าโอมิครอน JN.1 หรือไม่ แต่หากย้อนไปในอดีตการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน เริ่มจากในแอฟริกาใต้ ก่อนระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ซึ่งแตกต่างกับสายพันธุ์เดลตาค่อนข้างมาก เช่นเดียวกับขณะนี้พบโควิดโอมิครอน BA.2.X ในแอฟริกาใต้ เหมือนกับประวัติศาสตร์ย้อนกลับมาอีก ทำให้ตั้งข้อสันนิษฐานเป็นเพราะแอฟริกาใต้ มีป่าที่มีสัตว์รังโรคเป็นจำนวนมาก และไวรัสโควิดได้พัฒนาตัวเองออกเป็นหลายๆ สายพันธุ์

“เมื่อโควิดมีการพัฒนาสักพัก ก็เริ่มสู้กับภูมิคุ้มกันไม่ได้ ก็ต้องกลับไปสายพันธุ์ดั้งเดิมรุ่นบรรพบุรุษ ยังหลงเหลือในสัตว์รังโรคในป่าแอฟริกาใต้ ไม่ได้กลายพันธุ์จากโอมิครอนรุ่นลูกจาก BA.2.86 มาเป็นสายพันธุ์ JN.1 แต่โอมิครอน BA.2.X กลายพันธุ์มาจากบรรพบุรุษดั้งเดิม BA.2 ในแอฟริกาใต้ และนักวิทยาศาสตร์ ก็มีระบบเตือนภัยจากข้อมูลของจีเสส มีซอฟต์แวร์ในการวิเคราะห์ว่าโควิดสายพันธุ์นี้มาจากตัวไหนบ้าง จนมาเจอโอมิครอน BA.2.X มีการกลายพันธุ์มากที่สุด มากกว่า BA.2.86 และ JN.1”

ระวังโอมิครอน BA.2.X กลายพันธุ์มากกว่าปกติ

ปัจจุบันเพิ่งพบผู้ติดเชื้อโอมิครอน BA.2.X ในแอฟริกาใต้จำนวน 8 ราย ก็ต้องออกมาเตือนว่ามีการกลายพันธุ์มากกว่าปกติ ส่วนจะก่อให้เกิดอาการรุนแรงหรือไม่ ขณะนี้นักวิทยาศาสตร์ได้นำเชื้อไปเพาะในหนูทดลอง เพื่อดูการทำลายเซลล์ปอดว่ามีมากน้อยเพียงใด คาดว่าอีก 1 สัปดาห์น่าจะรู้ถึงความรุนแรง ขณะที่โอมิครอน JN.1 ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่าไม่ได้แตกต่างจากสายพันธุ์อื่น แต่ถ้าโอมิครอน BA.2.X เหมือนสายพันธุ์โอมิครอนทั่วไป ก็จะแพร่เชื้อรวดเร็ว จากนั้นจะเบาบางลง อย่างสายพันธุ์ XBB, EG.5.1, BA.2.86 และ JN.1 ก็กลายพันธุ์ไม่นาน

“ตอนหลังเหมือนภูมิคุ้มกันในร่างกายของเรา ก็จะรู้ทันการกลายพันธุ์ของโควิด เพราะว่าเวลาเราติดเชื้อ หรือฉีดวัคซีน ก็จะมีภูมิคุ้มกันสามารถป้องกันได้ ทำให้เจ้าไวรัสรู้สึกว่าไม่สามารถแพร่เชื้อได้ ก็กลับไปหาสายพันธุ์บรรพบุรุษ ในการกลายพันธุ์ แม้ไวรัสเป็นสิ่งไม่มีชีวิตก็จริง แต่เป็นเหมือนก้อนโปรตีน ทำอย่างไรให้เข้าไปอยู่ในร่างกายมนุษย์ให้ได้”

...

อีก 1 สัปดาห์จะรู้ว่าโอมิครอน BA.2.X มีความรุนแรงหรือไม่ แต่หากไม่รุนแรง ก็มีสิ่งที่น่ากังวลกับผลกระทบจากลองโควิด ซึ่งทางที่ดีอย่าติดโควิดบ่อย หรืออย่าให้ติดเชื้อจะดีที่สุดในการตั้งการ์ดป้องกันตัวเอง โดยเฉพาะช่วงโควิดสายพันธุ์ใหม่กำลังเข้ามาก็ต้องระวังเป็นพิเศษ และขณะนี้คนไทยติดเชื้อโควิด JN.1 ไม่มากจากที่เคยคาดการณ์ เพราะอากาศร้อน แต่ระบาดมากในประเทศขั้วโลกเหนือ

ส่วนการถอดรหัสพันธุกรรมสายพันธุ์โควิดในไทยของศูนย์จีโนม ภายหลังได้ตัวอย่างมาแล้ว ซึ่งมีบางโรงเรียนติดเชื้อทั้งชั้นเรียน น่าจะรู้ผลการวิเคราะห์ในเร็วๆ นี้ว่าสายพันธุ์ใดเป็นสายพันธุ์หลักในไทย เพื่อการรับมือเตรียมพร้อม และจะต้องเตรียมวัคซีนรุ่นใหม่หรือไม่ เพราะผลอาการทางคลินิกของผู้ติดเชื้อโอมิครอน BA.2.X อาจมีความรุนแรง จนถูกตั้งชื่อ “Pi” ตามอักษรกรีก ก็ได้ แต่หากไม่รุนแรง ก็ยังคงเป็นสายพันธุ์โอมิครอนต่อไป.