อุเทนถวาย ศึกระหว่าง 2 สถาบันอาชีวะย่านปทุมวัน ส่อบานปลาย หลังคืนวันที่ 27 ม.ค. ที่ผ่านมา มีเหตุรุมแทงนักศึกษาหน้าเทคโนโลยีปทุมวัน เสียชีวิต 1 ราย ล่าสุดตำรวจบุกตรวจค้นเซฟเฮาส์ ผู้ก่อเหตุ ในพื้นที่เขตบางคอแหลม กทม. โดยเจ้าหน้าที่กู้ภัยในพื้นที่ เปิดถึงพฤติกรรมการตีกัน ไม่เลือกเวลา สถานที่ พร้อมตั้งข้อสังเกต เซฟเฮาส์ซ่องสุมกำลัง ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ชานเมือง
วันนี้ (30 ม.ค. 67) ตำรวจนำกำลังปิดล้อม 7 จุด ทั่ว กทม. และปริมณฑล ค้นหากลุ่มผู้ก่อเหตุรุมทำร้ายและใช้อาวุธมีดแทง นักศึกษาที่หน้าสถาบันเทคโนโลยีปทุมวันเสียชีวิต จุดสำคัญคือ เซฟเฮาส์ ของกลุ่มผู้ก่อเหตุ บ้านไม่มีเลขที่ แบ่งห้องให้เช่า ภายในชุมชนวัดไผ่เงิน เขตบางคอแหลม กทม. เป็นห้องเช่าของเพื่อนร่วมสถาบัน ที่หนึ่งในผู้ต้องหามาหลบหนีพักอาศัยอยู่หลังก่อเหตุ และมีกลุ่มเด็กช่างฝ่ายตรงข้ามกับผู้เสียชีวิต มารวมตัวอยู่ จึงควบคุมตัว ผู้ต้องสงสัย 2 คน ในห้องดังกล่าวไปสอบปากคำ
ความรุนแรงระหว่างอุเทนถวาย กับเทคโนโลยีปทุมวัน กลายเป็นประเด็นที่สังคมจับตา โดยเฉพาะวันที่ 1 ก.พ. จะถึงนี้ เป็นวันคล้ายวันสถาปนาอุเทนถวาย ทำให้ตำรวจมีการจัดกำลังป้องกันความรุนแรงในพื้นที่ แต่สำหรับ สุเทพ แคพฤกษ์ อาสากู้ภัยมูลนิธิร่วมกตัญญู จุดปทุมวัน ซึ่งเห็นเหตุการณ์ความรุนแรงของ 2 สถาบันมาตลอด ได้เปิดเผยกับทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ว่า การตีกันของนักศึกษา 2 สถาบัน มีความรุนแรงมากขึ้น แม้มีเจ้าหน้าที่คอยเฝ้าระวัง แต่เมื่อใดที่ไม่มีเจ้าหน้าที่อยู่ เด็กพวกนี้จะมีคนคอยดูต้นทาง ก่อนไปบอกกับกลุ่มที่พร้อมสร้างความรุนแรง มาทำร้ายนักศึกษาอีกฝั่งที่มีคนน้อยกว่า
...
ช่วงหลังกลุ่มที่สร้างความรุนแรงของสองสถาบัน ไม่ได้เลือกเวลาและสถานที่ แต่ถ้าเมื่อใดไม่มีตำรวจ และอีกฝ่ายมาน้อยกว่า จะเข้ามารุมทำร้ายทันที ซึ่งอาวุธที่ใช้มีทั้งมีดและปืน โดยเฉพาะปืนมีความรุนแรงมากขึ้น พฤติกรรมของกลุ่มที่รุมทำร้ายส่วนใหญ่มีคนมากกว่า หลายครั้งพออีกฝ่ายเสียเปรียบมีการเข้ามาซ้ำ ทำให้กู้ภัยทำงานลำบาก เพราะเคยมีเหตุที่อีกฝ่ายวนรถมาดู แล้วลงมาจะซ้ำ ทั้งที่กู้ภัยยังช่วยเหลือชีวิตผู้บาดเจ็บ
จุดปะทะกันของ 2 สถาบัน ส่วนใหญ่อยู่บริเวณแยกปทุมวัน และบนสกายวอล์ก จุดดังกล่าวเป็นจุดกึ่งกลางของสองสถาบัน ที่ใช้เดินทางมาขึ้นรถ ขณะเดียวกันจุดที่เป็นป้ายรถเมล์ตรงสนามกีฬาฯ เป็นอีกสถานที่ที่เกิดเหตุบ่อย เนื่องจากเป็นจุดที่เชื่อมต่อระหว่างที่นักศึกษาสามารถขึ้นรถไฟฟ้าและรถเมล์ได้
วันที่ 1 ก.พ. ที่จะถึงนี้ เป็นวันคล้ายวันสถาปนาอุเทนถวาย เจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ได้มีการวางกำลังเพื่อป้องกันเหตุร้ายตลอดเส้นทางที่เป็นจุดเสี่ยง
“พฤติกรรมของผู้ก่อเหตุ ที่ผ่านมามีความรุนแรงถี่มากขึ้น ในช่วงที่มีการก่อเหตุจนอีกฝ่ายเสียชีวิต โดยมีลักษณะในการเอาคืนกัน ดังนั้น ความรุนแรงของสองสถาบันนี้ ไม่ได้จำกัดอยู่ที่วันสถาปนาสถาบัน แต่เมื่อใดที่ผู้ก่อเหตุเห็นช่องทางทำร้ายอีกฝ่ายได้ จะก่อเหตุทันที เหยื่อส่วนใหญ่มีตราสัญลักษณ์ของสถาบันตัวเอง เช่น เสื้อช็อป หัวเข็มขัด”
เซฟเฮาส์ช่างกล แหล่งซ่องสุมกำลังย่านชานเมือง
สุเทพ แคพฤกษ์ อาสากู้ภัยมูนิธิร่วมกตัญญู จุดปทุมวัน กล่าวต่อว่า เซฟเฮาส์ของกลุ่มนักศึกษาที่ก่อเหตุ ส่วนใหญ่จะไปเช่าห้องหรือบ้าน ในพื้นที่ห่างไกลจากสถาบัน ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะค่าเช่าถูกกว่า และอาจได้บ้านเป็นหลังสามารถอยู่กันได้เยอะกว่า เพราะในพื้นที่ปทุมวัน บ้านเช่าหรือห้องพักส่วนใหญ่ เป็นของนิสิตจุฬาฯ
ขณะเดียวกัน การไปเช่าบ้านหรือเซฟเฮาส์ ในพื้นที่ห่างไกล ผู้ก่อเหตุสามารถวางแผนและหลบหนีได้ง่ายกว่าอยู่ในพื้นที่ละแวกสถาบัน
ด้วยความรุนแรงของนักศึกษาที่ก่อเหตุ ทำให้ทีมกู้ภัยที่เข้าไปช่วยเหลือผู้บาดเจ็บมีความลำบาก หลายครั้งต้องรอให้เหตุสงบก่อนถึงเข้าพื้นที่ ขณะเดียวกันทีมกู้ภัยจะต้องแต่งกายให้ชัดเจน เพื่อป้องกันผู้ก่อเหตุจะทำร้ายทีมกู้ภัย เพราะต้องยอมรับว่ากู้ภัยเองก็ไม่มีเครื่องป้องกันเหมือนกับตำรวจ
...
การแก้ปัญหาของ 2 สถาบัน ควรมีการรวมเป็นสถาบันเดียวกัน เพราะเมื่อใดที่ไม่มีสีของสถาบันเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่นานนักศึกษาก็จะเป็นเพื่อนกัน แม้จะมีการย้ายอุเทนถวายไปที่อื่น แต่เชื่อว่าไม่นานสองสถาบันนี้ก็ตีกันอีก เนื่องจากส่วนหนึ่งเกิดจากวัฒนธรรมที่รุ่นพี่สอนต่อกันมา เลยทำให้ปัญหาความรุนแรงไม่จบสักที.