ท่องเที่ยว 'เวียดนาม' ความมุ่งมั่นของ 'รัฐบาล' กับการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ที่ยังคงตัวตนและวัฒนธรรม ด้านสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งชาติ ตั้งเป้าปี 2567 ดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศกว่า 20 ล้านคน!...
'ซินจ่าว' (Xin chào) วันอังคารผู้อ่านทุกคน สกู๊ปท่องเที่ยววันนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ขอบินลัดฟ้าจากกรุงเทพฯ สู่ 'โฮจิมินห์' (Hồ Chí Minh) เมืองใหญ่ที่สุด และมีเศรษฐกิจเติบโตเป็นอันดับหนึ่งของ 'ประเทศเวียดนาม'
ตลอดระยะเวลา 3 วัน 2 คืน นครแห่งนี้ได้เปิดโลกทัศน์แห่งชีวิต และประสบการณ์ใหม่ๆ ที่แตกต่างจากเมืองไทยอย่างชัดเจน วันนี้ทีมข่าวฯ จะพาทุกคนไปดูกันว่า 'การท่องเที่ยว' ของเวียดนามนั้นเป็นอย่างไร หรือมีอะไรที่น่าสนใจบ้าง?
ต้องบอกก่อนว่าข้อมูลนับต่อจากนี้ ทีมข่าวฯ สังเคราะห์ออกมาจาก 'การสังเกต' ในพื้นที่ของ 'โฮจิมินห์ซิตี้' ไม่ใช่การเดินทางไปทั่วประเทศแต่อย่างใด แต่อย่างไรก็ตามการเดินทางในเมืองที่มีเศรษฐกิจโตเป็นอันดับหนึ่งของเวียดนาม ก็คงจะทำให้เราชาวไทยพอเห็นมุมอะไรเพิ่มเติมได้บ้าง
เอาล่ะ… มาร่วมเดินทางในเวียดนามไปด้วยกัน ผ่านข้อมูลจากการ 'สังเกต' ด้วยตา 'ฟัง' จากไกด์ 'สัมผัส' จากประสบการณ์จริง และการ 'เสาะหา' ข้อมูลเพิ่มเติมกับ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ไปพร้อมกันดีกว่า!!!
...
นักท่องเที่ยวหลายเชื้อชาติ และการอุดหนุนแบรนด์ท้องถิ่น :
จากสายตาของ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ที่ได้กวาดไปทั่ว 'โฮจิมินห์ซิตี้' ตลอดการเดินทาง ทำให้พบว่านครแห่งนี้ขวักไขว่ไปด้วย 'นักท่องเที่ยว' จากหลากหลายเชื้อชาติ เช่น ไทย เกาหลี จีน ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส อังกฤษ ฯลฯ ทำให้เห็นว่าโฮจิมินห์ถือว่าเป็นอีกหนึ่งจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวที่น่าสนใจ
นอกจากนั้นประเทศนี้ยังมีแบรนด์ท้องถิ่นจำนวนมากที่สามารถคงอยู่ได้ และเมื่อคนต่างชาติมาถึงก็จะได้ลิ้มรส หรือสัมผัสกับแบรนด์เหล่านั้น ซึ่งบางคนอาจจะชื่นชอบ หรือติดใจจนต้องหิ้วกลับประเทศ
'คุณรุจ' (ชื่อไทย) ไกด์ภาษาไทยชาวเวียดนาม บอกกับเราว่า "เวียดนามมีสินค้าหลายอย่างที่มีแบรนด์เป็นของตัวเอง อย่างของกิน เช่น กาแฟ คนเวียดนามก็มักจะกินแบรนด์เวียดนาม เพราะพวกเขามองว่าของตัวเองดีอยู่แล้ว ราคาเข้าถึงได้ ทำให้แบรนด์ต่างประเทศส่วนใหญ่ไม่ประสบความสำเร็จด้านการตลาดที่เวียดนาม"
คงเป็นจริงตามข้อมูล และตามคำบอกเล่าของไกด์ ทีมข่าวฯ สังเกตเห็นว่าร้านอาหารต่างประเทศมีลูกค้าใช้บริการน้อยมาก ผิดกับร้านอาหารท้องถิ่น ที่นอกจากจะมีนักท่องเที่ยวจะใช้บริการกันแล้ว ชาวเวียดนามเองก็เลือกใช้บริการแบรนด์ในชาติตัวเองเช่นกัน หรือบางคนก็เลือกกินอาหารริมทาง ซึ่งสามารถเห็นได้ทั่วไปตามถนนทั้งเมือง
ผู้ประกอบการแทบทุกร้านสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ หรือร้านท้องถิ่นที่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ พวกเขาก็พยายามสื่อสารอย่างสุดกำลัง เพื่อจะขายของให้กับนักท่องเที่ยว
...
รถแท็กซี่รัฐบาล และรถ EV แบรนด์เวียดนาม :
ในนครโฮจิมินห์ และประเทศเวียดนาม ถือว่า 'การขนส่งมวลชน' อาจจะยังไม่ตอบโจทย์เท่าที่ควร เนื่องจากที่นี่มีเพียง 'รถเมล์' ที่เป็นบริการขนส่งสาธารณะ และยังไม่มีรถไฟฟ้าเหมือนที่หลายประเทศมีอยู่ ทำให้เราสงสัยว่านี่อาจจะเป็นเรื่องยากหรือไม่ สำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาด้วยตัวเอง?
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ดูจะมีปัญหาก็ยังคงมีทางออกให้เราอยู่ ไกด์บอกกับทีมข่าวฯ และผู้ร่วมเดินทางว่า หากเดินทางมาด้วยตัวเอง หรืออยากไปสถานที่ต่างๆ ด้วยตัวเอง แนะนำให้นั่งรถแท็กซี่จาก 2 บริษัท คือ 'Mailinh' และ 'Vinasun'
ที่ไกด์แนะนำเช่นนั้น เพราะทั้ง 2 บริษัทนี้เป็นแบรนด์แท็กซี่ของรัฐบาล มีการติดตาม GPS ตลอดการเดินทาง มีความน่าเชื่อถือกว่าแท็กซี่ของเอกชน ป้องกันการโดนโกงจากผู้ไม่หวังดี และราคาก็ไม่แพงอีกด้วย
นอกจากนั้นคนขับยังไม่สามารถบวกค่าบริการเพิ่มจากมิเตอร์ได้ เนื่องจากบริษัทจะตรวจสอบเงินที่ผู้ขับรับจากผู้ใช้บริการ ว่าตรงกับมิเตอร์หรือไม่ ส่วนทางด้านคนขับจะได้เงินเป็น 'รายเดือน' จากรัฐบาลเวียดนาม
...
วิธีสังเกตง่ายๆ สำหรับแท็กซี่ 2 คันนี้ คือ Mailinh จะมี สีเขียวเข้ม เด่นชัด ส่วน Vinasun จะมีสัญลักษณ์ ลูกศรเขียวแดง เป็นวงกลมติดอยู่ที่รถ หากใครเดินทางไปเวียดนาม คุณสามารถมั่นใจที่จะใช้บริการรถจาก 2 บริษัทนี้ได้อย่างแน่นอน
หรือใครอยากจะลองใช้บริการแท็กซี่ของเอกชนก็ทำได้เช่นกัน ไกด์ของเราแนะนำ 'Grab' ซึ่งสามารถเห็นได้ทั่วไปตามท้องถนน โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ สำหรับ Grab ไม่จำเป็นต้องโหลดแอปพลิเคชันใหม่ สามารถใช้แอปเดียวกับที่ไทยได้เลย!
อีกหนึ่งรถแท็กซี่เอกชนที่ไกด์แนะนำ เป็นรถแท็กซี่ไฟฟ้า 'VinFast' ตัวรถมี 'สีเขียวมินต์' ดูโดดเด่นกว่าใครบนท้องถนน ทำให้ไม่ใช่เรื่องยากที่คุณจะได้เจอ แต่การใช้บริการจำเป็นต้องโหลดแอปพลิเคชันเพื่อเรียกรถ อย่างไรก็ตาม Taxi EV VinFast อยู่ภายใต้การดูแลของบริษัทเอกชนอันดับหนึ่งของประเทศอย่าง Vingroup นี่จึงเหมือนเป็นการส่งเสริมแบรนด์ของประเทศเวียดนามไปในตัว
...
ร้านค้ารัฐบาลกับชุดประจำชาติ :
เราจะเห็นว่าประเทศไทยแต่งชุดไทยเป็นช่วงๆ อาจจะตามเทศกาล หรือประเพณีสำคัญของชาติ แต่สำหรับเวียดนาม ไกด์คนพื้นที่พูดอย่างเต็มปากว่า ที่นี่ 'ชาตินิยม' ทำให้เราเห็นพวกเขาสวมชุด 'อ๋าวหญ่าย' (áo dài) ซึ่งเป็นชุดประจำชาติกันปกติ โดยเฉพาะช่วงที่ไปนั้นใกล้กับตรุษจีน และปีใหม่เวียดนาม ทำให้เห็นผู้คนเดินใส่ชุดอ๋าวหญ่ายได้ทั่วไปจนชินตา
แล้วถ้าเราอยากใส่ชุดอ๋าวหญ่ายบ้างล่ะ จะสามารถเช่าได้จากที่ไหน มีให้เช่าทั่วไปตามสถานที่สำคัญเหมือนเมืองไทยหรือเปล่า?
คำตอบคือ 'ไม่มี'
แต่ถ้าคุณอยากใส่ถ่ายรูปเก็บความทรงจำ ทำตัวให้ดูกลมกลืนเหมือนคนเวียดนามคนหนึ่ง ทีมข่าวฯ แนะนำให้เดินทางไปที่ 'ตลาดเบ๊นถั่ญ' (Chợ Bến Thành : Brn Thanh Market) ตลาดเก่าแก่ขนาดใหญ่อายุกว่า 100 ปี ใจกลางนครโฮจิมินห์
โดยคุณสามารถเลือกซื้อชุดอ๋าวหญ่ายหลากลวดลายและหลากสีสันได้ที่ตลาดแห่งนี้ ไกด์เวียดนามแนะนำว่า ทางที่ดีให้ซื้อชุดที่ร้านบริเวณรอบนอกตลาดที่มีพนักงานขายใส่เสื้อเชิ้ตสีส้ม เพราะร้านเหล่านี้เป็นของ 'รัฐบาล' พนักงานไม่สามารถโก่งราคานักท่องเที่ยวได้ ทำให้เราสามารถซื้อสินค้าได้ในราคาคนท้องถิ่น
แต่หากใครอยากอุดหนุนร้านประชาชนคนทั่วไป ก็สามารถเดินเข้าไปในตลาดได้เลย แม่ค้าบางคนมีทักษะการใช้ภาษาไทย และบางร้านยังรับเงินบาทไทยด้วย อย่างไรก็ดีผู้เดินทางก็ต้องระมัดระวังตัวเป็นพิเศษ อย่างที่ไกด์ชาวเวียดนามบอกกับเราว่า "ทุกที่มีทั้งคนดี และไม่ดี"
เปิดประเทศ สร้างเอกลักษณ์ชาติ ดึงดูดคนต่างแดน :
จากประสบการณ์ที่ทีมข่าวฯ ได้พบเจอ ทำให้เรารู้สึกว่า 'เวียดนาม' มีแง่มุมที่น่าสนใจสำหรับการรองรับนักท่องเที่ยว รวมถึงสนับสนุนอัตลักษณ์ และแบรนด์ของประเทศได้ดี
จากการค้นหาข้อมูลเรื่องการท่องเที่ยวเวียดนามเพิ่มเติม ทำให้เราพบว่า หลังการระบาดโควิดครั้งใหญ่ผ่านพ้นไป รัฐบาลเวียดนามก็เริ่มกลับมากระตุ้นการท่องเที่ยวอีกครั้ง
เราลองมาดูกันว่าแผนการท่องเที่ยวของเวียดนามนั้นเป็นอย่างไร มีอะไรที่น่าสนใจบ้าง?
ย้อนกลับไปเมื่อ 14 พฤษภาคม 2565 กระทรวงสาธารณสุข ของประเทศเวียดนาม ประกาศยกเลิกมาตรการควบคุมโควิด-19 และข้อจำกัดการเดินทางอื่นๆ สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพื่อเตรียมความพร้อมเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง และ 18 พฤษภาคม 2566 รัฐบาลเวียดนามมีมติแนวทางเร่งฟื้นตัว ส่งเสริม และผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
โดยรัฐบาลขอให้ กระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ประสานงานกับหน่วยงาน และหน่วยงานท้องถิ่น เสริมสร้างกิจกรรมการท่องเที่ยว สนับสนุนกิจกรรมการทูตทางวัฒนธรรม เพื่อแสดงอัตลักษณ์ และภาพลักษณ์ของเวียดนาม นอกจากนั้นมีการเผยแพร่นโยบายวีซ่าใหม่ ในตลาดการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ เช่น จีน สาธารณรัฐเกาหลี อินเดีย และสหราชอาณาจักร
การดำเนินการครั้งนี้ 'เวียดนาม' มีเป้าหมายมุ่งสู่การเป็นปลายทางการท่องเที่ยวชั้นนำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สำหรับชาวต่างชาติ แต่ยังคงรักษา และยืนหยัด 'ความเป็นตัวเอง' หรือ 'ชาตินิยม' ควบคู่กันไป โดยตั้งแต่ต้นปี 2566 ท้องถิ่นทั่วประเทศได้นำเสนอผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยว และกิจกรรมทางวัฒนธรรม รวมถึงกีฬา เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว
2566 ปีแห่งการเติบโตของการท่องเที่ยวเวียดนาม :
ความพยายามของรัฐบาลดูท่าว่าจะเริ่มเห็นผลชัดเจนมากขึ้น เมื่อข้อมูลจากสำนักข่าว Vietnam Economic Times และ VietnamPlus รายงานว่า พฤศจิกายน 2566 ประเทศเวียดนามต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่า 1.23 ล้านคน ซึ่งถือว่าสูงเป็นประวัติการณ์กว่าทุกเดือนที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นร้อยละ 11 เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2566
ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2566 แตะ 11.2 ล้านคน ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันในปีที่แล้วถึง 3.8 เท่า คิดเป็นร้อยละ 68.9 ของตัวเลขก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 2562 และสูงกว่าเป้าหมายที่สำนักงานการท่องเที่ยวเวียดนาม (VNAT) เคยตั้งไว้ที่ 8 ล้านคน
สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งชาติเวียดนาม ระบุว่า สาธารณรัฐเกาหลี ยังคงรักษาตำแหน่งเป็นตลาดท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนาม ในช่วงเดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2566 มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศประมาณ 3.2 ล้านคน คิดเป็น 28.5% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด รองลงมาคือ ไต้หวัน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ตามลำดับ นอกจากนั้นนักท่องเที่ยวจากทวีปยุโรป และจีนแผ่นดินใหญ่ ก็ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องเช่นกัน
สำนักข่าว VIETNAM PICTORIAL รายงานบทสรุป ปี 2566 จำนวนนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศทั้งหมดอยู่ที่ 12.6 ล้านคน เกินเป้าหมายเริ่มต้น 57% ขณะที่จำนวนนักเดินทางในประเทศอยู่ที่ 108 ล้านคน เพิ่มขึ้น 6% เมื่อเทียบกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ กิจกรรมการท่องเที่ยวสร้างรายได้ประมาณ 678 ล้านล้านดอง (27.85 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งสูงกว่าแผนรายปี 4.3%
เป้าหมายต่อไปของรัฐบาล สำหรับ 'การท่องเที่ยวเวียดนาม' :
ดูท่าทีแล้ว รัฐบาลเวียดนาม คงจะไม่หยุดนิ่งอย่างแน่นอน เป้าหมายต่อไปที่พวกเขาคาดหวัง คือ การส่งเสริมให้เวียดนามเป็นจุดหมายของนักท่องเที่ยวที่มีการใช้จ่ายสูง และมาพักผ่อนในระยะยาว ซึ่งจะช่วยเพิ่มเม็ดเงินในเศรษฐกิจท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี
ฟาม วัน ทุย (Phạm Văn Túy) รองผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งชาติเวียดนาม (VNAT) กล่าวว่า ในปี 2567 ตั้งเป้าที่จะต้อนรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศจำนวน 18 ล้านคน แม้ในปี 2566 การท่องเที่ยวระหว่างประเทศจะฟื้นตัวอย่างมาก แต่การท่องเที่ยวภายในประเทศยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายต่อไป
ส่งเสริมอัตลักษณ์ชาติ ขายความเป็นตัวเอง :
ความน่าสนใจของ 'เวียดนาม' อยู่ตรงที่รัฐบาลพยายามสร้างการท่องเที่ยว โดยใช้ 'ตัวตน' ที่มีอยู่ในการดึงดูดผู้คน
ในยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมวัฒนธรรมของเวียดนาม ตั้งแต่ปี 2563 ถึงปี 2573 รัฐบาลกำหนดว่า "อุตสาหกรรมวัฒนธรรมเป็นองค์ประกอบสำคัญของเศรษฐกิจของประเทศ" ในขณะเดียวกันก็สนับสนุนให้ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม กลายเป็นอุตสาหกรรมบริการทางเศรษฐกิจที่สำคัญ
สื่อท้องถิ่นรายงานว่า เหงียน จุง คานห์ (Nguyễn Trùng Khánh) ผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งชาติเวียดนาม ให้สัมภาษณ์ว่า
"ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประเทศของเราทำได้ดีในด้านการอนุรักษ์ และส่งเสริมคุณค่าทางมรดก โดยใช้กลยุทธ์ด้านวัฒนธรรม ส่วนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม อาศัยการใช้ประโยชน์จากคุณค่าของมรดกวัฒนธรรม
เช่น การเยี่ยมชมแหล่งสถาปัตยกรรม และอนุสาวรีย์ เรียนรู้-สัมผัสวัฒนธรรมดั้งเดิม ท่องเที่ยวตามเทศกาล ดื่มด่ำกับอาหาร ส่งผลให้มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้หลายประเภท โดยเฉพาะศิลปะการแสดงแบบดั้งเดิม ได้รับการบูรณะ และพัฒนาจนสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวนมาก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ"
ปัจจุบันนี้รัฐบาลเวียดนามได้กระตุ้น และส่งเสริมอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม อาหารอันเป็นเอกลักษณ์ มรดกโบราณ ผู้คนที่เป็นมิตร และภูมิทัศน์ธรรมชาติที่สวยงาม เพื่อนำเสนอเอกลักษณ์ สร้างประสบการณ์ที่ดีแก่ผู้มาเยือน ภายใต้สโลแกน "Viet Nam - Timeless charm" หรือ "เวียดนาม - เสน่ห์เหนือกาลเวลา"
หรือในอนาคต 'เวียดนาม' จะมุ่งหน้าแซง 'ไทย' และกลายเป็นเราที่ต้องเดินตาม?
สกู๊ปนี้ไม่ได้กำลังบอกว่า 'เรา' ไม่ดี หรือสู้ไม่ได้ เพียงแค่นำเสนอภาพจากข้อมูล และประสบการณ์จริง โดยหวังว่าอาจจะเป็นส่วนช่วยในการเตรียมพร้อมรับมือ พัฒนา และเรียนรู้เพื่อการท่องเที่ยวไทย
ทีมข่าวฯ หวังว่าในอนาคต 'ประเทศไทย' จะเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั้งใน และต่างประเทศ และยังคงอยู่ได้ในแบบที่เราเป็นเรา (ในทางที่ดี) อย่างยั่งยืน.
ภาพ : ธนกร จิณณ์เมธา
อ่านบทความที่น่าสนใจ :