ปัญหามลพิษทางอากาศในทุกมิติ ไม่ใช่เฉพาะฝุ่น PM 2.5 จะต้องมีกลไกในการบริหารจัดการและควบคุมอย่างเป็นระบบ เพราะทุกชีวิตของประชาชนคนไทยมีค่า ทุกคนมีสิทธิได้รับอากาศสะอาดในการดำรงชีวิต จำเป็นต้องมี พ.ร.บ.อากาศสะอาด จากความพยายามของภาคการเมืองและประชาชน ในการผลักดันให้ประสบความสำเร็จ จนขณะนี้ ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ทั้ง 7 ฉบับที่มีการเสนอ ได้เข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมสภา เป็นวาระด่วนเมื่อวันที่ 11 ม.ค.ที่ผ่านมา เพื่อบังคับใช้ในอนาคต
ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด 6 ฉบับ เสนอโดยคณะรัฐมนตรี และพรรคการเมือง ประกอบด้วยร่างของพรรคเพื่อไทย ภูมิใจไทย พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ และก้าวไกล ส่วนอีก 1 ฉบับ เป็นร่างของเครือข่ายอากาศสะอาด คาดว่าวันที่ 18 ม.ค.นี้ หลังการอภิปรายเสร็จสิ้น จะมีการลงมติวาระที่ 1 ในการรับหลักการ ส่วนจะเป็นร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ฉบับใด ก็ต้องติดตามกันต่อไป ในการคืนอากาศสะอาดให้กับประชาชน จะต้องดำรงชีวิตในสภาพแวดล้อมที่ดีและมีความปลอดภัยต่อสุขภาพ
ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ต้องเข้มงวด มีเจ้าภาพ
...
เนื้อสาระสำคัญในร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ควรเป็นอย่างไร? “ดร.สนธิ คชวัฒน์” ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย มองว่า การยกร่าง .ร.บ.อากาศสะอาดในประเทศไทยของรัฐบาล จะต้องมองภาพรวมให้กว้างมากกว่าแค่การจัดการฝุ่นละออง PM 2.5 เพียงอย่างเดียว จะต้องมีเจ้าภาพในการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศทุกแหล่งกำเนิดได้อย่างเบ็ดเสร็จ รวมทั้งเมื่อมีการประกาศแผนปฏิบัติการแล้วจะต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดในการควบคุมมลพิษทางอากาศทุกแหล่งกำเนิด
“เราควรให้กรมควบคุมมลพิษ เป็น Thai EPA อยู่ภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี ขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่ Check and Balance กับหน่วยงานพัฒนาเช่นเดียวกับ US.EPA ของสหรัฐฯ หรือไม่ โดยมีอำนาจเข้าไปกำกับ ควบคุม ดูแลให้ปฏิบัติตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด ขณะที่หน่วยงานอนุญาตทำหน้าที่ส่งเสริมให้โครงการต่างๆ เกิดการพัฒนาอย่างเต็มที่และอย่างยั่งยืนไม่ใช่อนุญาตเองแล้วไปตามจับเองแบบทุกวันนี้”
ปัจจุบันประเทศไทยกำลังประสบวิกฤติคุณภาพอากาศโดยเฉพาะฝุ่น PM 2.5 ทั้งเขตเมืองและในภาคเกษตรกรรม รวมทั้งในเขตป่าไม้ มีสาเหตุเกิดจากไอเสียรถยนต์ การปล่อยมลพิษทางปล่องของโรงงาน การเผาในที่โล่ง ฝุ่นข้ามแดน การเผาซากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เผาป่า และเผาหญ้าเศษวัชพืช เป็นเวลานานมากกว่า 10 ปี และรัฐบาลก็ยังแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ไม่ได้ ต้องรอฟ้าฝนและโชคชะตาอย่างเดียว
ส่อง ก.ม.อากาศสะอาด สหรัฐฯ จัดการมลพิษเบ็ดเสร็จ
ขณะที่ พ.ร.บ.อากาศสะอาดในประเทศพัฒนาแล้ว มีการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศและฝุ่นละออง PM 2.5 ได้อย่างเบ็ดเสร็จ อย่างสหรัฐฯ แม้ไม่มี พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ดูแลเรื่องมลพิษทั้งหมดเหมือนประเทศไทย แต่แยกเป็นกฎหมายในแต่เรื่อง เช่น กฎหมาย Clean Air Acts ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก, กฎหมาย Clean Water Acts จัดการกับมลพิษทางน้ำ,กฎหมาย Chemical and Toxic Waste Acts จัดการสารเคมีและวัตถุอันตราย และกฎหมาย PRTR Acts การรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ
“รัฐแคลิฟอร์เนียในสหรัฐฯ ก็มีปัญหาคล้ายกับประเทศไทย แต่เขาแก้ปัญหาได้เบ็ดเสร็จ ตั้งแต่ปี 2559 จากการใช้กฎหมายอากาศสะอาด และมีการจัดการอย่างจริงจังของภาครัฐ ซึ่งกฎหมายสะอาดในสหรัฐฯ หรือ The Clean Air Act (CAA) ถูกกำหนดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2513 มีองค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งอเมริกา หรือ US.EPA เป็นผู้ดูแล”
กฎหมายอากาศสะอาดในสหรัฐฯ มีคณะกรรมการบริหารอากาศสะอาด โดย US.EPA ขึ้นตรงกับประธานาธิบดี ทำหน้าที่กำหนดนโยบายในภาพรวม และตั้งคณะกรรมการจัดการอากาศในแต่ละรัฐ ขึ้นตรงกับผู้ว่าการในแต่ละรัฐ ทำหน้าที่บริหารจัดการในพื้นที่ตนเอง มีการกำหนดประเภทและขนาดแหล่งกำเนิดมลพิษหลักที่ต้องควบคุม โดยเฉพาะแหล่งกำเนิดปล่อยมลพิษออกมา
ทั้งฝุ่นละออง ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไนโตรเจนไดออกไซด์ คาร์บอนมอนอกไซด์ และไฮโดรคาร์บอน ตั้งแต่ 10 ตันต่อปีขึ้นไป ต้องได้รับใบอนุญาตการปล่อยมลพิษทางอากาศ โดยกำหนดค่าการปล่อยมลพิษทางอากาศเป็นค่า Loading หรือความเข้มข้น x อัตราการปล่อยในแต่ละปี รวมทั้งต้องใช้เทคโนโลยีที่ดีที่สุดในการควบคุมการปล่อยมลพิษทางอากาศ และต้องจัดทำบัญชีการปลดปล่อยมลพิษทางอากาศรายงานให้ผู้ว่าการรัฐ และ US.EPA รวมทั้งต้องเปิดเผยให้สาธารณชน
...
หลักกระจายอำนาจจัดการมลพิษอากาศ สู่ท้องถิ่น
กฎหมายอากาศสะอาดของสหรัฐฯ ให้อำนาจ US.EPA และแต่ละรัฐ ออกกฎเกณฑ์จำกัดการปล่อยมลพิษทางอากาศจากโรงงานอุตสาหกรรม ยานยนต์ และแหล่งกำเนิดต่างๆ จากมนุษย์ เช่น การเผาในที่โล่ง เตาเผาขยะ โดยมีข้อกำหนดเป็นกฎหมายในการควบคุมอย่างชัดเจน เช่น ห้ามเผาในที่โล่ง ห้ามเผาตอซังฟางข้าว หากมีความจำเป็นต้องเผาจะต้องขออนุญาตทุกครั้ง ซึ่งต้องจำเป็นจริงๆ จึงจะอนุญาต และ US.EPA จะเข้าไปสนับสนุนแต่ละรัฐในการควบคุมมลพิษจากแต่ละแหล่งกำเนิดอย่างเข้มงวด และมีอำนาจเข้าไปจัดการแทน หากแต่ละรัฐไม่ดำเนินการหรือดำเนินการแล้วไม่ได้ผล
ในแต่ละรัฐจะสร้างเครือข่ายการติดตามตรวจสอบมลพิษทางอากาศที่อาจจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างเป็นระบบ โดยประชาชนเข้าถึงได้ง่าย รวมทั้งตั้งอาสาสมัครให้ประชาชนเป็น Watch dog ทำงานร่วมกับ US.EPA และกำหนดแผนปฏิบัติการระดับรัฐ ในการจัดการมลพิษอากาศในพื้นที่ของตนเอง เป็นการกระจายอำนาจลงไปในระดับเมืองและท้องถิ่น
องค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งอเมริกา หรือ US.EPA ขึ้นตรงกับประธานาธิบดี ทำหน้าที่ออกกฎระเบียบและให้ความช่วยเหลือรัฐต่างๆ ในการวางแผน, ทบทวนแผนและตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมายของแหล่งกำเนิดต่างๆ โดยสามารถลงโทษและฟ้องศาลได้ รวมทั้งใช้อำนาจประธานาธิบดี ประกาศภาวะฉุกเฉินทางสิ่งแวดล้อม เพื่อเข้าไปแก้ไขปัญหาได้แบบเบ็ดเสร็จ แทนหน่วยงานราชการ เมื่อพบว่ามลพิษอากาศกำลังจะมีผลต่อสุขภาพมนุษย์ นอกจากนี้กฎหมายสะอาดในสหรัฐฯ ยังให้อำนาจประชาชนในการฟ้องร้องรัฐบาล หากล้มเหลวในการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศ จากทุกแหล่งกำเนิดอีกด้วย.