สถานการณ์คุณภาพอากาศขณะนี้ของประเทศไทย กำลังเข้าสู่ฤดูฝุ่น ตั้งแต่ปลายปีไปจนถึงต้นปี จากแหล่งกำเนิดฝุ่นมีการเผาในที่โล่ง ควันดำจากรถยนต์ดีเซล เขตพื้นที่ก่อสร้าง อากาศเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม และจากความกดอากาศสูงแผ่ลงมาปกคลุม ทำให้อากาศปิด ลมสงบ คล้ายฝาชีมาครอบประเทศไทย จนฝุ่นพิษฝุ่นละอองไม่ฟุ้งกระจาย มีการสะสมในพื้นที่จนเกินมาตรฐาน
อีกทั้งเอลนีโญมีกำลังแรงตั้งแต่ปลายฤดูฝนปี 2566 มีผลทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยมีแนวโน้มสูงกว่าค่าปกติ ทำให้อากาศร้อนและแล้งมากขึ้น จากปริมาณฝนโดยรวมของประเทศไทยต่ำกว่าค่าปกติ ยิ่งส่งผลให้สถานการณ์ไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละอองในปี 2567 มีความรุนแรงมากขึ้น
ล่าสุด "ปรีญาพร สุวรรณเกษ" อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ได้ออกมาเตือนประเทศไทยกำลังเข้าสู่ฤดูฝุ่น โดยเฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงภาคเหนือตอนล่าง ต้องเฝ้าระวังไปจนถึงวันที่ 12 ม.ค. 2567 เนื่องจากอัตราการระบายอากาศในพื้นที่ค่อนข้างต่ำ จะต้องควบคุมกวดขันแหล่งกำเนิดฝุ่นในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งการตรวจวัดควันดำรถยนต์ดีเซล ฝุ่นในเขตก่อสร้าง การระบายอากาศเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม และการเผาในที่โล่งในจังหวัดปริมณฑลและโดยรอบ
...
นอกจากนี้อิทธิพลลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลให้การเผาในที่โล่งจากพื้นที่ต้นลม ส่งผลให้สถานการณ์ในพื้นที่ท้ายลมทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ช่วงระหว่างวันที่ 29 ธ.ค. 2566 ถึง 3 ม.ค. 2567 พบจุดความร้อนสะสมทั้งสิ้น 1,207 จุด ในพื้นที่นาข้าว 38% ไร่อ้อย 13% ไร่ข้าวโพด 6% พื้นที่ป่า 11% พื้นที่เกษตรอื่นๆ 17% และพื้นที่อื่น 17% ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องควบคุมจัดการ ในการกำกับดูแลกวดขันและเฝ้าระวังการเผาในที่โล่ง
ประเทศไทยยุคนี้ มีฤดูฝุ่น แต่ละพื้นที่เกิดช่วงไหน
แม้หน่วยงานภาครัฐออกมาประกาศ ในการเตรียมพร้อมรับมือฝุ่นพิษปี 2567 แต่ "ดร.สนธิ คชวัฒน์" ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ยังไม่มั่นใจจะต้องจับตาดูมาตรการลดฝุ่นพิษปี 2567 ได้ผลหรือไม่ พร้อมกับบอกว่าประเทศไทยในยุคนี้ยกเว้นภาคใต้ มี 4 ฤดู เพราะมีฤดูฝุ่นพิษเข้ามาเพิ่มเติม นอกเหนือจากฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว
แล้วฤดูฝุ่นพิษแต่ละพื้นที่เกิดช่วงใดบ้าง เริ่มจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีตั้งแต่เดือน พ.ย. จนถึงต้นเดือน มี.ค. จากการจราจร การเผาในที่โล่ง การก่อสร้าง โรงงานอุตสาหกรรม และฝุ่นจากการเผาวัสดุเหลือใช้ทางเกษตรกรรมข้ามจังหวัด ส่วนภาคกลางและภาคตะวันออกเริ่มตั้งแต่เดือน ม.ค. ไปจนถึงต้นเดือน เม.ย. จากการเผาตอซังฟางข้าวและไร่อ้อย
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเริ่มตั้งแต่เดือน ธ.ค. ถึงต้นเดือน เม.ย. จากการเผาไร่อ้อยและตอซังฟางข้าว ขณะที่ภาคเหนือ เริ่มตั้งแต่เดือน ก.พ. จนถึงต้นเดือน เม.ย. จากการเผาตอซังข้าวโพด นาข้าว ไฟไหม้ป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติ รวมทั้งฝุ่นลอยข้ามแดนจากเพื่อนบ้าน
"ฤดูฝุ่นทั้งหมดจะเริ่มต้นในช่วงฤดูหนาวของทุกปีช่วงที่รุนแรงมากคือช่วงรอยต่อระหว่างฤดูหนาวกับฤดูร้อนที่ความกดอากาศสูงจากจีนแผ่นดินใหญ่ แผ่มาปกคลุมประเทศไทยมีกำลังอ่อนลง และลมตะวันออกเฉียงเหนือมีกำลังลดลง ทำให้อากาศนิ่งเกิดความผกผันของอุณหภูมิ อากาศร้อนกดทับอากาศเย็น เป็นลักษณะคล้ายฝาชีมาครอบประเทศไทยไว้ ฝุ่นถูกระบายออกในแนวดิ่งและแนวนอนไม่ได้จึงฟุ้งกระจายภายในฝาชี"
ปี 67 ฝุ่นพิษจะกลับมาระบาดอีกหรือไม่ ต้องจับตา
ส่วนแหล่งกำเนิดที่เกิดฝุ่นเกิดขึ้นเป็นประจำอยู่แล้ว แต่ในช่วงฤดูอื่นฝุ่นจะถูกระบายเจือจางไปหมด หากไม่ต้องการให้มีฤดูฝุ่นพิษในประเทศไทย จะต้องลดการเกิดฝุ่นจากแหล่งกำเนิดต่างๆ ให้ได้ และปี 2567 ฝุ่นพิษจะกลับมาระบาดอีกครั้งหรือไม่ ต้องจับตาดูมาตรการป้องกันของภาครัฐ เช่น จ่าย 120 บาทต่อตันอ้อยไม่เผาเข้าโรงงานน้ำตาล จ่ายไร่ละ 1,000 บาทให้กับเกษตรกรที่ลงทะเบียน และไม่เผาในนาข้าว ในพื้นที่ ส.ป.ก. และที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.)
...
รวมไปถึงการเก็บภาษีเพิ่มกับผู้ประกอบการที่รับสินค้าเกษตรจากพื้นที่ที่มีการเผา และร่วมกับบริษัท 100 แห่งให้ทำงานที่บ้านเมื่อฝุ่นมีค่าสีแดงอันตรายต่อสุขภาพติดต่อกัน 3 วัน นอกจากนี้วันที่ 1 ม.ค. 2567 เป็นต้นไปรถยนต์ดีเซลให้ใช้น้ำมันยูโร 5 กำมะถันต่ำ มีการจับรถควันดำทั่วประเทศ เฝ้าระวังลดการเผาซ้ำซากในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 11 แห่ง ป่าสงวนแห่งชาติ 10 แห่ง รวมทั้งพื้นที่อื่นๆที่มีการเผาซ้ำซากให้ได้ 50% ซึ่งมาตรการเหล่านี้จะได้ผลหรือไม่ต้องจับตาดู.