เตือนฝุ่น PM 2.5 เริ่มมีค่าสูงในพื้นที่กรุงเทพฯ ช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ. มีแนวโน้มจะยาวนานขึ้น พบว่าในปีที่แล้วมีฝุ่นมากเทียบเท่ากับการสูบบุหรี่ 2 มวน/วัน ในคนที่ไม่ใส่เครื่องป้องกัน ส่วนจังหวัดน่าน และแม่ฮ่องสอน หนักสุด มีปริมาณฝุ่นสูงสุด เทียบเท่าการสูบบุหรี่ประมาณ 5.5-7.5 มวน/วัน ช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. ซึ่งเป็นช่วงมีค่าฝุ่นสูงสุดของปี
ดร.พีรดล สามะศิริ ผู้จัดการโครงการ Envi Link และนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลอาวุโส ฝ่ายบริการวิเคราะห์ข้อมูล สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า จากข้อมูลการตรวจวัดปริมาณฝุ่นในหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทย โดยกรมควบคุมมลพิษ สถาบันฯ นำมาวิเคราะห์ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้สนใจได้นำไปใช้ตัดสินใจดำเนินนโยบายต่างๆ จากข้อมูลปริมาณฝุ่น PM 2.5 ในไทย ตั้งแต่ 2561-2565 ภาพรวมพบว่ามีปริมาณฝุ่นที่ลดลง แต่เริ่มกลับมามีปริมาณสูงขึ้นหลังสถานการณ์โควิดเบาบางลง เพราะประชาชนสามารถกลับมาทำกิจกรรมหลายอย่างได้เป็นปกติ โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดในภาคเหนือ และกรุงเทพฯ
จากข้อมูลดังกล่าว สถาบันฯ ได้นำมาวิเคราะห์แนวโน้มของฝุ่นทั่วประเทศ พบว่าค่าฝุ่นในแต่ละปีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือน ต.ค. และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในกรุงเทพฯ ค่าฝุ่นจะเพิ่มขึ้นถึงจุดสูงสุดในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ. ในขณะที่ในพื้นที่ภาคเหนือจะเพิ่มขึ้นถึงจุดสูงสุดในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. ห่างกันราว 1 เดือน
...
เมื่อวิเคราะห์วงจรของฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ จะพบว่า ฝุ่นเริ่มมีปริมาณสูงขึ้นตั้งแต่ เดือน ต.ค. และค่อยๆ เพิ่มอย่างต่อเนื่องจนถึงเดือน ก.พ. ก่อนจะลดลง อย่างไรก็ดี จากข้อมูลการวัดปริมาณฝุ่นในปี 2565 พบว่าช่วงเวลาที่ฝุ่นมีปริมาณสูงมีระยะยาวนานขึ้น คาบเกี่ยวช่วงเวลาตั้งแต่ ก.พ.-เม.ย. ซึ่งเป็นลักษณะที่เปลี่ยนไปเมื่อเทียบกับปี 2561-2564
ด้านเชียงใหม่ ถือเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่มีการเปลี่ยนแปลงที่น่าเป็นห่วง ข้อมูลจากสถานีตรวจวัดค่าฝุ่น พบว่าในปี 2561-2565 ฝุ่น PM 2.5 มีปริมาณสูงสุดในเดือน มี.ค. ก่อนจะลดปริมาณลง ในขณะที่ในปี 2566 ปริมาณฝุ่นยังคงเพิ่มสูงขึ้นจนแตะจุดสูงสุดในเดือน เม.ย. ก่อนจะค่อยลดปริมาณลง กล่าวคือช่วงเวลาที่ฝุ่นมีปริมาณสูงกินเวลายาวนานกว่าปีก่อนหน้า
แม้พื้นที่ทางภาคเหนือจะได้รับผลกระทบของฝุ่นในระดับที่สูงไล่เลี่ยกัน จากข้อมูลพบว่าหลายพื้นที่ในภาคเหนือมีแนวโน้มปริมาณฝุ่นลดลงในช่วงปี 2561-2565 และค่าฝุ่นกลับมามีค่าสูงขึ้นในปี 2566 สอดคล้องกับช่วงที่สถานการณ์โควิดมีความรุนแรง โดยพบว่าพื้นที่ จ.เชียงใหม่ และ จ.น่าน มีค่าฝุ่นสูงสุดมากขึ้นกว่าปีก่อนหน้า 2-2.5 เท่า และมีช่วงเวลาที่ฝุ่นสูงลากยาวจนถึงเดือน เม.ย. ต่างจากพื้นที่แม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นจุดที่มีแนวโน้มค่าฝุ่นสูงขึ้นต่อเนื่องแทบจะทุกปี แม้แต่ในปีที่สถานการณ์โควิดมีความรุนแรง แต่สถานการณ์กลับมาดีขึ้นหลังเดือน มี.ค. ไวกว่าสถานการณ์ฝุ่นในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ และ จ.น่าน
คนกรุงเทพฯ รับฝุ่น PM 2.5 เฉลี่ยประมาณสูบบุหรี่ 2 มวน/วัน
จากงานวิจัยโดยสถาบันวิจัยสภาพอากาศ Berkeley Earth มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ได้ประมาณการผลกระทบต่อสุขภาพ พบว่าการสูดอากาศที่มีความหนาแน่นฝุ่น 22 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เทียบเท่าได้กับการสูบบุหรี่ 1 มวน/วัน จากตัวเลขดังกล่าว ดร.พีรดล ประเมินว่า ม.ค.-เม.ย. ปี 2566 คนกรุงเทพฯ ที่ไม่มีผ้าปิดจมูกหรือป้องกัน จะได้รับฝุ่นโดยเฉลี่ยเทียบเท่าการสูบบุหรี่ 2 มวนต่อวัน ตลอดช่วงเวลาดังกล่าว
...
สำหรับพื้นที่เชียงใหม่ จากตัวเลขช่วง ม.ค.-เม.ย. ปี 2566 สามารถประเมินได้ว่าคนในพื้นที่ที่ไม่มีอุปกรณ์ป้องกัน ได้รับปริมาณฝุ่นเทียบเท่ากับการสูบบุหรี่ 2-4.5 มวนต่อวัน
ทั้งนี้ สำหรับพื้นที่ จ.น่าน และ จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งมีสถานการณ์ฝุ่นเพิ่มสูงขึ้นจากปีก่อนอย่างน่าเป็นห่วง ตัวเลขเมื่อต้นปี 2566 ชี้ให้เห็นว่าคนในพื้นที่ที่ไม่ได้มีผ้าปิดจมูกหรือป้องกัน กำลังได้รับปริมาณฝุ่นสูงสุดที่ประมาณ 5.5-7.5 มวน ต่อวัน ในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. ซึ่งเป็นช่วงที่มีค่าฝุ่นสูงสุด
...
“บิ๊กดาต้า” สู่แนวทางแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้ชัดเจนมากขึ้น
ดร.พีรดล กล่าวถึงความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ที่สามารถนำข้อมูลจากการรวบรวมและวิเคราะห์ของสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) นำไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ได้ในประเด็นของการพัฒนา เพราะข้อมูลจะทำให้เห็นปัญหาของปริมาณฝุ่นว่ามีความรุนแรงมากแค่ไหน และจากการร่วมประชุมกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็เริ่มออกแบบและบังคับใช้มาตรการเพื่อมุ่งแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด
บางพื้นที่มีการนำข้อมูลปริมาณฝุ่นที่ผ่านการวิเคราะห์แล้วไปหาถึงต้นกำเนิดของฝุ่น ซึ่งพบว่าฝุ่นส่วนหนึ่งมาจากการเผาไหม้ในพื้นที่เกษตรกรรม จึงมีการออกมาตรการควบคุมการเผาของเกษตรกร และมีมาตรการส่งเสริมเกษตรกรที่ไม่เผาวัชพืช หรือวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ให้ได้ราคารับซื้อผลผลิตที่สูงกว่าแปลงเกษตรที่มีการเผา
ขณะเดียวกัน สำหรับพื้นที่ที่มีไฟป่าซึ่งเป็นจุดกำเนิดฝุ่นอีกส่วนหนึ่ง ภาครัฐได้ผลักดันมาตรการเพื่อให้ชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมกับการดูแลป่า หากชาวบ้านดูแลผืนป่าไม่ให้มีไฟไหม้ ก็สามารถที่จะมีรายได้จากคาร์บอนเครดิต ซึ่งบทบาทหนึ่งของสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ ก็จะทำหน้าที่ในการนำข้อมูลของประเด็นที่เกี่ยวข้อง ที่กระจายอยู่ในหลากหลายภาคส่วนมารวบรวม และบริการให้กับหน่วยงานและประชาชนที่สนใจได้นำไปใช้ประโยชน์ รวมถึงดำเนินการวิเคราะห์ในมุมมองที่ตอบความสนใจของประชาชนและผู้เกี่ยวข้อง สามารถเข้าไปสืบค้นได้แล้วที่ https://envilink.gbdi.cloud/
...