รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั้งประเทศ มีผล 1 ม.ค. 2567 นี้ โดยจังหวัดภูเก็ตได้ค่าแรงขั้นต่ำสูงที่สุด วันละ 370 บาท ส่วนปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ได้ค่าแรงขั้นต่ำน้อยที่สุด วันละ 330 บาท มีความแตกต่างกัน 40 บาท นำไปสู่คำถามการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในไทย มีปัจจัยอะไรบ้าง ทำไมบางจังหวัดสูง บางจังหวัดต่ำ ทำไมขึ้นไม่เท่ากัน และค่าแรงขั้นต่ำของไทยในปัจจุบัน ยุติธรรมแล้วหรือไม่? ควรจะแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่หรือควรจะเท่ากัน
ข้อมูล Rocket Media รายงานว่าไทยมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั้งหมด 50 ครั้ง นับตั้งแต่ปี 2516 ในรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร แบ่งเป็นการขึ้นเป็นรายจังหวัด 21 ครั้ง และการขึ้นทุกจังหวัด 29 ครั้ง โดยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร 1 มีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแบบรายจังหวัดมากที่สุด 6 ครั้ง
ปี 2556 รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้มีการประกาศปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำ ให้จังหวัดที่ได้ต่ำกว่า 300 บาทปรับขึ้นมาเป็น 300 บาท ทำให้ทุกจังหวัดในประเทศไทยได้รับค่าแรงขั้นต่ำเท่ากันเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
แต่หลังจากนั้นในยุครัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา มีการประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำพร้อมกันทุกจังหวัดในปี 2560, 2562, 2563 และ 2565 โดยกำหนดค่าแรงขั้นต่ำตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำในแต่ละจังหวัด ทำให้ค่าแรงขั้นต่ำในแต่ละจังหวัดของไทยกลับมาไม่เท่ากันอีกครั้ง
แม้จะมีการกล่าวอ้างจากผู้ประกอบธุรกิจว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ จะทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ แต่จากข้อมูลกลับพบว่า ในแต่ละปีที่การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศสูงขึ้น แต่การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้น ไม่ได้สูงขึ้นตามการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศเลย
...
รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เห็นว่า ส่วนตัวคิดว่าไม่จำเป็นต้องเท่ากันทุกจังหวัด ควรกระจายอำนาจให้แต่ละจังหวัดพิจารณาตามสภาพเศรษฐกิจของตัวเองว่าเป็นยังไง ค่าจ้างขั้นต่ำควรจะเป็นเท่าไร อย่างในอเมริกา รัฐต่างๆ ก็มีค่าจ้างขั้นต่ำเป็นของตัวเองแตกต่างกัน ประเทศไทยเองก็มีคณะอนุกรรมการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำในแต่ละจังหวัด แต่เราก็ไม่ได้มีการปล่อยอิสระขนาดนั้น การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมันยังมีลักษณะของการใช้สูตรคำนวณ แล้วไปต่อรองกันเองอีกที ร้อยละ 3 จากกรอบ เหมือนกับเป็นกึ่งเสรี กึ่งบังคับ
การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ หรือเจรจาต่อรอง ต้องใช้ระบบไตรภาคี คือตัวแทนฝ่ายรัฐบาล ตัวแทนฝ่ายนายจ้าง และตัวแทนฝ่ายลูกจ้าง ในทางปฏิบัติตัวแทนฝ่ายลูกจ้างต้องเป็นสหภาพแรงงาน แต่เราไม่ได้มีสหภาพแรงงานในทุกจังหวัด นำมาสู่การตั้งคำถามว่า แล้วตัวแทนฝ่ายลูกจ้างในแต่ละจังหวัดเป็นตัวแทนที่มาจากสหภาพแรงงาน หรือเป็นลูกจ้างจริงๆ
“สหภาพแรงงานในไทยมีไม่เยอะ และสัดส่วนของการเป็นสมาชิกก็ต่ำมาก ถามว่าจังหวัดที่ไม่มีสหภาพแรงงานเอาตัวแทนฝั่งลูกจ้างมาจากไหน แล้วเป็นตัวแทนที่ดีของฝ่ายลูกจ้างไหม อีกประเด็นที่ควรตั้งคำถามก็คือ บอร์ดค่าจ้างไม่ได้มีการกำหนดวาระของตัวแทน เช่น ฝั่งนายจ้างบางคนสามารถจะเป็นบอร์ดฝั่งนายจ้างแบบ 5-7 ปี ไม่มีการกำหนดว่าเป็นบอร์ดได้กี่ปี ต้องเว้นวรรคกี่ปี สมมติว่าฝั่งนายจ้างจะส่งคนนี้เป็นตัวแทน เป็นคนที่เก่งในการเจรจา เขาก็จะส่งคนนี้มาเป็นบอร์ดตลอด มันเลยมีโอกาสที่จะเกิดการผูกขาด”
ในทางทฤษฎีหากจังหวัดเข้มแข็ง ควรกระจายอำนาจให้แต่ละจังหวัดไปคิดกันเอาเอง ว่าอยากจะได้ค่าจ้างเท่าใด เพราะรู้ดีที่สุดว่าสภาพเศรษฐกิจสังคมเป็นอย่างไร อาจจะคุยกันเองแล้วยอมกำหนดให้ค่าจ้างต่ำกว่าจังหวัดอื่น เพื่อดึงนักลงทุนมาลงทุนในจังหวัดตัวเองก็ได้ ก็เกิดการแข่งขันกันในแต่ละจังหวัด แต่ว่าสภาพปัญหาในปัจจุบันของไทย คือจังหวัดไม่ค่อยเข้มแข็งเท่าใด
สูตรคำนวณค่าแรงขั้นต่ำ ผิดเพี้ยน ลับๆ ล่อๆ ตั้งแต่ปี 60
สูตรในการคำนวณค่าแรงขั้นต่ำพิจารณาจากหลายปัจจัย โดยคำนึงถึงดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ มาตรฐานการครองชีพ ต้นทุนการผลิต ราคาของสินค้าและบริการ ความสามารถของธุรกิจ ผลิตภาพแรงงานผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ และสภาพเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งการนำข้อมูลเหล่านี้มาคำนวณไม่ได้กำหนดสูตรตายตัว หรือเจาะจงตัวเลข เป็นเพียงการบอกคร่าวๆ ว่าจะใช้สิ่งใดมาคำนวณ
ที่มาของสูตรคำนวณอัตราค่าแรงขั้นต่ำ ทางคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 19 ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศึกษาแนวทาง กระทั่งได้สูตรคำนวณในปี 2559 และเริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2560 เป็นสิ่งที่มีปัญหาทำให้เกิดการขึ้นค่าแรงที่ไม่เป็นธรรม เนื่องจากมีตัวถ่วงหนึ่งที่ไม่ควรจะถ่วง เช่น เงินเฟ้อขึ้น 5% ค่าจ้างขั้นต่ำก็ควรขึ้นเพิ่ม 5% บวกกับอีกส่วนหนึ่งคือส่วนผลิตภาพขึ้น 5% ค่าจ้างขั้นต่ำก็ควรขึ้นเพิ่ม 5%
“แต่สูตรนี้มีตัวถ่วงตัวหนึ่งที่นำมาใช้คูณกับผลิตภาพแรงงาน โดยใช้ที่ 0.32 ซึ่งหมายความว่า ถ้าผลิตภาพแรงงาน อันหมายถึงว่าความเก่งของแรงงานเพิ่ม 10% ปกติเราควรจะขึ้นเงินเดือนให้เขา 10% ด้วย แต่พอต้องคูณด้วยตัวถ่วง 0.32 ก็หมายความว่าถ้าแรงงานเก่งขึ้น 10% สูตรนี้จะบอกว่าจ่ายให้แรงงานเพิ่มขึ้นแค่ 3.2%สูตรการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่เราใช้อยู่ จึงทำให้ค่าแรงขั้นต่ำมันขึ้นได้ไม่มากในแต่ละครั้ง และที่สำคัญเราใช้สูตรผิดมาตั้งแต่แรกแล้ว เพราะฉะนั้นค่าแรงที่ขึ้นมาแต่ละครั้งจนถึงปัจจุบัน ไม่ได้สะท้อนความเป็นจริงและไม่ยุติธรรมต่อแรงงาน”
...
การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในปี 2566 ยังมีความผิดปกติเพิ่มขึ้นอีก คือเรื่องเงินเฟ้อ โดยปกติแล้วประเด็นเงินเฟ้อจะทำปีต่อปี แต่ในการต่อรองกันของคณะกรรมการไตรภาคี ซึ่งฝั่งตัวแทนนายจ้าง บอกว่าจะคิดเฉลี่ย 5 ปี ถ้าใช้อัตราเงินเฟ้อจากปีที่แล้วซึ่งสูง จะทำให้ค่าแรงที่ต้องปรับขึ้นสูงตามอัตราเงินเฟ้อ แต่เมื่อคิดเฉลี่ย 5 ปี ย้อนไปจนถึงช่วงโควิด ทำให้ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อที่นำมาใช้มันต่ำกว่า พอคำนวณออกมาว่าควรจะปรับค่าแรงขั้นต่ำขึ้นเท่าไร ตัวเลขที่ได้จึงต่ำ
“ทำไมปล่อยให้ผิดได้ตั้ง 6 ปี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสูตรคำนวณไม่เคยถูกเปิดเผยออกมา ไม่เคยได้รับคำอธิบายว่าตัวเลขนี้มาจากไหน กระทั่งมาเห็นสูตรนี้ด้วยตัวเองก็ตกใจว่า เฮ้ยสูตรมันผิดนี่ แล้วเราจะชดเชยย้อนกลับไหม ก็น่าคิดเหมือนกัน ต้องเรียกร้องให้เปิดเผยสูตรนี้ทุกปี อยู่ๆ จะมาบอกว่าใช้เงินเฟ้อ 5 ปีย้อนหลัง อยู่ๆ จะเปลี่ยนแบบนั้นก็เปลี่ยนเลยหรือ แล้วในวงเจรจา ฝั่งตัวแทนนายจ้างที่มีอิทธิพลและอยู่ในบอร์ดมาอย่างยาวนาน มีความสามารถในการเจรจา เขาก็จะยืนยันว่าสูตรไม่ผิด มันแก้อะไรไม่ได้อีกแล้ว ทั้งๆ ที่เขานั่นแหละเป็นคนเสนอเรื่องค่าเฉลี่ยเงินเฟ้อ 5 ปีย้อนหลัง”
...
ส่วนตัวแทนฝั่งลูกจ้างบางส่วนก็ไม่ได้เห็นด้วย แต่จุดอ่อนของฝั่งลูกจ้างอาจจะไม่ได้เข้าใจอะไรมาก ทั้งสูตร ทั้งเศรษฐกิจ ทั้งสังคม ทำให้การต่อรองต่างๆ ยากลำบาก ไม่กล้าแสดงความเห็น หรือคงไม่กล้าที่จะเปลี่ยนแปลงอะไร ซึ่งทางฝั่งลูกจ้างก็ควรที่จะมีทีมนักวิชาการมาเป็นที่ปรึกษา ให้การสนับสนุนทั้งเชิงความรู้และข้อมูลข่าวสารเพื่อสร้างอำนาจการต่อรองให้ได้ หรือมีการรวมกลุ่มที่เข้มแข็งเพื่อสร้างอำนาจต่อรอง
ขณะที่บริษัทใหญ่กำไรสูง ไม่ได้มีผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เพราะใช้คนน้อยแต่ใช้เครื่องจักรมาก ไม่ได้รับผลกระทบมากเวลามีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ แต่ธุรกิจที่มีปัญหาคือเอสเอ็มอี ซึ่งมีจำนวนมากในประเทศไทย และตอนนี้เรื่องการปรับค่าแรงขั้นต่ำของไทย ยังมีความไม่เป็นธรรมอยู่ในเรื่องของสูตรที่ใช้คำนวณในการปรับค่าแรงขั้นต่ำ มีความผิดถูกชัดเจนต้องไปแก้ให้ถูกเสียก่อน.