ใกล้สิ้นปี 31 ธ.ค. 2566 เข้าสู่ปีใหม่ 2567 กับสถานการณ์ครอบครัวไทยเปลี่ยนแปลงไปมากมายจากในอดีต จากหนึ่งครอบครัวคนไทยมีสมาชิกพ่อแม่ลูกรวมกันประมาณ 5-6 คน หรือ 10 คนก็เคยมีให้เห็น แต่ปัจจุบันผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์โดยเฉลี่ยแล้วจะมีลูกเพียงแค่ 1 คนเท่านั้น กลายเป็นปัญหาระดับชาติ ทำให้กระทรวงสาธารณสุขเตรียมผลักดันและส่งเสริม ”มีลูกเพื่อชาติ” ให้เป็นวาระแห่งชาติ ในยุคสังคมผู้สูงอายุ คาดว่า 60 ปีข้างหน้า หรือปี 2626 ประชากรไทยจะลดลงเหลือเพียง 33 ล้านคน จากปัจจุบัน 66.5 ล้านคน

สถานการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น จากการระบุของ “รศ.ดร.มนสิการ กาญจนะจิตรา” รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ สถาบันวิจัยประชากรและสังคมมหาวิทยาลัยมหิดล แต่มีแนวโน้มเกิดขึ้นทั่วโลก โดยไทยจัดอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง เพราะมีอัตราการลดของประชากรเร็วเป็นอันดับที่ 2 ของโลก รองจากประเทศญี่ปุ่นที่กลายเป็นสังคมคนสูงอายุไปแล้ว และหากจัดเฉพาะกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ไทยกลายเป็นประเทศที่มีอัตราการเกิดน้อยที่สุดในโลกไปแล้ว

...

ประชากรไทยลดลงแล้ว เด็กเกิดใหม่ค่อยๆ น้อยลง

เพื่อให้เห็นภาพชัดถึงอัตราการเกิดในไทยลดน้อยลง “ศ.ดร.ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์” สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้อ้างถึงข้อมูลศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ปราโมทย์ ประสาทกุล ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยประชากรและสังคม เคยชี้ให้เห็นว่าจำนวนประชากรที่มีชื่อในทะเบียนบ้านเมื่อปลายปี 2562 หรือต้นปี 2563 อยู่ที่ 66.5 ล้านคน แต่หลังจากนั้นประชากรไทยก็ค่อยๆ ลดลง จากจำนวนเด็กเกิดใหม่ในปีๆ หนึ่ง นั้นน้อยกว่าจำนวนคนที่ตายไปทั้งหมดในปีเดียวกัน และจากการติดตามตัวเลขในปี 2564 และ 2565 มีจำนวนคนตายมากกว่าคนเกิดทั้ง 2 ปี แสดงให้เห็นว่าประชากรไทยได้ลดลงแล้ว

จากการเปรียบเทียบกับช่วงเวลา 39 ปี จากปี 2527 เป็นปีที่อาจนับได้ว่าสิ้นสุดประชากรรุ่นเกิดล้าน จนถึงปี 2565 การเกิดได้ลดลงจากประมาณ 9 แสนคน มาอยู่ที่ประมาณ 5 แสนคน หรือลดลงราว 4 แสน ส่วนการตายได้เพิ่มจากประมาณ 2 แสนคน มาอยู่ที่ประมาณ 5 แสนคน เช่นกัน ทั้งการเกิดและการตายที่เปลี่ยนแปลงในช่วง 3 แสนคน ใช้เวลาพอๆ กัน คือ 34-35 ปี แต่การลดลงของจำนวนเกิดในช่วงทศวรรษ 2560 เกิดขึ้นเร็วมากกว่า เมื่อเทียบกับการเพิ่มขึ้นของการตายในช่วงเวลาเดียวกัน

“การเกิดได้ลดลงถึง 2 แสน ขณะที่การตายเพิ่มขึ้น 1 แสน ในระยะเวลาเพียง 5 ปี ทำให้เราเห็นว่าการลดลงของประชากรไทยได้เกิดขึ้นแล้ว และเกิดขึ้นในเวลาที่เร็วกว่าที่เคยคาดไว้ เมื่อกรมการปกครอง ประกาศตัวเลขประชากรในวันสิ้นปีของแต่ละปี เราพบว่า ประชากรไทยได้ลดลงตั้งแต่เมื่อปี 2563 เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ถึง 9 ปีทีเดียว”

สิ้นปีคนเกิดยังไม่ลดต่ำกว่า 5 แสน ตายไม่ทะลุ 6 แสน

เมื่อรวมกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงการเกิด ตาย ที่เร็วมากในช่วงทศวรรษ 2560 และเมื่อถึงสิ้นปี 2566 จำนวนคนเกิดก็น่าจะต่ำกว่า 5 แสนคน ส่วนคนตายก็น่าจะทะลุ 6 แสนคน การคาดการณ์เช่นนี้คงใช้ได้ดี หากข้อมูลหยุดอยู่ที่ปี 2565 แต่ปัจจุบันสำนักบริหารการทะเบียน สามารถประมวลผลและเผยแพร่ข้อมูลเป็นรายเดือน อย่างเดือน ม.ค. จนถึง ต.ค. 2566 หรือ 10 เดือนของปี 2566 มีการเกิด 433,050 ราย หรือเฉลี่ย 43,305 รายต่อเดือน ตาย 472,546 ราย หรือเฉลี่ย 47,255 รายต่อเดือน

“อาจประมาณได้ว่าเมื่อถึงสิ้นปี 2566 น่าจะมีการเกิด 519,660 คน ส่วนการตาย 567,055 คน ซึ่งประมาณโดยการคูณค่าเฉลี่ยด้วย 12 หากเป็นเช่นนี้ คนเกิดในปี 2566 ก็ยังไม่ลดต่ำกว่า 5 แสนคน ส่วนคนตายก็ยังไม่ทะลุ 6 แสนคน”.