ย้อนดูภาษากายลุงพล วันที่พบร่าง “น้องชมพู่” กับคำพูดแปลกๆ นักอาชญาวิทยาวิเคราะห์ หลักการสืบสวน ขั้นตอนจับโกหก และหลักฐานสำคัญนำไปสู่คำพิพากษา
ตัดสินแล้ว สำหรับคดีมหากาพย์ แห่งบ้านกกกอก โดยวันนี้ (20 ธ.ค.66) ศาลจังหวัดมุกดาหาร นัดฟังคำพิพากษา ในคดีพนักงานอัยการจังหวัดมุกดาหาร เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายไชย์พล วิภา หรือ "ลุงพล" และ น.ส.สมพร หลาบโพธิ์ หรือ "ป้าแต๋น" สองสามีภรรยา เป็นจำเลยที่ 1-2 กรณีการเสียชีวิตของ "น้องชมพู่" ในวัย 3 ขวบ
โดยผลการตัดสินของศาลชั้นต้น พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 หรือ “ลุงพล” มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291 และ 317 วรรคแรก ฐานกระทำโดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จำคุก 10 ปี ฐานพรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากบิดามารดาปราศจากเหตุอันควร จำคุก 10 ปี รวม 2 ข้อหา จำคุก 20 ปี ส่วนข้อหาอื่นๆ ศาลยกประโยชน์แห่งความสงสัย ขณะที่จำเลยที่ 2 ศาลยกฟ้อง
คดีนี้ ถือเป็นคดีประวัติศาสตร์คดีหนึ่ง เพราะกว่าจะมาถึงวันตัดสิน ต้องใช้เวลาในสืบสวนอย่างยาวนาน และกว่าทาง เจ้าหน้าที่ตำรวจ จะตั้งข้อหาก็เป็นเวลาข้ามปี
...
ศ.พล.ต.ท.ดร.พิศาล มุขแจ้ง อดีตอาจารย์โรงเรียนนายร้อยตำรวจ และรองนายกสมาคมพนักงานสอบสวน มองคดีนี้ว่า กระบวนการยุติธรรม ต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายที่เข้ามาสู่ในวงจรกระบวนยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นผู้เสียหาย ผู้ต้องหา หรือพยาน เพราะถือเป็นการกระบวนการตรวจสอบ ถ่วงดุล และพิสูจน์ความผิด เมื่อตรวจสอบทุกกระบวนการแล้ว หากไม่มีหลักฐานแน่นหนา ก็อาจนำไปสู่การยกฟ้อง แต่ถ้าหลักฐานแน่นหนา ก็จะนำไปสู่การพิพากษาลงโทษ ซึ่งกระบวนการศาลนั้น จะให้โอกาสกับทุกคนที่เกี่ยวข้อง
คดีลุงพล.. อดีตอาจารย์โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ระบุว่า ศาลจะดูที่พยานหลักฐานทั้งหมด โดยเฉพาะหลักฐานทาง “นิติวิทยาศาสตร์” เพราะ หลักฐานประเภทนี้ คือ “ความจริงที่หนีไม่พ้น” ส่วนพยาน และ หลักฐานอื่นๆ ศาลก็จะชั่งน้ำหนัก เช่น พยานบุคคล เห็นลุงพลใกล้กับจุดเกิดเหตุ แม้ภายหลังจะมีการ “กลับคำให้การ” แต่...พนักงานสอบสวนเชื่อ “คำให้การในครั้งแรก” เพราะเป็นคำให้การในครั้งแรก มักจะไม่ถูกปรุงแต่ง จึงค่อนข้างมีน้ำหนัก...
ส่วนหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ ที่สำคัญ คือ “เส้นผม” น้องชมพู่ ที่ตรวจพบในจุดเกิดเหตุ และเส้นผมที่ตรวจพบที่รถของ “ลุงพล” โดยเป็นเส้นผมที่มีรอยตัด และองศาการตัด มันตรงกัน แปลว่าเป็นการตัดในครั้งเดียวกัน
ในทางทฤษฎี การประกอบอาชญากรรม อาชญากรทุกคนจะต้องทิ้งร่องรอย หรือพยานหลักฐานไว้ที่ในเกิดเหตุเสมอ เพียงแต่อาชญากร จะกลบเกลื่อนหลักฐาน หรือ พนักงานสอบสวน จะเจอร่องรอยนั้นหรือไม่ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง.. โดยขึ้นอยู่กับความละเอียดและรอบคอบของทีมเก็บกู้วัตถุพยาน และอาศัยประสบการณ์ และ เทคโนโลยีที่เป็นนิติวิทยาศาสตร์เป็นสำคัญ
ภาษากาย และพิรุธ ในวันพบ ศพ “น้องชมพู่”
ศ.พล.ต.ท.ดร.พิศาล เชื่อว่า พนักงานสอบสวนรู้ว่า “ลุงพล” คือ ผู้ต้องสงสัยตั้งแต่วันแรกที่พบศพ เพราะวันนั้น ลุงพล แสดงพิรุธ จาก “ภาษากาย”
ภาษากาย วันนั้น “ลุงพล” เป็นคนแรกที่มาแจ้ง... “ลุงพล” ร้องไห้ แต่ไม่รู้ว่ามีน้ำตาหรือไม่...?
“ลุงพล” ตะโกนบอกว่า “มีคนร้าย อายุประมาณ 30 ปี ให้ไปจับ” เมื่อถามในทางกลับกันว่า ลุงพล รู้ได้อย่างไรว่าคนร้ายอายุ ประมาณ 30 ปี หรือ เห็นหน้าใคร คนใดคนหนึ่ง ชี้ชัดได้เลยหรือว่าคนนั้นอายุ 30 ปี
“ส่วนตัวเชื่อว่า พนักงานสอบสวนที่มีองค์ความรู้ และมีประสบการณ์ในการทำงาน เขาเหล่านั้น จะมีไหวพริบ และมีความรู้และแม่นข้อกฎหมาย ฉะนั้น เมื่อเห็นอาชญากร พยายามโกหก อย่างไรก็ตาม หากเข้าสู่กระบวนการสอบสวนที่เป็นมืออาชีพจริงๆ เชื่อว่าไม่สามารถรอดพ้นสายตาได้..”
ศ.พล.ต.ท.ดร.พิศาล บอกว่า ตำรวจมีเทคนิคมากมายในการพิสูจน์ ว่า “ผู้ต้องหา” คนนี้ได้โกหกหรือไม่ เช่น คำพูด ภาษากาย ถ้าคนต้องการปกปิดอะไรบางอย่าง เวลาสอบสวน ผู้ต้องหามักจะไม่สบตาพนักงานสอบสวน เช่น เวลาพูดก็ทำเป็นมองไปรอบๆ เรียกว่า มาให้การโดยไม่เป็นไปตามธรรมชาติ ที่ควรจะสื่อสารกัน หรือ บางคนพยายามร้องไห้ แต่อาจไม่เห็นน้ำตาก็ได้
...
“ถึงแม้เป็นนักแสดงมืออาชีพ หรือดารา หากทำความผิดมา พนักงานสอบสวนก็จะทราบได้ว่าทำความผิดจริงหรือไม่ เพราะท่าทาง คำพูด ภาษากาย บ่งชี้เลยว่า มีอะไรผิดปกติ ซ่อนเร้นอยู่...อีกเรื่องคือ พนักงานสอบสวนต้องมีความเพียร ในการค้นหาความจริง ไม่ได้ปล่อยให้ผู้ต้องหาพูดไปเรื่อย เนื่องจาก ตามสิทธิทางกฎหมาย คนที่เป็นผู้ต้องหา สามารถพูดอะไรก็ได้ โกหกก็ได้ กลับกัน คนที่เป็นพยาน หากโกหก จะมีความผิดทางกฎหมาย คือ ให้การเท็จ ฉะนั้น เป็นสิ่งที่พนักงานสอบสวนต้องทำงานอย่างละเอียดและรอบคอบ”
เชื่อว่าพนักงานสอบสวนมืออาชีพทุกคนจะมี คือความสามารถเฉพาะตัวในการสอบสวน หรือ บางเรื่อง เป็นเรื่องที่รู้อยู่แล้ว แต่ก็แกล้งถาม หรือ ถามบางคำถาม แล้วได้คำตอบที่ขัดแย้งกัน จนทำให้พนักงานสอบสวนเชื่อว่า ผู้ต้องหาไม่ได้ตอบความจริง รวมถึงจิตวิทยาในการซักถามด้วย
ปรากฏการณ์ของ “สังคม” ส่งผลต่อคดี
นักอาชญาวิทยา มองว่า สิ่งที่ส่งผลกระทบกับคดีลุงพล ส่วนหนึ่งมาจากกระแสสังคมด้วย เพราะในช่วงแรกๆ สังคมมองว่า “ลุงพล” ถูกปรักปรำ จากนั้น เขากลายเป็นคนมีชื่อเสียง เพราะทุกคนที่เข้าหา ต้องการให้โอกาสลุงพล แม้แต่ค่ายเทป ทำเพลง ถูกเชิญไปออกงานอีเวนต์ต่างๆ กลายเป็นพรีเซนเตอร์สินค้า ทุกอย่างเหล่านี้ล้วนมีผลกับคดี
...
เนื่องจากปรากฏการณ์เหล่านี้ แปลว่า ไม่ว่าจะทำอะไรลงไป สังคมกำลังจับจ้องกับ “องค์กรตำรวจ” ดังนั้น ตำรวจต้องหาพยาน หลักฐาน ที่มาจากความบริสุทธิ์ ยุติธรรมจริงๆ ถ้าหากไม่มีหลักฐานพิสูจน์ความผิดโดยสมบูรณ์ จะไม่มีใครกล้ากล่าวหาลุงพล
“ส่วนตัวเชื่อว่า ตำรวจรู้แต่แรก ว่าลุงพลเป็นผู้กระทำความผิด แต่ไม่มีหลักฐานไปยืนยัน ดังนั้นจึงต้องหาพยานหลักฐานมาพิสูจน์”
บทเรียนของคดีนี้และอยากจะฝากเตือนทุกคนว่า หากท่านมีโอกาสพบเห็นการกระทำความผิด หรืออยู่ใกล้จุดเกิดเหตุ ท่านอย่าไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานโดยเด็ดขาด อย่าเคลื่อนย้ายศพ พยานหลักฐาน หรืออาวุธ แม้จะทำด้วยเจตนาดีก็ตาม หรือแม้แต่ตำรวจชั้นผู้ใหญ่ หรือสายตรวจก็ตาม โดยเฉพาะผู้บังคับบัญชา ชอบเดินเข้าไปและจับนู่นนี่ เดินเหยียบย่ำ ในที่เกิดเหตุ สิ่งเหล่านี้มันทำให้การพิสูจน์ความผิดได้ยากขึ้น...
อย่างไรก็ตาม ล่าสุด “ลุงพล” ได้รับการประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ 5 แสนบาท โดยจะต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ต่อไป ดังนั้น คดีนี้จึงถือว่ายังไม่สิ้นสุด ต้องติดตามผลคดีต่อไป
...
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทความที่น่าสนใจ