สุดอนาถ "เสือโคร่ง" อดอาหารผอมโซ หลังสวนสัตว์แห่งหนึ่งในพื้นที่ภาคอีสานปิดตัว ด้วยพิษโควิด ทำให้ไม่มีรายได้ ล่าสุดหน่วยงานรัฐร่วมกับมูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่า พาเสือโคร่ง 12 ตัว เสือดาว 3 ตัว ออกจากสวนสัตว์ร้าง โดยพบเสือโคร่ง 2 ตัว อาการป่วยหนัก ผอมจนเห็นซี่โครง ไม่สามารถเดินได้ ทำให้สัตวแพทย์ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด เผยมีสวนสัตว์เอกชนในไทยอีกหลายแห่ง ประสบปัญหาไม่ต่างกัน
"นายเอ็ดวิน เจ วิค" เลขาธิการมูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่า เปิดเผยกับทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์ ว่า เสือโคร่งชุดดังกล่าวได้นำออกมา เนื่องจากสวนสัตว์เอกชนแห่งหนึ่งในจังหวัดมุกดาหาร ปิดตัวลง ตั้งแต่ช่วงแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งเสือโคร่งได้ตกเป็นของแผ่นดิน แต่ด้วยพื้นที่ดูแลสัตว์ป่า โดยเฉพาะเสือโคร่งมีพื้นที่จำกัด เลยมีการฝากให้มูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่า ช่วยดูแลในเบื้องต้น
มีการนำสัตว์ป่า ตกค้างในสวนสัตว์ชุดแรกออกมาเมื่อวันที่ 17 ธ.ค. ที่ผ่านมา ประกอบด้วยเสือโคร่ง 12 ตัว เสือดาว 3 ตัว พบเสือโคร่งมีปัญหาสุขภาพ 2 ตัว มีร่างกายซูบผอม มีแผลบนผิวหนัง ไม่สามารถเดินเองได้ ต้องให้สัตวแพทย์ดูแลอย่างใกล้ชิด ส่วนเสือโคร่งอีก 3 ตัว มีปัญหาเรื่องระบบทางเดินหายใจ มีร่างกายอ่อนแอ เพราะขาดอาหาร คาดว่าเมื่อได้รับอาหารเพียงพอ จะดีขึ้นภายใน 1-2 เดือน ส่วนเสือตัวอื่นที่เหลือ ยังมีร่างกายที่ไม่น่าเป็นห่วง
...
“เสือโคร่ง 2 ตัว มีปัญหาด้านสุขภาพ ไม่สามารถเดินได้ ทีมสัตวแพทย์พยายามดูแลใกล้ชิด โดยเสือโคร่งชุดแรกที่นำออกมา เป็นเสือแก่มีอายุเกินกว่า 15 ปีทุกตัว ซึ่งมีเสือโคร่งหลงเหลืออยู่ในสวนสัตว์อีก 15-20 ตัว ทางมูลนิธิฯ ยังไม่พร้อมในการจะรับเสือไปดูแลเพิ่ม และเสือที่เหลือจะมีการกระจายไปอยู่ในศูนย์พักพิงของรัฐ เนื่องจากสวนสัตว์ที่ปิดตัว มีการเพาะพันธุ์เสือโคร่งมากว่า 20 ปี”
หลังมีการขนย้ายเสือโคร่งชุดแรกออกจากสวนสัตว์ดังกล่าว มีการลำเลียงมาพักฟื้นไว้ที่มูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่า จ.เพชรบุรี แผนการฟื้นฟูต่อจากนี้ ต้องให้ยาบำรุงหลายชนิด เพราะเสือน่าจะไม่ได้รับอาหาร ที่เพียงพอมาประมาณ 1-2 ปี เมื่อเข้าพักฟื้นจะมีการคัดสรรเนื้อหมูและไก่สด แต่ไม่สามารถให้เสือกินทีละมากๆ ได้ ต้องค่อยๆ เพิ่มปริมาณ ช่วงแรกต้องแบ่งให้กินวันละสามรอบ เพื่อให้ร่างกายของเสือโคร่งปรับตัว รับการสารอาหารที่เพิ่มขึ้นให้ได้ก่อน ไม่เช่นนั้นจะมีปัญหาเรื่องระบบย่อยอาหาร
“เฉลี่ยเสือโคร่ง 1 ตัว ต้องมีค่าใช้จ่ายอาหารวันละ 320 บาท แต่ค่าใช้จ่ายที่สูงมาจากยารักษา โดยเฉพาะเสือโคร่งที่มีอาการป่วยหนัก สัตวแพทย์ต้องดูแลรักษาหลายอย่าง ต้องเฝ้าระวัง เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น”
ปัญหาสวัสดิภาพสัตว์ ไม่ได้เจอในสวนสัตว์เอกชน แห่งนี้แห่งแรก แต่เคยพบมาแล้วเมื่อ 2 ปีก่อน เนื่องจากผลของการแพร่ระบาดของโควิด ทำให้มีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมสวนสัตว์ลดลง ทำให้สวนสัตว์เอกชนบางแห่ง ไม่สามารถอยู่ได้ หรือบางแห่งลดปริมาณอาหารให้กับสัตว์ เพื่อได้ประหยัดต้นทุน
...
สำหรับมูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่า ไม่เคยเห็นด้วยกับการเพาะเสือโคร่งในเชิงธุรกิจ ที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่า บางสวนสัตว์ของเอกชน มีการเพาะพันธุ์เสือโคร่งไว้จำนวนมาก แต่เมื่อเจอปัญหาก็ไม่สามารถเลี้ยงดูได้ต่อ ทำให้เสือประสบปัญหาด้านสุขภาพ
ทางออกดูแลเสือโคร่งของกลาง
"นายเอ็ดวิน เจ วิค" เลขาธิการมูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่า เล่าถึงแนวทางการลดการกักขังเสือโคร่งว่า ตามอนุสัญญาไซเตส มีความพยายามให้ฟาร์มเสือในไทย ลดลง ประกอบกับการอพยพเสือโคร่งจำนวนมากออกจากวัดถ้ำเสือ จ.กาญจนบุรี เมื่อหลายปีก่อน ทำให้ศูนย์ฟื้นฟูสัตว์ป่า ขาดแคลนพื้นที่ในการดูแลเสือโคร่ง
...
สิ่งนี้ทำให้หน่วยงานภาครัฐ ต้องหันมาทำงานกับองค์กรเอ็นจีโอ เนื่องจากการดูแลเสือโคร่งที่มีอาการป่วย ค่อนข้างมีความละเอียดอ่อนและต้องดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะถ้าโยนภาระการดูแลสัตว์ป่าของกลาง ที่ตกเป็นของแผ่นดินแล้ว ให้หน่วยงานภาครัฐอย่างเดียว จะเป็นภาระที่หนัก แต่ถ้ามีการดูแลร่วมกัน ถือเป็นอีกทางออกที่ทำให้เกิดความยั่งยืนมากขึ้น
สำหรับเสือที่หลงเหลืออยู่ในสวนสัตว์ที่ปิดตัว ขึ้นอยู่กับความพร้อมของกรมอุทยาน ในการดำเนินการเรื่องเอกสาร และประสานให้หน่วยงานต่างๆ ไปช่วยดูแล ซึ่งทางมูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่า ยินดีที่จะเข้าไปช่วยเหลือเสือโคร่งที่เหลืออีก
ฝากถึงคนที่อยากลักลอบเลี้ยงสัตว์ป่า ให้คิดให้ดีก่อน เพราะสัตว์เหล่านี้มีขนาดใหญ่ มีอายุยาวถึง 30-50 ปี ดังนั้นคนเลี้ยงต้องมีศักยภาพที่สามารถดูแลได้ตลอดอายุขัยของสัตว์.
ขอขอบคุณภาพจาก มูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่า