ข้อสังเกตปรากฏการณ์สังคม เมื่อเด็กถูกยกย่องเป็น “ผู้วิเศษ” กับทฤษฎีโรงละคร และผลกระทบเมื่อม่านเวทีรูดปิดลง กับปมถกเรื่องสิทธิเด็ก และหน้าที่ผู้ปกครอง
“ความเชื่อ” ถือเป็นเรื่องส่วนบุคคล.. ทุกคนย่อมมีเสรีภาพที่จะรัก ชอบ หรือเชื่อ
หากเป็นเรื่องที่ไม่ได้ก่อความเดือดร้อนแก่ใคร...ย่อมมีสิทธิที่จะเชื่อได้
เวลานี้กระแสสังคมกำลังตั้งคำถามกับการแต่งตั้งให้เด็กคนหนึ่งเป็นเหมือน “ผู้วิเศษ” พร้อมทำการเทศนาสั่งสอนผู้คน และมีคนจำนวนหนึ่งศรัทธา กราบไหว้ นับถือดั่งเทพเจ้ากลับมาจุติ
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้พูดคุยกับ ผศ.ดร.พิม เดอะ ยง ประธานสาขาวิชาไทยและอาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เจ้าของงานวิจัยเกี่ยวกับความเชื่อเรื่อง “ร่างทรง” และ นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชน กับ ปรากฏการณ์ของสังคมที่ส่งผลต้องวิเคราะห์ถึงสิทธิเด็ก
ทฤษฎีโรงละคร เมื่อผู้ศรัทธา เปลี่ยนเป็นผู้แสดง
...
ผศ.ดร.พิม ระบุว่า ในอดีตเคยมีลัทธิแปลกๆ หรือร่างทรงมากมาย โดยมากจะไม่เกี่ยวข้องกับเด็ก แต่...การมีเด็กมาเป็นผู้นำลัทธิ เป็นผู้นำด้านจิตวิญญาณ มันถือเป็นเรื่องแปลกใหม่ในสังคมไทย แม้ในต่างประเทศ จะเคยเห็นกันมาบ้าง ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่สำหรับประเทศไทยถือเป็นเรื่องที่แทบจะไม่เคยเกิดขึ้น
ในต่างประเทศเคยมีเคสเด็กร่างกายผิดปกติ จากนั้นก็มีความเชื่อ ความศรัทธา ถึงการกลับชาติมาเกิดของเหล่าเทพ
ผศ.ดร.พิม กล่าวว่า หากมองปรากฎการณ์ดังกล่าวในเชิงวิชา “สังคมวิทยา” เคสลักษณะนี้อาจเข้าข่าย “ทฤษฎีโรงละคร”
ผศ.ดร.พิม อธิบายว่า เวลาที่ ผู้นำลัทธิ หรือผู้นำจิตวิญญาณแสดงออกมา จะมีความคล้ายกับการแสดงละคร โดยคนคนนี้จะรับบท “ผู้แสดงหลัก” ส่วนคนรอบข้างที่มากราบไหว้ หรือรายล้อม จะรับบท “ผู้ชม” การได้รับชมการแสดง อินไปกับการแสดง และ “ผู้ชม” อาจจะกลายเป็นหนึ่งใน “ตัวละคร” การแสดง คือ เข้าไปมีส่วนร่วม
ผู้ที่เคยทำงานวิจัย เรื่อง “ร่างทรง” ได้ยกตัวอย่างว่า จากความศรัทธาในฐานะ “ผู้ชม” เมื่อทำการเข้าหา มีการกราบไหว้ หรือพรมน้ำให้ เวลานั้นจากบทบาท “ผู้ชม” อาจกลายเป็น “ผู้มีส่วนร่วม” ในการแสดงครั้งนี้ และกลายเป็นเรื่องที่น่าตื่นตาตื่นใจ บวกกับการจัดสถานที่ หากดูแล้วมีความขลัง ดูน่าเชื่อถือ มันก็ยิ่งเป็นการส่งเสริม
ผศ.ดร.พิม ชี้ว่า สังคมไทย มีความเชื่อเรื่องจิตวิญญาณอยู่แล้ว ทำให้สังคมเลือกที่จะรับ แทนที่จะปฏิเสธ
ผศ.ดร.พิม ตั้งข้อสังเกตว่า ในการแสดงต่างๆ อาจจะมีการ “ขัดเกลา” มาก่อนจากใครคนใดคนหนึ่งหรือไม่ และเมื่อคนรอบข้างให้ความเคารพ ยิ่งส่งเสริมให้เกิดความรู้สึก “อุปทาน” หรือไม่ เรื่องนี้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องต้องเข้าไปตรวจสอบ ทั้งหน่วยงานด้านจิตวิทยา, หน่วยงานคุ้มครองเด็ก หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับศาสนา มาร่วมพูดคุยกับเด็ก เพื่อทำความเข้าใจ
สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ เมื่อเด็กคนหนึ่งถูกหล่อหลอมว่าตัวเองเป็นผู้มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ไปเรื่อยๆ เมื่อวันหนึ่งเขาโตขึ้น และพิสูจน์แล้วว่าไม่ได้เป็นความจริง เด็กคนนี้จะอยู่ในสังคมอย่างไร...
เด็กคนหนึ่งสามารถสั่งสอนผู้ใหญ่ได้ คำถามคือ เวลาเขาไปสังสรรค์กับเด็กรุ่นเดียวกัน จะเป็นอย่างไร...
ผศ.ดร.พิม ยกตัวอย่างเคสในต่างประเทศ คือ “กุมารี” ที่ประเทศเนปาล เรื่องนี้มีการทำสารคดีเผยแพร่ไปทั่วโลก และพบว่า “เด็ก” บางคนที่เป็นกุมารี เมื่อพ้นวัย และไม่ได้เป็นกุมารีแล้ว มักจะมีปัญหาชีวิตตามมา
การเป็นกุมารีได้นั้นต้องผ่านการคัดเลือกตั้งแต่ยังเด็ก และเด็กคนนั้นจะถูกจับแต่งตัวเป็นกุมารี จากนั้นก็แห่ให้คนกราบไหว้ แตะที่เท้า แล้วจะได้พร “เด็ก” คนหนึ่ง กลายเป็นสถานะเป็นผู้นำจิตวิญญาณ กลายเป็นบุคคลศักดิ์สิทธิ์
แต่แล้ว...วันหนึ่งเมื่อเด็กโตเป็นสาว เริ่มมีประจำเดือน หน้าที่ “กุมารี” จะสิ้นสุดลง ผลที่ตามมาคือ เด็กที่เป็นกุมารีจะมีปัญหาชีวิต เพราะช่วงที่เป็น “กุมารี” ชีวิตเขาจะไม่ได้ปฏิสังสรรค์กับคนอื่นเลย พอหลุดจากตำแหน่งนี้ เขาไม่รู้ว่าจะไปปฏิบัติตัวอย่างไรในสังคม ซึ่งไม่ได้เป็นทุกคน บางคนก็ปรับตัวได้ บางคนปรับตัวไม่ได้...
...
สมมติว่าวันหนึ่ง เด็กคนหนึ่งที่เคยได้รับการกราบไหว้ แล้วผู้คนเริ่มเสื่อมศรัทธา เหมือนการ “ละครจบลง” เด็กคนนั้นจะมีชีวิตอยู่อย่างไร...?
นี่คือสิ่งที่ ผศ.ดร.พิม รู้สึกเป็นห่วง
สิทธิเด็ก และหน้าที่ของพ่อแม่ ในการเลี้ยงดูเด็ก
ด้าน นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชน กล่าวกับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ กับประเด็นที่เป็นปรากฏการณ์ของสังคม ถึงสิทธิเด็ก และหน้าที่ของผู้ปกครอง ว่า อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในภาคี และมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตาม มีหลักใหญ่ 4 ประการ ประกอบด้วย
1.สิทธิที่จะมีชีวิตรอด คือ การอยู่รอดปลอดภัยตั้งแต่แรกคลอด ไม่ว่าเด็กจะเกิดมาปกติ หรือเกิดมาพร้อมกับความบกพร่องทางร่างกาย หรือจิตใจก็ตาม
2.สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครองจากการล่วงละเมิด และการทารุณกรรมทุกรูปแบบ ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ รวมถึงการใช้แรงงานเด็กเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ทุกรูปแบบ
...
3.สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา คือ การได้รับการสนับสนุนการศึกษาตามมาตรฐาน และโภชนาการที่เหมาะสมตามวัย ส่งเสริมการพัฒนาทั้งทางร่างกายและจิตใจ
4.สิทธิที่จะมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นของเด็ก โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตัวเด็ก และต้องให้ความสำคัญกับความคิดเห็นเหล่านั้น
นี่คือหลักกว้างๆ และสิทธิของเด็ก...
ส่วนหน้าที่ของผู้ปกครองนั้น นายวสันต์ อธิบายว่า จากอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กนำไปสู่กฎหมายของไทยที่ระบุว่า ตามกฎกระทรวงได้มีการกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำไว้ คือ หน้าที่ผู้ปกครองต้องเลี้ยงดู อบรม สั่งสอนเด็กที่อยู่ในความปกครองดูแล
หลักใหญ่ คือ ต้องดูแลทั้งร่างกาย และจิตใจ สุขอนามัย อาหารการกิน การหลับนอน ความสะอาด การป้องกันโรค หากเจ็บป่วยต้องได้รับการรักษา ส่งเสริมการเรียนรู้ และพัฒนาการของเด็ก รวมถึงการให้ความรักกับเด็ก การส่งเสริมการศึกษา และไม่มีการใช้แรงงานเด็ก...เหล่านี้คือ หน้าที่ผู้ปกครอง
...
กรณีครอบครัวมีกิจการ หรืองานที่เด็กช่วยเหลือได้เล็กน้อย... ประเด็นนี้ นายวสันต์ กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องเข้าใจได้ เช่น เด็กช่วยงานบ้าน, ช่วยขายของในกิจการที่บ้าน ซึ่งเหล่านี้ถือว่าไม่เป็นประเด็น แต่สิ่งที่ต้องระมัดระวังคือ งานอันตรายกับเด็ก หรืองานที่กระทบการเรียนรู้ต่อพัฒนาการของเด็ก หมายความว่า เด็กต้องทำงานแทนที่จะได้ไปเรียนหนังสือที่โรงเรียน เรื่องนี้คือสิ่งที่ต้องระมัดระวัง
ยกตัวอย่าง “มวยเด็ก” บางครอบครัวมองว่าเป็นการออกกำลังกาย สืบทอดวัฒนธรรม ศิลปะป้องกันตัว แบบนี้ก็ถือว่า “ใช่” แต่...หากต้องขึ้นชกเพื่อหาเงินเลี้ยงครอบครัว ก็ต้องมองอีกประเด็นว่า เป็นการใช้เด็กไปทำงานเพื่อกระทบกระเทือนกับร่างกายหรือไม่ ส่งผลกับพัฒนาการทางร่างกายหรือไม่
ทีมข่าวฯ ถามว่า สิ่งที่ยกตัวอย่างคือ งานส่งผลโดยตรงกับทางร่างกาย หากแต่บางงานมันกระทบกับจิตใจ เราจะดูแลอย่างไร เช่น งานที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในโลกโซเชียลมีเดีย มีทั้งคำติชม นายวสันต์ ตอบว่า ที่สำคัญที่สุดเราต้องนึกถึงเด็กในอย่างที่เขาเป็น ควรได้รับการดูแลอย่างเต็มที่จากครอบครัว สังคม หรือโรงเรียน มีโอกาสได้วิ่งเล่นกับเพื่อน
แต่เมื่อเด็กถูกคาดหวัง หรือคาดหมายให้เป็นอย่างอื่น กลายเป็นสิ่งสมมติที่ไม่ใช่ตัวเด็ก แน่นอนว่าเด็กอาจจะขาดโอกาสได้เรียนรู้ ได้เติบโตอย่างสมวัย และเมื่อเด็กอยู่ท่ามกลางสปอตไลต์ ต้องเผชิญกับเสียงติชม ย่อมส่งผลต่อจิตใจเด็ก
คำถามคือ เราจะคุ้มครองเด็กจากสิ่งเหล่านี้อย่างไรได้บ้าง นายวสันต์ ระบุว่า คนที่เป็นผู้ปกครองจะต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดในตัวเด็กอยู่แล้ว และควรดูแลและปฏิบัติกับเด็กในสิ่งควรจะเป็น ทั้งเรื่องความปลอดภัย ความอบอุ่น สุขภาพร่างกาย และจิตใจ
“ต้องถามตัวเองอยู่บ่อยๆ ว่า สิ่งที่ทำอยู่นั้นเพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็ก อยู่หรือไม่?”
ส่วนประเด็นคำถามว่า เด็กถูกแสวงประโยชน์ หรืออยู่ในภาวะอันตรายที่เด็กจำเป็นต้องได้รับการคุ้มครองหรือไม่ คำตอบของเรื่องนี้จะเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น คณะกรรมการคุ้มครองเด็กจังหวัด,
เส้นแบ่งการแสวงหาประโยชน์กับเด็ก จะดูอย่างไร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า โดยรวมแล้วพ่อแม่มีหน้าที่ต้องดูแล แต่ถ้ามีการร้องเรียน ก็อาจจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบ เช่น เด็กถูกทารุณกรรม หรือแสวงประโยชน์ทางเพศ เคสลักษณะแบบนี้ก็จะมีหน่วยงานภาครัฐเข้าไปดูแล ซึ่งบางเคสผู้ปกครองอาจจะไม่มีเจตนาก็ได้ เมื่อมีคำถาม หรือเสียงวิพากษ์วิจารณ์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็เข้าตรวจสอบได้
ส่วนประเด็นเรื่องความเชื่อ... หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็คงต้องไปตรวจสอบว่า สิ่งที่พูด สิ่งที่สอน ทำให้คนคล้อยตามนั้นเป็นเรื่องที่ถูกหรือไม่ ซึ่งเหล่านี้ต้องแยกประเด็นกันออกไป รวมถึงเรื่องเงินทอง ที่นอกเหนือจากความศรัทธาด้วย ก็อาจจะเกี่ยวข้องกับทางกฎหมายแพ่ง หรือ อาญา
ในช่วงท้าย นายวสันต์ ได้กล่าวเตือนสังคมว่า ตามคำสอนของ “พระพุทธเจ้า” ท่านบอกไว้ว่า “อย่าเชื่ออะไรง่ายๆ” ก็ถือเป็นหลักกาลามสูตร.
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทความที่น่าสนใจ