“Golden Boy” ประติมากรรมสำริด มีอายุราว 900-1,000 ปี พิพิธภัณฑ์ฯ ในสหรัฐอเมริกา เตรียมส่งคืนไทยต้นปีหน้า ถือเป็นจิ๊กซอว์ประวัติศาสตร์สำคัญของ “พระเจ้าชัยวรมันที่ 6” เชื่อมโยงกับพื้นที่ราบสูงโคราช แต่การทวงคืนครั้งนี้เกือบจะหลุดมือ โชคดีที่นักโบราณคดีไทยไปเจอชุมชนที่ขุดค้นพบ ชี้รอยตำหนิสำคัญ ทำให้อเมริกายอมส่งคืนไทย ถือเป็นโบราณวัตถุสำคัญ ในการทวงคืนชิ้นอื่นๆ ที่ถูกขโมยไปอีกด้วย

Golden Boy จิ๊กซอว์ประวัติศาสตร์ “พระเจ้าชัยวรมันที่ 6” ทำไมกัมพูชาถึงอยากครอบครอง

ดร.ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการอิสระผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดี หนึ่งในทีมติดตามทวงคืนวัตถุโบราณ เปิดเผยกับ ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ ว่า โบราณวัตถุ 2 ชิ้น ที่ (The Metropolitan Museum of Art หรือ The MET) ประเทศสหรัฐอเมริกา ส่งคืนให้ไทย เกือบจะไม่ได้คืน เนื่องจากหาหลักฐานไปยืนยันไม่ได้ในช่วงแรก ขณะที่กัมพูชามีคณะทำงานทวงคืนที่ติดตามอยู่ตลอด เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงได้นำเสนอกับ กรมศิลปากร และได้มอบหมายให้ลงพื้นที่ไปหาข้อมูลนำไปยืนยันกับสหรัฐอเมริกา

...

ประติมากรรมสำริด ที่รู้จักในชื่อ Golden Boy มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 16 หรือประมาณ 900-1,000 ปี มีความสูง 129 ซม. เป็นวัตถุโบราณชิ้นสำคัญที่กัมพูชาพยายามนำหลักฐานมายืนยันกับสหรัฐอเมริกา เพราะเป็นวัตถุโบราณที่มีความงดงาม แต่ไทยก็หาหลักฐานไปยืนยันจนพบว่าเคยมีการขุดค้นพบ Golden Boy อยู่ในปราสาทโบราณ กลางชุมชนบ้านยางโป่งสะเดา อ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์ ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่เมื่อเห็นรูปภาพ ก็ระบุชัดเจนว่ามีครอบครัวหนึ่งในชุมชนเป็นผู้ขุดค้นพบเมื่อปี 2518 จากนั้นได้ขาย ประติมากรรมสำริด Golden Boy ให้กับพ่อค้าวัตถุโบราณชาวต่างชาติ ราคา 1 ล้านบาท หลังขายได้ช่วงปี 2518 ทั้งหมู่บ้านจัดงานฉลองใหญ่ 3 วัน 3 คืน สิ่งนี้ทำให้มีพยานบุคคลในหมู่บ้านที่เกิดทันยุคนั้น ระบุได้ถึงการขายโบราณวัตถุดังกล่าว ดังนั้นเรื่องเล่านี้ทำให้คนในหมู่บ้านจำได้แม่น

Golden Boy จิ๊กซอว์ประวัติศาสตร์ “พระเจ้าชัยวรมันที่ 6” ทำไมกัมพูชาถึงอยากครอบครอง

อีกหลักฐานสำคัญยืนยันว่า Golden Boy ขุดค้นพบที่ บ้านยางโป่งสะเดา คือ ลูกสาวคนขุดพบ เป็นผู้ล้างรูปสำริดหลังขุดเจอ ยืนยันถึงรอยชำรุดสำคัญบริเวณเข็มขัดตรงผ้านุ่งด้านหน้า ที่ห้อยลงมามีรอยหัก พ่อเลยเอาลวดผูกติดไว้ ดังนั้นรอยตำหนิจึงตรงกับข้อมูลการซ่อมของพิพิธภัณฑ์ที่สหรัฐอเมริกา

จิ๊กซอว์สำคัญถัดมาคือ ชาวบ้านยางโป่งสะเดา เคยเห็น และระบุได้ถึงความสูง ประติมากรรมสำริด Golden Boy ใกล้เคียงขนาดจริงในพิพิธภัณฑ์สหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ครอบครัวที่ขายให้กับนักค้าของโบราณ ระบุว่า ก่อนขาย ทางคนที่ซื้อต่อได้ถ่ายรูปประติมากรรมไว้ให้หนึ่งใบ แต่หลังจากนั้นเริ่มมีการจับกุมจากเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้ครอบครัวเผารูปนั้นทิ้ง แต่เมื่อเอาภาพที่จัดแสดงไว้ที่อเมริกาให้ดูก็ยืนยันได้ชัดเจน

Golden Boy จิ๊กซอว์ประวัติศาสตร์ “พระเจ้าชัยวรมันที่ 6” ทำไมกัมพูชาถึงอยากครอบครอง

นอกจากนี้ ลูกชายผู้ที่เคยให้ นายดักลาส แลตช์ฟอร์ด นายหน้าค้าโบราณวัตถุเช่าบ้านเป็นสำนักงานในพื้นที่ บ้านยายแย้ม กรุประโคนชัย เขาปลายบัด จ.บุรีรัมย์ ตั้งแต่ปี 2508 ยุคนั้น นายดักลาส ให้พ่อของเขาเป็นตัวแทนรับซื้อโบราณวัตถุ ก่อนส่งต่อไปขายยังหลายประเทศในยุโรป โดยการลงพื้นที่หาข้อมูล ได้พาไปยังหมู่บ้านเกิดเหตุ พร้อมยืนยันว่ายุคนั้นมีการจ้างให้ชาวบ้านขุดหาโบราณวัตถุตารางเมตรละ 100 บาท ทำให้ ปราสาทบ้านยางโป่งสะเดา หักพังไม่เหลือสภาพเดิม ทำให้ กรมศิลปากร ไม่มีข้อมูล และไม่ได้ขึ้นทะเบียนไว้

“ปี 2508 ที่นายดักลาส แลตช์ฟอร์ด เข้ามาตั้งสำนักงาน เป็นช่วงเวลาที่โบราณวัตถุในพื้นที่เขาปลายบัด 2 หายไปจำนวนมาก จากนั้นเขาก็มีการเดินทางเข้าออกทุกปี”

...

Golden Boy จิ๊กซอว์ประวัติศาสตร์ “พระเจ้าชัยวรมันที่ 6” ทำไมกัมพูชาถึงอยากครอบครอง


ต้นเหตุประติมากรรมสำริด Golden Boy มีชื่อเรียกถึง 3 ชื่อ

หลัง กรมศิลปากร มีการแถลงถึงการส่งคืนรูปประติมากรรมสำริด Golden Boy เริ่มมีคำถามจากสังคมถึงชื่อเรียกที่แท้จริง ดร.ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการอิสระผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดี เปิดเผยว่า ชื่อแรกมาจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโปลิทันได้ขึ้นป้ายจัดแสดงว่า พระศิวะในอิริยาบถยืน ชื่อสอง มาจากหนังสือที่พิพิธภัณฑ์ตีพิมพ์รูป นักวิชาการจัดทำระบุว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 เพราะถ้าเป็นพระศิวะ ต้องมีดวงตาที่สามบริเวณหน้าผาก ประกอบกับรูปแบบศิลปะไม่ใช่แบบบาปวน หรือนครวัด แต่เหมือนกับแบบของปราสาทหินพิมายที่สร้างถวายให้กับ พระเจ้าชัยวรมันที่ 6

Golden Boy จิ๊กซอว์ประวัติศาสตร์ “พระเจ้าชัยวรมันที่ 6” ทำไมกัมพูชาถึงอยากครอบครอง

...

ส่วนชื่อที่สามคือ Golden Boy ใช้ในตลาดขายวัตถุโบราณ โดยนายดักลาส แลตช์ฟอร์ด นายหน้าค้าโบราณวัตถุใช้ชื่อนี้เพราะทำด้วยกะไหล่ทองทั้งองค์ ชื่อนี้สื่อความหมายถึงศิลปะชิ้นเยี่ยมที่สุด ดังนั้นทางกัมพูชาจึงอยากได้มาก ถึงขนาดที่ตอนนำหลักฐานไปยืนยันกับอเมริกา มีการนำนักวิชาการชาวกัมพูชามายืนยันว่าเป็นศิลปะสมัยใดของเขมร แต่อธิบายได้ไม่ชัดเจน

ดร.ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการอิสระผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดี หนึ่งในทีมติดตามทวงคืนวัตถุโบราณ
ดร.ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการอิสระผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดี หนึ่งในทีมติดตามทวงคืนวัตถุโบราณ

“บนเวทีการคุยกัน ผมกับตัวแทนกัมพูชา มีการโต้เถียงกันอย่างหนัก ถึงแหล่งที่มาแท้จริงของ Golden Boy ขณะเดียวกันก็มีการสอบถามว่าโบราณวัตถุชิ้นนี้เป็นของไทยจริงหรือไม่ เพราะรัฐมนตรีกัมพูชามีความประสงค์อยากได้โบราณวัตถุชิ้นนี้คืนไปยังประเทศเขาค่อนข้างมาก แต่เราก็เอาข้อมูลทั้งคำบอกเล่า และรอยชำรุดไปยืนยัน ประกอบกับหนังสือการค้าของ นายดักลาส แลตช์ฟอร์ด ระบุไว้กว้างๆ ว่านำมาจากบ้านยาง เมื่อนำหลักฐานมาประกอบกัน ทางอเมริกาจึงส่งมอบคืนให้ไทย”

...

Golden Boy จิ๊กซอว์ประวัติศาสตร์ “พระเจ้าชัยวรมันที่ 6” ทำไมกัมพูชาถึงอยากครอบครอง

Golden Boy ประวัติศาสตร์สำคัญ พระนครหลวง “พระเจ้าชัยวรมันที่ 6” ในไทย

แม้ Golden Boy เคยมีชื่อเรียกต่างกันถึง 3 ชื่อ แต่ ดร.ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการอิสระผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดี ยืนยันว่า เป็นประติมากรรมสำริดรูปพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 เป็นหลักฐานสำคัญของอาณาจักรที่เคยเป็นเขมรมาก่อน เพราะอดีตไม่มีพรมแดน วัฒนธรรมเขมรพบได้ทั้งในไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา พบจารึกหลายชิ้นบนเขาพนมรุ้ง กล่าวถึงราชวงศ์มหิธรปุระ จึงมีการสันนิษฐานว่ามีการตั้งอาณาจักรอยู่บริเวณเขาพนมรุ้ง

ขณะเดียวกันยังพบจารึกพระขรรค์ในกัมพูชา ระบุว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ตั้งราชวงศ์ใหม่ชื่อ มหิธรปุระ โดยพระองค์ย้ายศูนย์กลางการปกครองจากพระนครขึ้นมายังถิ่นฐานเดิมของพระองค์ทางทิศเหนือ จึงมีการสันนิษฐานว่าอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำมูล และจากการศึกษาในปราสาทหินพิมาย พบว่ามีรูปแบบศิลปะเฉพาะที่ไม่เหมือนนครวัด

“Golden Boy ยังเป็นโบราณวัตถุชิ้นสำคัญ ตอกย้ำข้อสันนิษฐานถึงอาณาจักรสำคัญของพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ตั้งอยู่ในพื้นที่ประเทศไทย เพราะพระองค์มีหลานคือ พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 สร้างปราสาทนครวัด มีเหลนคือ พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 สร้างปราสาทบายนในกัมพูชา ดังนั้นหลักฐานล้วนสัมพันธ์กันในพื้นที่ จึงอธิบายได้ว่าเมื่อเราเชื่อว่าปราสาทหินพิมายเป็นปราสาทประจำรัชกาลของพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ได้เลือกพื้นที่เมืองพิมายเป็นศูนย์กลางปกครอง และมีพิธีรกรรมโบราณในการแห่พระพุทธรูปนาคปรก เพื่อให้คนทั้งสองพระนครได้กราบไหว้บูชา เป็นเหมือนพี่น้องกัน สืบต่อมาถึงยุคพระเจ้าชัยวรมันที่ 7”

แสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของพุทธศาสนาที่มีมาอดีต จนมีการสร้างพระพุทธรูปสำริด พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ประดิษฐานไว้ในปราสาทบ้านยางโป่งสะเดา คาดว่าเป็นชุมชนโบราณที่นับถือพุทธศาสนามาตั้งแต่อดีต และเป็นแหล่งวัฒนธรรมที่เป็นรากฐานอันสำคัญที่ก่อให้เกิดความยิ่งใหญ่ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7

พุทธศาสนาที่แข็งแกร่งในการสร้างอาณาจักรขอม มาจากต้นราชวงศ์มหิธรปุระ ก่อนกระจายอำนาจไปยังลุ่มแม่น้ำโขง เพราะข้อมูลประวัติศาสตร์พบว่า เทคโนโลยีด้านการหล่อสำริดพบมากในพื้นที่ราบสูงโคราช โดยเฉพาะการออกแบบ Golden Boy ซึ่งออกแบบให้บริเวณดวงตาให้มีร่อง เพื่อฝังอัญมณีไว้ ถือเป็นเทคนิคที่ใช้ในพื้นที่ราบสูงโคราชมาก่อน

Golden Boy จิ๊กซอว์ประวัติศาสตร์ “พระเจ้าชัยวรมันที่ 6” ทำไมกัมพูชาถึงอยากครอบครอง

การยืนยันได้ว่า Golden Boy เป็นของไทย ถือเป็นจิ๊กซอว์สำคัญในการทวงคืนโบราณวัตถุชิ้นอื่นที่ถูกขโมยไปในอดีต เพราะด้วยลักษณะผ้านุ่งที่บ่งบอกศิลปะ ขณะนี้มีพิพิธภัณฑ์ที่ออสเตรเลียจัดแสดงโบราณวัตถุในลักษณะเดียวกันไว้ โดยทางกัมพูชาก็อยากให้ไทยร่วมเรียกร้องทวงคืน แต่ไทยยังไม่มีการตอบรับที่ชัดเจน

Golden Boy จิ๊กซอว์ประวัติศาสตร์ “พระเจ้าชัยวรมันที่ 6” ทำไมกัมพูชาถึงอยากครอบครอง

เบื้องต้นคาดว่า โบราณวัตถุทั้ง 2 ชิ้น ทางสหรัฐอเมริกา จะมอบคืนให้ในต้นปี 2567 และหลังจากนั้นจะมีการลำเลียงกลับคืนมายังประเทศไทย และจัดแสดงไว้ในพื้นที่ พิพิธภัณฑ์พระนคร ก่อนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะนำไปแสดงในพื้นที่ต่อไปหรือไม่ ต้องรอติดตาม.