ทีดีอาร์ไอ ชำแหละคะแนนสอบ PISA ปี 2565 วัดความรู้คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และอ่านวิเคราะห์ ต้นเหตุ "เด็กไทย” ทำคะแนนต่ำสุดรอบ 20 ปี มาจากนโยบายแช่แข็งหลักสูตรเรียน 15 ปี เมื่อเทียบกับเบอร์หนึ่งอย่าง สิงคโปร์ เปลี่ยนหลักสูตรทั้งระบบทุก 6 ปี ทำเด็กไทยล้าหลัง เผยโควิดไม่ใช่ข้ออ้าง พบไทยใช้เงินลงทุนการศึกษามาก แต่ผลลัพธ์มีแค่กระดาษใบเดียว

นายพงศ์ทัศ วนิชานันท์ นักวิจัยอาวุโส ทีมนโยบายด้านการปฏิรูปการศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงผลวิจัยเพื่อนำสู่การแก้ไขว่า ผลการประเมิน PISA ปี 2565 วัดความรู้คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และอ่านวิเคราะห์ ในเยาวชน 15 ปี ทำให้เห็นถึงวิกฤติการศึกษาไทย ที่บ่งบอกว่าความสามารถเด็กไทยต่ำลงห่างจากเด็กทั่วโลกมากขึ้น จากการวิเคราะห์พบว่าปัญหาการเรียนในสภาวะโควิด ยังไม่ใช่สาเหตุหลักที่ทำให้คะแนนสอบของเด็กไทยตกต่ำ

“นอกจากนี้ยังบ่งบอกว่าการศึกษาไทยอ่อนแอ มาจากหลักสูตรการศึกษาไม่ทันสมัย มีข้อจำกัดการใช้ทรัพยากรครู ที่ยังไม่มีประสิทธิภาพ ถึงเวลาที่ต้องเร่งแก้ไขระบบการศึกษาให้ถูกจุดมากขึ้น”

...

การประเมิน PISA ยังบ่งบอกทักษะการไม่สามารถนำความรู้มาใช้ในชีวิตจริงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการอ่านเพื่อวิเคราะห์มีมากถึง 65 เปอร์เซ็นต์ ไม่สามารถอ่านเพื่อจับใจความในบทความสั้นได้ นอกจากนี้คะแนนเด็กไทยที่ได้คะแนนสูงสุด 10 เปอร์เซ็นต์ เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับเด็กที่มีคะแนนสอบน้อย 90 เปอร์เซ็นต์ พบว่ามีคะแนนห่างกันมากถึง 200 คะแนน แม้มีคะแนนลดลงของทั้งสองกลุ่ม แต่ช่องว่างคะแนนสอบที่ได้ค่อนข้างห่างมาก แสดงให้เห็นว่าเด็กที่เก่งก็จะมีคะแนนที่นำห่างเด็กไม่เก่งอยู่มาก

ผลกระทบโควิด 19 ที่มีผลต่อคะแนนการสอบ PISA ปี 2565 หรือไม่ พบว่า โรงเรียนไทยมีการหยุดเรียนสั้นกว่ากลุ่มนักเรียนในโรงเรียนประเทศสมาชิก OECD ที่เฉลี่ยโรงเรียนหยุดเรียนมากกว่า 3 เดือน ขณะเดียวกันคะแนนสอบของเด็กที่มีฐานะดีกับเด็กที่ยากจน ไม่ได้มีคะแนนสอบต่างกันมากนัก จึงชัดเจนว่า การแพร่ระบาดของโควิด ไม่ใช่ปัญหาหลักที่ทำให้เด็กไทยมีคะแนนสอบลดลง

ต้นเหตุเด็กไทยคะแนนคิดวิเคราะห์ต่ำ

จากการวิจัยที่นำข้อมูลของเด็กไทยมาวิเคราะห์กับคะแนน PISA ปี 2565 นายพงศ์ทัศ วนิชานันท์ นักวิจัยอาวุโส ทีมนโยบายด้านการปฏิรูปการศึกษา ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า เป็นผลมาจากหลักสูตรการเรียนการสอนที่ล้าสมัย ซึ่งไทยใช้หลักสูตรนี้มา 15 ปี ที่ผ่านมามีการปรับเปลี่ยนในบางเนื้อหา แต่โครงสร้างหลักสูตรไม่ได้เปลี่ยนแปลง

เมื่อวิเคราะห์ถึงหลักสูตรที่เด็กไทยเรียนอยู่ พบว่าไม่สามารถทำให้เด็กไทยมีสมรรถนะในการคิดวิเคราะห์เพิ่มขึ้นได้ เพราะหลักสูตรที่เรียนเน้นความรู้เป็นหลัก โดยตัวชี้วัด 88 เปอร์เซ็นต์ เป็นเรื่องความรู้เน้นท่องจำ มีเพียง 4 เปอร์เซ็นต์ เป็นการส่งเสริมแบบรอบด้าน สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าหลักสูตรไม่ได้ส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดการวิเคราะห์ หรือส่งเสริมไปสู่สิ่งใหม่

ด้านทรัพยากร หากวิเคราะห์ถึงเงินที่ไทยลงไปกับการศึกษาตลอด 10 ปี รัฐบาลไทยมีการลงทุนในด้านการศึกษาอันดับต้นๆ ของโลกเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่มีรายได้เท่ากัน สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า ที่ผ่านมาการศึกษาไทยที่ไม่สามารถพัฒนาได้ ไม่ใช่เกิดจากปัจจัยของเงิน แต่ปัญหาเกิดจากการใช้เงินที่ไม่เหมาะสม จนทำให้ประสิทธิภาพด้านการศึกษาต่ำลง

...

หากวิเคราะห์เงินที่ใช้ลงทุนในระบบการศึกษา พบว่า เงินในระบบการศึกษาไทยส่วนใหญ่ใช้ไปกับเงินเดือนครู แต่โรงเรียนขนาดเล็กหลายแห่งมีปัญหาเรื่องครูที่มาสอนไม่ครบชั้นเรียน ทำให้ดูแลเด็กได้ไม่ทั่วถึง แต่ถ้าต้องการเพิ่มครูให้ครบทุกชั้นเรียน ต้องเพิ่มครูอีกประมาณ 5 หมื่นคน ต้องใช้เงินเพิ่มขึ้นถึง 9,000 ล้านบาท/ปี ซึ่งทุกวันนี้ไทยมีปัญหาในการใช้งบประมาณด้านการศึกษาที่สูง เป็นเรื่องยากในการเพิ่มครู

แนวทางปรับเปลี่ยนหลักสูตรการศึกษาไทย

จากการวิจับพบว่า แนวทางการปรับเปลี่ยนการศึกษาต้องเริ่มที่หลักสูตรการเรียน โดยทีมนโยบายด้านการปฏิรูปการศึกษา ทีดีอาร์ไอ พบว่า เรื่องเร่งด่วนระยะสั้นภายใน 1 ปี ต้องลดภาระงานอื่นๆ ของครู เพื่อให้ครูได้สอนนักเรียนได้เต็มที่ โดยกระทรวงศึกษาธิการต้องทบทวนโครงการต่างๆ ที่ให้ครูทำแล้วรายงานผล ขณะที่ปีถัดไปไม่ควรสร้างตัวชี้วัดใหม่ เพื่อให้โรงเรียนต้องรายงานกระทรวงฯ แต่ให้ใช้ผลสอบนักเรียนที่มีอยู่เดิมแล้วในการส่งให้กระทรวงฯ รับทราบ

ระยะกลางหลังจากนี้อีก 3 ปี ต้องมีการปรับเปลี่ยนหลักสูตร และออกแบบตัวช่วยต่างๆ เพื่อรองรับหลักสูตรใหม่ โดยต้องปรับเปลี่ยนหลักสูตรการเรียนให้อิงกับสมรรถนะในการนำไปใช้จริงมากขึ้น เพื่อส่งเสริมการคิดวิเคราะห์ สร้างสรรค์สิ่งใหม่

...

ส่วนระยะยาว ต้องมีการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก โดยเริ่มจากการบริหารควบรวม หรือบริหารเป็นเครือข่ายโรงเรียน ที่ไม่ห่างไกลกันมาก สามารถเคลื่อนย้ายเด็กมารวมกันได้ แต่โรงเรียนที่ห่างไกล ต้องมีการเพิ่มทรัพยากรให้เพียงพอกับการเรียน นอกจากนี้ควรมีการส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนา

หลักสูตรในการเรียนจากประเทศที่ประสบความสำเร็จเช่น สิงคโปร์ มีการปรับเปลี่ยนหลักสูตรใหม่ทุก 6 ปี แต่ประเทศไทยใช้หลักสูตรการนี้มาแล้วกว่า 15 ปี ทำให้หลักสูตรการสอนยังไม่พัฒนาได้เท่าทันกับโลก ที่ผ่านมามีการพยายามนำผู้บรรยายที่มีความรู้ไปอบรมครูแบบรายครั้ง ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ แถมยังทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณด้วย.