เปิดเส้นแบ่งความผิด ด่าทอ หมิ่นซึ่งหน้า คุกคาม คุกคามทางเพศ ในสังคมที่ทำงาน อัยการคุ้มครองสิทธิฯ ถาม มีชื่อเสียง ไม่ต้องรักษาหรือ แนะวิธีการเอาผิด ..

ในสังคมมี “คน” อยู่หลายประเภท บางคนสุภาพเรียบร้อย บางคน “หัวร้อน” ชอบใช้คำรุนแรง หรือบางคนอาจจะมีความรู้หน่อย สถานะทางสังคมดีหน่อย มักใช้วาจาเป็นอาวุธ เชือดเฉือนคนอื่น หรือแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสม จนคนรอบข้างรู้สึกว่านี่คือ “คุกคาม” ทางร่างกาย จิตใจ หรือคุกคามทางเพศ จน “เหยื่อ” สูญเสียตัวตนไปก็มี...

เส้นแบ่ง ความผิดดูหมิ่น กับการสร้างความรำคาญ

พฤติกรรมเยี่ยงนี้ พบเจอได้ในมุมมืดของ “ที่ทำงาน” ถึงแม้ที่นั่นจะยิ่งใหญ่ และมีชื่อเสียงเพียงใดก็ตาม เพราะเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับองค์กร แต่เป็นสันดานมนุษย์...

หากมองในมุมกฎหมายแล้ว การกระทำ “เยี่ยงนี้” สามารถเอาผิดได้ กับ 2 ข้อหา หลักๆ คือ หากเป็นการด่าทอซึ่งหน้า จะเข้าข่าย “ความผิดฐานดูหมิ่น” ตามมาตรา 393 มีโทษจำคุกไม่เกิน  1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำและปรับ

ส่วนการใช้วาจาเชือดเฉือน บูลลี่ ต่อว่าโดยไม่มีคำหยาบคาย (ประมาณว่าด่าแบบผู้ดี) จะเข้าข่ายการสร้างความเดือดร้อนรำคาญ : ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ ต่อผู้อื่น อันเป็นการรังแก ข่มเหง คุกคาม หรือกระทำให้ได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท

...

นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง อธิบดีอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน กล่าวถึงประเด็นการคุกคามในที่ทำงานว่า มีคนร้องเรียนเข้ามาหลายลักษณะ หากไม่ใช่คำด่ารุนแรง ก็อาจจะเข้าข่ายทางกฎหมาย คือ สร้างความเดือดร้อนรำคาญ เช่น การพูดจาในลักษณะข่มเหง คุกคาม ทำให้อับอาย ที่สร้างความเดือดร้อนรำคาญ แม้จะไม่ใช่คำด่าตรงๆ แต่ให้ความรู้สึกเหมือนกับการด่าแบบสุภาพ เช่น พูดจาล้อเลียน ไม่สวยแล้วยังปากเสีย (แบบไม่เอ่ยชื่อ) หรือใช้เสียงดัง ตะคอกใส่ ก็เข้าข่าย สิ่งเหล่านี้หากมีหลักฐาน เช่น คลิปเสียง คลิปวิดีโอ ก็นำเข้ามาใช้งานฟ้องร้องทางกฎหมายได้

หรือการคุกคามเชิงพฤติกรรม เช่น การโทรหาในยามวิกาล ทั้งที่ขอแล้วว่าอย่ากระทำ แม้บุคคลนั้นจะเป็นเจ้านาย หรือครูบาอาจารย์ก็ตาม การโทรดังกล่าวไม่ใช่การโทรแบบมีกรณีฉุกเฉิน แต่โทรมาเพื่อเกี้ยวพาราสี สิ่งเหล่านี้สามารถเอาผิดได้ เพราะการกระทำดังกล่าว ทำให้เรารู้สึกเดือดร้อนรำคาญ อาจใช้การ “แคปภาพหน้าจอ” ทางโทรศัพท์ไว้เป็นหลักฐานประกอบการเอาผิดได้

“มากกว่าการคุกคามทางวาจา คือ การคุกคามทางเพศ ซึ่งหากเป็นครูบาอาจารย์ เป็นผู้มีความรู้ บุคลากรทางการศึกษา เรียกว่ายิ่งผิดจริยธรรม หากอยู่ในระบบราชการ ก็จะหนักกว่า สามารถร้องเรียนวินัย และคดีอาญาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เรียกว่ากรรมเดียว แต่ผิดกฎหมายหลายบท”

การแจ้งความต้องชัดเจน ในรายละเอียดข้อกฎหมาย 

อธิบดีอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน แนะนำว่า ใครที่เดือดร้อนจากการกระทำดังกล่าว สามารถเข้ามาปรึกษากับอัยการคุ้มครองสิทธิฯ ได้ ซึ่งมีศูนย์กระจายอยู่ทั่วประเทศ กว่า 120 แห่ง

“ทุกคนถ้าเจอเรื่องเดือดร้อน รำคาญ หรือการคุกตาม มีสิทธิที่จะแจ้งความเอาผิดกับผู้กระทำ แต่สิ่งที่แนะนำ คือ เราต้องรู้ด้วยว่าจะแจ้งความเขาในข้อหาอะไร...และในเวลานี้ พบว่ามีการเข้ามาแจ้งความเยอะขึ้น โดยเฉพาะประเด็นการคุกคามจากเจ้าหนี้ ทั้งในระบบและนอกระบบ ซึ่งในระบบ ถือเป็นการข่มเหง รังแก ลูกหนี้อย่างถูกกฎหมายด้วย ซึ่งก็ยังถูกรังแก ส่วนหนี้นอกระบบ ทำทุกรูปแบบ คุกคาม ข่มขู่ ทำร้ายร่างกาย จนมีบางคนมานั่งร้องไห้ บอกอยากจะคิดสั้นก็มี การเป็นหนี้ไม่จำเป็นต้องชดใช้ด้วยชีวิต นี่คือสิ่งที่อยากจะเตือน หากไม่มีทางออก ก็มาหาเราได้..”

นายโกศลวัฒน์ ชี้ว่า มีหลายเคสที่เข้ามาหา จากนั้นอัยการฯ สามารถช่วยนำไปสู่การเจรจาต่อรองได้ เช่น มีอยู่หนึ่งเคส เป็นหนี้ 1.2 ล้าน เราเอาเจ้าหนี้มาคุย เจรจาจบที่ 400,000 บาท โดยให้ลูกหนี้ไปผ่อนกับสถาบันการเงิน อย่าคิดว่าคุณไม่เหลือใคร คุณยังมีอัยการ และหน่วยงานอื่นๆ ที่คอยช่วยเหลืออยู่

แก้ปัญหา โดยไม่แจ้งความ ถาม “คนมีชื่อเสียง...ไม่รักษาหรือ”

นายโกศลวัฒน์ บอกว่า บางกรณีคนที่ตกเป็นเหยื่อไม่อยากแจ้งความ แบบนี้เราก็ช่วยเหลือได้ โดยจะเป็นตัวกลางในการพูดคุย และเตือนว่าให้ “หยุดพฤติกรรม” มิเช่นนั้น จะมีการดำเนินคดีทางกฎหมาย

“เรื่องบางเรื่อง ผู้เสียหายอาจจะให้อภัยได้ เพราะเขายังอยากมีชีวิตต่อไปในมุมนั้น เพราะเขาไม่อยากเปลี่ยนที่ทำงาน หรือเปลี่ยนสังคม เรายังช่วยไกล่เกลี่ยได้ เมื่อเคลียร์ไม่ได้ ต้องใช้มาตรการทางกฎหมาย ถึงวันนั้นคือการจับกุม”

เมื่อถามว่า ปกติแล้วสังคมทำงาน “เหยื่อ” มักจะไม่กล้าเปิดเผยตัว หรือเอาผิด เพราะผู้ก่อเหตุบางรายเป็นคนมีชื่อเสียง เป็นคนมีหน้าตาในสังคม หรือเป็นผู้นำ บริหารในองค์กรนั้นๆ อธิบดีอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน บอกว่า “คนที่มีชื่อเสียง...ต้องรักษาชื่อเสียงไหม คนที่มีต้นทุนทางสังคมเยอะ ไม่รักษาไว้หรือ ฉะนั้น เวลาที่ผมไกล่เกลี่ย...ผมจะพูดตรงๆ ว่า ต้นทุนทางสังคมเยอะ ถ้าเรื่องแดง คุณจะเสียหายหนักนะ ถ้าทำผิดจริง ก็คงขอให้เลิก หากไม่ยอมก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย เพราะผู้เสียหายเขาต้องการเอาผิดแล้ว”

...

ที่ผ่านมาในอดีต มีหลายเคสแล้วที่เกิดขึ้น บางเคสมีการดำเนินการเอาผิดในหลายๆ คดี หลายกรรมหลายวาระ บางกรรมบางวาระ ตัดสินจำคุกไปแล้ว คุณมีชื่อเสียง แต่กล้าที่จะคุกคามเด็กที่เพียงอยากได้งานเท่านั้น

“ผมถามว่า ยิ่งใหญ่แค่ไหน คุณก็มีต้นทุนทางสังคม สิ่งที่อยากจะบอกคือกระบวนการยุติธรรม ยังมีความยุติธรรมอยู่จริง คนที่อยู่ในกระบวนการเขาไม่ยอม เขาพร้อมจะช่วยเหลือคนที่ถูกคุกคาม รังแก ช่วยคนที่คิดว่าตัวเองโดดเดี่ยว ผมยังคิดเลยว่าวันหนึ่งเราแก่ตัวไป เราก็อยากเซตระบบสังคมให้สามารถช่วยเหลือผู้อื่น ที่พึ่งพาได้” นายโกศลวัฒน์ กล่าว และว่า

ปกติแล้วสังคมคนทำงาน หากคนๆ นั้น เป็นบุคคลสุนทรียสนทนา คนนั้นจะเป็นคนน่ารัก แต่ถ้าคนไหนเกรี้ยวกราด ไร้ความสุภาพ คนๆ นั้นมัก “ไร้เพื่อน”

สุดท้าย ใครที่โดนรังแก คุกคามในที่ทำงาน หรือในสังคม สามารถใช้สิทธิทางกฎหมายได้ อยากให้ไปแจ้งความ หรือถ้ายังไม่คิด ก็ลองเข้าไปคุยกับสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิฯ เพื่อไปปรึกษา อะไรที่รู้สึกถูกคุกคามจนสูญเสียอัตลักษณ์ โดยอาจจะต้องเปิดเผยว่า ใช้ถ้อยคำแบบไหน ดูถูก ดูหมิ่น หรือก่อความเดือดร้อนรำคาญ ขอเพียงรู้รายละเอียด จะสามารถช่วยให้คำแนะนำได้ 

...

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านบทความที่น่าสนใจ