กระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง จ.เลย ถูกปัดฝุ่นโครงการอีกครั้ง หลังถูกต่อต้านจนต้องพับแผนไป ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม มี "อพท." เป็นเจ้าภาพหลัก โดยผู้บริหารระดับสูงเปิดเผยกับทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ ถึงแผนศึกษาจะนำเสนอเข้า ครม. เพื่อประกอบการพิจารณาอีกครั้ง 

นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ในฐานะหน่วยงานเข้าไปศึกษาผลกระทบการสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง จ.เลย ก่อนเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เปิดเผยกับ ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ ว่า โครงการสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง อพท.เป็นหน่วยงานที่ทบทวน "อีไอเอ" หรือการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม จากนั้นนำเสนอต่อ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อพิจารณาต่อไป

“การศึกษา อีไอเอ จำเป็นต้องมีแบบเพื่อประกอบการพิจารณาว่าเสาที่ใช้ทำกระเช้าไฟฟ้ามีความสูง และปักลงในดินควรมีความลึกประมาณเท่าไร เพื่อประกอบการพิจารณาว่ามีผลต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงความเป็นอยู่ของสัตว์ จึงเป็นที่มาในการของบเพื่อการออกแบบ และนำไปประกอบอีไอเอให้มีความสมบูรณ์ แต่จะสร้างหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) แล้วส่งผลการศึกษาไปยังผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้าน ก่อนนำเสนอเข้าสู่คณะรัฐมนตรี”

...

นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท.
นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท.

ที่ผ่านมาการศึกษาการสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง อพท.ได้รับงบประมาณตั้งแต่ปี 2565 แต่อยู่ระหว่างขออนุญาตกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในการเข้าไปสำรวจในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง โดยเพิ่งได้รับอนุญาตเมื่อ 30 พ.ย.ที่ผ่านมา ขณะนี้ทีมที่ปรึกษาจากมหาวิทยาลัยบูรพา และภาคีที่เกี่ยวข้อง เตรียมเข้าไปศึกษาผลกระทบในอุทยานฯ

เมื่อสอบถามถึงพื้นที่ในการสร้างกระเช้าไฟฟ้า เบื้องต้นยังทำการสำรวจในพื้นที่เดิม ที่คณะรัฐมนตรีเคยมีการศึกษาไว้หลายปีก่อน ปกติเส้นทางขึ้นภูกระดึงมีอยู่ 5 เส้นทาง และจากผลการศึกษาครั้งก่อนระบุถึงเส้นทางที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และใช้เวลาเดินทางน้อยที่สุดคือ เส้นทาง B  คาดมีระยะทาง 4.4 กิโลเมตร

เส้นทาง B อยู่คนละทางกับเส้นทางที่ต้องเดินขึ้น แต่ต้องศึกษาถึงความลาดชันของพื้นที่ ตอนนี้ได้เร่งดำเนินการของบประมาณเพื่อพิจารณาร่วมกับอีไอเอ 

"ส่วนประเด็นผลกระทบกับสัตว์ป่าในพื้นที่ จากการศึกษาที่ผ่านมายังไม่มีประเด็นน่ากังวล คาดว่าผลการศึกษาจะนำเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี ได้ในปีงบประมาณ 2567"

...

สำหรับการกระตุ้นการท่องเที่ยว คาดว่าถ้ามีกระเช้าไฟฟ้าช่วยให้นักท่องเที่ยวที่ไม่มีโอกาสได้ขึ้นภูกระดึงได้ชมธรรมชาติด้านบมมากขึ้น แต่นักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบการเดินเท้าก็ยังมีอยู่ คาดว่าสามารถเปิดให้ขึ้นไปท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี แต่ต้องมีการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวที่ขึ้นไปแต่ละวันไม่ให้ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งผลการศึกษาเดิมระบุว่าสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้วันละ 5,000 คน แต่การศึกษาใหม่ต้องพิจารณาให้มีจำนวนลดลงกว่าเดิม.

ขอขอบคุณภาพจาก : องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท.