แผ่นดินไหว กับ รอยเลื่อนใหม่ที่รอการค้นพบ โฆษกมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ แนะค้นหาในภาคอีสานที่อาจซุกซ่อนตัวอยู่...
เดือนนี้ เกิดเหตุ “แผ่นดินไหว” ที่ส่งผลกับประเทศไทยแล้ว ถึง 2 ครั้ง ครั้งที่เขย่าแรงสุด เมื่อวันที่ 17 พ.ย.ที่ผ่านมา ศูนย์กลางอยู่ที่ เมียนมา ที่ละติจูด 21.189 องศาเหนือ ลองจิจูด 99.344 องศาตะวันออก ขนาด 6.4 ความลึก 9 กิโลเมตร
แผ่นดินไหว ครั้งดังกล่าว ทำให้ประเทศไทยตอนบน รู้สึกถึงแรงสั่นไหว และลามมาถึงใน กทม. โดยเฉพาะผู้ที่อาศัย หรือ ทำงานในตึกสูง
อีก 2 วันถัดมา (19 พ.ย.) แผ่นดินไหว ขยับเข้ามาในภาคกลางของประเทศไทย คือ จ.กาญจนบุรี ด้วยขนาด 4.0 จุดศูนย์กลางอยู่ที่ ต.หนองลู อ.สังขละบุรี ที่ความลึก 6 กิโลเมตร เหตุนี้ทำให้ชาวบ้านต้องตื่นขึ้นกลางดึก เพราะเหตุเกิดในเวลา 03.07 น.
ล่าสุด วันนี้ (21 พ.ย.) เกิดเหตุแผ่นดินไหวอีก 2 ครั้งซ้อน ที่ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ยังดี...คือ ครั้งนี้ชาวบ้านไม่รู้สึก เพราะการแผ่นดินไหว ขนาด 2.1 และ 2.2 เท่านั้น
...
นายนพดล มากทอง โฆษกมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าวกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ว่า “แผ่นดินไหว” เป็นภัยพิบัติชนิดเดียวที่มนุษยชาติยังไม่สามารถแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าได้ แม้จะมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยก็ตาม และหากเกิดแผ่นดินไหว ตั้งแต่ระดับ 5.0 ขึ้นไป ก็จะสามารถรับรู้แรงสั่นได้ เช่น การแผ่นดินไหวในเมียนมา ทำให้ภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ ของเรารับรู้ถึงแรงสั่นได้
สำหรับประเทศไทย มี “รอยเลื่อน” ทั้งหมด 16 กลุ่มรอยเลื่อน (ตามข้อมูลกรมทรัพยากรธรณี) ส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือ ตะวันตก และภาคใต้ แต่...รอยเลื่อน ที่นักธรณีเฝ้าระวังเป็นพิเศษ จะอยู่ในโซนภาคเหนือ
นอกจากที่ค้นพบแล้ว ยังมีรอยเลื่อน ที่ “รอการค้นพบ” ยกตัวอย่าง แผ่นดินไหว ที่ จ.พิษณุโลก เมื่อช่วงวันที่ 29 มิ.ย. ที่ผ่านมา ขนาด 4.5 จุดศูนย์กลางอยู่ที่ ต.ไผ่ล้อม อ.บางกระทุ่ม โดยรายงานของกรมทรัพยากรธรณี ระบุว่า เป็น รอยเลื่อนที่ซ่อนตัวอยู่ใต้ดิน และไม่เคยเกิดแผ่นดินไหวมาก่อน ในรอบ 100 ปี ส่งผลให้ รพ.บางกระทุ่ม และ จังหวัดใกล้เคียง คือ พิจิตร สุโขทัย กำแพงเพชร รู้สึกสั่นไหว ซึ่งเรื่องแบบนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะก่อนหน้านี้ก็เคยเกิดขึ้น ที่ อ.ลำตะคอง จ.นครราชสีมา
นายนพดล กล่าวว่า ปัญหา คือ ชาวบ้านที่เขาอาศัย ไม่เคยรู้มาก่อนว่าพื้นที่เขามี “รอยเลื่อน” หากเกิดแบบนี้เขาจะรู้สึกกังวล เพราะการเกิดแผ่นดินไหว ที่ลาว ครั้งนี้ มันสั่นสะเทือนมาถึงภาคอีสาน อย่างเช่น ที่ รพ.ขอนแก่น ทำให้ญาติ คนป่วย หนีตายลงมา ฉะนั้น สิ่งที่นักธรณีวิทยาต้องทำ คือ การเร่งสำรวจรอยเลื่อนใหม่ๆ ที่รอการค้นพบ ซึ่งอาจจะถูกซุกซ่อนในพื้นที่ภาคอีสาน ก็ได้ ทั้งที่ ภาคอีสานนั้น เป็นภาคที่ค่อนข้างปลอดภัยจากภัยแผ่นดินไหว
“การค้นพบ “รอยเลื่อน” ใหม่ๆ นั้น กรมทรัพยากรธรณี ต้องใช้เวลาในการตรวจสอบมาก โดยใช้เวลาหลายสิบปี กว่าจะค้นพบ ดังนั้น จึงเชื่อว่ายังมีอีกหลายรอยเลื่อน ที่รอการค้นพบ ซึ่งนอกจาก โคราช แล้ว ยังเคยเกิดที่ อ.ถลาง ภูเก็ต ทั้งที่เรายังไม่เคยค้นพบรอยเลื่อนมาก่อน เช่นกัน”
“แผ่นดินไหว” กับความปลอดภัยใน กทม.
โฆษกมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าวว่า นักธรณีวิทยา มองเรื่อง “แผ่นดินไหว” ขนาดเล็ก เช่น ขนาด 2-3 นั้น เป็นเรื่องดี เพราะเหมือนการสะสมพลังงานของแผ่นเปลือกโลก ได้ถูกปลดปล่อยออกมา
สิ่งที่น่ากลัว คือ รอยเลื่อน ที่เรามีข้อมูลอยู่แล้ว แต่ไม่เคยขยับต่างหาก นี่แหละ คือสิ่งที่น่ากังวล แต่ในภาพรวมสำหรับประเทศไทยนั้น ถือว่าน้อยมาก ยกเว้น รอยเลื่อน “แม่จัน” ที่พาดผ่านภาคเหนือ ที่มีขนาดรอยเลื่อนค่อนข้างยาว และอยู่ในพื้นที่ชุมชน จึงเป็นที่จับตากันอยู่...
เมื่อถามว่า สิ่งที่น่ากังวล สำหรับประเทศไทย กับภัยแผ่นดินไหว คืออะไร นายนพดล กล่าวว่า ตั้งแต่ติดตามข้อมูลมาในอดีต ยังมั่นใจว่า หากเกิดแผ่นดินไหวในไทย จะส่งผลร้ายแรงที่สุด คือ อาคารบ้านเรือนเกิดรอยร้าว ทั้งนี้มีการเทียบเคียงกับ การเกิดแผ่นดินไหวร้ายแรงที่สุด ขนาด 6.3 ที่เกิดขึ้นใน จ.เชียงราย เมื่อปี 2557 ส่วนตึกสูงก็จะมีอาการสั่นไหวได้
...
“ใน กทม. ไม่เคยเกิดแผ่นดินไหวมาก่อน แต่ กทม. มีข้อเสีย คือ ดินใต้พื้นของ กทม.มีสภาพเป็นดินอ่อนนุ่ม เวลาเกิดแผ่นดินไหว ใหญ่ๆ แม้จะอยู่ไกล เมื่อแรงสั่นมาถึง ก็จะทำให้แรงสั่นแรงขึ้นได้ อย่างเช่น การเกิดแผ่นดินไหวในเมียนมาล่าสุด และเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่เกาะสุมาตรา เมื่อปี 2547 ที่เกิดคลื่นยักษ์สึนามิ ซึ่งครั้งนั้น ใน กทม.เองก็รู้สึกถึงแรงสั่นไหว ตรงนี้เองคือ จุดอ่อนของ กทม.”
การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ทำให้การพยากรณ์คลาดเคลื่อน
สำหรับสิ่งที่ นายนพดล เป็นห่วง นอกจากเรื่องแผ่นดินไหวแล้ว ยังมีปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมันส่งผลต่อการคำนวณและคาดการณ์ล่วงหน้า ยกตัวอย่างที่เห็นเด่นชัด คือ การประกาศเข้าสู่หน้าฝนนั้น ช้ากว่าสถิติ เดิมๆ ถึงเกือบ 2 เดือน หรือการเข้าสู่หน้าหนาว ก็ช้ากว่าปกติกว่า 1 เดือน และข้อมูลที่คาดการณ์กับความเป็นจริงนั้นก็คลาดเคลื่อนไปมาก เช่น มีการคาดการณ์ว่า เดือนกันยายน-ตุลาคม จะเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง หรือ น้ำฝนน้อย แต่ในความเป็นจริง คือ ฝนตนมากกว่าค่าปกติถึง 30%
...
ฉะนั้น สิ่งที่อยากจะฝากประชาชนว่า อย่าเพิ่งเชื่อข้อมูลคาดการณ์ ที่มีการคาดการณ์ในระยะไกลมากเกินไป เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นจริง อาจไม่เหมือนที่คาดการณ์ไว้ก็ได้...
แปลว่า แบบนี้จะส่งผลต่อการวางแผนรับมือหรือไม่ เพราะไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้ามากๆ ได้ โฆษกมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ยอมรับว่ามีผล โดยเฉพาะหน่วยงานที่มีหน้าที่บริหารจัดการน้ำ เพราะที่ผ่านมา ก่อนเข้าสู่หน้าฝน ก็พบว่ามีการแจ้งเตือนว่าจะเกิดภาวะแล้ง ในรอบ 60 ปี ดังนั้น กรมชลประทาน และหน่วยงานอื่นๆ เรื่องการจัดการน้ำ จึงมีการวางแผนจัดการภัยแล้งอย่างไร แต่เมื่อถึงเวลาจริงในเดือนสิงหาคม-กันยายน ฝนกลับมามากกว่าปกติ ด้วยเหตุนี้ ทำให้แผนเปลี่ยนไปหมดเลย... ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ฝนต่ำกว่าค่าปกติทุกเดือน ทำให้คนทำงานวิตกกังวล ปรากฏว่า เกิดฝนตกหนัก หลังจากคาดการณ์ 1-2 เดือน กระทั่ง เข้าเดือน พฤศจิกายน ตั้งแต่วันที่ 1 ถึงวันที่ 19 พ.ย. ฝนก็ยังมีค่ามากกว่าปกติอยู่
“สิ่งที่เป็นความโชคดี คือ ช่วงนั้นไม่มีพายุเข้ามา หากเจอพายุเข้ามา ฝนที่ลงมาจะทำให้หนักกว่านี้ จะกลายเป็นว่า ปีนี้มีน้ำมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่เหนือความคาดหมายมาก เพราะสิ่งที่คาดการณ์คือ อย่างน้อยต้องมีพายุเข้า 1-2 ลูก ในช่วงนี้.. ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ส่งผลให้การพยากรณ์อากาศล่วงหน้ามีความคลาดเคลื่อนสูง"
...
โฆษกมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าวว่า ณ ปัจจุบัน เข้าสู่เอลนีโญ แล้ว โดยเฉพาะเดือนนี้ จนถึง กุมภาพันธ์ปีหน้า ซึ่งเป็นหน้าหนาว ผลที่เกิดคือ เวลากลางคืน จะมีอากาศเย็น แต่กลางวันจะร้อน หลังจากนี้ เมื่อมวลอากาศเย็นถอยไป โดยเฉพาะหลังสัปดาห์นี้ กลางวันจะร้อน
เดือนธันวาคม มีการพยากรณ์ว่า อุณหภูมิจะสูงกว่าค่าเฉลี่ยในปีก่อนๆ หน้าหนาวปีนี้จึงจะไม่หนาว จากผลกระทบจากเอลนีโญ และจะลากไปถึงหน้าแล้ง อุณหภูมิอาจจะสูงและทำลายสถิติ ซึ่งปีนี้ อากาศร้อนสูงสุด เท่ากับปีที่ทำลายสถิติ เมื่อปี 2559 คือ 44.6 ที่แม่ฮ่องสอน...แต่ถ้าเป็นเมษายนปีหน้า เราจะเข้าสู่เอลนีโญ ที่มีกำลังแรง อาจจะเจออากาศร้อนทำลายสถิติเดิม...
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์
อ่านบทความที่น่าสนใจ