ซอฟต์พาวเวอร์ ยุทธศาสตร์ที่พรรคเพื่อไทย เร่งดำเนินการขับเคลื่อน โดย "แพทองธาร ชินวัตร" รองประธานกรรมการซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เปิดเผยถึงเป้าหมายแรกกับเครือ "ไทยรัฐ กรุ๊ป" เตรียมผลักดัน "ครัวไทยสู่ครัวโลก" ปั้นเชฟอาหารไทย 1 แสนคนภายใน 2 ปี เพื่อป้อนสู่ร้านอาหารไทยในต่างแดน โกยรายได้ด้วยรสชาติไทยแท้
ขณะที่ "มวยไทย" เตรียมร่างหลักสูตรให้เป็นมาตรฐานเดียวกันในการโกอินเตอร์ พร้อมผลักดัน "พ.ร.บ.ทักก้า" เป็นหน่วยงานกลางจัดสรรงบประมาณปีละหมื่นล้านบาท ภายในปี 2568
เครือ "ไทยรัฐ กรุ๊ป" ได้รับเกียรติจาก แพทองธาร ชินวัตร รองประธานกรรมการซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ และ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ถึงแนวคิดการปั้น "ซอฟต์พาวเวอร์" ตอบคำถามถึงแนวคิด การทำงานที่หลายคนยังคาใจ
...
"1 ครอบครัว 1 Soft Power" ให้พ้นฐานรายได้ยากจน
แพทองธาร ชินวัตร รองประธานกรรมการซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ กล่าวว่า แนวทางพัฒนา "ซอฟต์พาวเวอร์" ได้เตรียมพร้อมมาตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งประมาณ 2 ปี มีการเก็บข้อมูลเกี่ยวข้อง โดย "ซอฟต์พาวเวอร์" เป็นการนำสิ่งที่คนไทยมีอยู่เดิม เช่น อาหารไทย ผ้าไทย มวยไทย มีการวางแผนตั้งเป้าว่า ให้หน่วยงานรัฐและเอกชนมีส่วนร่วมผลักดัน เจ้าภาพหลักเป็นเอกชน ไม่ใช่รัฐบาล จึงมีการวางแผนให้หน่วยงานรัฐเป็นผู้ขับเคลื่อน ส่วนภาคเอกชนเป็นผู้ผลักดัน
“ซอฟต์พาวเวอร์ เป็นการพัฒนาเพื่อยกระดับทั้งระบบ เลยมีหลายหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้องจำนวนมาก เช่น กระทรวงมหาดไทย ท่องเที่ยว ต่างประเทศ คาดว่าจะสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ มีการตั้งเป้าความสำเร็จตั้งแต่ 100 วัน, 6 เดือน ไปจนถึง 1 ปี ที่ได้เริ่มดำเนินนโยบาย"
การดำเนินการได้เริ่มทำ นโยบาย "1 ครอบครัว 1 Soft Power" (One Family One Soft Power-OFOS) คัดสรร 1 คน ต่อ 1 ครอบครัว เพื่อมา "อัปสกิล" หรือ "รีสกิล" สิ่งที่ถนัดใน 11 สาขา ความตั้งใจของโครงการนี้ กระตุ้นศักยภาพของครอบครัว ให้มีรายได้พ้นเส้นแบ่งความยากจน ตอนนี้อยู่ที่คนละ 2,800 บาท/เดือน ให้มีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 16,000 บาท/เดือน เฉลี่ย 1 ปี มีรายได้ประมาณ 2 แสนบาท โดยกระตุ้นศักยภาพ 1 บุคคล นำพาครอบครัวให้พ้นเส้นความยากจนได้ทันที ถือเป็นโมเดลพัฒนาศักยภาพตัวบุคคล ผ่านการลงทะเบียนกองทุนหมู่บ้าน
อาหารไทย เป็น "ซอฟต์พาวเวอร์" เกิดขึ้นได้ง่ายเป็นอันดับแรก เป็นสิ่งที่คนต่างชาติรู้จักอยู่เดิม เราพยายามส่งเสริมให้คนต่างชาติรู้จักถึงรสอาหารไทยแท้ให้มากขึ้น เพื่อส่งออกเชฟไทยเข้าไปทำงานในร้านอาหารไทยในต่างประเทศ
ตั้งเป้าปั้นเฟชอาหารไทย 2 ปี 1 แสนคน
นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ กล่าวว่า การพัฒนาอุตสาหกรรม ซอฟต์ พาวเวอร์ ของ THACCA (ทักก้า) หรือ Thailand Creative Content Agency มีการตั้งเป้าสร้างรายได้ 10 ล้านล้านบาท อีก 4 ปีข้างหน้า รายได้มาจากการ "อัปสกิล" และ "รีสกิล" บุคคลทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น 20 ล้านคน จาก 20 ล้านครอบครัว ใน 11 สาขา สามารถมีรายได้เพิ่มขึ้น 2 แสนบาท/ปี โดยเฉพาะการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารไทย ให้ "ครัวไทยสู่ครัวโลก" ขณะนี้มีร้านอาหารไทย ประมาณ 2 หมื่นร้านในต่างประเทศ ตั้งเป้าว่าจะผลักดันให้ไปถึง 1 แสน/ร้าน ภายใน 4 ปี แต่การจะไปได้ต้องมีการอบรมเชฟอาหารไทย
...
ช่วงแรก เชฟชุมพล แจ้งไพร มาช่วยเป็นกรรมการยุทธศาสตร์ Soft Power อาหารไทย ตั้งเป้าไว้จะพัฒนาให้ "1 หมู่บ้าน 1 เชฟอาหารไทย" โดย 7 หมื่นหมู่บ้าน จะได้เชฟ 7 หมื่นคน คาดว่าภายใน 2 ปี มีเชฟผ่านการพัฒนาศักยภาพ 1 แสนคน ผลักดันให้ไปทำงานในร้านอาหารไทยในต่างประเทศ เพื่อให้ชาวต่างชาติได้ชิมรสชาติอาหารไทยแท้จากฝีมือคนไทย
สำหรับการพัฒนาทักษะเชฟ หลังจากการรับสมัคร มีกระบวนการพัฒนาในระดับหมู่บ้าน ถ้ามีแววก็พัฒนาสู่ระดับจังหวัด ไปจนถึงระดับสูงที่เรียนกับเชพมืออาชีพ กระบวนการนี้จะเป็นการคัดสรรคน เพื่อค้นหาเชฟไทยที่มีศักยภาพ สามารถไปสร้าง ซอฟต์พาวเวอร์ อาหารไทย ในต่างประเทศได้
"ความแตกต่างของการพัฒนา ซอฟต์พาวเวอร์ กับแนวนโยบายกรุงเทพฯ เมืองสร้างสรรค์และเมืองแฟชั่นในอดีต คือ ยุคนั้นเราเน้นพัฒนาอุตสาหกรรม แต่แนวคิดของ ซอฟต์พาวเวอร์ ยุคนี้เน้นพัฒนาคน รวมถึงนโยบายต่างประเทศเชิงรุก สร้างรายได้ให้กับครอบครัว และส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมของไทย"
...
มวยไทย-ภาพยนตร์ โกอินเตอร์เพิ่มรายได้
แพทองธาร ชินวัตร รองประธานกรรมการซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ มองว่า ขณะนี้หน่วยงาน ซอฟต์พาวเวอร์ ของเกาหลีใต้ (Kocca) ได้เข้ามาปรึกษา และพร้อมให้เราไปเรียนรู้การคัดแยกบุคคลเพื่อพัฒนาทักษะ ระหว่างที่เรากำลังพัฒนา หากมีปัญหาจุดไหน พร้อมให้คำปรึกษา
"การสร้างมูลค่าเช่น ผ้าคราม ทำโดยฝีมือคนไทย ส่งออกไปขายต่างชาติในราคาถูก แต่ต่างชาตินำไปขายต่อราคาหลายหมื่นบาท สิ่งนี้เราจะส่งเสริมให้มีแบรนด์คนไทยส่งออกไปขายทั่วโลก โดยไม่ต้องผ่านคนกลาง ให้คนไทยได้ค่าแรงเหมาะสมกับราคาที่นำไปขายยังประเทศปลายทาง"
มวยไทย เป็นซอฟต์พาวเวอร์ ที่คนทั่วโลกรู้จัก ไม่ต้องใช้เวลามากกว่าสาขาอื่น เป็นสิ่งที่ได้เปรียบ ส่วนสาขาอื่นที่คาดว่าจะส่งเสริมได้อย่างรวดเร็วรองลงมาคือ กีฬา ท่องเที่ยว ภาพยนตร์ งานเฟสติวัล
...
จากการเก็บข้อมูล ซอฟต์พาวเวอร์ สาขาภาพยนตร์ เป็นประเด็นที่น่าสนใจ ตัวอย่าง เกาหลีใต้ มีการสอดแทรกสินค้าไปในหนังอย่างแนบเนียน ทำให้คนดูรู้สึกชอบ อยากกินอาหารเกาหลีตาม ความชอบเกิดขึ้น โดยไม่ได้เป็นในลักษณะยัดเยียด
ตอนนี้ คณะอนุกรรมการ ซอฟต์พาวเวอร์ ภาพยนตร์แบ่งเป็น 2 คณะคือ 1. ภาพยนตร์ 2. ละครซีรีส์ เนื่องจากธรรมชาติการทำงานแตกต่างกัน และมีแผนสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงวัฒนธรรม ที่สำคัญจะมีการร่าง พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฉบับใหม่ โดยเดือนมีนาคมปีหน้า จะนำหนังไทยเรื่อง สัปเหร่อ พร้อมภาพยนตร์อีก 4-5 เรื่อง ไปฉายในเทศกาลหนังประเทศญี่ปุ่น
"ปัญหาที่เจอตอนนี้คือ การพยายามบัญญัติคำว่า ซอฟต์พาวเวอร์ มองว่าคนโน้นไม่เข้าใจจริง แต่คนทำงานต้องมูฟออน พยายามปรับให้เข้ากับบริบทไทย เราเข้ามาขับเคลื่อน เพราะเชื่อในพลัง ซอฟต์พาวเวอร์ ที่จะสร้างมูลค่าได้อย่างมากมาย และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดัน ประสานทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชน ให้เกิดขึ้น สิ่งนี้ถือเป็นหน้าที่ต้องทำให้สำเร็จ เพราะในแต่ละอุตสาหกรรมมีคนเก่งจำนวนมาก นายกฯ ท่านก็ดีใจที่มาช่วยขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้สำเร็จ และพร้อมสนับสนุนงบประมาณ”
ดนตรี-นักเขียนไทย เส้นทางสร้างรายได้
นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ กล่าวว่า อุตสาหกรรมหนังสือ เป็นอีกสาขาที่พยายามผลักดันให้หนังสือของนักเขียนไทย ได้รับการแปลในต่างประเทศ โดยเร็วๆ จะมีงานหนังสือที่ไทเป ประเทศไต้หวัน กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้จัดสรรงบประมาณให้สำนักพิมพ์ไทยได้ไปร่วมงาน เตรียมพูดคุยกับสำนักพิมพ์ประเทศอื่น เพื่อนำหนังสือของนักเขียนไทยไปแปล โดยรัฐบาลมีเงินสนับสนุนให้
สาขาดนตรี มีแผนจะไปปรับปรุงห้องดนตรีตามโรงเรียนทั่วประเทศ นำมาใช้เป็นสถานที่ในการสอน ต่อจากนั้นจะมีการจัดเวทีประกวด ให้ผู้เรียนได้พัฒนาฝีมือตั้งแต่เวทีระดับจังหวัด ไปถึงระดับประเทศ
สาขามวยไทย ตอนนี้กำลังเตรียมพร้อมจัดตั้งหลักสูตรการสอนที่เป็นมาตราฐาน โดยต้องมีระดับขั้นเหมือนเทควันโด ที่มีสายดำ สายขาว หลักสูตรมวยไทยจะมีการทำเหมือนกัน และจัดเวทีการแข่งขันในแต่ละระดับชั้น ซึ่งขณะนี้กำลังร่วมออกแบบร่วมกับคุณชาตรี ศิษย์ยอดธง เป็นตัวแทนหน่วยงานเอกชนเข้ามาร่วมผลักดันให้มวยไทยไปสู่ต่างประเทศ
"พ.ร.บ.ทักก้า" หนุนงบประมาณยั่งยืน
นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ กล่าวว่า สำหรับงบประมาณสนับสนุนเบื้อต้น มีการนำงบประมาณประจำปีมาใช้ก่อนประมาณหมื่นล้านบาท ตอนนี้มีงบเศรษฐกิจสร้างสรรค์กระจายไปตามหน่วยงานต่างๆ อยู่แล้วปีละประมาณ 7 พันล้านบาท แต่ที่ผ่านมายังไม่เห็นผลของการพัฒนาที่ชัดเจน เลยมีการนำงบตรงนี้มาทำ ซอฟต์พาวเวอร์ ให้มีความชัดเจน
แนวทางการผลักดัน ซอฟต์พาวเวอร์ ต่อจากนี้ จะมีการร่าง พ.ร.บ.ทักก้า เพื่อตั้งหน่วยงานกลาง เดิมมีความซ้ำซ้อนให้มารวมในจุดเดียวแบบ one stop service หน่วยงานนี้ไม่ใช่องค์การมหาชน คาดว่า พ.ร.บ. แล้วเสร็จภายในปีครึ่ง หลังผ่านแล้วงบประมาณ ซอฟต์พาวเวอร์ จะรวมอยู่ในหน่วยงานนี้ทั้งหมด โดยงบประมาณตั้งเป้าปีละหมื่นล้านบาท
"ทักก้า เป็นหน่วยงานกลาง คาดว่าจะก่อตั้งแล้วเสร็จไม่ช้ากว่ากลางปี 2568 ช่วงเวลานั้นมีการวางแผนงบประมาณด้านยุทธศาสตร์ เป็นระบบมากขึ้นกว่าเดิม มีการจดลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นของ ทักก้า เพื่อป้องกันชาติอื่นนำไปแสวงหาประโยชน์ งบประมาณผลักดันในช่วงแรกจะเป็นงบประมาณจากหลายหน่วยงานนำบูรณาการร่วมกันก่อน จากนั้นถ้ามี พ.ร.บ.ทักก้า มีงบประมาณและหน่วยงานที่ทำงานได้คล่องตัวมากขึ้น"
ทักก้า เป็นหน่วยงานที่อยู่กับสำนักนายกรัฐมนตรี มีรูปแบบเหมือนกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ โดยนายกฯ ต้องเป็นผู้ดูแลด้วยตัวเองถึงจะประสบความสำเร็จ
"การตั้งหน่วยงานกลางที่ขับเคลื่อน ซอฟต์พาวเวอร์ ถ้าเป็นองค์การมหาชนก็อาจถูกยุบได้ แต่ถ้ามีการก่อตั้งตาม พ.ร.บ.ทักก้า จะทำให้การส่งเสริมยั่งยืนและไม่สามารถยุบได้ ขณะเดียวกันเกี่ยวโยงกับนโยบายต่างประเทศ มีความสำคัญมากในการส่งเสริมการฑูตเชิงวัฒนธรรม ไม่อย่างนั้นก็ยากจะประสบความสำเร็จ ตัวอย่างเช่น เกาหลี ใช้การฑูตทางวัฒนธรรมเยอะมาก”.