คณะรัฐมนตรี อนุมัติงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2567 ทั้งสิ้น 2.17 แสนล้าน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 6.1% หลังจากก่อนหน้านี้มีการตีกลับเพื่อให้มาทบทวนใหม่ แม้ผู้เชี่ยวชาญด้านหลักประกันสุขภาพ จะพอใจกับงบประมาณที่เพิ่มขึ้น แต่ยังมีความเป็นห่วงผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ยังเข้าไม่ถึงการรักษา

เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 66 ครม.อนุมัติงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบ 2567 วงเงิน 217,628 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.1% จากปีงบ 2566 หลังสำนักงบประมาณตีกลับให้ทบทวนใหม่

ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ สอบถามไปยัง นิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการหลักประกันสุขภาพจากภาคประชาชน ระบุว่า การของบประมาณมีการเสนอไปตั้งแต่ก่อนหน้านี้ โดยตอนนั้นมีแนวโน้มว่าจะได้รับการอนุมัติน้อยกว่าที่ขอไว้ นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการเจรจานำมาพิจารณาใหม่ จึงเป็นที่มาทำให้ต้องนำเสนองบประมาณใหม่อีกครั้ง และได้รับอนุมัติงบเพิ่มขึ้นกว่าครั้งแรก

งบประมาณที่ได้รับอนุมัติ 2.17 แสนล้านบาท เป็นจำนวนน่าพอใจ เพราะผ่านการคำนวณรวมกับสิทธิประโยชน์ราคายาใหม่ ที่มีราคาแพงขึ้น โดยจำเป็นต้องอุดหนุนงบประมาณเพิ่ม เช่นเดียวกับผู้ป่วยโรคไต ที่ให้ผู้ป่วยสามารถเลือกการรับบริการได้ ซึ่งมีการพิจารณาคำนวณรวมเข้าไปด้วย

...

แต่งบประมาณที่อนุมัติมายังไม่เพียงพอกับการดูแลผู้ป่วยติดเตียงที่อยู่บ้าน ปัจจุบันมีงบประมาณดูแล 6,000 ต่อราย/ปี แต่ถ้าในหนึ่งตำบลมีผู้ป่วยติดเตียงจำนวนมาก หรือประมาณ 20 คน ต้องมีการจ้างผู้ดูแลเข้าไปเยี่ยมบ้านอาทิตย์ละครั้ง ถ้ามีการเพิ่มงบประมาณ สามารถจ้างผู้ดูแลให้เข้าไปดูผู้ป่วยติดเตียงตามบ้านได้มากขึ้น ก็จะทำให้ผู้ป่วยมีสวัสดิภาพดีขึ้น เพราะการที่บ้านไหนมีผู้ป่วยติดเตียง จะส่งผลกระทบทำให้คนในครอบครัวอย่างน้อย 1 คน ต้องออกจากงาน ถ้ามีเงินมาช่วยเหลือคนที่ดูแลในครอบครัวได้ก็จะดีมากกว่า

เช่นเดียวกับผู้ป่วยไตวาย ต้องใช้งบประมาณดูแลมากขึ้น โดยภาระของผู้ป่วยขณะนี้ ถ้าต้องมาฟอกไตที่หน่วยไตเทียม อยู่ห่างไกลจากบ้าน ในพื้นที่ต่างจังหวัด ต้องเสียค่ารถเฉลี่ย 500-1,000 บาทต่อครั้ง แต่ถ้ามีกระบวนการช่วยเหลือผู้ป่วย ในการจัดหาเครื่องฟอกไตมาไว้ที่บ้าน หรือพื้นที่ใกล้เคียงบ้านผู้ป่วย จะสามารถช่วยให้การรักษาเข้าถึงมากขึ้น เพราะผู้ป่วยที่ฟอกไตทั่วประเทศ มีประมาณ 40,000 คน ถ้ามีเครื่องฟอกไตอำนวยความสะดวกในพื้นที่ใกล้บ้าน สามารถลดค่าเดินทางได้

อีกแนวทางแก้ไข ถ้าเทียบงบประมาณที่ช่วยเหลือผู้ป่วยฟอกไต สามารถเพิ่มงบอีกจำนวนไม่มาก เพื่อซื้อเครื่องฟอกไตมาไว้ที่บ้านของผู้ป่วยได้ และทำให้ประหยัดค่าเดินทางของผู้ป่วยได้จำนวนมาก

“เดิมงบประมาณส่วนนี้เคยได้ 900 ล้านบาท ก่อนจะมีการขยับขึ้น แต่ไม่เพียงพอกับความต้องการและปัญหาสุขภาพของคนไทยที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคไตวาย ที่ต้องมาฟอกไตอาทิตย์ละ 2 ครั้ง มีต้นทุนในการดูแลสุขภาพเพิ่มขึ้น เพราะถ้ายาผู้ป่วยอยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด ค่ารถในการเหมารถเข้ามาฟอกไตในเมืองค่อนข้างแพงมาก”

ขณะเดียวกัน งบประมาณในการจ่ายเบี้ยเลี้ยงให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ที่ต้องเดินทางมาดูแลผู้ป่วยติดเตียงตามบ้าน เป็นอีกสิ่งที่ต้องมีการเพิ่มงบประมาณมากขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วยมีชีวิตดีมากขึ้น และให้คนในชุมชนมีความผูกพันกับบุคลากรทางการแพทย์ ที่เข้าไปดูแลตามบ้านเรือนให้ความรู้ป้องกันได้อย่างเป็นระบบมากขึ้น.