เรื่องเล่า จากอดีตผู้คุมเรือนจำ กับ นักโทษ 4 แบบ ที่มีแรงจูงใจอยากแหกคุก ที่มีชนวนจากความแค้น และการอยู่รอด วิเคราะห์คดี "แป้ง นาโหนด" กับปมรู้เห็นเป็นใจ...

เวลานี้ ตำรวจมือดีที่สุด กำลังไล่ล่าตัว “แป้ง นาโหนด” หรือ นายเชาวลิต ทองด้วง ผู้ต้องหาคดีฉกรรจ์หลายคดี ทั้งพยายามฆ่า ร่วมกันฆ่า ยาเสพติด และฟอกเงิน

จุดเริ่มต้นของการไล่ล่า คือ การหนีอาญาแผ่นดิน ในการควบคุมของกรมราชทัณฑ์ เรือนจำนครศรีธรรมราช เนื่องจากเกิดอาการวูบ อ่อนแรง ด้วยเหตุนี้ จึงถูกส่งตัวมารักษาที่ รพ.มหาราชนครศรีธรรมราช และเมื่อแพทย์ตรวจร่างกายก็อนุญาตให้นอนโรงพยาบาล...

เสี่ยแป้งใช้จังหวะนี้ “แหก” การควบคุม และหลบหนี โดยมีลูกน้อง 2 คนมารับ

ประเด็นนี้ กรมราชทัณฑ์ฯ ถือว่าเสียหาย เพราะมีรายงานว่า “ตำรวจ” เคยเตือนแล้ว ว่า “เสี่ยแป้ง” กำลังวางแผนจะหลบหนี...? 

ล่าสุดวันนี้ (9 พ.ย.) เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ระดมกำลังไล่ล่า บริเวณเทือกเขาบรรทัด รอยต่อ 3 จังหวัด ตรัง พัทลุง สตูล หลังมีการ “ปะทะ” กันเมื่อวาน และมีข่าวลือว่า “เสี่ยแป้ง” เสียชีวิต กระทั่ง ผบ.ตร. พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ยืนยันว่า ยังไม่ตาย และไม่มีนโยบายเน้นการวิสามัญ แต่ก็เชื่อว่า ได้รับบาดเจ็บ เนื่องจากพบรอยเลือด และยังพบอาวุธปืนจำนวนหนึ่ง 

...

ประเภท คนแหกคุก ความคั่งแค้น และการอยู่รอด 

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสพูดคุยกับ อดีตผู้คุมเรือนจำ บอกเล่าเรื่องราวว่า คนที่จะแหกคุก หลักๆ มีแรงจูงใจอยู่ 4 ประเภท 

1.ครอบครัว : คนกลุ่มนี้ จะมีปัญหาส่วนตัวแล้วเกิดความแค้น เช่น ได้ข่าวว่าเมียมีชู้ อยากจะแหกคุกออกมาฆ่าชู้ โดยเฉพาะ “ชู้” ที่เป็นเพื่อนตัวเอง หรือ...ความแค้น คือการได้ข่าวว่า มีคนมาฆ่าพ่อแม่ 

2.ถูกเอาเปรียบ โดนโกง : ผู้ต้องหากลุ่มนี้จะมีความโกรธมาก เมื่อตัวเองอยู่ในเรือนจำ แต่กลับถูกคนรู้จักโกง ในประเด็นของตัวเอง หรือครอบครัว ก็ตาม 

เคสนี้ คล้ายกับคดีเสี่ยแป้ง ที่อ้างว่า เจ้าหน้าที่บางหน่วย “อมเงิน” เอาเงินไปหลายล้าน และอ้างว่า จะช่วย มันจึง “จำฝังใจ” จึงมีการวางแผน “แหกคุก” กระทั่งทำสำเร็จ 

3.ถูกข่มเหงในเรือนจำ : เคสนี้จะผู้ต้องขังจะรู้สึก “ทนต่อไปไม่ไหว” แล้ว เพราะถูกเพื่อน หรือเจ้าหน้าที่บางนาย กระทำ ซึ่งในเรือนจำนั้น จะมีทางเลือกอยู่ 2 ทางคือ 1.แขวน... และ 2.แหกคุก 

4.ติดยา ติดพนัน และติด(เงิน)กะเทย : กลุ่มนี้ คือ การติดยา อยากยา ติดพนัน อยากเล่นพนัน และติดกะเทย คือ ติดเซ็กซ์กับกะเทยในเรือนจำ แล้วไม่มีเงินจ่าย จึงโดนไล่ล่าและตามทำร้ายร่างกาย 

“เมื่อโดนกระทืบทุกวัน ทนไม่ไหว ก็กลับไปข้อสาม ไม่แขวน...ก็แหก” 

แหกคุก ยาก... ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่มีส่วนรู้เห็น

อดีตเจ้าหน้าที่ ที่เคยดูแลเรือนจำ ยืนยันว่าการแหกคุกนั้น ทำได้ยากมาก ยกเว้น แต่มีเจ้าหน้าที่นอกแถวบางคน รู้เห็นเป็นใจ ยกตัวอย่างกรณี เสี่ยแป้ง ในมุมมองส่วนตัว เชื่อว่ามีคนช่วยแน่นอน การที่เจ้าที่ไม่รู้เห็น เรียกว่า “เป็นไปไม่ได้” 

รู้มาก รู้น้อย โลภ โดยเฉพาะกลุ่มเจ้าหน้าที่บางคนที่ปัญหาเรื่องการเงินเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว อาจจะช่วยก่อนได้เงินก็เป็นได้ คิดว่า “ความลับ” ไม่รั่ว หรือบางคนไม่ยอม ก็อาจจะต้องได้เงินก่อน 

คนที่มีอิทธิพล มีเงิน มันจะรู้ว่า ต้องเจาะไปที่ใคร เพราะมันให้คนไปสืบว่า เจ้าหน้าที่คนไหน มีปัญหาเรื่องการเงินบ้าง เมื่อมันรู้ มันจะส่งคนไปปั่นหัว และพยายามชวนเข้าเป็นพวก 

เรื่องนี้เหมือนกับในหนังเลย...? ทีมข่าวถามฯ “นี่มันเรื่องจริงเลย สังเกตดูว่าแต่ละปี กรมราชทัณฑ์จะมีประกาศ ว่ามีเจ้าหน้าที่กี่คนถูกไล่ออก ปลดออก ซึ่งปัญหาโดยมากมาจากเรื่องนี้ โดยแต่ละปี เท่าที่สังเกตก็มี 20-30 คน ซึ่งถือว่าเยอะมาก”

...

ราชทัณฑ์ ถือว่าเป็นหน่วยงานที่มีสวัสดิการดี เรียกว่าเงินดี เพราะหน่วยงานอื่น โดยมากจะมีแค่เงินเดือน แต่ราชทัณฑ์มีเบี้ยเลี้ยงเสี่ยงภัย ค่าล่วงเวลา แต่กลับพบว่า เจ้าหน้าที่มีปัญหาการเงินมากเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะ อดีตผู้คุมรุ่นเก่าๆ ที่เข้ามาทำงานก่อนปี 2560 ส่วนหนึ่ง เพราะคนที่ทำงานในคุก ก็เหมือนติดคุก เข้าเวรทีได้เงิน 8,000-9,000 แต่กินเหล้าหมดไปหมื่น แบบนี้จะเหลืออะไร...

ปัญหาที่เกิดขึ้น มันคือ ปัญหาส่วนบุคคล แม้ราชทัณฑ์เองจะรู้ แต่มันก็แก้ยาก ซึ่งเรือนจำ 1 แห่ง จะมีคนประเภทนี้ราวร้อยละ 10 ที่มีปัญหา และมันก็กลายเป็น “ช่องโหว่” ที่ทำให้ผู้ต้องขังเข้ามาครอบงำ 

ผบ.เรือนจำ บางคนจะรู้ว่า เจ้าหน้าที่คนไหน มีปัญหาเรื่องการเงินหนักๆ เขาจะจับแยกกับตัวผู้ต้องขังเลย เคยมีบ้างที่ผู้ต้องขังมาเสนอ..

ผมนี่ด่าเลย...ไปไกล..! ซึ่งเรื่องนี้เกิดก่อนปี 2560 

สาเหตุที่ ยกปี 2560 เพราะในปีนั้น เริ่มมีการใช้ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ฉบับใหม่ ก่อนปี 2560 ใครทำอะไรผิดในลักษณะดังกล่าว เป็นแค่การทำผิดวินัย โทษไม่หนัก ขณะที่ผู้ต้องขัง โดนเพิ่มโทษ 1-3 เดือน แบบนี้ใครจะกลัว! ส่วนเจ้าหน้าที่ ถูกปลดออก ไล่ออก โดนโทษ 3 เดือน แต่ได้เงิน 2-3 ล้าน! 

แต่เมื่อใช้ พ.ร.บ. ของปี 2560 โทษกำหนดให้เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดชอบเพิ่ม 3 เท่า หากเกี่ยวข้องกับโทรศัพท์มือถือ นักโทษ โดน 5 ปี เจ้าหน้าที่โดน 15 ปี หรือ อุปกรณ์ “สัก” เมื่อก่อนในคุกไม่มีความผิดทางอาญาเลย ปัจจุบันมีโทษจำคุก 1 ปี หากพบว่าเจ้าหน้าที่เอี่ยว ก็โดน 3 ปี 

...

การขอย้ายเรือนจำ 

เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับ “อำนาจการควบคุม” คือ 1.คดีเกิดที่ไหน ต้องจำคุกที่นั่น 2.คุกที่นั่น เกินอำนาจการควบคุมหรือไม่ เช่น มีอัตราโทษสูง ต้องถูกส่งตัวไปยังคุกที่มีความมั่นคงสูง ยกตัวอย่าง คุกพัทลุง สามารถควบคุมนักโทษเด็ดขาดที่มีอัตราโทษไม่เกิน 25 ปี แต่บางคนโทษเกิน โทษเกิน 25 ปี จำเป็นต้องย้ายไปควบคุมที่เรือนจำที่มีอำนาจการควบคุมมั่งคงสูงกว่า นี่คือ การโยกย้ายตามอำนาจศาล

หรือแบบสุดท้าย คือ ผู้ต้องขังขอย้ายภูมิลำเนา โดย ญาติ หรือผู้ต้องขัง สามารถยื่นคำร้องได้ ซึ่งการจะยื่นได้ต้องมี “ทะเบียนบ้าน” หรือ ผู้อุปการะอยู่ที่ปลายทาง เช่น อยู่ที่ นครศรีฯ ก็ย้ายไป นครศรีฯ ได้ ซึ่งเรือนจำที่จะย้ายไป ต้องไม่เกินอำนาจการควบคุม และไม่แออัด โดยมาก การย้ายดังกล่าวฯ ก็จะได้รับการอนุมัติ 

อีกแบบ คือ “คนป่วย” หากต้องรักษาบ่อยมากๆ จะมีการย้ายไปที่ รพ.ราชทัณฑ์ เพราะหากไปโรงพยาบาลบ่อย ก็จะเดือดร้อนเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะกลุ่มคนโรคจิต ส่วนมากจะถูกย้ายไปที่ เรือนจำพิเศษธนบุรี และเรือนจำพิเศษกรุงเทพ เพราะ 2 คุกนี้ จะมี รพ.โรคจิตใกล้ๆ 

สุดท้าย คือ การย้ายเพื่อระบายความแออัด ซึ่งจะย้ายทีนับร้อยคน 

กรณีแป้ง นาโหนด นั้น กรมราชทัณฑ์ถือว่าผิดพลาดมาก โดยเฉพาะ ผบ.เรือนจำ เพราะมีการเตือนจากตำรวจแล้วให้ระวังการแหกคุก ในขณะที่การโยกย้าย 2 คนล่าสุด ไม่ได้เรียกว่าเป็นการเลื่อนขั้นหรอก เรียกว่าโยกย้าย มาในตำแหน่งผู้ตรวจ ซึ่งว่าจะไปแล้ว เรียกว่าระนาบเดียวกัน แต่เหมือนถูกปลด เพราะอำนาจหน้าที่ลดลง เพราะหากไม่มีคำสั่งอธิบดีให้ไปตรวจ ก็ไม่มีอำนาจตรวจ

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

...

อ่านบทความที่น่าสนใจ