ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ มีจำนวนผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ถึงร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด และยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง เมื่อก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ภาวะการเปลี่ยนแปลงของร่างกายและสังคมเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ในการเปลี่ยนแปลงทั้งหมด โดยเฉพาะภาวะสมองเสื่อม เนื่องจากสมองเป็นอวัยวะควบคุมการทำงานส่วนต่างๆ ของร่างกาย และยังช่วยควบคุมอารมณ์ ความรู้สึก และการมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้าง

การเจ็บป่วยของสมอง ไม่ได้ส่งผลแค่ร่างกาย แต่ยังส่งผลต่อการดำรงชีวิต กระทบต่อผู้ดูแลและคนรอบข้าง จากการเสื่อมถอยความสามารถของสมองในหลายๆ ด้าน เช่น พฤติกรรมก้าวร้าว สูญเสียความจำ สมาธิ ความสามารถทางสติปัญญาลดลง คิดและจำเรื่องในปัจจุบันไม่ได้ มีอาการหลงลืม โดยผู้สูงอายุส่วนใหญ่ในไทย มีภาวะสมองเสื่อมเฉลี่ยร้อยละ 2 ถึง 10 เพราะเมื่ออายุเพิ่มขึ้น โอกาสที่จะเกิดภาวะสมองเสื่อมก็มากขึ้น   

ทั่วโลกป่วยสมองเสื่อม 153 ล้านคน แต่ละปีเพิ่มขึ้น 2 เท่า

...

ขณะที่มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เตรียมรับมือสังคมสูงวัย ด้วยสมุนไพรชะลอสมองเสื่อม และจะจัดเสวนาในวันที่ 18 พ.ย.นี้ เพื่อให้ประชาชนรู้จัก เข้าใจภาวะสมองเสื่อม และการดูแลป้องกัน รวมถึงส่งเสริมการนำสมุนไพรมาใช้อย่างปลอดภัย และได้ผลในการชะลอการเกิดภาวะสมองเสื่อม บนหลักฐานทางวิชาการที่ทันสมัย “ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร” เลขาธิการมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้รับคำถามเรื่องสมุนไพรกับการป้องกันภาวะสมองเสื่อมในหลากหลายประเด็น ทั้งเรื่องความปลอดภัย ประสิทธิผล และคุณภาพผลิตภัณฑ์ที่มีจำหน่ายในท้องตลาด จึงจัดเสวนาเพื่อให้ความรู้

ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมทั่วโลกมากถึง 153 ล้านคน เพิ่มจาก 57 ล้านคนในปี 2562 มีอัตราการเพิ่มขึ้นประมาณ 2 เท่าในแต่ละปี ซึ่งภาวะสมองเสื่อมใช้เวลาสะสมโปรตีนพิษในสมอง 15-20 ปี โดยไม่แสดงอาการ และการงดบุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาที่มีผลให้นอนหลับ เป็นการป้องกันภาวะสมองเสื่อมที่ได้ผลมากที่สุด และควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงความเครียด ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุที่ศีรษะ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง หวานจัด และเค็มจัด รวมถึงการฝึกสมองให้เกิดการเรียนรู้สิ่งใหม่ 

แต่ในระยะหลังเริ่มมีงานวิจัยถึงศักยภาพของผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพ ในการป้องกันและชะลอภาวะสมองเสื่อม ยกตัวอย่างงานวิจัยเชิงระบาดวิทยาที่ติดตามชีวิตผู้คน พบว่าอัตราการเกิดอัลไซเมอร์ในประเทศอินเดียอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งสัมพันธ์กับการบริโภคขมิ้นชันของคนอินเดีย หรือการวิจัยที่พบว่าการเสริมบัวบก ร่วมกับการออกกำลังกายช่วยเสริมสมรรถนะความจำให้ดีขึ้น  

บัวบก นำมาปั่นกับกล้วย ทำให้สดชื่น อารมณ์ดี 

การป้องกันภาวะสมองเสื่อม มีความคุ้มค่าทั้งการลดค่าใช้จ่ายในการรักษาโรค และเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ผู้ป่วย โดยเฉพาะในผู้ป่วยภาวะรู้คิดบกพร่องเล็กน้อย แม้ยังไม่มีอาการ แต่การป้องกันก็มีความจำเป็น และสมุนไพรแต่ละชนิดมีสารสำคัญหลากหลายชนิด ช่วยเสริมฤทธิ์ในการดูแลสุขภาพ ซึ่งในเรื่องสมองเสื่อม มีงานวิจัยบัวบกเป็นจำนวนมาก พบว่าช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด กระตุ้นการสร้างโปรตีนที่เป็นอาหารของเซลล์ประสาทสมอง ช่วยชะลอการสลายของสารสื่อประสาทที่ทำหน้าที่จดจำ และมีฤทธิ์ปกป้องสมองจากสารพิษ

หรือหากสมองถูกทำร้ายจากสารพิษ จะช่วยลดการอักเสบฟื้นฟูและเยียวยาสมองให้กลับมาสู่สภาวะปกติ ในต่างประเทศมีผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการวิจัยช่วยเสริมความจำ และปรับอารมณ์ให้สดชื่น ซึ่งความรู้เหล่านี้ไม่ได้ใหม่เลยสำหรับสังคมไทยที่ใช้สมุนไพรมานาน

“บัวบก มีรูปร่างเหมือนสมอง ช่วยบำรุงสมอง เสมือนรหัสธรรมชาติที่ส่งมอบมาให้มนุษย์ คนสมัยก่อนนำบัวบกมาคั้นน้ำกินก่อนนอน ช่วยให้นอนหลับตื่นมาสดชื่น ทำให้อารมณ์ไม่หงุดหงิด ในบางพื้นที่ใส่พริกไทยเล็กน้อย เพื่อลดความเย็นของบัวบก และงานวิจัยระยะหลังพบว่า สารพิเพอรีนในพริกไทยช่วยดูดซึมสมุนไพรหลายชนิดเข้าสู่ร่างกาย เป็นความชาญฉลาดของคนในยุคก่อน และในช่วงโควิดระบาด มีการวิจัยพบว่าบัวบกปั่นกับกล้วยช่วยให้สดชื่น อารมณ์ดี  เป็นตัวอย่างของการประยุกต์บัวบกมาใช้"

...

บัวบกดูดโลหะหนัก ต้องปลูกระบบเกษตรอินทรีย์

จากข้อมูลยังพบว่า บัวบกเป็นสมุนไพรที่ดูดโลหะหนักในดินขึ้นมาสะสมที่ต้นได้มาก ดังนั้นการปลูกบัวบกต้องปลูกในพื้นที่ปลอดสารพิษ มีการดูแลด้วยกระบวนการเกษตรอินทรีย์ เมื่อปลูกแล้วต้องเก็บเกี่ยวด้วยเวลาที่เหมาะสม และแม้บัวบกมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบทางสันฐานวิทยาไปตามสภาพแวดล้อม พื้นที่ที่ปลูก การดูแลให้น้ำ และการใส่ปุ๋ยส่งผลต่อการงอกงามของบัวบก แต่ยังมีลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ของสายพันธุ์บัวบกแต่ละแหล่ง สามารถเห็นและเปรียบเทียบได้ชัดที่สุดคือความคงทน ทนต่อโรค ทนต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป และการฟื้นตัว

เมื่อนำไปวิเคราะห์ความหลากหลายทางพันธุกรรมเบื้องต้น โดยการหาลำดับนิวคลีโอไทด์ในบางบริเวณ ของตัวอย่างบัวบกจำนวน 30 ตัวอย่าง เบื้องต้นพบว่าบัวบกเป็นพืชที่มีความใกล้ชิดในสายพันธุ์สูงมาก ซึ่งมีค่าโมเลกุลของดีเอ็นเอ  (Percent Identity) อยู่ระหว่าง 86.29 ถึง 100% และยังมีการจำแนกสายพันธุ์ของตัวอย่างบัวบกได้เป็น 3 กลุ่ม มีลักษณะที่แตกต่างกัน อาทิ บัวบกสายพันธุ์ศาลายา มีใบใหญ่ และสารไตรเทอร์พีน (triterpenes) สูงกว่าพันธุ์ดั้งเดิมถึง 5 เท่า เมื่อเทียบกับน้ำหนักเท่ากัน จากการศึกษาวิจัยมานานกว่า 10 ปี เพื่อให้ประชาชนไปใช้ประโยชน์.

...