ถนนยุบ ฝาท่อแง้ม รถตกท่อ ปัญหารายวัน ที่นักขับต้องเผชิญบนถนนทั่วไทย ล่าสุด รถสิบล้อตกลงไปในฝาท่ออุโมงค์บนถนนซอยสุขุมวิท 64/1 ทำให้จราจรติดขัดยาว ผู้เชี่ยวชาญความปลอดภัยทางถนน มองว่าปัญหานี้ทวีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้คนใช้ถนนทั้งรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ เมื่อเกิดปัญหาขึ้น เรียกร้องเยียวยายากมากขึ้น

พื้นที่กรุงเทพฯ นอกจากฝาท่อที่ปิดไม่สนิทบนถนนทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งแล้ว ล่าสุดเหตุรถบรรทุกตกท่อทรุดตัว จากการขุดอุโมงค์บนถนนสุขุมวิท สะท้อนปัญหาความปลอดภัยเกี่ยวกับสิ่งกีดขวางบนท้องถนน

พรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) กล่าวกับทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ ว่า รถสิบล้อตกฝาท่อที่ทรุดเกิดจากความไม่รอบคอบของผู้รับเหมา การก่อสร้างอุโมงค์บนถนนใหญ่ ควรมีการคำนวณน้ำหนักที่ฝาท่อรับได้ โดยต้องมีคานเสริมให้ฝาท่อรับน้ำหนัก และปิดแนบสนิทไม่แง้ม จนเกิดอุบัติเหตุกับผู้ขับขี่ โดยเฉพาะคนขับมอเตอร์ไซค์ พอเจอซอกรอยต่อแคบๆ ของฝาท่อ มักเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย

...

“ฝาท่อบนถนน พอถูกรถเหยียบนานๆ มีโอกาสเลื่อนและไหล การออกแบบที่ดี พื้นที่ด้านล่างเป็นอุโมงค์ต้องมีคานรองรับอีกชั้น มีค้ำยันตัวยึดแน่นหนา พร้อมร้อยนอตให้ยึดติด ป้องกันการลื่นไหลของฝาท่อ เพราะถ้าฝาท่อปิดสนิทแน่นหนา จะไม่เกิดอุบัติเหตุ”

อีกประเด็นที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุ มาจากการก่อสร้างบนท้องถนน เนื่องจากมีสิ่งกีดขวางขณะทำการก่อสร้าง รวมถึงพื้นถนนที่ต่างระดับ เพราะอยู่ระหว่างการปรับปรุงพื้นถนน เช่น พื้นถนนรอยต่อราดยางซ่อมแซมสูงจากพื้นเดิม ทำให้รถมอเตอร์ไซค์ที่ขับมาด้วยความเร็ว เสียหลักล้ม เกิดความสูญเสียตามมา

“บางพื้นที่ ป้ายเตือนก่อนถึงเขตก่อสร้างเป็นเพียงป้ายขนาดเล็ก คนขับรถมาด้วยความเร็วไม่ทันได้สังเกต ขณะที่อีกปัญหาพบบ่อยคือ ฝาท่อบนถนนปิดไม่สนิท ไม่เป็นเนื้อเดียวกับพื้นถนน แต่มีมุม หรือองศา สูงหรือต่ำกว่าพื้นถนนไป 1 เซนติเมตร ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ ยิ่งฝาท่อที่ปิดไม่สนิท ทำให้มีเสียงกระแทกทุกครั้งที่รถวิ่งผ่าน นานเข้าจะพังง่าย ก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ตามมา”

ประเภทรถที่มักเกิดอุบัติเหตุ จากปัญหาของพื้นถนนมีดังนี้

มอเตอร์ไซค์ เจอปัญหาจากพื้นต่างระดับ ช่องว่างของฝาท่อปิดไม่สนิท ทำให้รถเสียหลัก พุ่งชนรถอื่น

รถยนต์และรถกระบะโหลดเตี้ย เจอพื้นถนนไม่สมบูรณ์ตัวถังรถครูดให้เกิดความเสียหาย

รถบรรทุกหนัก ถ้าพื้นถนนชำรุด เกิดกระแทกแรงกว่าปกติ ถนนเสียหาย เศษหินบนถนนกระเด็นไปถูกรถอื่น

ใครรับผิดชอบจากอุบัติเหตุถนนชำรุด

พรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) กล่าวว่า หากประสบอุบัติเหตุจากปัญหาถนนชำรุด อยากทำความเข้าใจกับผู้ขับขี่ว่า ถ้าต้องเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าวต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ การไปเรียกร้องกับผู้รับเหมาค่อนข้างยาก เนื่องจากกฎหมายไทยส่วนหนึ่งเอื้อให้กับผู้ประกอบการ

“บางอุบัติเหตุ ผู้รับเหมาอ้างว่า ปักป้ายเล็กๆ เพื่อเตือนก่อนถึงเขตก่อสร้าง ก็กลายเป็นข้ออ้างที่ไม่สามารถเอาผิดได้ โดยเฉพาะคนหาเช้ากินค่ำ การไปฟ้องร้อง ต้องใช้ระยะเวลาและเสียทุนทรัพย์มาก จึงต่างจากในหลายประเทศ ที่ประชาชนสามารถฟ้องร้อง หากถนนชำรุดแล้วทำให้เกิดอุบัติเหตุ”

...

ขณะเดียวกันต้องประเมินศักยภาพของตัวเอง และรถว่าสามารถฝ่าถนนที่ซ่อมแซม หรือชำรุดได้ขนาดไหน บางกรณีรถโหลดต่ำ แต่ขับเข้าไปในถนนทางไม่เรียบ สุดท้ายรถชำรุดเสียหาย ติดหล่ม

การแก้ปัญหาของหน่วยงานรัฐ ต้องมีมาตรการเพิ่มโทษผู้รับเหมาที่กระทำผิดให้สูงขึ้น ให้เกิดความเกรงกลัว และป้องกันก่อนเกิดอุบัติเหตุ.