เมินยืดอก-พกถุง สถิติเยาวชนไทยน่าห่วง! ปี 65 ติด HIV กว่า 4,400 คน! และโรคอื่นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น...
"ยืดอกพกถุง" "ปลอดภัยไว้ก่อน" และคำเชิญชวนอีกจำนวนมาก ที่หน่วยงานต่างๆ พยายามรณรงค์ให้คนไทยใส่ใจ 'การมีเพศสัมพันธ์' อย่างปลอดภัย
แต่ในทางกลับกัน! สถานการณ์ผู้ติดเชื้อ 'HIV' ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงอายุ 15-24 ปี ซึ่งนี่ถือเป็นเรื่องที่น่าห่วงอย่างมาก เพราะเชื้อเอสไอวีเมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้ว โอกาสจะทำให้หายขาดนั้นไม่มี ต้องทานยาต้านไวรัสไปตลอดชีวิต เพื่อไม่ให้เชื้อไปทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาวจนภูมิคุ้มกันแย่ และหากผู้ได้รับเชื้อไม่ใส่ใจดูแลตัวเอง อาจจะทำให้กลายเป็น 'เอดส์' และเสี่ยงต่อการเสียชีวิต...
สถานการณ์ที่น่ากังวลนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จึงต่อสายตรงถึง 'พญ.ชีวนันท์ เลิศพิริยสุวัฒน์' ผู้อำนวยการกองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เพื่อพูดคุยถึงสถานการณ์ 'HIV' ของเยาวชนในปัจจุบัน และการป้องกันหากได้รับเชื้อสู่ร่างกาย
...
ปีที่ผ่านมา เยาวชนติด HIV มากกว่า 4,000 คน! :
พญ.ชีวนันท์ ยืนยันว่า ปัจจุบันเยาวชนไทยอายุระหว่าง 15-24 ปี ติดเชื้อเอชไอวีเพิ่มมากขึ้น เห็นได้จาก 2 ปีที่ผ่านมา ทางหน่วยงานมีการจัดซื้อชุดตรวจเอชไอวีด้วยตัวเอง โดยทำการสุ่มส่งให้เยาวชนในต่างจังหวัด พบว่าเปอร์เซ็นต์ที่ติดอยู่ที่ 0.8-0.9% ซึ่งเปอร์เซ็นต์ตรงนี้ถือว่าสูงกว่าที่ผ่านมา
หากจะให้เห็นชัดขึ้น สามารถดูตัวอย่างได้จากข้อมูลของบางจังหวัด ที่ทำการตรวจเชื้อประชากรในพื้นที่ เช่น เมื่อปี 2565 จ.พิษณุโลก มีผู้ติดเชื้อเอชไอวี 3,800 คน ผลพบว่า ผู้ติดเชื้ออายุน้อยลง อดีตมักพบเชื้อในกลุ่มคนวัยทำงาน อายุ 30-60 ปี และกลุ่มอายุ 20-30 ปี แต่ในปีนั้นกลับพบผู้ติดเชื้อที่อายุต่ำกว่า 20 ปี โดยเฉพาะระดับมัธยมศึกษาที่มีมากขึ้น จากเฉลี่ยมีผู้ติดเชื้อ 250 รายต่อปี ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มเด็กมัธยมศึกษา มากถึง 60% หรือประมาณ 150 คน
นอกจากนั้น ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ข้อมูลของผู้ป่วยที่เข้าสู่ระบบการรักษาของโรงพยาบาล หรือบังเอิญมาตรวจแล้วพบเชื้อ มีสัดส่วนของเยาวชน เพิ่มขึ้นประมาณ 20%
ผอ.กองโรคเอดส์ฯ ระบุเพิ่มเติมว่า สถานการณ์โดยรวมของทั้งประเทศ เมื่อปี 2565 ประเทศไทยมีการคาดประมาณจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ในเด็ก และผู้ใหญ่ จำนวน 9,230 คน พบว่า ส่วนใหญ่ผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ จะอยู่ในกลุ่มอายุ 25-49 ปี จำนวน 4,700 คน คิดเป็นร้อยละ 51 รองลงมาเป็นกลุ่มอายุ 20-24 ปี จำนวน 3,161 คน คิดเป็นร้อยละ 34 และกลุ่มอายุ 15-19 ปี จำนวน 1,239 คน คิดเป็นร้อยละ 13 และช่วงอายุอื่นๆ คิดเป็นร้อยละ 2
แม้ว่าตัวเลขของผู้ติดเชื้อรายใหม่ช่วงอายุ 15-24 รวมกันแล้วจะไม่ถึงร้อยละ 50 (แต่ก็เกือบ) แต่นั่นไม่ใช่เรื่องที่น่ายินดีแต่อย่างใด เพราะข้อมูลจากระบบสารสนเทศ การให้บริการผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์แห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พบผู้ที่ได้รับการตรวจแล้วยืนยันผลว่ากลุ่มเยาวชน อายุ 15-24 ปี พบเชื้อเอชไอวี และเข้าสู่ระบบการรักษารายใหม่ มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ปี 2551 ร้อยละ 9.5, ปี 2555 ร้อยละ 14.2, ปี 2560 ร้อยละ 21.8 และปี 2565 ร้อยละ 22.1
ในส่วนของผู้ติดเชื้อสะสมทุกช่วงอายุทั่วประเทศ จากข้อมูลของศูนย์รวบรวมข้อมูลสารสนเทศด้านเอชไอวีประเทศไทย ปี 2565 ปรับปรุงเมื่อ 27 เมษายน 2566 ไทยมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีสะสม ที่ยังมีชีวิตอยู่ประมาณ 560,000 คน กำลังรับยาต้านไวรัส 457,133 คน เกิดผู้ติดเชื้อรายใหม่ประมาณ 9,200 คน และมีผู้เสียชีวิตเนื่องจากเอดส์ประมาณ 11,000 คน
...
พญ.ชีวนันท์ กล่าวว่า "นี่เป็นเพียงตัวเลขที่ทางหน่วยงานมีข้อมูลอยู่ แต่เราไม่สามารถรู้จำนวนที่แท้จริงแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ได้ หากไม่ได้ทำการตรวจทุกคนทั้งประเทศ แต่จำนวนผู้ป่วยที่มีอยู่เกือบหกแสนคน ก็ถือว่าเยอะมากแล้ว"
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ :
อีกสัญญาณที่ พญ.ชีวนันท์ รู้สึกเป็นห่วง ก็คือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ที่เกิดกับเยาวชน เช่น ซิฟิลิส (Syphilis), หนองใน ก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกจังหวัดอย่างต่อเนื่องถึง 9 ปี และโรคเหล่านี้ก็เกิดจาก 'การมีเพศสัมพันธ์'
ยกตัวอย่าง ข้อมูลจากระบบสารสนเทศ การให้บริการผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์แห่งชาติฯ ระหว่าง 2563-2565 พบว่า ปี 2563 เยาวชนไทยอายุ 15-24 ปี มีอัตราป่วยโรคซิฟิลิส 50.4 ต่อประชากรแสนคน, ปี 2564 มีอันตราป่วย 50.5 ต่อประชากรแสนคน และปี 2565 มีอัตราป่วย 59 ต่อประชากรแสนคน นั่นแสดงให้เห็นว่าสถานการณ์ค่อนข้างน่ากังวล เพราะมีอัตราเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี
...
วัยรุ่นไทยไม่ชอบใส่ถุงยาง :
สาเหตุหลักของการติดเชื้อเอชไอวี และโรคทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ คือ การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย!
ผอ.กองโรคเอดส์ฯ กล่าวว่า "กรมควบคุมโรคมีการเฝ้าระวังทุกปี เบื้องต้นคือการทำแบบสอบถามถึงการมีเพศสัมพันธ์ และจะสอบถามว่า 'ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งหรือไม่ ครั้งสุดท้ายที่คุณมีเพศสัมพันธ์ ได้ใช้ถุงยางไหม' คำตอบการใช้ครั้งสุดท้าย จะอยู่ที่ 70-80% ซึ่งไม่ใช่ 100% ทั้งที่ควรจะ 100% แสดงว่าอีก 20-30% นั้น ก็น่าเป็นห่วง เพราะโอกาสพลาดมีอยู่แล้ว แต่นี่เป็นเพียงการสอบถาม ข้อมูลอาจจะคาดเคลื่อนก็ได้ ถ้าเยาวชนไม่ได้เปิดเผยความจริงทั้งหมด"
พญ.ชีวนันท์ ตั้งข้อสงสัยว่า "เราไม่เข้าใจว่าทำไมเยาวชน หรือหลายๆ คนไม่ชอบใช้ถุงยางอนามัย ทั้งที่เป็นวิธีที่สามารถป้องกันได้แทบจะดีที่สุด บางคนอาจจะอ้างว่า กิน PrEP แล้ว ไม่ต้องใส่ถุงยางอนามัยก็ได้ นั่นเป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง ไม่ว่าจะกินมานานแค่ไหนก็ควรใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง และการกิน PrEP ก็ต้องมีวินัย ไม่ควรกินๆ หยุดๆ นอกจากนั้นยังควรตรวจหาโรคทางเพศสัมพันธ์ทุกๆ 6 เดือน"
...
สำหรับสาเหตุที่คาดว่าน่าจะทำให้วัยรุ่น และคนไทยไม่นิยมใช้ถุงยางอนามัยกัน เช่น 'ชะล่าใจ' คิดว่าครั้งเดียวไม่น่าเป็นอะไร ทั้งที่ความจริงแล้วการมีสัมพันธ์นั้นเสี่ยงทุกครั้ง หรือบางคนอาจจะ 'อาย' ไม่กล้าซื้อถุงยาง เวลาจะไปซื้อก็กลัวถูกสายตาคนอื่นจับจ้อง แต่ถ้าเป็นในข้อนี้จริงๆ ก็แนะนำให้สั่งทางออนไลน์ เพื่อลดอาการเขิน หรือบางคนอาจจะรู้สึกว่า 'ใส่ถุงยางแล้วไม่แนบแน่น ไม่ฟิน' ทาง ผอ.เองก็ไม่อยากให้คิดเช่นนั้น เพราะปัจจุบันถุงยางอนามัยก็มีหลากหลายรูปแบบให้เลือกใช้
ดังนั้น ทุกคน ทุกวัย หากจะมีอะไรก็ควร SAFE SEX!
ความแตกต่างของ 'HIV' และ 'เอดส์' :
'HIV' คือ ไวรัสที่ทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำลง ส่วน 'เอดส์' คือ ภาวะที่ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำ สำหรับการติดเชื้อเอชไอวี จะแบ่งออกเป็นทั้งหมด 3 ระยะ คือ ระยะติดเชื้อ ระยะสงบ และระยะเอดส์
พญ.ชีวนันท์ ให้ข้อมูลว่า HIV คือไวรัสชนิดหนึ่ง สามารถติดต่อผ่านทางเลือดและสารคัดหลั่ง เช่น การมีเพศสัมพันธ์ การใช้เข็มยาร่วมกัน หรือติดจากแม่สู่ลูก เป็นต้น เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้ว มันมีเป้าหมายบุกทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาว CD4+ ซึ่งเป็นเซลล์ที่มีความสำคัญต่อการสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย เอชไอวีจะค่อยๆ ทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาว จนในที่สุดภูมิคุ้มกันและภูมิต้านทานของร่างกายจะต่ำลงมาก ทำให้ร่างกายติดเชื้อได้ง่ายกว่าปกติ
ใน 'ระยะติดเชื้อ' เอชไอวีจะแสดงอาการคล้ายไข้หวัดทั่วไป จนแทบจะไม่รู้ตัวเลยว่าร่างกายได้รับเชื้อเข้าไปแล้ว หลังจากนั้น จะเริ่มเข้าสู่ 'ระยะสงบ' ที่ไม่แสดงอาการใดๆ แต่เชื้อไวรัสด้านในจะค่อยๆ ทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาว จนร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำ หากไม่ได้รับยาหรือทำการรักษา ระยะนี้จะใช้เวลาประมาณ 7-10 ปี ก่อนเข้าสู่ 'ระยะเอดส์'
เมื่อเข้าสู่ 'ระยะเอดส์' ภูมิคุ้มกันของร่างกายจะบกพร่องอย่างรุนแรง ร่างกายไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อจากโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ได้ มักเกิดการติดเชื้อที่รุนแรงมาก และโอกาสเสียชีวิตสูง ร่างกายอ่อนไหวต่อการติดเชื้อที่เรียกว่า 'เชื้อฉวยโอกาส' เพราะเป็นเชื้อที่คนปกติสามารถต้านทานได้ แต่คนที่เป็นเอดส์ภูมิคุ้มกันบกพร่องมาก ทำให้ไม่สามารถต้านทานได้ เช่น วัณโรค หรือเชื้อราต่างๆ
กินยาตลอดชีวิต! :
เมื่อเชื้อเอสไอวีเข้าสู่ร่างกายแล้ว ก็จะคงอยู่ในนั้นตลอดไป ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ มีเพียงการกินยาต้านไวรัส เพื่อให้ร่างกายยังมีภูมิคุ้มกัน ไม่รุนแรงจนพัฒนาไปสู่การเป็นเอดส์ และการกินยาต้องกินไปตลอดชีวิต...
หากตรวจพบเชื้อเอชไอวี แพทย์จะให้ยาต้านไว้กิน ซึ่งการกินยานั้นต้องกินทุกวัน แม้ว่าจะไม่ช่วยให้หายขาด แต่ภูมิคุ้มกันจะกลับมาเป็นปกติ และยังต้องดูแลตัวเองสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น แม้จะรู้ว่าเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี และกินยาต้านไวรัสอยู่แล้ว พญ.ชีวนันท์ ก็ยังเน้นย้ำว่า ถ้าจะต้องมีเพศสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ก็ยังควรใช้ 'ถุงยางอนามัย'
"ใน 2 ระยะแรก แพทย์จะเริ่มให้ผู้ป่วยกินยาต้านไวรัสอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดปริมาณไวรัสให้ต่ำที่สุด เพื่อทำให้เชื้อเอชไอวีส่งผลต่อเม็ดเลือดขาว และภูมิต้านทานน้อยที่สุด หากได้รับยาและกินอย่างสม่ำเสมอ ก็จะสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ก็ต้องระมัดระวังไม่ให้ตนเองแพร่เชื้อเพิ่ม แต่หากผู้ติดเชื้อได้รับการวินิจฉัยช้า และกินยาไม่สม่ำเสมอ จนร่างกายเข้าสู่ระยะเอดส์ จะต้องต้องทำการรักษาโรคแทรกซ้อนเป็นหลัก และกินยาต้านไวรัสไปด้วย แต่ร่างกายระยะนี้จะอ่อนแอมาก มีโอกาสเสียชีวิตสูง
และการกินยาต้านไวรัสยาต้องมีวินัยอย่างมาก ถ้ากินเวลาเที่ยง ก็ต้องเที่ยงตลอด และต้องกินยาต้านไปตลอดชีวิต ดังนั้น ถ้าติดตั้งแต่เป็นเยาวชน อาจจะยิ่งลำบาก โดยส่วนตัวเรากังวลว่า เยาวชนมีโอกาสสูงที่จะกินยาไม่เป็นเวลา"
การส่งเสริมเพื่อการป้องกัน :
ที่ผ่านมาทางหน่วยงานผู้เกี่ยวข้อง ต่างส่งเสริมเรื่องการป้องกัน และพยายามผลักดันให้การตรวจหาเชื้อเอชไอวี หรือการพกถุงยางให้เป็นเรื่องปกติ...
"การใส่ถุงยางอนามัย เป็นวิธีป้องกันที่ดีที่สุด เพราะการดูว่าใครมีเชื้อเอชไอวีนั้นค่อนข้างยาก ภายนอกผู้มีเชื้อจะเหมือนคนทั่วไปมาก ดังนั้น ต้องปลอดภัยไว้ก่อน และการใช้ถุงยางยังสามารถป้องกันโรคอื่นๆ ได้ด้วย นอกจากนั้น อาจจะกินยา PrEP เพื่อเสริมการป้องกันได้ อย่างไรก็ตาม ยา PrEP เพียงป้องกันการรับเชื้อเอชไอวี แต่ไม่สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ได้"
พญ.ชีวนันท์ ระบุว่า สำหรับคนไทยทุกคน ที่มีบัตรประจำตัวประชาชน สามารถตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีได้ฟรี ปีละ 2 ครั้ง ซึ่งสามารถตรวจหาการติดเชื้อและรู้ผลภายในวันเดียว ในทุกโรงพยาบาลที่ให้บริการภายใต้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
นอกจากนี้ยังมีอีกทางเลือกหนึ่ง คือ การตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีด้วยตนเอง หรือ HIV self-test ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 2 ชนิดด้วยกัน ได้แก่ ชุดตรวจจากการเจาะเลือดที่ปลายนิ้วมือ รู้ผลภายใน 1 นาที และชุดตรวจโดยใช้สารน้ำในช่องปาก รู้ผลภายใน 20 นาที
"การตรวจหาเชื้อด้วยตนเอง มีข้อดี คือ สะดวกและเป็นส่วนตัว การตรวจแบบนี้เหมาะกับผู้ที่ต้องการรู้ว่าตนเองติดเชื้อหรือไม่ แต่ไม่สะดวกเดินทางไปโรงพยาบาล สามารถหาซื้อชุดตรวจด้วยตนเองได้ที่ร้านขายยาทั่วไป ซึ่งหากผลการตรวจด้วยตนเองเป็นบวก ควรตรวจยืนยันผลที่โรงพยาบาลอีกครั้ง เพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษา
นอกจากนั้น หากใครต้องการ HIV self-test แบบฟรี ก็เข้าแอปพลิเคชัน 'เป๋าตัง' ในเมนูกระเป๋าสุขภาพ และรับชุดตรวจ ที่หน่วยบริการสุขภาพของรัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม หรือร้านขายยาที่ร่วมโครงการ
อีกวิธีหนึ่ง คือ ลงทะเบียนรับชุดตรวจที่เว็บไซต์ Stand by you ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่เราทำกับโรงพยาบาลศิริราช เยาวชนชอบใช้บริการเว็บนี้มาก เพราะส่งผ่านทางไปรษณีย์ให้ถึงหน้าบ้านเลย ดังนั้น ใครก็ตามที่มีพฤติกรรมเสี่ยงแม้แต่ครั้งเดียว เราอยากให้ตรวจเร็ว เพื่อจะได้รักษาเร็ว อย่าไปคิดว่า 'ไม่ติดหรอก' เพราะถ้ามีเชื้อจะได้แก้ไขอย่างทันท่วงที"
ไม่อยากให้ตีตราผู้มีเชื้อ :
พญ.ชีวนันท์ เน้นย้ำว่า อยากให้สังคมสร้างความเข้าใจใหม่ว่า ผู้มีเชื้อเอชไอวีไม่ใช่คนอันตรายใดๆ และเราเองก็สามารถอยู่ร่วมกับพวกเขาได้ กินข้าวร่วมกันได้ เรียนรวมกันได้ ทำงานร่วมกันได้ เพราะไม่ได้ติดจากน้ำลายหรือการสัมผัส แต่ติดผ่านทางเพศสัมพันธ์ สัมผัสเลือด หรือสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้มีเชื้อ
"ถ้าเราไม่ได้มีเพศสัมพันธ์กับผู้มีเชื้อ โอกาสติดก็แทบจะไม่มี หรือไม่มีเลย ดังนั้น ไม่อยากให้ทุกคนรังเกลียด หรือแสดงท่าทีที่ไม่ดี หรือตีตราผู้มีเชื้อ เพราะสุดท้ายแล้ว พวกเราก็เป็นมนุษย์ที่มีความรู้สึกเหมือนกัน"
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทความที่น่าสนใจ :