ฝุ่น PM 2.5 ภัยเงียบที่อยู่ใกล้ตัวเราทุกคน กลับมาอีกแล้ว หลังจากฝนตกน้อยลงกำลังเข้าสู่หน้าหนาว ทำให้ฝุ่นละอองขนาดเล็กสะสมในหลายพื้นที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีฝุ่น PM 2.5 ปกคลุมทั่วท้องฟ้าในตอนเช้า เนื่องจากอัตราการระบายอากาศต่ำ ตั้งแต่วันที่ 3-5 พ.ย. ตามการคาดการณ์ของกรมควบคุมมลพิษ
ส่วนปีนี้ฤดูหนาวมาช้า จากปกติจะอยู่ในช่วงกลางเดือน ต.ค. ไปจนถึงเดือน ก.พ.ในปีถัดไป หรือตั้งแต่ต้นเดือน พ.ย. ในบางปี เนื่องจากมวลอากาศเย็นที่แผ่ลงมาปกคลุมในขณะนี้ยังไม่แรง และมีฝนเล็กน้อย ทำให้อากาศเย็นลงไม่มาก ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากผลกระทบเอลนีโญ และเป็นภัยธรรมชาติหน้าหนาว ทำให้เกิดฝุ่น PM 2.5 รุนแรงมากขึ้น นั่นหมายความว่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก ยังคงวนเวียนให้คนสูดเข้าปอดโดยไม่รู้ตัว หากไม่ระมัดระวังป้องกันตัวเอง และหน้ากากอนามัยธรรมดาๆ ไม่สามารถป้องกันได้ ต้องเป็นหน้ากากอนามัย N95 เท่านั้น
ภัยจากฝุ่น PM 2.5 มีความรุนแรงมากขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2562 แต่กลับพบว่าการประกาศแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ ในการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง เมื่อเดือน ต.ค.ปี 2562 ไม่สามารถปฏิบัติได้จริง ทำให้ “ดร.สนธิ คชวัฒน์” ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ออกมาเคลื่อนไหวสะกิดรัฐบาล “เศรษฐา” ต้องเร่งออกมาตรการก่อนภัยของฝุ่น PM 2.5 จะสร้างหายนะต่อสุขภาพคนไทยมากกว่านี้ เพราะวันที่ 10 พ.ย.นี้ อุณหภูมิในประเทศจีนจะลดลง 10 องศาฯ เข้าสู่อากาศหนาว และความกดอากาศสูงจะแผ่เข้าไทยค่อนข้างมากประมาณกลางเดือน พ.ย. ทำให้เกิดภาวะผกผันของอุณหภูมิ หรือTemperature Inversion ซึ่งในเวลากลางคืนผิวโลกจะคายความร้อนขึ้นมา และเมื่อมวลอากาศเย็นเข้ามาปกคลุมจนท้องฟ้าโปร่ง ผิวโลกเย็นเร็วขึ้น ทำให้มลพิษทางอากาศที่สะสมลอยขึ้นไม่ได้ จะถูกขังเอาไว้คล้ายมีฝาชีมาครอบ ทำให้ฝุ่น PM 2.5 รุนแรงมาก
...
“ยิ่งมีเอลนีโญระดับปานกลางไปจนถึงค่อนข้างรุนแรงต่อเนื่องไปถึง 6 เดือน ทั้งแห้งแล้ง ฝนตกน้อย ไม่ค่อยมีความชื้นในอากาศ ทำให้ต้นไม้ในป่ามีการเสียดสีมากขึ้นจนเกิดไฟไหม้ได้ง่าย รวมทั้งเศษใบไม้แห้ง มีโอกาสเกิดไฟป่าตามธรรมชาติได้ง่ายขึ้น และเดือน พ.ย. เป็นช่วงเตรียมพื้นที่เพาะปลูกมีการเผาตอซังฟางข้าวในภาคเหนือและเพื่อนบ้านมากขึ้น คาดว่ากลางเดือน พ.ย. จนถึง ม.ค.ปีหน้า พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล จะได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 จากนั้นจะรุนแรงมากในภาคเหนือตอนบน 19 จังหวัด และภาคอีสานที่เผาป่าเผาไร่อ้อย”
นโยบายจัดการฝุ่น PM 2.5 ล้มเหลวไม่เป็นท่า ตั้งแต่ปี 62
อีกทั้งแหล่งกำเนิดฝุ่นไม่ได้มีการแก้ไข ตามแผนปฏิบัติการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ตามมติครม. 1 ต.ค. 2562 หรือบางอย่างไม่ได้ดำเนินการในการควบคุมมลพิษจากยานพาหนะ ซึ่งมีรถจดทะเบียนทั้งประเทศประมาณ 11.59 ล้านคัน โดย 3.76 ล้านคันเป็นรถใช้ดีเซล และ 2.9 ล้านคัน ส่วนใหญ่ใช้มาตรฐานยูโร 3 และยูโร 4 ทำให้เกิดการเผาไหม้ของกำมะถันในอากาศ 100 PPM (หนึ่งส่วนในล้านส่วน) เป็นหนึ่งในสารก่อให้เกิดฝุ่น PM 2.5 และ 1 ม.ค. 2567 จะบังคับใช้ยูโร 5
แต่เกิดคำถามว่าโรงกลั่นจะกลั่นได้ทันหรือไม่ และเฉพาะในกรุงเทพฯ ก็มีแหล่งกำเนิดฝุ่น PM 2.5 มาจากรถยนต์มากถึง 60% นอกจากนั้นยังมีจากการเผาในที่โล่ง มาจากฝุ่นในโรงงานอุตสาหกรรม และฝุ่นจากจังหวัดต่างๆ พัดเข้ามา ส่วนแผนระยะยาวจะให้รถในส่วนราชการใช้รถไฟฟ้าทั้งหมด แต่ขณะนี้ยังไม่มีการจัดซื้อ รวมถึงการจำกัดรถยนต์เข้าเมือง ก็ยังไม่มีความคืบหน้า ขณะที่ผังเมืองในการเพิ่มพื้นที่สีเขียว 9 ตารางเมตรต่อคนภายในปี 2564 ก็ไม่สามารถทำได้ และการบังคับใช้กฎหมายห้ามทิ้งกรวดดินทรายเศษวัสดุก่อสร้าง ก็มีการปล่อยปละละเลย ซึ่งสิ่งสำคัญในเดือนต.ค. ก่อนฝุ่นจะมาจะต้องตรวจจับรถควันดำ ตรวจไซต์ก่อสร้าง และโรงงานอุตสาหกรรมทุกแห่ง เฉพาะกรุงเทพฯ มี 5 พันกว่าแห่ง ส่วนปริมณฑล มี 2 หมื่นกว่าแห่ง
“เฉพาะโรงงานใหญ่ในกรุงเทพฯ มี 260 แห่ง ต้องตรวจวัด แต่ทุกวันนี้มีโรงงานเพียง 4 แห่งที่มีปล่องระบายอากาศเอาควันดำออกมา รวมกันเพียง 15 ปล่องเท่านั้น ทั้งที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีคำสั่งให้ดำเนินการ ก็ไม่มีใครทำ ถือเป็นความล้มเหลวในเรื่องนโยบายจัดการฝุ่น PM 2.5 มาตั้งแต่ปี 2562 จนถึงขณะนี้ไม่มีเจ้าภาพที่แท้จริง ขณะที่กรมควบคุมมลพิษ ก็บอกว่าเป็นแค่ผู้ประสานงาน แต่ละหน่วยงานแค่ทำหน้าที่เท่าที่ทำได้ ถ้าเกิดวิกฤติก็ออกมาจับควันดำ และ พ.ร.บ.ห้ามเผา ก็ทำไม่ได้ ยิ่งช่วงนี้เป็นฤดูเผา ก็ทำไม่ได้ จากความหละหลวมในการสั่งการจากบนลงล่าง แต่โดยหลักการควรกระจายงบให้อำนาจท้องถิ่นดูแล เพราะใกล้ชิดประชาชน หรือมีการปิดป่า 3 เดือน ก็มีชาวบ้านแอบเผาป่า เพื่อเก็บของป่า”
...
ภัยฝุ่น PM 2.5 สุดท้ายประชาชนคงต้องช่วยตัวเอง
สิ่งสำคัญมีฝุ่น PM 2.5 ข้ามแดนมาจากประเทศเพื่อนบ้านทุกปี โดยเฉพาะเมียนมา ตั้งแต่เดือน ม.ค.ปีที่แล้ว มีจุดความร้อนอันดับหนึ่งบริเวณแนวชายแดน รองลงมา สปป.ลาว และกัมพูชา ซึ่งคาดว่าปีนี้ยังคงมีอีก ขณะที่รัฐบาลก็บอกให้ระวังเอลนีโญ มีแต่แผนการสื่อสาร บอกถึงค่าฝุ่น และลดการเผาในป่าอนุรักษ์ แต่เอาเข้าจริงๆ ก็ไม่มีแผนอะไรแน่นอน จนประชาชนต้องช่วยตัวเอง ส่วนผู้สูงอายุต้องห้ามออกจากบ้าน และนักเรียนก็ให้เรียนออนไลน์ ยังไม่รวมคำถามคาใจของประชาชนในภาคเหนือ เมื่อเกิดวิกฤติฝุ่นรุนแรงแต่ไม่สามารถประกาศพื้นที่ภัยพิบัติได้ เพราะไม่มีตัวเลขค่าความเข้มข้นของฝุ่นในการประกาศ อีกทั้งการประกาศพื้นที่ภัยพิบัติจะกระทบการท่องเที่ยว จนขณะนี้ทุกอย่างสับสนไปหมด
สุดท้ายประชาชนต้องช่วยตัวเอง อย่าเดินริมถนน เพราะมีฝุ่นละอองขนาดเล็กมากตั้งแต่ 0.1-1 ไมครอน เป็นอนุภาคที่อันตรายที่สุด ทำให้เกิดโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง เมื่อหายใจเข้าไปฝุ่นขนาดเล็กจะแทรกซึมเข้าสู่ปอด และอาจทะลุปอดไปถึงสมองได้ และทำให้เกิดโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หรือเวลานอนควรมีเครื่องฟอกอากาศสามารถฟอกฝุ่น PM 2.5 หากภาครัฐมีข้อจำกัดในการออกมาตรการ แม้กระทั่ง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ยังไม่มี เพราะ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฯ รวมเรื่องอากาศไปแล้ว แต่ควรออกกฎกระทรวงเรื่องอากาศสะอาด โดยนายกรัฐมนตรีสามารถใช้มาตรา 9 ตาม พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฯ เพื่อจัดการปัญหา เพราะไม่เช่นนั้นจะเกิดหายนะตามมา โดยเฉพาะสุขภาพของประชาชน.
...