ค้นหา "คำตอบ" เหตุใดคนไทยจึงตกเป็นเป้าหมาย การตรวจสอบการเข้าเมืองอย่างเข้มข้นของประเทศเกาหลีใต้ในห้วงระยะนี้...

เพราะอะไร? จึงเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงลบต่อประเด็นการเดินทางเข้าประเทศเกาหลีใต้ ของคนไทยในห้วงระยะนี้ มีข้อมูลอะไรที่พอจะบ่งชี้ถึง “เหตุผล” ที่น่าจะพอเป็น “คำตอบ” ในเรื่องนี้ได้บ้าง วันนี้ “เรา” ลองไปร่วมกัน “พิจารณา” จากข้อมูลที่ “ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์” ได้รวบรวมมากันดู...

มาตรการสกัดกั้นการลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายของเกาหลีใต้ :

นายฮัน ดง ฮุน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมของเกาหลีใต้ ได้ประกาศเดินหน้า “จัดการปัญหาลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย” อย่างเข้มงวด ตั้งแต่เมื่อช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา และเบื้องต้นมาตรการดังกล่าวจะดำเนินต่อไปจนถึงวันที่ 9 ธ.ค. 2023 เป็นอย่างน้อย เพราะเป้าหมายของเกาหลีใต้อยู่ที่การ “ควบคุม” จำนวนผู้ลักลอบเข้าเมืองเพื่อมาทำงานอย่างผิดกฎหมายในประเทศให้เหลือเพียง "ไม่เกิน 200,000 คน ภายในปี 2027" 

...

อันเป็นผลมาจากหลังสิ้นสุดการแพร่ระบาดโควิด-19 เป็นต้นมา จำนวนผู้ลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายในเกาหลีใต้ ได้เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ หลัง ตัวเลขดังกล่าวเคยลดลงอย่างมากในช่วงการปิดประเทศก่อนหน้านี้ 

ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวจะถูก “บังคับใช้อย่างจริงจัง” กับชาวต่างชาติที่ทำงานในธุรกิจบันเทิง หรือผู้ที่มีประวัติอาชญากรรมเป็นหลัก รวมถึงบริษัทที่มีความเกี่ยวข้องกับการว่าจ้างชาวต่างชาติที่ลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย และสำหรับผู้ที่กระทำความผิดนั้น นอกจากจะต้องถูกเนรเทศและถูกห้ามเข้าประเทศแล้ว ยังต้องจ่ายค่าปรับตามกฎหมายของเกาหลีใต้ด้วย (ค่าปรับสูงสุด 310 ล้านวอน หรือ ประมาณ 8,277,229 บาท) 

อย่างไรก็ดีสำหรับผู้ลักลอบเข้ามาทำงานอย่างผิดกฎหมายที่ “แสดงความต้องการ” เดินทางออกนอกประเทศเกาหลีใต้อย่างสมัครใจ จะยังคงได้รับการ “ยกเว้นค่าปรับ” และได้รับอนุญาตให้เดินทางกลับประเทศได้  

เหตุใด คนไทย จึงตกเป็นเป้าหมาย : 

สถิติพลเมืองของประเทศที่ลักลอบเข้าประเทศเกาหลีใต้อย่างผิดกฎหมาย ย้อนหลัง 5 ปีหลังสุด ระหว่างปี 2018-2022 จากรายงานของ “กระทรวงยุติธรรมเกาหลีใต้” 

อันดับที่ 1. ชาวไทย 

2018 : 138,591 คน 

2019 : 152,439 คน 

2020 : 151,468 คน

2021 : 142,677 คน 

2022 : 147,482 คน

อันดับที่ 2. ชาวจีน 

2018 : 71,070 คน 2019 : 70,536 คน 2020 : 63,549 คน 2021 : 63,113 คน 

2022 : 63,463 คน 

อันดับที่ 3. ชาวเวียดนาม 

2018 : 42,056 คน 2019 : 58,686 คน 2020 : 66,046 คน 2021 : 70,411 คน 

2022 : 78,235 คน 

อันดับที่ 4. ชาวมองโกเลีย 

2018 : 15,919 คน 2019 : 17,510 คน 2020 : 17,006 คน 2021 : 15,969 คน 

2022 : 15,359 คน 

อันดับที่ 5. ชาวฟิลิปปินส์ 

2018 : 13,020 คน 2019 : 13,095 คน 2020 : 13,291 คน 2021 : 13,613 คน

...

2022 : 14,041 คน

สัดส่วนพลเมืองของประเทศที่ลักลอบเข้าประเทศเกาหลีใต้อย่างผิดกฎหมาย ปี 2022 

ไทย : 35.9%, จีน : 15.4%, เวียดนาม : 19%, มองโกเลีย : 3.7%, ฟิลิปปินส์ : 3.4%

อื่นๆ : 22.6%

และล่าสุด สถิติการปราบปรามผู้ลักลอบเข้าเมืองเพื่อเข้ามาทำงานอย่างผิดกฎหมายในช่วงครึ่งปีแรก ปี 2023 จากรายงานของกระทรวงยุติธรรมเกาหลีใต้ : 

จับกุมผู้ลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายได้ 20,427 คน, จับกุมนายจ้างที่ทำผิดกฎหมายได้ 4,658 คน, ผลักดันผู้ลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายที่ต้องการเดินทางกลับประเทศโดยสมัครใจได้ 18,157 คน

โดยพลเมืองของประเทศที่ถูกจับกุมในข้อหาลักลอบเข้าเมืองเพื่อเข้ามาทำงานอย่างผิดกฎหมายมากที่สุด ในช่วงครึ่งปีแรก 2023 : 

ลำดับที่ 1 ชาวไทย 8,645 คน (42.32%) อันดับที่ 2 ชาวเวียดนาม 3,923 คน (19.20%) อันดับที่ 3 ชาวจีน 2,597 คน (12.71%) อันดับที่ 4 ชาวมองโกเลีย 826 คน (4%) อันดับที่ 5 ชาวคาซัคสถาน 678 คน (3.32%)

...

การแพร่ระบาดของยาเสพติดในประเทศเกาหลีใต้ : 

อ้างอิงรายงานของ “กรมศุลกากรเกาหลีใต้” (Korea Customs Servive) หรือ KCS ระบุว่า ปริมาณการลักลอบขนยาเสพติดเข้าประเทศ สิ้นสุดเดือนกันยายน ปี 2023 เพิ่มสูงขึ้นถึง 30% เมื่อเปรียบเทียบแบบปีต่อปี 

โดยกรมศุลกากรเกาหลีใต้ รายงานว่า ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.ย. ปีนี้ สามารถสกัดกั้นและยึดยาเสพติดได้ปริมาณรวมกันถึง 493 กิโลกรัม! ท่ามกลางปริมาณความต้องการ และราคาที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยวิธีการลักลอบขนยาเสพติดที่ถูกสกัดกั้นได้มากที่สุด คือ International mail คิดเป็น 49.3% (243 กิโลกรัม) ลำดับถัดมาคือ Express Cargo คิดเป็น 27.59% (136 กิโลกรัม) และ ผู้โดยสารเครื่องบิน 20.69% (102 กิโลกรัม)

โดย “ประเทศต้นทาง” ของยาเสพติดที่ทะลักเข้าสู่เกาหลีใต้ อันดับที่ 1. คือ ประเทศไทย คิดเป็น 24.9% (123 กิโลกรัม) อันดับที่ 2 สหรัฐฯ คิดเป็น 23.53% อันดับที่ 3 คือ ประเทศลาว คิดเป็น 9.53% และอันดับที่ 4 คือ ประเทศเวียดนาม คิดเป็น 7.1%

...

เหตุใด คนไทย จึงอยากไปทำงานที่ประเทศเกาหลีใต้ : 

สถิติแรงงานไทยที่เข้าไปทำงานอย่างถูกกฎหมายในประเทศเกาหลีใต้ (สิ้นสุด วันที่ 26 ก.ย. 2566) โดยอ้างอิงข้อมูลจาก “กระทรวงแรงงานไทย” : 

รวม : 18,962 คน : ชาย 15,750 คน หญิง 3,212 คน 

พื้นที่ที่มีแรงงานไทยเข้าไปทำงานในประเทศเกาหลีใต้มากที่สุด คือ 1. จังหวัดคยองกี (Gyeonggi) รวม 1,279 คน , 2. จังหวัดชุงชอง (Chungcheong) รวม 269 คน, 3. จังหวัดคยองซัง (Gyeongsang) รวม 195 คน 

ภูมิลำเนาของแรงงานไทย ที่เข้าไปทำงานในประเทศเกาหลีใต้มากที่สุด : 

1. จังหวัดอุดรธานี 2,909 คน

2. จังหวัดเชียงราย 1,850 คน

3. จังหวัดนครราชสีมา 1,517 คน

4. จังหวัดหนองบัวลำภู 963 คน

5. จังหวัดขอนแก่น 946 คน

อาชีพที่แรงงานไทยถูกกฎหมายเข้าไปทำงานในประเทศเกาหลีใต้มากที่สุด : 

1. คนงานอุตสาหกรรมทั่วไป 9,028 คน

2. คนงานภาคการเกษตร 2,481 คน

3. ผู้ปฏิบัติงานก่อสร้างอื่นๆ 1,490 คน

อัตราค่าจ้างตามระบบการจ้างแรงงานต่างชาติ (Employment Permit System for Foreigners หรือ EPS) : 

เงินเดือน : 2,010,580 วอน (53,621 บาท เริ่มใช้ปี 2566) 

ชั่วโมงการทำงาน : สัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง 

*** หมายเหตุ อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 30 ต.ค. 66 *** 

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง