ค่าฝุ่น PM 2.5 กรุงเทพฯ เชียงใหม่ มีแนวโน้มสูงขึ้นช่วงปลายปี ส่วนหนึ่งเกิดจากเอลนีโญ ทำให้ฝุ่น PM 2.5 มีขนาดเล็กลง ขณะเดียวกันปัจจัยการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้ฝุ่นทวีความรุนแรงกว่าปีก่อน โดยเชียงใหม่ยังได้รับความเสี่ยงจากฝุ่นที่พัดมาจากประเทศเพื่อนบ้าน คาดเริ่มรุนแรงเดือน ธ.ค.นี้

ค่าฝุ่น PM 2.5 กรุงเทพฯ และปริมณฑลเริ่มสูงขึ้น กระทบต่อการใช้ชีวิต ศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล รองคณบดี ด้านยุทธศาสตร์นวัตกรรมและความยั่งยืน และอาจารย์ประจำภาควิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวกับทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ ว่า แนวโน้มค่าฝุ่น PM 2.5 รุนแรง ไม่ลดลงกว่าปีที่ผ่านมา ปัจจัยลบเกิดจากสถานการณ์เอลนีโญ ทำให้อากาศแห้งแล้งกว่าทุกปี มีผลให้เกิดฝุ่นจำนวนมาก

ปัจจัยบวกที่ทำให้ฝุ่น PM 2.5 ลดลง เนื่องมาจากสถานการณ์เอลนีโญ ทำให้กระแสลมจากประเทศเพื่อนบ้าน ที่เดิมพัดพาฝุ่นจากการเผาทางการเกษตร พัดออกไปสู่ทะเลตะวันออกมากขึ้นในบางพื้นที่

ต้นกำเนิดฝุ่นน่าห่วง คือ ฝุ่นที่เกิดจากการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสูง เนื่องจากปีที่ผ่านมามีการทำงานที่บ้านจำนวนมา เพราะสถานการณ์โควิด แต่ยังมีปริมาณฝุ่นที่สูง เมื่อคนเริ่มกลับมาทำงาน ปริมาณฝุ่นในส่วนนี้มีเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการขนส่ง และเดินทางที่มีการเผาไหม้ของรถ แม้ตอนนี้มีรถไฟฟ้าเข้ามาทำให้ฝุ่นลดลง

...

อีกปัจจัยทำให้ฝุ่น PM2.5 เพิ่มขึ้นในปีนี้ เกิดจากความต้องการด้านอุตสาหกรรมอาหารที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกษตรกรมีการเผาวัชพืชเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะฝุ่นที่พัดมากับลมจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีการเผา อาจมีความรุนแรงมากขึ้นในบางพื้นที่ทางภาคเหนือของไทย

“หากมองปัจจัยในการเกิดฝุ่น ถ้าเป็นต้นเหตุมาจากสภาพแวดล้อม ไม่เบาบางลงกว่าปีก่อน แต่ถ้าเป็นผลมาจากการกระทำของมนุษย์ มีแนวโน้มทำให้ฝุ่นเพิ่มขึ้น จนเป็นผลกระทบต่อสุขภาพของคนที่อยู่ในเมืองใหญ่”

จากข้อมูลผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 มีความรุนแรงตั้งแต่ช่วงต้นเดือน ธ.ค. ไปจนถึงต้นปีใหม่ และเริ่มทวีความรุนแรงอีกระลอกช่วงเดือน ก.พ.-เม.ย. ส่วนขนาดของฝุ่น ยังมีความกังวลว่าจะมีขนาดเล็กลง เนื่องจากสภาพอากาศที่มีความร้อนมากขึ้น มีผลทำให้ขนาดของฝุ่นเล็กลง จนส่งผลกระทบต่อสุขภาพมนุษย์

ด้านพื้นที่เสี่ยงที่จะมีผลจากฝุ่น PM 2.5 คือ 1. กรุงเทพฯ ปริมณฑล มีผลกระทบจากฝุ่นที่เกิดจากการใช้ชีวิตของมนุษย์ 2. ภาคเหนือตอนบน เช่น เชียงใหม่ พะเยา แม่ฮ่องสอน เชียงราย จะมีผลได้รับปัญหาจากมลพิษฝุ่นควันที่ลอยข้ามแดนจากฝั่งเมียนมา 3. อีสานตอนบน เป็นอีกพื้นเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง ด้วยกระแสลมจากภาวะเอลนีโญ ที่จะทำให้พื้นที่บริเวณนี้ได้รับผลกระทบมากกว่าปีก่อน

ด้านประชาชนต้องมีการเตรียมความพร้อมป้องกันผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 ด้วยการสวมใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งที่เริ่มเกิดผลกระทบ ขณะเดียวกัน ภาคประชาชนต้องมีการบอกไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือบริษัทที่ทำอุตสาหกรรมด้านการเกษตร การลดการเผาไหม้ที่ทำให้เกิดฝุ่น ในทุกกระบวนการทำงาน 

อีกประเด็นในการป้องกัน ควรใช้เทคโนโลยีในการวัดค่าฝุ่นในพื้นที่ เพื่อให้เกิดการป้องกัน เพราะยุคนี้มีการสร้างแอปพลิเคชันวัดค่าฝุ่น เช่น Sensor for All ที่ช่วยทำให้ผู้ที่มีอาการแพ้ฝุ่น ได้ป้องกันตัวเองก่อนออกจากบ้าน.