เลือดข้นกว่าน้ำคำนี้ยังใช้ได้ กับการตัดสินใจของทักษิณ ชินวัตร ผู้เป็นพ่อในการส่งต่อดีเอ็นเอให้ ”อิ๊งค์” แพทองธาร ลูกสาวคนเล็ก วัย 37 ปี ขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยคนใหม่ ประกาศจะทำให้พรรคพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง ให้กลับมาเป็นพรรคอันดับหนึ่งในหัวใจประชาชน และตายังคงดูดาว เท้ายังคงติดดิน ยืนหยัดอยู่ข้างประชาชนอย่างเข้มแข็ง มั่นคง
การนั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรคเพื่อไทยของแพทองธาร น่าจะมีนัยสำคัญอะไรบางอย่างต่อการเมืองไทย นับจากนี้ หรือจะเป็นการปูทางขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 และเป็นนายกฯ หญิงคนที่สอง เจริญรอยตาม ”อาปู” ยิ่งลักษณ์ นายกฯ หญิงคนแรกของไทย ให้เป็นเกียรติประวัติให้กับตระกูลชินวัตรอีกครั้ง จากพ่อ ผู้เคยประสบความสำเร็จในการเป็นนายกฯ มาสู่อาสาวน้องของพ่อ และส่งต่อมายังลูกสาว
ถอดรหัส ”อิ๊งค์” นั่งแม่ทัพเพื่อไทย ไปไกลถึงนายกฯ
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ”รศ.ดร.นันทนา นันทวโรภาส” คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก ได้ถอดรหัสการขึ้นสู่ตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทยของ ”อิ๊งค์” แพทองธาร มี 2 นัย 1.กระชับอำนาจของคนตระกูลชินวัตรให้ชัดเจน หลังการเปลี่ยนผ่านหัวหน้าพรรคเพื่อไทยที่เป็นคนอื่นมาก่อน และในที่สุดกระชับอำนาจมาเป็นของตระกูลชินวัตร 2.เป็นการบอกแบบเป็นนัยๆ ว่าจะขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี เหมือนเศรษฐา ทวีสิน ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นการคั่นเวลาเท่านั้น
...
“การพูดตายังคงดูดาว เท้ายังคงติดดินของอิ๊งค์ พูดเหมือนกับพ่อ เพราะด้วยวัยของอิ๊งค์ยังไม่มีผลงานใดที่ทำให้คนเชื่อถือ นอกจากการประกาศเป็นดีเอ็นเอของทักษิณ เมื่อคนเชื่อทักษิณก็ต้องเชื่ออิ๊งค์ ด้วยการประกาศเป็นเงาของทักษิณ หากไม่ทำเช่นนั้นก็ไม่สามารถหามวลชนมาสนับสนุนได้ เหมือนทักษิณคิดอิ๊งค์ทำ ทำให้เพื่อไทยต้องวางอิ๊งค์เป็นหัวหน้าพรรคตามสิ่งที่ทักษิณต้องการ”
ขณะเดียวกันก็เป็นยุทธศาสตร์ช่วงชิงมวลชนคนรุ่นใหม่จากพรรคก้าวไกล เชื่อว่าคนเลือกพรรคก้าวไกล ก็เพราะคนในพรรคก้าวไกลอายุน้อย จึงให้อิ๊งค์ขึ้นมาเป็นหัวหน้า ก็สามารถวางตำแหน่งของตัวเองให้ใกล้กับพรรคก้าวไกล ในการเป็นคนรุ่นใหม่ และจากนี้ไปพรรคเพื่อไทยจะมีแนวทางของหัวหน้าพรรคที่เป็นคนรุ่นใหม่ จะมาช่วงชิงตำแหน่งพรรคอันดับ 1 ของพรรคเพื่อไทย
เศรษฐา นายกฯ คั่นเวลา จับตาการเปลี่ยนแปลงกลางปีหน้า
เมื่อวางยุทธศาสตร์ให้อิ๊งค์เป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และในการจะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งคิดว่าไม่ไกล เพราะการผลักดันให้เป็นหัวหน้าพรรค ก็คือตัวจริงเสียงจริง ส่วนเศรษฐา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นการคั่นเวลา เป็นข้าวนอกนา ไม่ได้เป็นคนของพรรคในการเข้ามาเพื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ใครๆ ก็รู้ว่าอำนาจที่แท้จริงไม่ได้สนับสนุนอำนาจของเศรษฐา
แม้แต่จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง จากพรรคเพื่อไทย ยังคุยคนละภาษากับเศรษฐา จนดูเหมือนเศรษฐาไม่ได้เป็นคนในพรรคเพื่อไทย และเศรษฐาไม่ตอบกะทู้ของพรรคก้าวไกลในสภา แต่พบว่าหัวหน้าพรรคประชาชาติ ไปตอบแทน ทั้งที่อยู่คนละพรรค ทำให้ได้เห็นว่าด้วยอำนาจจริงๆ แล้ว ไม่ได้อยู่ในมือเศรษฐา เพราะฉะนั้นโอกาสจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในวาระนี้ช่วงเทอม 4 ปี มีความเป็นไปได้สูง
“เพราะเศรษฐา เริ่มพลาดหลายๆ เรื่อง และจะกดดันให้ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ ในปีหน้า หลังพ้นเดือนพ.ค. 2567 เมื่อสว.หมดวาระ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงใช้การโหวตเสียงข้างมากเลือกนายกฯ ตรงนี้มีโอกาสที่อิ๊งค์ จะได้เป็นนายกฯ ในช่วงเทอมที่เหลือ แต่ยังเป็นเงาของทักษิณ จากการสื่อสารอยู่ภายใต้อำนาจทักษิณอย่างแน่นอน ไม่มีความคิดเปลี่ยนไปจากทักษิณ ยังคงใช้ดีเอ็นเอของทักษิณในการบริหารจัดการเพื่อไทย”
เหตุผลอันที่ 1 จะไม่มีแรงกระเพื่อมแน่นอน เพราะเป็นลูกเจ้าของพรรคตัวจริง ขณะเดียวกันฐานมวลชนทั้งสิ้นของพรรคเพื่อไทยก็สนับสนุนทักษิณ เป็นการเปิดทางสะดวกให้อิ๊งค์ อีกอย่างการที่ทักษิณให้อิ๊งค์ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค ก็คงมีดีลอะไรไว้ จนมั่นใจว่าจะไม่มีการยุบพรรคเพื่อไทยแน่นอน เพราะโทษของการยุบพรรคจะยาวนาน จะทำให้อิ๊งค์ต้องหยุดเล่นการเมือง 10 ปีเป็นต้นไป ซึ่งค่อนข้างแรง แต่เมื่อทักษิณสนับสนุนอิ๊งค์ ก็แปลว่ามีความมั่นใจในระดับสูงมาก ทำให้ไม่กลัว
...
ส่วนการที่ทักษิณได้อภิสิทธิ์เหนือนักโทษคนอื่น ก็มีคนสนับสนุนทักษิณออกมาสนับสนุน ขณะที่อีกฝ่ายมองว่าความยุติธรรมมีอยู่จริงหรือไม่ และการได้อภิสิทธิ์ของทักษิณ ก็ไม่ควรแตกต่างจากผู้อื่น ซึ่งการจะบอกว่าไม่สะเทือนเลยนั้นไม่จริง จากเดิมผลโพลต่างออกมาสนับสนุนอิ๊งค์เป็นนายกฯ แต่ถ้ามีโพลใหม่ออกมาอาจได้ตัวเลขที่แตกต่าง จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่เลือกตั้งมาจนถึงหลังเลือกตั้ง และปรากฏการณ์ที่พบไม่มีใครอยู่บนพื้นฐานที่ตรงไปตรงมา ทำให้เชื่อว่ามีดีลลับจริงๆ และสะเทือนภาพลักษณ์ตระกูลชินวัตร เพราะถูกมองด้วยสายตาไม่เป็นบวกเท่าไรในเรื่องกฎกติกาของกฎหมาย
บุคลิกอิ๊งค์ สอบผ่าน แต่เสี่ยนิด คิดได้ไงไปจูบมือเขา
เมื่อมาดูด้านบุคลิกของอิ๊งค์ ไม่มีปัญหาอะไรเวลาปรากฏตัวสื่อสารในที่สาธารณะ มีข้อมูลที่สื่อสารได้ดี มีความมั่นอกมั่นใจสื่อสารด้วยลีลาธรรมชาติ ทุกอย่างถูกเตรียมการเป็นภาพของผู้นำที่ดูดีมีสง่า ถือว่าสอบผ่าน แต่ตรงข้ามกับเศรษฐา จากภาพจูบมืออิ๊งค์เป็นการด้อยค่าตัวเอง เพราะไม่ใช่วัฒนธรรมไทย อีกอย่างเศรษฐาอาวุโสกว่า ถ้าจะยินดีโดยการตบไม้ตบมือ ในฐานะผู้ใหญ่ก็ทำได้
...
แต่การประคองมือแล้วโค้งตัวอย่างหนักไปจูบมือ เป็นการลดค่าตัวเอง ไม่ใช่ผู้นำประเทศที่อาวุโสสูงกว่าจะทำเหมือนสมัยโบราณในชาติตะวันตก มีธรรมเนียมจูบมือราชินี อย่างอังกฤษคนที่เป็นนายกฯ ในวันปฏิญาณตน ต้องจูบมือราชินี เป็นพิธีกรรมในการสถาปนาคนเป็นนายกฯ แต่ในยุคสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ไม่ว่าใครเป็นนายกฯ ไม่มีการจูบมือราชินี แต่ใช้วิธีจับมือ และค้อมศีรษะเล็กน้อย
“เขาเลิกไปแล้วไม่มีการก้มจูบมือ เศรษฐาคิดได้ยังไงทำอย่างนี้ในการด้อยค่าตัวเอง แต่ถ้าอิ๊งค์อายุ 60 หรือ 70 อันนั้นอธิบายได้ แต่อันนี้อธิบายไม่ได้เลย แสดงให้เห็นว่าเป็นลูกน้องจะเอาอกเอาใจเจ้านาย ทำท่านี้ไม่ได้เลย และต่างชาติก็ลงข่าวไปทั่วโลก นอกจากนายกฯ ของไทยพินอบพิเทากับผู้นำทั่วโลกแล้ว ยังทำในไทยกับอิ๊งค์ที่มีอาวุโสน้อยกว่า ไม่ควรทำอย่างแรง เป็นภาพแปลกประหลาด ช่างเป็นอะไรที่แหวกแนว ไม่สง่างามเลยหากใครๆ เห็นภาพนี้”.