สัปเหร่อ ผู้เชื่อมต่อโลกหลังความตายสู่เชิงตะกอน มีดหมอที่สืบทอดจากรุ่นครู กรีดลงบนด้ายสายสิญจน์มัดตราสัง ตัดขาดสายใยตามความเชื่อ ก่อนร่างไร้วิญญาณมอดไหม้เหลือเพียงเถ้ากระดูก บนเส้นทาง 30 ปี อาชีพสัปเหร่อ "สุเทพ แสงมณี" หัวหน้าสัปเหร่อ วัดหนามแดง จ.สมุทรปราการ เคยถูกรังเกียจ เพราะทำอาชีพนี้มาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน จนวันนี้กระแสหนังสัปเหร่อ ทำให้ผู้คนเข้าใจสิ่งที่ทำมาค่อนชีวิต แม้รายได้ไม่มากเท่าอาชีพอื่น แต่ความสุขคือความสบายใจของเจ้าภาพ

วัดหนามแดง จ.สมุทรปราการ "สุเทพ แสงมณี" อยู่ในชุมชนขนาดใหญ่ แต่ละวันมีศพฌาปนกิจไม่ต่ำกว่าวันละ 3-5 ร่าง ควันไฟพวยพุ่งออกจากปล่องเมรุ นำพาความเศร้าหมองให้ผู้พบเห็น แต่สำหรับเขาเป็นเสมือนจิตวิญญาณอาชีพ ซึ่งได้เล่าให้ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ ฟังว่า อาชีพสัปเหร่อ เป็นงานที่ไม่มีรายได้มั่นคง แต่ละเดือนมีงานไม่แน่นอน เฉลี่ยวัดมีงานศพเดือนละ 20-30 ศพ

รายได้สัปเหร่อจะได้จากค่าทำศพ มีค่าครูประมาณ 100-150 บาท เมื่อทำพิธีเสร็จสิ้น ขึ้นอยู่กับว่าเจ้าภาพมีน้ำใจใส่ซองให้สัปเหร่อเท่าไร บางรายไม่มีเงินให้ สัปเหร่อก็ไม่ได้เรียกร้อง ที่วัดถ้าเฉลี่ยแล้ว สัปเหร่อมีรายได้ประมาณเดือนละ 10,000 บาท ปัจจุบันเจ้าภาพจัดซื้อโลงและดอกไม้มาจากโรงพยาบาล”

...

หน้าที่สัปเหร่อ เมื่อผู้เสียชีวิตมาถึงวัด มีพิธีกรรมรดน้ำศพ นำร่างบรรจุในโลงก่อนตะวันตกดิน สิ่งสำคัญคือ การมัดตราสัง ต้องมีคาถาสะกดวิญญาณตามความเชื่อ แต่เจ้าภาพบางงานไม่อยากให้มัด สัปเหร่อต้องมัดสายสิญจน์ไว้ที่นิ้วโป้งผู้ตายแทน กรณีที่เป็นศพตายโหง สัปเหร่อจะแนะนำเจ้าภาพให้มัดตราสัง เพราะมีความเชื่อว่าวิญญาณจะแรง

เมื่อถึงวันฌาปนกิจ สัปเหร่อต้องเปิดโลง ตัดสายสิญจน์ที่มัดตราสังไว้ หากไม่ตัดเป็นเหมือนการขังวิญญาณไว้ ไม่ให้ไปสู่โลกใหม่หลังความตาย จากนั้นใช้มะพร้าวน้ำบริสุทธิ์ล้างหน้าศพ และนำเข้าเตาเผา

ค่าเชื้อเพลิงเผาร่างผู้ตาย ตกอยู่ที่ 4,000 บาท/ศพ แบ่งเป็นค่าน้ำมัน 2,000 บาท ที่เหลือเป็นค่าบำรุงเมรุ การเผาร่างทางวัดใช้น้ำมันโซลาร์ระบบหัวฉีด ใช้น้ำมันประมาณ 60 ลิตรต่อ 1 ร่าง การใช้เชื้อเพลิงมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความชำนาญ ถ้าเตาเผามีความเย็น ต้องใช้เชื้อเพลิงมากกว่าปกติ

เทคนิคการเผาร่างผู้ตายของสัปเหร่อ ใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 1.45 ชั่วโมง เริ่มจากการเผาโลง ถ้าโลงไม้อัดเผาง่าย แต่ถ้าโลงไม้สักใช้เวลานาน จากนั้นไฟค่อยๆ ลุกลามร่างทั้งส่วนหัวและเท้า ลักษณะการเผาไหม้ ร่างจะหดเข้าหาส่วนท้อง ที่เป็นจุดสุดท้ายที่มีน้ำและของเสียอยู่ สัปเหร่อต้องเปิดดูเตาเผาทุกครึ่งชั่วโมง จนกว่าเสร็จสิ้น

“ควันจากการเผาศพ มีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการจัดการของสัปเหร่อ ถ้ามีดอกไม้จันทน์มาก หรือมีผ้านวมหนาในโลง สัปเหร่อต้องนำมาเก็บไว้เผาทีหลัง เพราะถ้าเผาพร้อมกันจะทำให้มีควันเยอะ รบกวนคนที่มาร่วมในพิธี หลังการเผาเสร็จ ต้องพักเตาเผาให้เย็นประมาณครึ่งชั่วโมง อย่างวันเสาร์นี้ต้องเผาถึง 6 ศพ แต่เคยเจอมากสุดเผาวันละ 8 ศพ”

สิ่งที่สัปเหร่อต้องพกติดตัวคือ มีดหมอ ใช้ในการทำพิธี มีการลงอาคมไว้ตั้งแต่รุ่นครู และห้อยพระหรือตะกรุด ตามความเชื่อ ที่ช่วยคุ้มครองจากวิญญาณร้าย แต่ที่ผ่านมายังไม่เคยเจอเรื่องลึกลับกับตัว

“30 ปีก่อน ชาวบ้านบางคนไม่เข้าใจคนทำอาชีพสัปเหร่อ ไปไหนก็รังเกียจ ผมเองเป็นคนใจเย็น พอเจอแบบนั้นก็เฉยๆ จนมาถึงยุคหนึ่ง ทุกวัดเปลี่ยนชื่อคนทำงานนี้ จากสัปเหร่อเป็นเจ้าหน้าที่วัด เพื่อลดแรงเสียดทานจากชาวบ้าน มาถึงปัจจุบันคนเริ่มเข้าใจอาชีพสัปเหร่อมากขึ้น ไม่ได้รังเกียจคนทำอาชีพนี้เหมือนก่อน จึงอยากฝากถึงสัปเหร่อรุ่นหลัง ไม่ให้ประมาทในการทำงาน ไม่ควรเรียกร้องเงินจากเจ้าภาพ เพราะครูสอนไว้เสมอว่า ถ้าทำไม่ดีวิชาจะเข้าตัว”

...

ภาพประตูเตาเผาเคลื่อนปิดลง ท่ามกลางเสียงร่ำลาสุดท้ายของญาติผู้วายชนม์ อาชีพสัปเหร่อที่เคยถูกดูแคลน บัดนี้เต็มไปด้วยเหงื่อจากความร้อนเตาเผา ร่างไร้วิญญาณมอดไหม้เหลือเพียงฝุ่นผงในจักรวาล.