“ความตายมนุษย์ ไม่ว่าฝ่ายไหน ก็เป็นเรื่องที่น่าสงสาร” 

ศ.ดร.จรัญ มะลูลีม อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกกลาง กล่าวกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ พร้อมอธิบาย “ราก” ปัญหาความขัดแย้งระหว่าง อิสราเอล และปาเลสไตน์ และกลุ่มฮามาส ซึ่งคราวนี้สร้างความสูญเสียชีวิตผู้คน ความเดือดร้อน ทั้งชาวอิสราเอล ปาเลสไตน์ รวมทั้งแรงงานไทยที่ไปขายฝีมือการทำงานด้วย 

ความขัดแย้ง ระหว่าง อิสราเอล และ ปาเลสไตน์ 

กูรูด้านชาติตะวันออกกลาง อธิบายที่มาและสาเหตุว่า ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล และปาเลสไตน์ เป็นเรื่องที่ผ่านมาแล้วกว่า 70 ปี โดยเริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. 1948 หลังจากมีการประกาศให้ดินแดนของปาเลสไตน์ ถูกประกาศให้เป็นที่อยู่อาศัยของชาวอิสราเอล โดยรัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษ 

หลังจากนั้นความขัดแย้งก็มีมาอย่างต่อเนื่อง ระหว่างผู้ยึดครอง กับผู้ถูกยึดครอง โดยผู้ยึดครอง ก็บังคับซื้อที่ดิน ขยายดินแดนออกไปเรื่อยๆ กลายเป็นว่า “คนท้องถิ่น” กลายเป็น “ผู้อพยพ” และถูกซ้ำเติมด้วยสงคราม โดยเฉพาะ “สงคราม 6 วัน” (Six-Day War) 

** Six-Day War : อิสราเอล ยึดครองเยรูซาเลมตะวันออก, เขตเวสต์แบงก์, ฉนวนกาซา และพื้นที่ส่วนใหญ่ของที่ราบสูงใกล้ดินแดนซีเรีย และแหลมไซไน ไว้ได้** 

...

“โดยกาซา และเวสต์แบงก์ คือ ส่วนสำคัญที่ถูกยึดครอง แม้สงครามครั้งนี้จะมีสนธิสัญญาพูดคุย เพื่อให้มีดินแดนปกครองตนเอง แต่สุดท้าย อิสราเอล ก็ยังคงยึดครองอยู่...”

ศ.ดร.จรัญ กล่าวต่อว่า เมื่อหันมาดูในฝ่ายปาเลสไตน์ ก็มีการแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ในการต่อสู้อิสรภาพ คือ ฝ่ายที่ใช้อาวุธ และฝ่ายที่เจรจา และที่ผ่านมา มีการมองว่า ยิ่งมีการเจรจาก็ยิ่งเสียดินแดน ขณะเดียวกัน ทางสหรัฐฯ ก็คือผู้ช่วยเหลืออิสราเอลอย่างเต็มที่ รวมถึงสงครามครั้งนี้ก็ตาม 

“ที่ผ่านมา คนไม่ค่อยทราบว่า การที่อิสราเอลยึดครองปาเลสไตน์นั้น เขาก็กระทำกับคนปาเลสไตน์หนักหน่วงมาก การสร้างกำแพงปิดล้อม จนเรียกว่า เป็นคุกที่เปิดโล่งที่สุด แต่เมื่อปาเลสไตน์ตอบโต้ กลับถูกเรียกว่า ผู้ก่อการร้าย ซึ่งในความเป็นจริง คือ เขาต่อสู้เพื่อปลดปล่อยดินแดน ที่ถูกยึดครองอย่างยาวนาน" 

ประเด็นใหม่ สาเหตุการตอบโต้ของ “ปาเลสไตน์” 

กูรูด้านตะวันออกกลาง คาดว่า สาเหตุในการตอบโต้ของปาเลสไตน์ ครั้งนี้ที่ใช้อาวุธหนักโจมตี มาจากการที่อิสราเอลได้เข้ามาดินแดนในปาเลสไตน์นับแสนคน เพื่อเกณฑ์คนไปสร้างดินแดนเพิ่มเติม โดยถูกบังคับให้ออกจากพื้นดินของตนเอง ถูกบีบบังคับหลายอย่าง คนที่เป็นกลุ่มติดอาวุธที่เคยต่อสู้ก็ถูกจับติดคุก ใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก

นี่คือภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง...

ประเด็นที่โกรธเคือง คือ 

1. การบุกเข้าไปยังมัสยิด ในเดือนรอมฎอน ไม่ให้คนไปปฏิบัติศาสนกิจ อย่างเต็มที่

2. จับกุมผู้คนของปาเลสไตน์ เข้าคุก ห้ามเยี่ยม เอาบ้านเรือนไปสร้างในพื้นที่ปาเลสไตน์ 

“2 ประเด็นนี้ คือ สาเหตุใหม่ และหากย้อนดูประวัติศาสตร์ ก็จะพบว่า มีการ 'ปะทะ' กันทุก 2 ปี แต่สงครามครั้งนี้ ถือว่ากลุ่มฮามาสมีการเตรียมตัวมาก่อน และพัฒนาการการต่อสู้ เรียกว่าคล้ายกับ เหตุการณ์ '911' ที่ถูกโจมตีอย่างหนักหน่วงโดยไม่ได้ตั้งตัว ส่งผลให้เกิดการสูญเสียเยอะ รวมไปถึงคนไทยด้วย” 

เมื่อถามว่า เพราะอะไร อิสราเอล ต้องรุกคืบอย่างต่อเนื่อง ศ.ดร.จรัญ ตอบว่า “นี่แหละ คือ สาเหตุที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์เยอะ ทั้งที่ 'คนปาเลสไตน์' เป็น People without land หรือประชาชนที่ไร้ดินแดน และถูกบีบให้ออก และทำไมโลกชนะสงคราม ต้องรวมไปช่วยอิสราเอล ดังนั้น คนบางส่วนที่รักความยุติธรรม มองว่าปาเลสไตน์ถูกกระทำ 

ส่วนการรุกคืบ ถือเป็นนโยบาย “Greater Israel” ซึ่งในความเป็นจริง คือ เขาอยากได้ดินแดนเพิ่มมากกว่านี้ อยากขยายไปถึงซีเรีย ขณะที่ นานาชาติ ก็มองว่า “อิสราเอล” ถูกตั้งขึ้นมาจากชาติที่ชนะสงครามโลกครั้งที่ 1 มันถึงอยู่ได้ ส่วนประเทศที่คัดค้าน ส่วนมากก็ถูกครอบครองโดยตะวันตกมาก่อน และที่ผ่านมาก็เคยถูกชาติตะวันตกหลอกมาก่อน  

...

วิเคราะห์เบื้องหลัง การสนับสนุนของ 2 ฝ่าย 

ศ.ดร.จรัญ กล่าวถึงผู้ที่อยู่เบื้องหลัง การสนับสนุน ทั้ง 2 ชาติว่า ในส่วนอาวุธ ของปาเลสไตน์ คาดว่า น่าจะมีส่วนหนึ่งได้รับการสนับสนุนมาจากอิหร่าน และกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ ในเลบานอน และโลกมุสลิม ส่วนใหญ่ก็เห็นใจปาเลสไตน์ เพราะอยู่อย่างยากลำบาก ยากจน อดอยาก การทำมาหากิน ถูกปิดล้อม จนกระทั่งต่างประเทศเข้ามาช่วย ฉะนั้น การที่เขาอยู่รอดได้ทุกวันนี้ ก็มาจากเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ 

“ส่วนการเดินหน้าเรื่องสันติภาพนั้น ก็มีการพูดคุยและเสนอ แต่สุดท้ายก็หยุดชะงัก เพราะยิ่งเจรจาสันติภาพ ยิ่งเสียดินแดน ถึงแม้ในอดีต ชาวอิสราเอล จะถูก “อดอล์ฟ ฮิตเลอร์” กระทำมาอย่างหนักหน่วง แต่เมื่อมาอยู่ในดินแดนปาเลสไตน์ ก็กระทำรุนแรงกับชาวปาเลสไตน์”

สำหรับ ชาติตะวันตกหลายชาติ ก็ให้การสนับสนุนอิสราเอล รวมถึงสหรัฐฯ ขณะที่บางชาติในยุโรป ที่มีชาวอิสลามอยู่ บางประเทศก็สนับสนุนปาเลสไตน์ โดยเฉพาะชาติอาหรับ ที่อยากให้สงครามนี้ยุติ แม้บางชาติอาหรับ ที่ให้การยอมรับอิสราเอล แต่ก็ทำเพื่อสนับสนุนด้านเศรษฐกิจ 

กูรูด้านตะวันออกกลาง บอกว่า เวลานี้ สหรัฐฯ กำลังส่งเรือรบเข้าไปช่วยอิสราเอล ซึ่งหากทำจริง ก็จะสูญเสียความเป็นกลาง หรืออื่นๆ มากไป 

เมื่อถามว่า สหรัฐฯ ก็ไม่ได้กลางอยู่แล้ว? ศ.ดร.จรัญ กล่าวว่า อันนี้คำเปรียบเทียบของฝรั่งว่า “หากเปรียบเป็นหมาพุดเดิล ธรรมดาหัวจะสั่งหาง แต่สำหรับ สหรัฐฯ เหมือนหางสั่งหัวได้ โดยตลอดระยะเวลา มีกลุ่ม 'ยิว' ล็อบบี้ยิสต์ ฝังตัวอยู่ในรัฐสภา สหรัฐฯ ตลอด ถึงแม้รัฐสภา สหรัฐฯ จะมีชาวอาหรับอยู่บ้างเวลานี้ 

...

สงครามยืดเยื้อหรือไม่ 

กับคำถามข้างต้น ศ.ดร.จรัญ มองว่า ปกติแล้ว สงครามแบบนี้มักยืดเยื้อ แต่ในมุมมองของผม คิดว่า การทำสงคราม มีราคาต้องจ่าย และมันราคาแพง เวลานี้ อิสราเอล ก็ไม่ใช่ประเทศร่ำรวย มีปัญหาเศรษฐกิจ แค่ “ไอรอน โดม” 1 ลูกราคาเท่าไรแล้ว 

(**ราคาไอรอน โดม ลูกละ 40,000 ดอลลาร์**) 

ดังนั้น เท่าที่ประเมิน ทางอิสราเอล มีการพูดคุยกับทางอียิปต์ ให้ช่วยดูแลคนที่ถูกลักพาตัวไปให้มีความปลอดภัย ให้ทางอียิปต์ช่วยพูดคุยกับฮามาส เพื่อเร่งให้สงครามยุติ

แต่เมื่อดูอารมณ์ทาง “ไบเดน” ผู้นำสหรัฐฯ ก็คล้ายจะสนับสนุนให้อิสราเอลสู้เต็มที่ โดยเฉพาะ เบนจามิน เนทันยาฮู ผู้นำอิสราเอล ก็มองว่ากำลังมีปัญหา ดังนั้น จึงอยากจะใช้เรื่องนี้ ประกาศให้รู้ว่า ตนเองแน่ มีการตัดสินใจด้วยตนเอง 

แต่สงคราม ก็มีระยะเวลายุติ หลายครั้งคาดกันว่าจะแรงขึ้น แต่สุดท้ายก็จบลง โดยชาวปาเลสไตน์จะสูญเสียมากกว่า แต่ครั้งนี้อิสราเอลสูญเสียเยอะ 

เท่าที่สังเกต คือ เหตุการณ์ครั้งนี้ เริ่มหลังจากทางซาอุดีอาระเบีย เริ่มมีความสัมพันธ์อันดีกับทางอิหร่าน ทำให้มองว่าความเป็นหนึ่งเดียวของโลกมุสลิม เริ่มกลับมาแข็งแกร่ง ถึงแม้ว่าทางซาอุฯ จะมีการเชื่อมสัมพันธ์กับอิสราเอล ในการกระตุ้นเศรษฐกิจก็ตาม

“หลายประเทศในอาหรับ อยากให้เหตุการณ์นี้ยุติลงโดยเร็ว และการเจรจาเริ่มแล้ว มีหลายฝ่ายเริ่มพูดคุย ทั้งการประชุมสันนิบาตอาหรับ สหประชาชาติ แต่ภาพที่ออกมา คือ ผู้นำแต่ละฝ่ายต่างไม่ยอม หลายชาติให้การสนับสนุนฝ่ายของตนเอง แต่จากประสบการณ์ในการเดินทางส่วนตัวในประเทศยุโรป พบว่า เยอรมนี ฝรั่งเศส เบลเยียม ก็มีบางส่วนสนับสนุนปาเลสไตน์” 

...

ทางออกของปัญหา และลดการสูญเสีย 

เมื่อถามว่า ในอดีตที่ผ่านมา มีทางออกที่ช่วยยุติสงคราม และลดความสูญเสียบ้างไหม ศ.ดร.จรัญ กล่าวว่า ในอดีตเคยมีอยู่บ้าง จากบนโต๊ะเจรจา ที่ทำให้ผู้นำ 2 ฝ่ายได้รับรางวัลโนเบล คือ สมัย ยิตส์ฮัก ราบิน และยัสเซอร์ อาราฟัต แต่คำตอบที่ลงเองทุกครั้ง คือ ปาเลสไตน์ ก็เสียเปรียบ เสียดินแดน และสุดท้ายสันติภาพ ก็ล้มเหลว 

ห่วง ท่าทีของไทย  

สุดท้าย อาจารย์ด้านตะวันออกกลาง อยากจะฝากถึงรัฐบาลไทย ว่า อยากให้ไทยแสดงออกอย่างเป็นกลาง เพราะเรามีความผูกพันกับทางปาเลสไตน์มาเป็นอย่างดี 

“ถ้าเรารีบประณามว่าเขาเป็นผู้ก่อการร้าย มันเป็นการไม่รู้ประวัติศาสตร์ ไม่รู้บริบทของโลก มองผู้รุกรานเป็นผู้ชนะ ยังดีที่ท่าน ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ ได้แก้ปัญหาเรียบร้อยแล้ว สิ่งสำคัญคือการช่วยเหลือ  

ความตายมนุษย์ ไม่ว่าฝ่ายไหน ก็เป็นเรื่องที่น่าสงสาร” ศ.ดร.จรัญ กล่าวทิ้งท้าย

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านบทความที่น่าสนใจ