เยาวชนชายวัย 14 ปี ก่อเหตุกราดยิงในห้างกลางกรุง มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ ป่วยจิตจริงหรือ? เพราะจากพฤติกรรมน่าจะมีการวางแผน เจาะจงเลือกห้างสยามพารากอนซึ่งมีผู้คนพลุกพล่านในช่วงเวลาเย็น เป็นสถานที่ก่อเหตุ ทำไมไม่ก่อเหตุยิงในสถานที่อื่น

อีกทั้งมีความชำนาญในการใช้อาวุธปืน มีการซ้อมยิงปืนจากที่ปรากฏในคลิป และหลังก่อเหตุยิง 40 นัด จนปลอกกระสุนกระจายทั่วห้างโดยเฉพาะบริเวณชั้น 2 และ 3 ของห้าง ได้โทรไปแจ้ง 191 ก่อนยอมมอบตัว ยกมือขึ้นเหนือหัว ค่อยๆ ทิ้งปืนห่างจากตัว เหมือนคนมีสติเป็นอย่างดีขณะลงมือกระทำ และน่าจะมีความรู้เรื่องกฎหมายคุ้มครองเด็กและเยาวชน กรณีเด็กอายุไม่เกิน 14 ปี กระทำความผิด ไม่ต้องรับโทษ

สแกนพฤติกรรม เยาวชนวัย 14 กราดยิงพารากอน

หรือเยาวชนชายวัย 14 ปีรายนี้ อาจไม่ได้ป่วยจิตตามที่คนในสังคมสงสัย และจากการพูดคุยกับ "ศ.พล.ต.ท.ดร.พิศาล มุขแจ้ง" ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชญาวิทยา อดีตอาจารย์โรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน ระบุว่าคนที่ก่อเหตุในลักษณะกราดยิง หรือ Active Shooting จากข้อมูลเอฟบีไอ พบว่าส่วนใหญ่ 80% เป็นผู้ได้รับความกดดันทางด้านอารมณ์ มีความเครียดสะสม หรือรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้รับความยุติธรรม ไม่ว่าจากสังคมหรือครอบครัว จนค่อยๆ สะสม เมื่อถึงจุดหนึ่งก็จะระบายออกมา เหมือนลูกโป่งแตก และผู้ก่อเหตุเกือบ 100% มีความผิดปกติด้านจิตใจ

...

แต่ต้องบอกว่าการก่ออาชญากรรมมีหลายปัจจัยรวมกัน จนส่งผลเป็นฟางเส้นสุดท้าย จากด้านกายภาพทั้งจิตใจ อารมณ์ หรือความผิดปกติด้านสมอง และอีกปัจจัยหนึ่งจากสิ่งแวดล้อมทางโครงสร้างทางสังคม ตลอดจนการเรียนรู้ทางสังคม หรือการอบรมเลี้ยงดู ส่งผลให้มีปัญหาจากปัจจัยทุกอย่างรวมกัน อาจเติบโตในครอบครัวไม่ได้รับความอบอุ่น พ่อแม่ไม่สามารถปลูกฝังคุณธรรมและมโนธรรม

“บางคนได้รับการปกป้องมากเกินไป อะไรก็โอ๋ จนลูกไม่รู้ว่าโลกแห่งความเป็นจริงเป็นอย่างไร จะทำอะไรพ่อแม่ก็ว่าถูกหมด จนขาดบรรทัดฐานที่พึงปฏิบัติในสังคม ในการแสดงพฤติกรรมที่ถูกต้องก็จะไม่ได้ หรือบางคนขาดการใส่ใจดูแล และประเด็นสำคัญในเรื่องความเกลียดแค้นชิงชัง คนบางคนมีทัศนคติเชิงลบ มีความเกลียดชัง หรือคลั่งอะไรบางอย่างจนสุดโต่ง เช่น คลั่งลัทธิ คลั่งศาสนา จนมีความเกลียด หรือเกลียดคนผิวสี เกลียดคนเอเชีย ที่เรียกว่า Hate Crime ใครมีลักษณะเช่นนั้นก็จะเกลียด จะทำลายล้าง”

สำคัญที่สุดเรื่องกระบวนการเรียนรู้ทางสังคม การเล่นเกม หมกมุ่นอยู่กับเกมที่รุนแรง จะถูกซึมซับพฤติกรรมต่างๆ ในเกม เอามาเป็นพฤติกรรมของตัวเองในการทำร้ายคู่ต่อสู้ ทำลายล้างสังหารเหยื่อ มองเหยื่อเหมือนผักเหมือนปลาไม่น่าสงสารโดยไม่มีความปรานี จนเกิดผลกระทบตามมา ซึ่งในชีวิตจริงไม่ใช่ ทุกคนมีญาติพี่น้อง มีลูกมีเมีย ถือเป็นเรื่องเศร้ามากๆ จากการรับรู้พฤติกรรมในเกม ค่อยๆ รับมาโดยไม่รู้ตัว จนวันหนึ่งเจอสถานการณ์เหมือนในเกม ก็นำมาใช้ตอบโต้สังคม แต่คนที่เล่นเกมไม่ได้เป็นกันทุกคน ขึ้นอยู่กับพื้นฐานของแต่ละคน บางคนรู้จักควบคุมอารมณ์ตนเองได้

ทฤษฎีพันธะทางสังคมของทราวิส เฮอร์ชิ (Travis Hirschi) ได้รับการยอมรับมากที่สุดในวงการอาชญาวิทยา ได้อธิบายแรงจูงใจหรือแรงกระตุ้นของพฤติกรรมอาชญากรรมว่า คนที่ไม่ประกอบอาชญากรรมเพราะปฏิบัติตามบรรทัดฐานของสังคม ตามหลักการพันธะทางสังคม หรือความผูกพันกับสถาบันทางสังคม ถ้ารักพ่อแม่ รักครอบครัว รักสังคม จะไม่ทำผิดทำให้สังคมเดือดร้อน ตราบใดที่มีพันธะทางสังคม หรือ Social Bonds แต่ถ้าพันธะทางสังคมขาดสะบั้น ความผูกพันกับครอบครัวไม่มีแล้ว มีความคิดต่างกัน ต่างคนต่างอยู่ จะทำทุกอย่างโดยไม่สนใจไม่แคร์ว่าสถาบันต่างๆ ในสังคม จะคิดอย่างไร ทำให้กล้าทำความผิด ละเมิดกฎหมาย

ฆ่าคน-สังหารหมู่คนไม่รู้จัก อาการป่วยทางจิต

กรณีเยาวชนวัย 14 ปีก่อเหตุกราดยิง มาจากปัจจัยหลายอย่าง แต่ประเด็นใดจะเป็นฟางเส้นสุดท้ายนั้น อาจถูกแม่ด่า หรือมีความเครียดก็จะระเบิดออกมา ซึ่งคนส่วนใหญ่ที่ฆ่าคนหรือสังหารหมู่คนอื่นที่ไม่รู้จัก โดยไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับเหยื่อมาก่อน จะป่วยทางจิต และคนพวกนี้จะไม่รู้สำนึก แต่ก่อนลงมือทำจะรู้ตัวไม่เสียสติ แต่ตอนก่อเหตุตอนสังหารเหยื่อ ไม่ใช่ตัวเอง ได้กลายเป็นนักล่า ไม่รู้สึกผิดชอบชั่วดีเช่นคนปกติ อย่างไรแล้วมองว่าเยาวชนวัย 14 รายนี้มีความบกพร่องทางจิตใจ เพราะคนมีจิตใจปกติจะไม่ทำร้ายคนอื่นที่ไม่รู้จัก ไม่กล้ากระทำความรุนแรง ทำให้ใครกระทบกระเทือนจิตใจ จะมีความละอายต่อบาป

...

“คนพวกนี้ไม่รู้ หรือมีความหลอน เหมือนใครมากระซิบบอกให้ทำ แต่ไม่ได้ขาดสติ 100% อยากเห็นความเจ็บปวดของคนอื่น เพราะผิดปกติด้านจิตใจ และกรณีนี้น่ามาจากการอบรมเลี้ยงดูของพ่อแม่ ดูแลไม่ทั่วถึง ไม่รู้เลยว่าเด็กคนนี้ชอบอะไร หรือชอบเล่นปืน กระทั่งการฝึกซ้อมยิงปืน ต้องโทษพ่อแม่ แม้การพาไปยิงปืนไม่ผิด แต่ควรสอนไม่ให้ใช้ความรุนแรง ถ้ารู้ว่าลูกควบคุมอารมณ์ไม่ได้ ก็ไม่ควรให้ใกล้ชิดกับอาวุธปืน มีการซื้อกระสุนเต็มไปหมด ซึ่งบางครอบครัวชอบสร้างภาพว่ารักกันดี พ่อก็ประสบความสำเร็จในอาชีพ แม่ก็มีชื่อเสียง แต่ไม่เคยให้ความรักความอบอุ่นกับลูก อยากได้อะไรก็ให้ ไม่เคยให้ความรักจนเด็กระบายออกมา”

อีกประเด็นที่สังคมพูดกันว่าเยาวชนวัย 14 รายนี้รู้กฎหมายคุ้มครองเด็กและเยาวชน แต่จริงๆ แล้วก็มีปรัชญาของกระบวนการยุติธรรม ซึ่งในอดีตกระบวนการยุติธรรมระบุว่าบุคคลใดกระทำความผิดเดียวกัน ก็ต้องได้รับโทษฐานเดียวกันไม่ว่าเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ หรือคนวิกลจริต และต่อมากระบวนการยุติธรรมมีการพัฒนาว่าเด็กอาจขาดประสบการณ์ หรือคนวิกลจริตขาดสติสัมปชัญญะ นำไปสู่กระบวนการยุติธรรมในปัจจุบันด้วยการเยียวยารักษาให้กลับมาเป็นพลเมืองของสังคม จะไม่ลงโทษด้วยวิธีแก้แค้น ขณะเดียวกันเชื่อว่าศาลคงมีวิธีการปฏิบัติกับเยาวชน ไม่ใช่จะไม่ให้รับโทษ อาจตักเตือนทำทัณฑ์บน ส่งตัวเข้าสถานพินิจ

...

“ต้องยอมรับว่าความเป็นธรรมในโลกไม่มีหรอก หลายคนมองว่าสิ่งที่กระทำผิดในลักษณะนี้ต้องได้รับโทษอย่างสาสม แต่เมื่อสังคมกำหนดว่ากระบวนการยุติธรรมต้องปฏิบัติตาม จะเอาเด็กไปประหารเสีย ก็ทารุณโหดร้ายเกินไป หากทำอย่างนั้น ก็ไม่ต่างอะไรกับอาชญากร แต่การลงโทษที่รุนแรงเกินไปก็ไม่เหมาะสม แม้มีพฤติกรรมโหดเหี้ยม ก็กระทำเช่นนั้นไม่ได้”