เหตุเยาวชนอายุ 14 ปี ผู้ก่อเหตุยิงในพารากอน โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ควบคุมตัวผู้ก่อเหตุ และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 2 ศพ ขณะที่คนในห้างวิ่งหนีกันโกลาหล การเอาตัวรอดในชั่วโมงฉุกเฉินถือเป็นสิ่งสำคัญรวมถึงการรักษาความปลอดภัย ที่มีหลักในการป้องกันให้ทันก่อนเหตุร้ายจะเกิดขึ้น

16.30 น. วันนี้ (3 ต.ค. 66) มีรายงานเสียงคล้ายปืน ดังขึ้นในห้างฯ ดังย่านปทุมวัน คนแห่วิ่งหนีในห้าง ผู้ก่อเหตุยิงในพารากอน เป็น เยาวชน อายุ 14 ปี ใช้อาวุธปืน มีผู้เสียชีวิต 2 ศพ เจ็บ 5 ราย สุดท้ายผู้ก่อเหตุยอมวางอาวุธ ควบคุมตัวได้ บริเวณชั้น 3 โรงแรมภายในที่เกิดเหตุ

นรธา มณีนาค นายกสมาคมอารักขาบุคคลสำคัญ กล่าวกับทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ ว่า ในการรักษาความปลอดภัยกรณีเกิดเหตุยิงในที่ชุมชน ผู้ที่รักษาความปลอดภัยต้องมีการข่าวว่าคนร้ายอยู่จุดไหน และมีอาวุธอะไร ขณะเดียวกันต้องทราบว่าเป้าหมายที่คนร้ายต้องการคืออะไรเบื้องต้น เพื่อที่จะสกัดเหตุได้ก่อนที่คนร้ายจะถึงตัวเหยื่อ

ขณะเดียวกันต้องมีชุดเคลื่อนที่เร็วที่พร้อมจะป้องกันเหตุ ทั้งในกรณีที่คนร้ายมีอาวุธร้ายแรง และทำการนำคนที่ไม่เกี่ยวข้องออกจากพื้นที่ มีกลวิธีในการประวิงเวลาคนร้าย แต่ที่สำคัญคือ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ต้องสังเกตคนที่เข้ามา หากมีการแต่งกายที่ผิดปกติ ต้องมีการสั่งการให้ชุดรักษาความปลอดภัยในพื้นที่คอยจับตา เพราะคนปกติไม่ค่อยได้แต่งตัวลักษณะนี้มาเที่ยวห้างสรรพสินค้า

...

“สิ่งสำคัญของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในห้างต้องมีการฝึก เพื่อป้องกันเหตุในลักษณะนี้ แต่ที่ผ่านมาหลายหน่วยงานยังขาดการฝึกฝน”

นอกจากนี้ในพื้นที่ห้าง ต้องมีทางเอกและทางโท ไว้ให้ประชาชนใช้งานเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน และเจ้าหน้าที่ต้องนำคนออกจากพื้นที่ในเส้นทางนั้นทันที สำหรับประชาชนทั่วไป ที่อยู่ในเหตุการณ์ ต้องหมอบหลบทันที เพื่อไม่ให้อยู่ในวิถีกระสุน ตั้งแต่นัดแรกที่ได้ยินเสียง

เมื่อเกิดเหตุต้องหามุมที่สามารถเป็นกำบังได้ หรือใช้เป็นที่หลบซ่อนได้อย่างเหมาะสม หากเป็นคนร้ายที่มีอาวุธร้ายแรง จะต้องเข้าไปหลบในห้องแล้วล็อกประตูทันที แม้จะไม่มีอาวุธในการต่อสู้คนร้าย แต่ควรให้คนที่แข็งแรงหลบอยู่บริเวณข้างประตูด้านใน เพราะเมื่อคนร้ายพังประตูเข้ามา จะได้ทำการล็อกแขนเพื่อแย่งปืนทันที

ทั้งนี้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นเหตุสลดที่ย้ำเตือนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรมีสถานที่ปลอดภัยหากเกิดเหตุฉุกเฉิน ขณะที่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ต้องมีกลวิธีในการป้องกันไม่ให้เหตุร้ายเกิดขึ้นซ้ำอีก.