ชวนรู้กฎหมายซื้อขายเบื้องต้น กับ 'โกศลวัฒน์' อธิบดีอัยการสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิฯ ซื้อลอตเตอรี่ออนไลน์แบบไหนให้ได้เงิน เผื่อโชคดีถูกหวย 30 ล้าน!...

เมื่อตกลงซื้อขายแล้ว กรรมสิทธิ์จะเป็นของผู้ซื้อทันที หากแต่มีข้อตกลงหรือเงื่อนไขอื่นๆ ต้องดูตามข้อเท็จจริงจาก 2 ฝ่าย และตีความทางกฎหมายกันต่อไป...

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ และ 'นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง' อธิบดีอัยการสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดี หรือ สคช. ชวนผู้อ่านทุกคนรู้กฎหมาย 'การซื้อขาย' เบื้องต้น เผื่อวันหนึ่งเกิดโชคหล่นทับ 'ถูกหวย 30 ล้าน' แต่ยังต้องมีข้อพิพาทอื่นตามมา จะได้รู้ว่ากรรมสิทธิ์นั้นเป็นของใคร หรือสามารถดำเนินการเบื้องต้นอย่างไรได้บ้าง ถ้าพร้อมแล้วก็ไปเตรียมตัวให้พร้อม ก่อนเป็นผู้โชคดีกันเลย!

กฎหมายการซื้อขาย :

"เรื่อง 'หวย' หรือ 'ลอตเตอรี่' ถือเป็นกฎหมายซื้อขาย ซึ่งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขาย ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 453 ระบุว่า "อันว่าซื้อขายนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลฝ่ายหนึ่ง เรียกว่าผู้ขาย โอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกฝ่ายหนึ่ง เรียกว่าผู้ซื้อ และผู้ซื้อตกลงว่าจะใช้ราคาทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขาย"

...

การซื้อขายออนไลน์ หากมีการตกลงว่า 'จะซื้อ' ผู้ซื้อมักให้รายละเอียดของชื่อ ที่อยู่ และเบอร์โทร เพื่อแสดงเจตนา 'ซื้อ' และ 'ให้ผู้ขายส่งของ' ส่วนวิธีการชำระเงิน จะเป็นโอนเงิน หรือ เก็บปลายทาง นั่นเป็นข้อตกลงระหว่าง 2 ฝ่าย ลองนึกดูว่าเวลาซื้อของออนไลน์ ถ้าคุณยังไม่ตกลง คุณจะไม่ให้ชื่อที่อยู่ใช่ไหม แต่ถ้าตกลงว่าเอาของแน่ ถึงจะให้ที่อยู่เพื่อส่งของ

ส่วน ถ้ามีการตกลงว่าให้เก็บเงินปลายทาง นั่นถือว่าเป็นการโอนกรรมสิทธิ์แก่ผู้ซื้อแล้ว ยกตัวอย่าง การ 'ซื้อเชื่อ' (Credit Purchase) ถ้ามีการซื้อเชื่อสินค้า ก็สามารถนำสินค้านั้นกลับบ้านได้ โดยที่ยังไม่ต้องชำระเงิน แต่ถือว่าสินค้านั้นเป็นของเราแล้ว อีกอันนึง คือ การเก็บเงินปลายทาง ถ้าตกลงกันแล้ว ก็ต้องส่งของมา เพราะของเป็นของเรา เนื่องจากตกลงกันแล้ว คนส่งของก็มีหน้าที่เก็บเงินกลับไป

แต่ หากเกิดข้อพิพาทกัน ต้องดูข้อตกลงของ 2 ฝ่าย ว่าครบถ้วนตามกฎหมายระบุไว้ไหม และอีกฝ่ายอาจจะมีข้อเถียงต่ออย่างไร ตรงนี้เป็นความจริงที่ต้องพูดคุยกันต่อว่า การตกลงทำนิติกรรมนั้น ถือว่าซื้อขายเสร็จสมบูรณ์ไหม ต้องดูตามความจริง"

ขั้นตอนพิจารณา และคำแนะนำ :

"ขั้นตอนการพิจารณา และตัดสิน คงต้องฟ้องศาลกัน แต่ถ้าไม่อยากฟ้องศาล อันดับแรก ให้ไปสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดี หรือ สคช. จากนั้นให้ทั้ง 2 ฝ่ายเล่าความจริงทั้งหมด เพื่อไกล่เกลี่ยกัน สำนักงานฯ จะบอกสิทธิ์ของแต่ละฝ่ายว่า ใครมีสิทธิ์มากกว่ากัน หรือกรรมสิทธิ์นั้นโอนแล้วหรือไม่ อย่างไร เน้นย้ำว่าต้องแจงรายละเอียดทั้งหมด เพื่อดูรายละเอียดตามกฎหมาย แต่ ถ้าไม่มีข้อเท็จจริง หรือเงื่อนไขอื่นที่ตกลงเพิ่มเติมกันแต่แรก กรรมสิทธิ์นั้นเป็นของผู้ซื้ออยู่แล้ว

ถ้าให้เราแนะนำก็คือ ผู้ที่คิดว่าเสียหายควรอ้างสิทธิ์ของการเป็นผู้ซื้อ และแจ้ง 'อายัด' ลอตเตอรี่ไว้ก่อน กองฉลากจะได้หยุดการดำเนินการไว้ เพราะหากชนะคดี ลอตเตอรี่ที่ถูกรางวัลนั้น จะยังอยู่และขึ้นเงินได้ แต่ถ้าไม่อายัด แล้วสู้คดีกันจนจบ ลอตเตอรี่อาจจะโดนขึ้นเงินไปแล้ว และหากเป็นเช่นกัน ก็ไม่มีประโยชน์อะไร หรือถ้าลอตเตอรี่ขึ้นเงินแล้ว ก็ต้องไปฟ้องตามเงินคืนกัน ซึ่งกว่าจะชนะคดี หากเขายักย้ายไปไหนแล้วก็คงตามกันไม่ได้อีก

...

จะซื้อ จะขาย ควร 'พิมพ์ตัวหนังสือลงไปให้ชัดเจน' อย่าส่งอะไรที่ดูคลุมเครือ เช่น สติกเกอร์กดไลค์ ฯลฯ เพราะหากเกิดการฟ้องร้องกัน กฎหมายต้องมานั่งตีความต่ออีกว่า การกดไลค์นั้นหมายความว่าอะไร และอาจจะกลายเป็นข้อเถียงกันต่อว่า นั่นแสดงถึงการ 'เอา' หรือ 'ไม่เอา' ต้องสืบกันอีกว่ากระบวนการค้าขายตามปกติ หากมีการกดไลค์แปลว่าอย่างไร 

ดังนั้น ซื้อของอะไรก็แสดงเจตนาไปให้ชัดเจน เพราะถ้าเถียงกัน ก็เข้าไปสู่ประเด็น ได้ประโยชน์ต่อยุติธรรม เสียประโยชน์ต่อไม่ยุติธรรม เพราะคนที่เถียงกันก็อาจจะไม่รู้ว่ากฎหมายจริงๆ ยุติธรรมคืออะไร รู้เพียงว่าฉันจะได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์ แต่เมื่อมีเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้น ก็ถือว่า ร้านค้าจะได้ปรับตัวเรื่องการขาย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาและข้อพิพาทต่างๆ"

...

ท่านโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง ฝากทิ้งท้ายว่า หากประชนต้องการความช่วยเหลือทางด้านกฎหมาย สามารถติดต่อสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดี หรือ สคช. โทร.1157 หรือตรวจสอบเบอร์โทรสำนักงานฯ ตามจังหวัดอื่นๆ โดยตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์สำนักงานอัยการสูงสุด

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านบทความที่น่าสนใจ :