"มหาดไทย" เดินหน้าปราบผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น จัดทำขึ้นบัญชีแล้วประมาณ 600-700 คน โดย อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เตรียมนั่งหัวโต๊ะจัดระเบียบ “ขาใหญ่” แต่การขึ้นทะเบียนลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นแล้วหลายรัฐบาล แต่ไม่นานก็เงียบหาย อดีตนายตำรวจมือปราบ มองว่า ที่ผ่านมาไม่สามารถจัดการได้ เพราะระบบราชการมี "หนอนบ่อนไส้" คอยวิ่งเต้นรับเงินผู้มีอิทธิพล ประกอบกับการกวาดล้างที่ไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะกลุ่มหัวคะแนนนักการเมือง ใช้สถานการณ์นี้กวาดล้างฝ่ายตรงข้าม

วันนี้ (2 ต.ค.66) นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้รับมอบหมายจาก นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่สั่งการให้จัดระเบียบสังคม ปราบปรามผู้มีอิทธิพล หรือกลุ่มที่มีการใช้อำนาจเหล่านั้นในทางมิชอบ โดยกระทรวงมหาดไทย ได้จัดทำบัญชีผู้มีอิทธิพลเสร็จแล้ว มีรายชื่อประมาณ 600-700 คน เตรียมเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามผู้มีอิทธิพลนัดแรก วันที่ 3 ต.ค.นี้

...

สำหรับพฤติกรรมเข้าข่ายผู้มีอิทธิพล มีด้วยกัน 16 ข้อ ประกอบด้วย 1. นายทุนปล่อยเงินกู้นอกระบบ 2. ฮั้วประมูลงานราชการ 3. หักหัวคิวรถรับจ้าง 4. ขูดรีดผู้ประกอบการ 5. ลักลอบขนสินค้าหนีภาษี 6. เปิดบ่อนการพนัน 7. ลักลอบค้าประเวณี 8. ลักลอบนำคนเข้า-ออกประเทศ โดยผิดกฎหมาย 9. ล่อลวงแรงงานไปยังต่างประเทศ 10. แก๊งต้มตุ๋นนักท่องเที่ยว 11. มือปืนรับจ้าง 12. รับจ้างทวงหนี้ด้วยการข่มขู่ใช้กำลัง 13. ลักลอบค้าอาวุธ 14. บุกรุกที่ดินสาธารณะ ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ 15. เรียกรับผลประโยชน์บนเส้นทางหลวงสาธารณะ 16. ผู้มีอิทธิพลที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด

วังวนปราบผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นล้มเหลว

การขึ้นบัญชีผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น ทำมาแล้วหลายครั้ง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ในมุมของ นายวิสุทธิ์ วานิชบุตร อดีตนายตำรวจมือปราบชื่อดัง เล่าให้ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ ฟังว่า ที่ผ่านมาหลายรัฐบาลมีนโยบายขึ้นทะเบียนปราบปรามผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นมาแล้ว แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากมีการขึ้นทะเบียนอย่างไม่เป็นธรรม ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการปราบปรามคู่แข่งทางการเมืองท้องถิ่นฝ่ายตรงข้าม เพราะต้องยอมรับว่า ผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นบางส่วน เป็นหัวคะแนนให้กับนักการเมือง

การขึ้นบัญชีผู้มีอิทธิพลรอบใหม่ ที่ประกาศว่ามีประมาณ 600-700 คน ต้องมีการตรวจสอบว่า เป็นธรรมมากเพียงใด ถ้าหากมีการกระทำที่ไม่เป็นธรรมเหมือนอดีต สุดท้ายก็ไม่สามารถปราบปรามได้ ขณะเดียวกัน ในการมอบหมายให้ข้าราชการท้องถิ่นสำรวจผู้มีอิทธิพล ก็เกิดความไม่เป็นธรรม กรณีที่ข้าราชการท้องถิ่นมีความเกื้อหนุน อุปถัมภ์กันมาอย่างต่อเนื่อง จึงช่วยกันปกปิด ไม่ส่งชื่อผู้มีอิทธิพลคนนั้นไปยังส่วนกลาง

“ถ้าการขึ้นบัญชีผ่านการสำรวจที่เป็นธรรม ไม่เอียงซ้ายหรือขวา จะได้รายชื่อผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นตัวจริง เมื่อขึ้นบัญชีแล้วก็ต้องมาแยกว่า ผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นคนนั้น มีการกระทำผิดกฎหมายหรือไม่มี เพราะบางคนดูเป็นผู้มีอิทธิพล แต่ไม่ได้ทำผิดกฎหมาย ตรงข้ามกับคนที่มีอิทธิพลแล้วทำผิดกฎหมาย ต้องทำการดำเนินคดี สืบสวนหาเส้นทางเงิน เพื่อไม่ให้มีการซ่องสุมกำลังเพื่อกระทำผิด”

สิ่งสำคัญเมื่อขึ้นทะเบียนแล้ว กลุ่มผู้มีอิทธิพลยังไม่ได้กระทำผิด มหาดไทยต้องเรียกมาคุยเพื่อป้องปราม โดยต้องมีการขีดเส้นตายให้เลิกกระทำพฤติกรรมเหล่านั้นภายใน 30 วัน หรือกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน เพื่อดำเนินการจัดการทางกฎหมายในมาตรการถัดไป

...

ส่วนกลุ่มผู้มีอิทธิพลในกลุ่มสีแดง ที่มีการกระทำผิดร้ายแรง ต้องมีการกำหนดว่าหน่วยงานไหนเป็นผู้เข้าไปจับกุม ถ้าเป็นกรณีที่ร้ายแรง ต้องให้หน่วยงานตำรวจส่วนกลางเข้าไปจับกุมทันที

ตอนนี้กลุ่มผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นมีมากขึ้น เนื่องจากความเจริญที่แพร่กระจาย มีเทคโนโลยีต่างๆ ที่ช่วยให้ผู้กระทำผิดรู้เท่าทันเจ้าหน้าที่ และมีแผนการกระทำผิดที่ซับซ้อนมากขึ้น ดังนั้นการปราบปรามผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น ต้องร่วมกันทั้งหน่วยงานตำรวจระดับจังหวัด ฝ่ายปกครอง และทหาร”

การปราบปรามผู้มีอิทธิพล ถ้ามีความโปร่งใส จะทำให้สังคมดี แต่ที่ผ่านมาล้มเหลว เพราะเลือกปฏิบัติ เน้นจัดการฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง หรือคนที่ไม่จ่ายใต้โต๊ะ

ระบบอุปถัมภ์ของผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น ส่วนใหญ่มีการเกื้อหนุนมาจากนักการเมือง เพราะเมื่อถูกจับแล้ว จะมีการวิ่งเต้นให้ปล่อยตัว สิ่งนี้เป็นเรื่องเลวร้าย จากผู้มีอิทธิพลที่อยู่ในกลุ่มสีเหลือง พอถูกจับเข้าบ่อยๆ ก็กลายเป็นผู้มีอิทธิพลในกลุ่มสีแดง โดยมีผู้มีอิทธิพลระดับชาติหนุนหลังอีกที.

...