'เบนนู' ดาวเคราะห์น้อยสุดอันตรายนอกโลก ที่อาจไขปริศนา มนุษย์มาจากไหน?...
ความน่าสนใจของวงการอวกาศ เกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อแคปซูลจากยานอวกาศ OSIRIS-REx ที่เดินทางไปนอกโลก เพื่อเก็บตัวอย่างหิน (Sample return mission) จาก 'ดาวเคราะห์น้อยเบนนู' (Bennu) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2016 ได้เดินทางกลับสู่โลกและลงจอดอย่างปลอดภัย บริเวณทะเลทรายในรัฐยูทาห์ เมื่อ 24 กันยายน ค.ศ. 2023 ประมาณสี่ทุ่มตามเวลาประเทศไทย ก่อนเจ้าหน้าที่จะเคลื่อนย้ายแคปซูลด้วยเฮลิคอปเตอร์ เพื่อเตรียมนำส่งศึกษาถึงต้นกำเนิดของชีวิตในระบบสุริยะต่อไป
20 ตุลาคม ค.ศ. 2020 ยานอวกาศ OSIRIS-REx สามารถลงจอดบนพื้นผิว เบนนู ได้และเริ่มภารกิจเก็บตัวอย่าง Touch-and-Go (TAG) สองวันต่อมา ทีมงานได้รับภาพยืนยันว่ายานลำนี้ เก็บตัวอย่างได้มากพอต่อความต้องการ โดยมี น้ำหนักอยู่ที่ประมาณ 2 ออนซ์ หรือ 60 กรัม
ข้อมูลจากเว็บไซต์ NASA ระบุว่า 'เบนนู' น่าจะแยกตัวออกจากดาวเคราะห์น้อยที่มีคาร์บอนขนาดใหญ่กว่ามาก เมื่อประมาณ 700 ล้าน ถึง 2 พันล้านปีก่อน ซึ่งน่าจะก่อตัว แถบดาวเคราะห์น้อย (Asteroid belt) ที่อยู่ ระหว่าง ดาวอังคาร กับ ดาวพฤหัสบดี และเริ่มเคลื่อนตัวเข้ามาใกล้โลกมากขึ้น นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่า โมเลกุลอินทรีย์ของ เบนนู อาจเกี่ยวข้องกับโมเลกุลที่เป็นการเริ่มต้นของชีวิตบนโลก
...
นอกจากอาจจะไขปริศนาของสิ่งมีชีวิตได้ เบนนู ยังเป็นดาวเคราะห์น้อยที่ NASA มองว่า 'เป็นหินอวกาศที่อันตรายที่สุดในระบบสุริยะ' ความน่าสนใจเหล่านี้ของ 'เบนนู' ทำให้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ต้องยกโทรศัพท์ติดต่อ 'ดร.มติพล ตั้งมติธรรม' นักวิชาการดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
ตอนที่พูดคุยข้อมูลนี้ ดร. ได้ไปทำงานที่ ประเทศกรีซ ซึ่งอยู่ระหว่างภารกิจติดตามคณะผู้แทนการแข่งขัน ดาราศาสตร์และดาราศาสตร์ฟิสิกส์ โอลิมปิกวิชาการระหว่างประเทศ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (IOAA Jr.) ที่เมือง Volos เราจึงได้รู้จักเรื่องนอกโลกแบบข้ามทวีปกันเลยทีเดียว...
ทำไมต้องเลือกเบนนู :
สาเหตุที่นักดาราศาสตร์สนใจดาวเคราะห์น้อยเหล่านี้ เพราะว่าพวกมันเกิดขึ้นไล่เลี่ยกันกับทุกอย่างในระบบสุริยะ การจะเดินทางย้อนเวลากลับไปดูต้นกำเนิด ก็เป็นสิ่งที่ยังทำไม่ได้ แต่การศึกษาดาวเคราะห์น้อย จะเป็นเหมือนการย้อนไปศึกษาต้นกำเนิดของระบบสุริยะ ซึ่ง ดาวเคราะห์น้อยเปรียบได้กับวัตถุที่คงสภาพของระบบสุริยะ เมื่อ 5 พันล้านปีที่แล้วเอาไว้ โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง
แม้ความจริงในห้วงลึกลับนั้น จะมีดาวเคราะห์น้อยหลายดวงที่วงการอวกาศให้ความสนใจ แต่ ดร.มติพล บอกว่า เหตุที่ เบนนู เป็นเป้าหมายหลักๆ ของการศึกษา เพราะมีปัจจัยที่เอื้อต่อการทำภารกิจ เก็บหินมาสำรวจยังโลก หรือ ที่เรียกว่า Sample return mission ดังนั้น สิ่งที่ต้องพิจารณาต่อการส่งยานทำภารกิจ คือ ไปง่ายที่สุด ใกล้ที่สุด ใช้เวลาน้อยที่สุด ใช้เชื้อเพลิงน้อยที่สุด
ถึงดาวเคราะห์น้อยส่วนมาก จะมีองค์ประกอบใกล้เคียงกับดาวตก ที่ตกลงมาสู่โลก แต่กว่าจะตกเป็นอุกกาบาต ก็ทำให้องค์ประกอบบางอย่างถูกเผาไหม้ จนทำให้เราศึกษาไม่ได้ การไปนำหินจากดาวเคราะห์กลับมาศึกษา จึงจะชัดเจนกว่านั่นเอง
...
ดาวเคราะห์น้อยเคยเกือบเป็นดาวเคราะห์? :
อย่างที่ ดร.มติพล ได้บอกไปว่า เบนนู และดาวเคราะห์น้อยอื่นๆ กำเนิดมาพร้อมๆ กับระบบสุริยะ เพราะฉะนั้น องค์ประกอบของมันจึงเป็นองค์ประกอบเดียวกับที่โลกถูกสร้างขึ้นมา ลองนึกภาพว่า ถ้าเบนบูและดาวเคราะห์น้อยอื่นรวมตัวกัน อาจจะกลายเป็นดาวเคราะห์ที่คล้ายกับโลกเราก็ได้
"มีความเชื่อกันว่า แถบดาวเคราะห์น้อยระหว่าง ดาวอังคาร กับ ดาวพฤหัสบดี ครั้งหนึ่งอาจจะเคยเกือบมีดาวเคราะห์ดวงหนึ่งเกิดขึ้น แต่โดนแรงดึงดูดของดาวพฤหัสรบกวน ทำให้มันกลายเป็นก้อนเล็กๆ แทนที่จะรวมกันเป็นก้อนใหญ่ๆ เพราะฉะนั้นการศึกษาองค์ประกอบของพวกนี้จึงเหมือนเป็นการศึกษาองค์ประกอบของโลก" ดร.มติพล กล่าว
ความน่ากลัวของเบนนู :
อีกอย่างที่ทำให้ เบนนู น่าสนใจ เพราะ เป็นดาวเคราะห์น้อยที่ค่อนข้างอันตราย เนื่องจากถูกจัดลำดับ ให้เป็นหนึ่งในดาวเคราะห์น้อยที่มีวงโคจรใกล้โลก
...
ดาวเคราะห์น้อยพวกนี้ส่วนมากจะโคจรรอบดวงอาทิตย์ แต่ก็มีวงโคจรของตัวเองที่นานทีจะมาใกล้โลก ส่วนโลกของเราก็มีแรงดึงดูด ที่อาจทำให้วงโคจรนั้นเปลี่ยน แต่ก็คำนวณได้ยากว่าเปลี่ยนเท่าไร นักวิทยาศาสตร์จึงทำการจำลองแบบโคจรขึ้นมา ทำให้บางครั้งพบว่า ถ้าเฉียดเข้าไปใกล้ช่องว่างเล็กๆ ในอวกาศ การเหวี่ยงวงโคจรของเบนนู อาจจะมากพอให้กลับมาชนโลก
เจ้าเบนนูมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 500 เมตร หากชนกับโลกขึ้นมา พลังงานที่เกิดขึ้นจะมากกว่าระเบิดนิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เท่าที่มนุษย์เคยสร้างมา ซึ่งถือว่ารุนแรงมาก ส่วนปีที่อันตรายที่สุดและสันนิษฐานว่าจะชน อยู่ประมาณปี ค.ศ. 2135
"มันเคยเข้ามาใกล้มาก แต่ที่บอกว่าใกล้ก็ยังไกลกว่าระยะห่างของโลกกับดวงจันทร์ ซึ่งมันเคยเฉียดเข้ามาและห่างออกไป วนอย่างนี้ซ้ำๆ แต่หากพุ่งชนโลกจริงๆ ตัวเลขพลังงานที่อาจจะเกิดขึ้น เท่าที่เคยหาข้อมูล อยู่ที่ประมาณ 1,200 เมกะตัน TNT equivalent โดยเปรียบเทียบกับระเบิดนิวเคลียร์ที่ลูกใหญ่ที่สุดอย่าง ซาร์บอมบา (Tsar Bomba) ซึ่งมีพลังงานอยู่ที่ 54 เมกะตัน แสดงว่าความรุนแรงของพลังงานจะมากกว่าถึง 20 เท่า"
...
เบนนูมีน้ำ? :
ดร.มติพล บอกว่า ที่เราเคยสงสัยกันว่า เบนนู มีน้ำไหม ตอนนี้ก็พบแล้วว่า 'เคยมีน้ำอยู่' และอาจจะมีชิ้นส่วนของสารอินทรีย์ ที่เพียงพอทำให้เกิดสิ่งมีชีวิตบนโลก ซึ่งตอนนี้ได้ Sample มาแล้ว หากนำไปวิเคราะห์ให้ละเอียด ก็อาจจะได้คำตอบมากขึ้น
คำบอกเล่าของ ดร.มติพล สอดคล้องกับบทความ 'Asteroid Bennu may have been home to ancient water flows' หรือ 'ดาวเคราะห์น้อยเบนนู อาจเป็นแหล่งของกระแสน้ำโบราณ'
จากบทความแสดงว่า ในการศึกษา เบนนู ครั้งแรก นักวิทยาศาสตร์ใช้ภาพถ่ายความละเอียดสูงจาก OSIRIS-REx เช่นเดียวกับสเปกโตรสโคปี [(Spectroscopy) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์ คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ปล่อยออกมาจากเบนนู เพื่อตรวจสอบคุณสมบัติของมัน] เพื่อศึกษาให้เข้าใจถึงองค์ประกอบปล่องภูเขาไฟไนติงเกลบนดาวเคราะห์น้อยนี้
การศึกษาพบว่าก้อนหินบริเวณนี้ คล้ายกับที่พบในอุกกาบาตชนิด Carbonaceous Chondrite ที่เคยตกมายังโลก ซึ่งบ่งบอกว่า ครั้งหนึ่งหินนี้เคยมีปฏิกิริยากับน้ำ
Hannah H Kaplan นักวิทยาศาสตร์ด้านดาวเคราะห์ จากศูนย์การบินอวกาศก็อดดาร์ดของ NASA ในรัฐแมรี่แลนด์ กล่าวถึงเบนนูว่า "เส้นทางนี้บ่งบอกว่ามีน้ำไหลผ่านดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ ตั้งแต่ช่วงแรกๆ ในประวัติศาสตร์ของระบบสุริยะ"
ภารกิจ ณ เบนนู :
ดร.มติพล ให้คำตอบในประเด็นนี้ว่า การที่เราจะเดินทางไปยังดาวเคราะห์น้อยดวงหนึ่งได้ก็ยากมากแล้ว เพราะถ้าเปรียบเทียบกับการเดินทางบนโลก เราแค่คิดว่าจากจุดหนึ่งจะไปจุดหนึ่ง แต่ในอวกาศนอกจากจะคิดว่าไปถึงจุดหนึ่ง ยังต้องให้สิ่งๆ นั้น มีความเร็วเท่ากันด้วย
"สมมติว่าจรวดพุ่งไปดาวเคราะห์น้อยเร็วมาก แต่ในอวกาศจะเบรกไม่ได้ หากอยากหยุดจรวด ก็ต้องเปลี่ยนความเร็วของจรวดให้เท่ากับดาวเคราะห์น้อยดวงนั้น เมื่อเท่ากันแล้วก็เข้าไปเก็บตัวอย่าง พอเสร็จภารกิจ ก็ต้องเปลี่ยนความเร็วให้ต่างกับดาวเคราะห์น้อย และเพิ่มระยะทางกลับมายังโลก ซึ่งก็ต้องเปลี่ยนความเร็วให้ใกล้เคียงกับโลก ถึงจะสามารถปล่อยตัวอย่างที่เก็บมา ให้ตกลงมาผ่านชั้นบรรยากาศของโลก ดังนั้น กว่าจะได้ตัวอย่างนี้ได้ก็ยากมาก แต่ทำได้ขนาดนี้ ผมก็ว่าเจ๋งมากแล้ว"
ความน่าสนใจอีกอย่างของ เบนนู คือ ตอนที่จะนำยานอวกาศลงเก็บตัวอย่าง ต้องเคลื่อนที่เข้าไปอย่างช้าๆ ดร. เปรียบเทียบว่า "ความเร็วเท่ากับแมลงตัวหนึ่งเดิน" ในตอนแรกคาดการณ์ไว้ว่า หากสามารถแตะพื้นได้ ก็จะปล่อยแก๊สมารบกวน เพื่อหวังว่าเศษผิวของเบนนู จะเข้ามาสู่ที่เก็บตัวอย่าง
แต่สถานการณ์จริงที่ยานได้แตะพื้นผิวของเบนนู ทุกอย่างก็ฟุ้งกระจายไปหมด เหมือนพื้นจะระเบิด พื้นผิวของเบนนูนั้นยวบกว่าที่คิดกันไว้ "ดาวพวกนี้เหมือนก้อนกรวด ที่ถูกยึดเอาไว้หลวมๆ ด้วยแรงโน้มถ่วง พอมันกระจายออก แรงโน้มถ่วงก็จะค่อยๆ ดึงให้มันกลับมารวมกันอีกรอบ"
เตรียมการศึกษาเบนนูต่อไป :
ดร.มติพล กล่าวว่า การศึกษาเหล่านี้ มีสิ่งที่ต้องกังวลคือ "สิ่งมีชีวิตบนโลกจะเข้าไปอยู่บนดาวเคราะห์น้อย" ดังนั้น เมื่อเดินทางมาถึงโลกแล้ว อาจจะมีอะไรเข้าไปเจือปนก็ได้ ภารกิจเหล่านี้จึงต้องใช้ความระมัดระวังค่อนข้างสูง ตัวอย่างต้องถูกเก็บมิดชิด ห้องที่ใช้ศึกษาถูกจัดทำขึ้นมาอย่างพิเศษ เพื่อป้องกันการเจือปนจากโลก
หลังจากแคปซูลเดินทางถึงฐานปฏิบัติการชั่วคราวของ NASA ในรัฐยูทาร์ ซึ่งตั้งอยู่ไม่ห่างจากจุดเก็บกู้มากนัก เจ้าหน้าที่ได้นำเอาแคปซูลเก็บไว้ในห้องคลีนรูมพิเศษ เพื่อเตรียมส่งต่อให้ ศูนย์อวกาศจอนห์สันของนาซา (NASA’s Johnson Space Center) ซึ่งจะรับหน้าที่เปิดแคปซูลและดูแลต่อไป
"สำหรับภารกิจนี้ จะมีการแบ่งชิ้นส่วนให้กับประเทศต่างๆ เพื่อร่วมกันตรวจสอบ เช่น ส่งไป NASA, แคนาดา, JAXA (องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น) เนื่องจากแต่ละห้องปฏิบัติการมีความเชี่ยวชาญต่างกัน และการช่วยกันตรวจสอบเช่นนี้ ก็เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ผลที่จะออกมา ซึ่งเป็นมาตรฐานที่กระทำกันอยู่แล้ว"
สุดท้ายแล้ว เบนนู จะไขปริศนาที่เหล่านักวิทยาศาสตร์ตั้งสมมติฐานไว้ได้หรือไม่ หรือ มนุษยชาติจะพบความลับใหม่ จากการศึกษาครั้งนี้ เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป...
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
ภาพ : NASA
อ่านบทความที่น่าสนใจ :