หลายปัญหาสิ่งแวดล้อมกำลังรอการแก้ไขจากรัฐบาลเศรษฐา ท่ามกลางภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นเร็วมาก จากก๊าซเรือนกระจก เป็นปัจจัยหลักเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ทำให้น้ำแข็งขั้วโลกละลาย และระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว นั่นคือสัญญาณเตือนมนุษย์ทุกคนต้องรีบปรับตัวและเปลี่ยนแปลงให้โลกดีขึ้น ก่อนที่หายนะจะเกิดขึ้นในไม่ช้า
ผลกระทบจากเอลนีโญและโลกร้อน ยังมีส่วนทำให้เกิดแพลงก์ตอนบลูมมากขึ้นในปี 2566 จนน้ำทะเลอ่าวไทยตอนในเป็นสีเขียว และขณะนี้ได้เน่าแล้ว จากการระบุของผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพราะน้ำทิ้งจากชุมชน อุตสาหกรรม และการเกษตร มีธาตุอาหารมากจนควบคุมไม่ได้วนอยู่ในอ่าวไทยตอนใน เหมือนมีระเบิดเวลาทำให้เกิดแพลงก์ตอนบลูมได้ตลอด และสงสัยว่าสารที่ทำให้คราบน้ำมันในทะเลแตกตัวเป็นเม็ดเล็ก อาจส่งผลบางอย่างต่อแพลงก์ตอนบลูม จำเป็นต้องศึกษาต่อไปแต่ก็ไม่ง่าย
น้ำเสียลงแหล่งน้ำ พัดสารอาหารตัวเร่งแพลงก์ตอนบลูม
...
ปรากฏการณ์แพลงก์ตอนบลูม หรือขี้ปลาวาฬ มักเกิดขึ้นทุกปีก็จริง แต่ปีนี้รุนแรงจากระดับธาตุอาหารลงสู่ทะเลในปริมาณมาก ตั้งแต่ปลายเดือน ก.ค. อย่างที่เห็นน้ำทะเลเป็นสีเขียวไปทั่วหาดบางแสน และลามไปถึงเกาะล้านในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ "ดร.สนธิ คชวัฒน์" ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ต้องออกมาเคลื่อนไหว และยอมรับว่าปีนี้เกิดแพลงก์ตอนบลูมหลายครั้งจริงๆ ในทะเลหาดบางแสน และพื้นที่อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี จากโลกร้อนและอุณหภูมิในน้ำทะเลร้อนมากกว่าพื้นโลก โดยเฉพาะทะเลอาร์กติก มีดอกไม้บาน แสดงว่าอุณหภูมิสูงขึ้น และเมื่อโลกร้อนขึ้น ทำให้คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2)ในอากาศ ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจก ถูกดูดลงทะเล
เมื่อสาหร่ายในทะเลหายใจเข้าไป ก็เจริญเติบโตเร็วขึ้น และลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ในฤดูฝน จากทะเลภาคใต้เข้าสู่ทะเลภาคตะวันออก ได้พัดพาตะกอนของเสียมาจากแม่น้ำชุมพร แม่น้ำเพชรบุรี แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำบางปะกง ลงสู่ทะเลอ่าวไทยตอนใน ได้พัดสารอาหารไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโปแทสเซียม เป็นจำนวนมากตามกระแสน้ำ ซึ่งเป็นปุ๋ยอย่างดี มารวมกันที่ก้นอ่าวไทยบริเวณศรีราชา และสัตหีบ ยิ่งทำให้สาหร่ายขยายพันธุ์เร็ว และเกิดแพลงก์ตอนบลูมเพิ่มขึ้นมากกว่าทุกปี จากนั้นไม่นานจะเริ่มตาย มีกลิ่นเหม็นคาว
“ถ้าเราไม่ป้องกันให้ขยะน้ำเสียลงแหล่งน้ำ ก็จะรุนแรงมากขึ้น จนปีนี้เกิดแพลงก์ตอนบลูม 3 รอบ และศรีราชาก็มีน้ำมันรั่วอีก ส่งผลกระทบต่อฟาร์มหอยแถวเกาะลอย และพอออกซิเจนในทะเลน้อยลง ก็ทำให้ปลาตายด้วย แต่หน่วยงานราชการกลับออกมาบอกเป็นเพราะแพลงก์ตอนบลูม และน่ากังวลใจมากสุดได้มาถึงก้นอ่าวแถวๆ สัตหีบ บางเสร่ พัทยา บางละมุง ศรีราชา จะกระทบต่อการท่องเที่ยว ก่อนจะพัดลงมาสมุทรปราการ และสมุทรสาคร”
จี้รัฐบาลจริงจัง อย่าย้อนแย้งเป้าหมายพัฒนาที่ยั่งยืน
อีกทั้งแพลงก์ตอนบลูมมีหลายชนิด ทั้งสีแดง และสีเขียว โดยบางชนิดมีพิษ เวลากินอาหารทะเลต้องทำให้สุกเสียก่อน เพราะจะทำให้ท้องเสียได้ง่าย หรือหากลงเล่นน้ำได้เผลอกินน้ำทะเลลงไป และทำให้ผิวหนังเกิดอาการคัน รวมทั้งแบคทีเรียกินเนื้อเข้าทางบาดแผล จึงอยากเรียกร้องไปยังรัฐบาลให้เข้ามาดูแลคุมเข้มโรงงานและชุมชน ไม่ให้ปล่อยขยะน้ำเสียลงในแหล่งน้ำที่จะพัดไปตามกระแสน้ำลงทะเลช่วงก่อนฤดูฝนในปีหน้า
ปรากฏการณ์แพลงก์ตอนบลูม จะเกิดขึ้นไปจนถึงเดือนต.ค. และปัจจุบันน้ำทะเลเน่า เพราะแพลงก์ตอนบลูมตาย จากนั้นน้ำทะเลจะเริ่มใสขึ้น เนื่องจากลมเปลี่ยนทิศพัดสารอาหารจากขยะน้ำเสียออกจากทะเล แต่อยากให้รัฐบาลจริงจังในเรื่องนี้ หลังนายกรัฐมนตรีเสร็จภารกิจจากต่างประเทศ เพื่อไม่ให้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน Sustainable Development Goals (SDGs) ตามที่ตกลงกับสหประชาชาติ มีความย้อนแย้ง เพราะเรื่องสิ่งแวดล้อมทำไม่ได้ จากโลกร้อนขึ้น มีเพียงเรื่องการศึกษา และแก้ปัญหาความยากจนเท่านั้นที่ทำได้ ควรต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เป็นประโยชน์สูงสุด ไม่ใช่ใช้จนหมดไป แต่ต้องทำให้ลูกหลานได้ใช้ในอนาคตอย่างยั่งยืน.
...