คุยกับกูรูด้านเศรษฐกิจ วิเคราะห์ โครงการ "แลนด์บริดจ์" จะไปต่อในรัฐบาลเศรษฐา ได้หรือไม่ เพราะมีหลายโครงการรอใช้เงิน ขณะที่สภาพเศรษฐกิจก็ยังไม่ฟื้นตัว...

มีกระแสข่าวว่า รัฐบาลใหม่ อาจจะไม่สานต่อโครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (ชุมพร-ระนอง) หรือ โครงการแลนด์บริดจ์ อภิมหาเมกะโปรเจกต์ มูลค่าการลงทุน 1 ล้านล้าน ที่หวังเปิดประตูการค้าใหม่ เส้นทางขนส่งเชื่อม 2 ฝั่งทะเล ซึ่งเวลานี้อยู่ในขั้นตอนของการศึกษาออกแบบ ประเมินผลกระทบ รวมถึงวิเคราะห์การลงทุน โดย สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ ได้รับคำยืนยันจาก นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม ได้ปฏิเสธข่าวพร้อมยืนยันว่าจะเดินหน้าต่อ 

“ไม่เป็นความจริง ตนได้ให้นโยบายกับผู้บริหารกระทรวง คมนาคม อย่างชัดเจนว่า โครงการนี้จะเดินหน้าอย่างแน่นอน ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาโครงการของ สนข. เมื่อศึกษาแล้วเสร็จ จะเดินหน้าตามกระบวนการต่อไป โดยมีเอกชนจากจีนและฝรั่งเศสให้ความสนใจในการลงทุนครั้งนี้” 

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้ต่อสายพูดคุยกับ รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการด้านเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ มาวิเคราะห์ โครงการแลนด์บริดจ์ ว่าควรไปต่อ หรือพอแค่นี้ หากเลือกด้านใดด้านหนึ่ง จะส่งผลอย่างไร 

...

คอคอดกระ สู่ แลนด์บริดจ์ 

รศ.ดร.สมชาย ปูพื้นโครงการนี้ว่า มาจากแนวคิดการขุดคอคอดกระ ซึ่งมีมานานแล้ว นอกจากประเด็นเรื่องความมั่นคงของประเทศ ยังมีประเด็นในเรื่อง “เงิน” ที่จะใช้ในการลงทุน จึงกลายเป็นว่า เรื่องนี้ถูกพูดและผ่านไป 

กระทั่งปัจจุบัน ยังมีคณะกรรมาธิการบางคณะ ยังพูดถึงเรื่อง “คลองไทย” ซึ่งส่วนตัวคิดว่า การขุดคลองไทย ก็ยังเป็นไปไม่ได้ หากมองในมุมเรื่องค่าใช้จ่าย เป็นไปได้ แต่ในเรื่องความมั่นคง นี่คงยาก สาเหตุเพราะ สหรัฐฯ กับจีน ยังคงมีความขัดแย้งกันมาตลอด 

“หากขุดคลองไทย จะทำให้ประเทศไทย เลือกข้างมาอยู่ฝั่งจีน เพราะจะเป็นการช่วยร่นระยะเวลา และยังมีปัญหากับประเทศในอาเซียน อย่างสิงคโปร์อีก เรียกว่าอยู่ดีๆ ก็ไปสร้างปัญหาขึ้นมา”

ฉะนั้น ทางเลือกอีกทางถ้าไม่ขุดคลองไทย ด้วยการทำแลนด์บริดจ์ โดยไม่ต้องขุดคลอง แต่ยังเชื่อมอันดามัน-อ่าวไทย ในลักษณะในการร่นระยะเวลาขนส่ง ซึ่งวิธีการนี้มีความเป็นไปได้สูงกว่าการขุดคลอง 

แต่...สิ่งที่ต้องวิเคราะห์ คือ เราจะเอาเงินลงทุนมาจากไหน เนื่องจากเป็นโครงการใหญ่มาก และปัญหาอื่นๆ เช่น เรื่องโลจิสติกส์ จะคุ้มทุนขนาดไหน ดังนั้น ทุกอย่างต้องคิดและวางแผนให้ดี 

คิดหนัก กับการลงทุนมหาศาล ในช่วงที่ต้องการใช้เงิน 

สิ่งที่ อาจารย์สมชาย แสดงความเป็นห่วง คือ สภาพเศรษฐกิจเวลานี้ จะมีความพร้อมลงในโครงการ เมกะโปรเจกต์ แบบนี้หรือไม่

“เวลานี้สภาพเศรษฐกิจโลก อยู่ในช่วงการฟื้นตัวอย่างช้าๆ มันอาจจะเป็นภาระในการลงทุนในการทำโครงการใหญ่ขนาดนี้ ขณะที่ โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor (EEC) ยังต้องรอดูว่า จะประสบความสำเร็จขนาดไหน ขณะเดียวกัน โครงการนี้ ก็เป็นส่วนหนึ่งของ Southern Economic Corridor ซึ่งถือเป็นโครงการใหญ่ ที่รัฐบาลอาจจะคิด “ชะลอ” ไว้ก่อน ส่วนตัวมองว่า นี่แหละคือสิ่งที่รัฐบาลประเมิน ส่วนจะยกเลิกหรือไม่ อีกประเด็นหนึ่ง หรือแม้แต่ประเด็นเรื่องขุดคลอง ผ่านมา 30-40 ปีก็ยังมีคนพูดถึง ขณะที่ แลนด์บริดจ์ เชื่อว่า สิ่งที่ต้องดูคือจะมีเงื่อนเวลามาเกี่ยวข้องด้วย” 

อาจารย์สมชาย มองว่า ช่วงนี้เป็นช่วงรอยต่อของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ สิ่งที่ต้องรอดูก็คือ EEC ซึ่งก็ถือว่ามีความสำเร็จไปแล้วบางส่วน แต่ก็ยังไม่เห็นเด่นชัด ฉะนั้น สิ่งที่รัฐบาลอาจจะมุ่งไป คือ EEC อาจจะง่ายกว่า เพราะมันเกี่ยวพันกับ “เงื่อนเวลา” และ “ความสามารถทางเศรษฐกิจ” ของประเทศในขณะนี้ 

แสดงว่าประเด็นที่เป็นห่วงคือเรื่องเงินลงทุน 1 ล้านล้าน แม้จะร่วมกับเอกชน ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ และการเมืองระหว่างประเทศ อธิบายว่า รัฐบาลเองมีนโยบายหลายโครงการที่ใช้เงิน ซึ่งเมื่อนับดูแล้วก็พบว่า “ค่าใช้จ่ายเยอะมาก” ยกตัวอย่างง่ายๆ การ “ลดค่าไฟฟ้า” มีการลดราคามาเหลือ 3 บาทกว่า จาก 4 บาทกว่าต่อหน่วย วิธีการลดค่าไฟของรัฐ ใช้วิธีการชะลอการจ่ายคืนให้กับ กฟผ. และ ปตท. 

...

การชะลอแบบนี้แปลว่า 2 บริษัทนี้ให้การอุดหนุนชั่วคราว แปลเป็นภาษาบ้านๆ คือ “เงินที่ควรจะได้” หายไป หากสังเกตดูทาง กฟผ. เองเขาก็บอกว่าสามารถช่วยได้ในกรอบหนึ่ง แต่ถ้าช่วยนานๆ ก็จะเกิดปัญหาแบกรับ เรียกว่าเป็นการอุดหนุนให้ต่ำกว่าทุน ซึ่งเป็นการช่วยเหลือได้ “ชั่วคราว” หากอุดหนุนไปเรื่อยๆ บริษัทเขาจะถูกลดเรตติ้งลง 

เมื่อหันไปดู กลุ่มหนี้สินภาคเกษตร ทั้งเงินต้น และดอกเบี้ย ทุกอย่างล้วนเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงิน เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องคิดหนัก เพราะมีหลายเรื่องต้องใช้เงิน 

แลนด์บริดจ์... โอกาสไปต่อหรือพอแค่นี้ 

รศ.ดร.สมชาย ระบุว่า โครงการแลนด์บริจด์ ถือเป็นโครงการที่ดี เพราะมันช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ได้ แต่หากเลือกที่จะขุดคลอง ก็ใช้เงินเยอะเหมือนกัน แต่มันมีปัญหาตามมา ทั้งด้านมั่นคง และสภาพแวดล้อม 

เมื่อถามว่า มันควรไปต่อ หรือพอแค่นี้ สิ่งที่ได้และเสีย คุ้มกับการลงทุนหรือไม่ รศ.ดร.สมชาย กล่าวว่า มันมีการศึกษาทุกอย่างแล้ว ผลบอกว่า “ได้มากกว่าเสีย” แต่การลงมือทำจริงๆ มันอาจจะไม่ได้เป็นไปอย่างที่คาดการณ์ เพราะมันเกี่ยวข้องกับปัจจัยหลายอย่าง อาทิ ค่าใช้จ่าย หรือเงินเฟ้อเมื่อเกิดวิกฤติ การศึกษาในเบื้องต้นเวลานี้ยังไม่พอ 

...

“คิดง่ายๆ เพียง 3-4 ปีนี้ เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 6-7% ทั่วโลกมีปัญหาหมด ขณะที่รัฐบาลก็แบกรับหลายเรื่อง เรื่องเหล่านี้เอง เป็นเรื่องที่คิดว่าต้องเอาไปพิจารณาให้ลึกซึ้งว่าเหมาะสมขนาดไหน เพราะมีเรื่องที่รอใช้เงินอีกเยอะมาก” 

หาก แลนด์บริจด์ ไม่ได้ไปต่อ เสียอะไรหรือไม่ กูรูด้านเศรษฐกิจ มองว่า ไม่เสีย เพราะเวลานี้ยังไม่ได้ทำอะไร โอกาสเศรษฐกิจ ก็ยังไม่รู้ว่าทำแล้วจะประสบความสำเร็จหรือไม่ประสบความสำเร็จแค่ไหน ถ้าสำเร็จมันก็ดี 

“เราจะประเมินว่า หากไม่ทำแล้วมันจะเสียอนาคต เราคิดแบบนั้นไม่ได้ เพราะทุกอย่างมันยังไม่ชัด เนื่องจากเรายังไม่รู้แน่ชัดว่า 'ดีไหม' กับ 'เป็นไปตามความเป็นจริงไหม' ถึงแม้การศึกษาที่ออกมาพบว่า มีข้อดีหลายอย่าง แต่ก็มีข้อที่ต้องระวัง โดยเฉพาะการประเมินค่าใช้จ่าย หากคิดผิดงบบานปลายนี่อันตรายเลย”

ถ้าจะทำจริงๆ เวลานี้ สภาพการเงินไม่พอ?  

ประเด็นสำคัญคือ เสถียรภาพทางการเงินเราอยู่ภาวะ “ปริ่มน้ำ” ดูที่ “หนี้สาธารณะ” มันควรจะต่ำกว่า 60% แต่ตอนนี้ไป 61% และ กำลังไปที่ 64% การขาดดุลงบประมาณควรจะอยู่ที่ 3% มีการประเมินบอกว่าน่าจะ 3.6% แต่ส่วนตัวคิดว่าน่าจะ 4% ดังนั้น ดูสถานการณ์ภาพรวมจึงปริ่มน้ำ ขณะที่งบประมาณการลงทุน ก็ยิ่งปริ่มน้ำหนักกว่า เพราะเหลือเพียง 20% ซึ่งความจริง คือ มันควรจะอยู่ที่ 30 กว่าเปอร์เซ็นต์ ดังนั้น การจะทำโครงการเหล่านี้จำเป็นต้องมีงบลงทุน 

...

สิ่งที่รัฐบาลกำลังจะทำ มีหลายเรื่องที่จะเป็น “งบประจำ” ที่สำคัญ คือ เวลานี้กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย จำนวนคนแก่ จะทำให้รายได้ประเทศลดลง ตอนนี้มี 11 ล้านคน อีก 16 ปี ข้างหน้าจะมีคนแก่ 21-22 ล้านคน ฉะนั้น รายจ่ายสำหรับคนแก่จะมีมากขึ้น ขณะที่รายรับจากคนทำงานน้อยลง 

เวลานี้คนทำงาน 65% ดูแลคนไม่ทำงาน 35% หากอีก 10 ปีข้างหน้า คนทำงานจะเหลือ 55% ดูแลคนไม่ทำงาน 45% บวกกับเศรษฐกิจไทย ขยายตัวต่ำที่สุดในอาเซียน คือ 3% ติดต่อกัน 10 กว่าปี เพราะความสามารถในการแข่งขัน นี่เองคือสิ่งที่ต้องคิด รายจ่ายของรัฐบาลที่มีมาก จะหาเงินจากที่ไหนมาจ่าย...

ดร.สมชาย กล่าวทิ้งท้ายว่า เงื่อนไขที่ต้องคิด หรือนโยบายต่างๆ ที่รัฐบาลเคยไปหาเสียงก่อนเลือกตั้ง ทุกอย่าง ทุกโครงการมีค่าใช้จ่าย ฉะนั้น หากแต่รัฐบาลจะชะลอดู ก็ถือว่าเหมาะสม 

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านบทความที่น่าสนใจ