“แม่นกน้อย อุไรพร” ศิลปินหมอลำอาวุโส โต้เดือดกรณีดราม่าเพลงคนจนมีสิทธิ์ไหมคะ มีการนำเพลงไปแปลงสอดแทรกคำพูดลามก ทำให้เป็นที่วิจารณ์ของสังคมถึงความเหมาะสมที่นำมาเผยแพร่ในโลกโซเชียล "แม่นกน้อย" มองว่า ทำให้คนที่ไม่รู้จักหมอลำ มองวัฒนธรรมอีสานเป็นภาพลบ ทั้งที่จริงมีเทคนิคในการสร้างเสียงหัวเราะ โดยไม่ต้องใช้คำลามก 

กลายเป็นไวรัลคลิปในโซเชียล เมื่อมีคนเผยแพร่คลิปการแสดงสดลำซิ่งของคณะทิวลิป เอ็นเตอร์เทนเมนท์ เมื่อ 30 ปีก่อน โดยมีการแปลงเพลง “สมองจนจน” เพลงดังในอดีตของ มืด ไข่มุก (วงพลอย) และดัดแปลงบางตอนมีเนื้อหาถึงอวัยวะเพศ จน ป๋อ ณัฐวุฒิ สกิดใจ ออกมาโพสต์ติงถึงความเหมาะสม เพราะในโซเชียลมีเด็กที่เสพสื่อเหล่านี้อยู่ด้วย ขณะที่นักวิชาการมองว่า การแสดงหมอลำ โดยมีการแปลงเพลง ถือเป็นการสะท้อนถึงวัฒนธรรมอีสาน

ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ สอบถามไปยังหมอลำชั้นครู “แม่นกน้อย อุไรพร” ศิลปินลูกทุ่งหมอลำ และผู้ก่อตั้งคณะหมอลำเสียงอิสาน ให้ความคิดเห็นหลังจากชมคลิปว่า จากการฟังเพลงแปลงในโลกโซเชียล แม่มองว่า ไม่เหมาะสม เนื้อเพลงต้นฉบับมีความงดงามอยู่เดิมแล้ว ถูกนำมาแปลงเป็นเพลงสองแง่สองง่าม จนกลายเป็นกระแสในโลกโซเชียล แต่เป็นกระแสในด้านลบต่อเพลงหมอลำอีสาน

...

“แม่ขอพูดในนามผู้อาวุโสในวงการหมอลำ ที่ดูแลรักษาด้านวัฒนธรรม แม้มีคนมองว่าเป็นบทเพลงที่สะท้อนวิถีชีวิต แต่แม่มองว่า ทำให้คนที่ไม่รู้จักเพลงหมอลำ มองว่าเป็นเพลงลามก ไม่ควรนำมาเผยแพร่บนโลกโซเชียล ส่วนคนที่เลียนแบบคาดว่าอยากเกาะกระแส แต่จริงแล้วไม่ควรทำ”
การแสดงดังกล่าวเป็นคลิปที่ถูกบันทึกไว้เมื่อ 30 ปีก่อน คาดว่าคนที่นำมาลงในโซเชียลอีกครั้ง เพราะอยากได้กระแสจากสังคม ยุคนี้เป็นโลกยุคโซเชียลที่ชอบอะไรแรงๆ แต่ความเห็นของแม่ อยากฝากถึงเยาวชนรุ่นหลังว่า เพลงหมอลำ ไม่จำเป็นต้องร้องแบบสองแง่สองง่าม หรือใช้คำตรงๆ จนดูหยาบคายมากเกินไป แม่จึงไม่สนับสนุนให้หมอลำรุ่นใหม่เลียนแบบตาม

เพลงหมอลำที่แปลงมาร้องแบบสองแง่สองง่าม ไม่สามารถมองว่าเป็นวัฒนธรรมอีสานได้ โดยเฉพาะหมอลำที่เป็นตัวเอก ไม่นิยมร้องเพลงโดยใช้คำพูดลามก การใช้คำเหล่านี้ใช้ในกลุ่มนักแสดงตลกที่ขึ้นไปแสดงบนเวทีได้ หมอลำชั้นครูตั้งแต่โบราณ ถ้าจะร้องหมอลำ แล้วสื่อสารในลักษณะนี้ มีการเลี่ยงโดยใช้เทคนิค เช่น หยุดร้อง หรือใช้คำอื่น แต่ไม่พูดลามกแบบตรงๆ อย่างในคลิป

“ถ้ามองแบบเป็นกระแสก็อาจจะขำ แต่สำหรับคนที่สืบทอดวัฒนธรรมหมอลำอีสานอย่างแม่ ไม่ขำด้วย จึงอยากเตือนว่า อย่าอยากได้แต่กระแส จนลืมรากเหง้าวัฒนธรรมหมอลำอีสาน ที่เป็นรากของการแสดงจริง เพราะวงหมอลำเสียงอิสาน เราพยายามอนุรักษ์วัฒนธรรมหมอลำ จรรโลงภาษาถิ่นที่งดงามมาตั้งแต่โบราณ”

สำหรับหมอลำรุ่นใหม่ แม่ไม่อยากให้ร้องคำลามกออกมาแบบตรงๆ ขนาดนั้น แต่ต้องรู้จังหวะการใช้เทคนิคการแสดง เพราะอย่าลืมว่าหมอลำ คนต่างถิ่นที่ไม่รู้จักอาจมองในภาพลบ ทั้งที่จริงหมอลำเรามีความงดงาม ที่คนภูมิภาคอื่น ถ้าได้ลองเข้ามาฟังและสัมผัสให้ถึงแก่นแท้จะเข้าใจถึงวัฒนธรรมอีสานมากขึ้น.