ดราม่าเดือดกลางสภาฯ เมื่อ สส.หมิว สิริลภัส เขตบางกะปิ พรรคก้าวไกล ออกมาโต้ เมื่อมี สส.ท่านหนึ่งแอบถ่ายภาพขณะกำลังหยิบอาหารจากห้องอาหารในสภาฯ กลับบ้าน แม้รองประธานสภาฯ ออกมายืนยันว่านำกลับได้ แต่ในมุมของกฎหมาย PDPA การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ถือว่ายังไม่ผิด
ภาพถ่ายที่ถูกโพสต์ลงบนโซเชียล จนกลายเป็นดราม่า เมื่อ สส.หมิว สิริลภัส เขตบางกะปิ พรรคก้าวไกล ออกมาโต้ กรณีภาพของ สส.หมิว กำลังหยิบอาหารจากห้องอาหารไป และระบุข้อความว่า "พบเห็นอดีตดาราสาว ลักลอบนำอาหารสภากลับบ้าน" แต่ปิดบังใบหน้าบนรูปถ่ายด้วยผลส้ม จนหมิวต้องออกมาชี้แจงถึงความเหมาะสม ที่อาหารในการประชุม สส.เหลือจำนวนมาก
กรณีที่เกิดขึ้นตามกฎหมาย PDPA การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลบนระบบคอมพิวเตอร์ ทนายเกิดผล แก้วเกิด ทนายความชื่อดัง ให้ข้อมูลว่า จากภาพที่ปรากฏบนโลกโซเชียล ด้วยความที่ สส.หมิว สิริลภัส เป็นบุคคลสาธารณะ และสถานที่ในการถ่ายภาพเป็นพื้นที่สาธารณะซึ่งเป็นสภาฯ ที่มาจากภาษีของประชาชน ถือว่าไม่มีความผิดตามหลักของ PDPA
“ภาพที่เกิดขึ้นถือเป็นการถ่ายในพื้นที่สภาฯ เกี่ยวโยงกับพฤติกรรมการปฏิบัติหน้าที่ สส. จึงยังไม่ก่อให้เกิดผลต่อข้อมูลความเสียหายส่วนบุคคล แม้มีการนำรูปผลส้มมาบดบังใบหน้าในรูป แต่ด้วยความที่ผู้ถูกถ่ายเป็น สส. ซึ่งเป็นบุคคลสาธารณะ ที่อยู่ในพื้นที่ทำงานในสภาฯ แต่ถ้าอีกกรณีที่เอาผิดได้ตามกฎหมาย PDPA เช่น การที่ สส.อยู่ในบ้านพักส่วนตัวแล้วไปแอบถ่าย จึงจะเข้าข่ายการละเมิดสิทธิ”
...
สิ่งของต่างๆ เมื่ออยู่ในสภาฯ ถือเป็นเรื่องสาธารณะที่ประชาชนสามารถรับรู้ได้ ถือว่าการประพฤติของ สส. เป็นสิ่งที่ประชาชนควรรู้ และสามารถตรวจสอบได้ แต่ในกรณีที่สามารถฟ้องร้องได้ หาก สส. คนดังกล่าวไปเที่ยวทะเล แล้วมีคนไปแอบถ่าย ก็สามารถเอาผิดกับคนถ่ายได้
ในทางกลับกัน สส.หมิว สิริลภัส สามารถเรียกร้องในเรื่องหมิ่นประมาท หากมีการคอมเมนต์หรือโพสต์ในลักษณะดูถูกหรือทำให้เสียหาย หรือลงข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตที่เป็นเท็จ ความผิดเรื่องการหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท
“ในเรื่องของสาธารณะที่ทุกคนมีสิทธิจะทักท้วง ถือเป็นสิทธิอันชอบธรรมที่มีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์ กระทำด้วยสุจริต ไม่มีเจตนาทำลายชื่อเสียง ยิ่งเป็น สส. ประชาชนสามารถตรวจสอบการทำงานได้ ดังนั้น คนที่รับข้อมูลข่าวสารควรรับฟังทั้งสองฝ่าย”.