เมื่อเข้าสู่ยุคโลกออนไลน์ 'รายการเด็ก' ของไทย ยังสำคัญอย่างไร เมื่อเด็กไม่ดูโทรทัศน์ และดันทุรังทำก็ไม่มีกำไร?...

'การเติบโตทำให้ความทรงจำนั้นมีค่า' หากลองนึกย้อนกลับไปครั้งยังเป็นเด็ก อะไรจะมีความสุขไปกว่าการได้นั่งกินข้าวแล้วดู เจ้าขุนทอง ก่อนไปโรงเรียน กลับบ้านมาก็มีรายการสนุกๆ สะกดเราให้อยู่หน้าโทรทัศน์ หรือแม้ไม่ได้ไปโรงเรียนวันเสาร์-อาทิตย์ ก็ยังต้องตื่นเช้า เพราะไม่อยากพลาดดูการ์ตูนเรื่องโปรด

นึกไปนึกมาก็ทำให้คิดถึง รายการเด็ก เหล่านั้นที่เคยดู แต่ตอนนี้ถ้าไล่เปิดโทรทัศน์ทุกช่อง แทบจะไม่หลงเหลือความทรงจำเหล่านั้นอยู่เลย หนำซ้ำรายการเด็กใหม่ๆ ก็ยังไม่มีอีก ทำให้เราอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า "รายการเด็กหายไปไหน จากหน้าจอโทรทัศน์ไทย"

สำหรับสังคมไทยแล้ว อาจจะมองว่านี่ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร เพราะเด็กเข้าสู่ โลกออนไลน์ กันมากขึ้น แต่อาจลืมคิดกันว่า ไม่ใช่เด็กทุกคนที่จะเข้าถึงโลกออนไลน์ได้ สถานการณ์ช่วงโควิด-19 น่าจะเป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นภาพชัดขึ้น ผู้ใหญ่บอกว่าเด็กได้รับสื่อไม่ดีจากโลกออนไลน์ นั่นอาจแสดงให้เห็นว่าสังคมควรทบทวนเรื่องสื่อเด็กให้จริงจังมากขึ้นหรือไม่ เพราะทุกวันนี้ เด็กไม่ดูหรือเราไม่มีให้เขาดู

แล้วทำไมรายการเด็กถึงหายไป จะส่งผลอย่างไรต่อเด็ก ใครมีส่วนเกี่ยวข้อง และสังคมไทยควรทำเช่นไร ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะพาไปขยายความเรื่องนี้ให้มากขึ้น ผ่านการพูดคุยกับ 'ผศ.ดร.มรรยาท อัครจันทโชติ' หัวหน้าภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผศ.ดร.มรรยาท อัครจันทโชติ
ผศ.ดร.มรรยาท อัครจันทโชติ

...

รายการเด็กของไทย :

อาจารย์มรรยาท บอกว่า รายการเด็กที่ออกอากาศทางโทรทัศน์ เป็นสื่อประเภทหนึ่งจากสื่อเด็กทั้งหมด ช่วงแรกที่ต่างประเทศมีโทรทัศน์ ราคาค่อนข้างสูง และต้องเสียภาษีหากมีครอบครอง จึงมีการใช้รายการเด็กเป็นจุดดึงดูด เพราะถ้าผู้ปกครองเห็นว่าโทรทัศน์มีสื่อที่ช่วยพัฒนาลูกได้ ก็จะยอมจ่ายเงินเพื่อซื้อมัน

เมื่อโทรทัศน์ในสหรัฐอเมริกาเปิดตัวขึ้นครั้งแรก ก็กลายเป็นยุคทองของรายการเด็กได้เลย แต่จากการทำวิจัยของอาจารย์มรรยาท ในโอกาสครบรอบ 60 ปีโทรทัศน์ไทย ทำให้รู้ว่าตั้งแต่ปี 2498 ที่มีช่องสี่บางขุนพรหม กระทั่งเกิดทีวีดิจิทัลขึ้น พบว่า รายการเด็กในประเทศไทยไม่เคยมียุคทอง ถ้าไม่เสมอตัวก็ตกต่ำหรือเกิดปัญหามาตลอด ช่วงแรกจะมีเวลาสำหรับรายการเด็กประมาณครึ่งชั่วโมง หลังจากนั้นก็โดนลดเวลาลงเรื่อยๆ

"ครั้งที่องค์การสหประชาชาติ ได้กำหนดให้เกิดปีเด็กสากล ประเทศไทยก็มีแผนพัฒนาเด็กเกิดขึ้น ในแผนได้พูดถึงสื่อสำหรับเด็กเป็นครั้งแรก และรัฐบาลไทยลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก นั่นแสดงว่าประเทศที่เป็นสมาชิกมีหน้าที่ทำให้เด็กเข้าถึงสื่อคุณภาพ แต่สิ่งที่เป็นปัญหาคือ ประเทศเรามีเพียงแผน แต่ไม่ปฏิบัติ"

ความสำคัญของรายการเด็ก :

รายการหรือสื่อสำหรับเด็กเป็นสิ่งที่ช่วยพัฒนาการเรียนรู้ด้านต่างๆ เช่น สติปัญญา การเข้าสังคม คุณธรรม จริยธรรม ดังนั้นทุกสิ่งรอบตัวของเด็กรวมถึงสื่อ ไม่ว่าจะอยู่ในแพลตฟอร์มใด ถือเป็นนิเวศที่ทำให้เด็กเกิดการพัฒนา

"ประเทศที่เราชอบบอกว่าเขาเจริญ ถ้าย้อนดูจะเห็นว่าเขาสร้างเด็กตั้งแต่เล็ก เช่น ญี่ปุ่น จะมองว่าเด็กสามารถสร้างชาติ เมื่อเขาวางแผนยุทธศาสตร์ชาติ ก็จะมองว่าควรทำอะไรกับเด็ก เพื่อบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ แม้ญี่ปุ่นจะมีเทคโนโลยีมากมาย แต่ยังมองว่ามนุษย์สำคัญ ต้องสร้างมนุษย์ให้เป็นมนุษย์ ให้มีความคิดสร้างสรรค์และสุนทรียะ

คนมักบอกว่าดิฉันชอบพูดเรื่องยุคเก่าโลกสื่อดั้งเดิม เลยโต้กลับว่าสิ่งที่เราพูดไม่ใช่เพียงรายการทีวี แต่เป็นนิเวศสื่อสำหรับเด็กของเมืองไทย ทุกสื่อและทุกแพลตฟอร์มต้องคิดถึงเด็กเป็นกลุ่มเป้าหมายด้วย ฉะนั้นไม่ว่าเด็กจะใช้สื่ออะไร เขาควรได้เข้าถึงสื่อเด็กที่มีคุณภาพ"

การหายไปของรายการเด็กไทย :

เมื่อปี 2540 เกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง รายการเด็กหายไปจากหน้าจอโทรทัศน์ไทยเกือบหมด รวมถึง รายการซุปเปอร์จิ๋ว ที่จะปิดตัวลงเช่นกัน แต่พิธีกรรายการอย่าง พี่ซุป (วิวัฒน์ วงศ์ภัทรฐิติ) ก็ขอซื้อลิขสิทธิ์เพื่อมาเปิดบริษัททำเอง เพราะรักในรายการนี้

อาจารย์มรรยาท เผยว่า เคยมีคนทำรายการเด็กไปขอทุนสนับสนุน แล้วได้รับการตอบกลับว่า 'รายการก็ดีนะ แต่ถ้าอยากจะทำบุญไปที่วัดก็ได้' นั่นเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้รายการเด็กไม่สามารถหาพลังจากสังคมได้ หลายรายการที่เป็นความทรงจำวัยเยาว์และรู้จักกันดี จึงต้องล้มหายตายจาก "เวลาสอนนิสิตแล้วพูดถึง เจ้าขุนทอง เขาก็ร้องเพลงต่อกันได้ แต่ตอนเจ้าขุนทองหายไป สังคมก็เงียบเหมือนกัน"

...

เจ้าขุนทอง
เจ้าขุนทอง

ก่อนที่จะมีทีวีดิจิทัล กสทช. ได้ออกประกาศเรื่องผังรายการ กำหนดให้สถานีโทรทัศน์และวิทยุทุกช่อง ต้องมีรายการที่เหมาะสมสำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัว อย่างน้อย 60 นาทีต่อวัน โดยกำหนดเป็นช่วงเวลา 16.00-18.00 น. ของทุกวัน และเพิ่มช่วง 07.00-09.00 น. ของวันเสาร์-อาทิตย์

ประกาศนี้เกิดขึ้นเมื่อปี 2556 ก่อนจะเริ่มมีการทดลองออกอากาศทีวีดิจิทัลในปี 2557 แสดงว่าทุกช่องต้องทราบว่าเป็นประกาศบังคับ แต่สุดท้ายก็ไม่ถูกเอามาใช้ในทางปฏิบัติ

"กสทช. ยอมรับว่าไม่สามารถไปกำกับได้ เพราะธุรกิจย่ำแย่อยู่แล้ว ตอนปี 2557 เริ่มทำวิจัยและเก็บข้อมูล โดยการเปิดดูทุกช่องตามเวลาที่ กสทช. ประกาศ พบว่า มีช่องที่สามารถทำได้ตามประกาศเรื่องเวลาแค่ประมาณ 2 ช่องเท่านั้น ที่น่าสนใจ คือ ช่องที่ทำเวลาไม่ถึง เป็นช่องที่ประมูลไปในหมวดเด็กและครอบครัว กรณีช่องโทรทัศน์หมวดเด็ก เยาวชน และครอบครัว มีคนท้วงติง กสทช. ตั้งแต่เริ่มว่าใช้วิธีการประมูลไม่ได้ เพราะจะกลายเป็นเรื่องของธุรกิจ

...

รายการเด็กไม่จำเป็นต้องมีหลายช่อง ช่องเด็กของต่างประเทศที่ยังอยู่ได้ คือช่องสื่อสาธารณะที่ภาครัฐสนับสนุน เพราะเขาถือว่าเป็นพันธกิจสำคัญ ที่จะต้องสร้างคนให้ประเทศ ส่วนในไทยเกิดขึ้นยากมาก หากรัฐปล่อยให้สู้เอง ตอนประกาศคืนใบอนุญาต ผู้ถือที่ประมูลช่องเด็กเยาวชนและครอบครัว ไม่มีใครสามารถสู้กระแสธุรกิจได้เลย"

Sesame Street
Sesame Street

การต่อสู้ของคนทำรายการเด็กในประเทศไทย :

เซซามี สตรีท (Sesame Street) รายการโทรทัศน์สำหรับเด็กของสหรัฐอเมริกา มีมาตั้งแต่ ค.ศ. 1969 จนถึงปัจจุบัน แต่จะหารายการเด็กของไทยที่ยืนยาวแบบนั้นคงไม่มี อาจารย์บอกกับทีมข่าวฯ ว่า ในเมืองไทยหากจะทำรายการเด็กขึ้นมา คนทำจะมองไม่เห็นภาพระยะยาว เพราะเขาไม่รู้ว่าถ้าทำแล้ว อนาคตข้างหน้าจะมีอยู่ไหม รายการเด็กในไทยจึงไม่มั่นคง และสูญหายไปเรื่อยๆ

ช่วงที่อาจารย์มรรยาททำวิจัย เธอได้มีโอกาสคุยกับคนที่ทำรายการสำหรับเด็ก พบว่าทุกคนล้วนต่อสู้ด้วยตัวเองมาตลอด บางคนติดหนี้เพราะนำเงินตัวเองมาใช้ เนื่องจากเรตติ้งไม่ดี ช่องก็ไม่สนับสนุนเงิน

...

"เรารู้ว่าคนที่ทำรายการสำหรับเด็กเขาเจ็บปวดและต้องสู้ เคยเจอกับน้านิต (ภัทรจารีย์ นักสร้างสรรค์: สโมสรผึ้งน้อย) เขาบอกว่าสิ่งที่เราพูดอยู่ เมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว น้านิตก็เคยพูดแบบนี้ มันแสดงให้เห็นว่าเวลาผ่านมานาน แต่เรายังต้องพูดเรื่องเดิม

ทำไมการสู้อะไรเพื่อเด็กมันช่างดูเป็นเรื่องที่ยากเหลือเกิน ทั้งที่เราพูดกันตลอดว่า 'เด็กคือทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของชาติ' 'เด็กวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า' 'เราอยากให้วันข้างหน้าของเราเป็นยังไง เราต้องลงทุนกับเด็ก' เรามีวันเด็กทุกปี มีคำขวัญวันเด็ก แต่สุดท้ายปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กไม่ได้รับการแก้ไข เรามีหน่วยงานภาครัฐด้านเด็กเยอะมาก แต่โครงการต่างๆ ก็ไม่ได้ถูกพัฒนาอย่างยั่งยืน"

ณ เมืองมิวนิก ประเทศเยอรมนี มีการประกวดหนึ่งที่จัดขึ้นทุก 2 ปี หลายคนเรียกว่า 'ออสการ์ของรายการเด็ก' ที่นั่นเป็นจุดรวมตัวของคนทำรายการโทรทัศน์สำหรับเด็กทั่วโลก ซึ่งรายการเด็กที่ทำโดยคนไทยเข้ารอบสุดท้ายหลายปี แต่คนไทยไม่รู้ "คนไทยที่ทำรายการเด็กเก่งๆ ยังมีอยู่อีกเยอะ แต่ไม่มีโอกาสและพื้นที่ให้แสดงความสามารถ เพราะรายการเด็กต้องการทุกส่วนมาประกอบกัน เพื่อให้เดินหน้าต่อไปได้"

เด็กไม่ดูหรือไม่มีอะไรให้เด็กดู :

แม้รายการเด็กของไทยไม่เคยมียุคทอง แต่คนดูโทรทัศน์ส่วนหนึ่งคือเด็ก สังคมบอกว่าเด็กไม่ดูโทรทัศน์แล้ว แต่โทรทัศน์กลับเป็นสื่อที่เข้าถึงง่ายที่สุด การเรียนออนไลน์ทำให้เราเห็นว่ามีเด็กจำนวนมากถูกทอดทิ้ง เพราะเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ตและสื่อออนไลน์

อาจารย์เล่าว่า เคยมีช่องหนึ่งมาขอให้ช่วย เพราะอยากทำรายการสำหรับเด็ก จึงลงพื้นที่เก็บข้อมูล พบว่า เด็กอายุ 7-10 ปีจำนวนมาก ยังดูโทรทัศน์ นอกจากรายการการ์ตูนแล้วก็ยังมีละครที่พวกเขาชอบ ปัญหาคือไม่มีละครสำหรับเด็ก เด็กกำลังดูละครที่ทำมาเพื่อผู้ใหญ่ แม้จะบอกว่าเด็กเปลี่ยนไปใช้งานออนไลน์ แต่สุดท้ายก็ใช้เพื่อดูละครและซีรีส์

"เด็กไม่ดูเพราะไม่มีรายการสำหรับเด็กหรือเปล่า รายการซุปเปอร์เท็น เคยทำสำรวจก็พบว่าเด็กดูรายการเยอะ นั่นแสดงว่าถ้าทำรายการได้น่าสนใจ เด็กก็ยังดู หลายคนกลับมาดูโทรทัศน์ช่วงที่มีละครบุพเพสันนิวาส แสดงให้เห็นว่าโทรทัศน์ไม่ได้หายไปจากสังคมไทย แค่ออนไลน์สะดวกต่อการเข้าถึง ดังนั้นถ้ามีรายการดีและน่าสนใจ ยังไงคนก็พร้อมเข้าไปดูไม่ว่าจะแพลตฟอร์มใด"

ผู้ใหญ่มีความต้องการหลากหลายเช่นไร เด็กก็มีความต้องการหลากหลายเช่นนั้น เพียงแต่ที่ผ่านมาเด็กไม่มีทางเลือก รายการของพวกเขามีแต่รายการที่ส่งเสริมความรู้วิชาการ ผู้ใหญ่อาจลืมคิดว่าพัฒนาการเด็กมีหลายด้าน สำหรับผู้ใหญ่แล้วอาจกำหนดกลุ่มเป้าหมายกว้างได้ แต่สำหรับเด็กเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะแต่ละวัยมีความสนใจที่ต่างกัน

"ถ้าอยากให้มีรายการที่ดีสำหรับเด็ก ต้องทำในสิ่งที่เด็กสนใจ อย่ามองว่ารายการเด็กต้องมีสาระหรือสอนเท่านั้น เพราะสำหรับเด็กความสนุกคือตัวตั้ง แล้วค่อยสอดแทรกสาระ

ในระดับวิชาการต่างประเทศ เขาจะบอกว่าเล่นคือเล่น แต่ของไทยชอบถามว่าเล่นแล้วได้อะไร คนทำรายการเด็กก็จะโดนถามว่าเด็กดูแล้วได้อะไร เราเลยสงสัยกลับว่านั่นคือสิ่งที่เด็กอยากรู้หรือผู้ใหญ่อยากรู้"

ข้อเสนอต่อภาครัฐ :

อาจารย์มรรยาท เคยมีโอกาสเป็นคณะทำงานกรรมาธิการวุฒิสภาที่เกี่ยวกับเด็กและเยาวชน และได้พูดถึงการขยายและพัฒนาสื่อที่ดี จึงได้รับมอบหมายให้เขียนข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อเสนอแถลงต่อที่ประชุมวุฒิสภา

"ที่ผ่านมาเรามีมาตรการคุ้มครองเด็กจากสื่อไม่ดี ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ดี แต่ที่หายไปคือมาตรการเชิงบวกและวิธีการส่งเสริมสื่อดี สังคมบอกว่าการเล่นเกมเป็นสิ่งไม่ดี แล้วไหนล่ะคือสื่อดีที่จะมาแทน"

ข้อเสนอที่อาจารย์เล่าให้ทีมข่าวฯ ฟังคือ ต้องกำหนดเรื่องของเด็กให้เป็นวาระแห่งชาติแบบเร่งด่วน เพราะเด็กมีพัฒนาการรวดเร็ว หากไม่มีอะไรเสริมช่วงที่เหมาะสมจะกลายเป็นปัญหา

ประเทศไทยมีหน่วยงานสำหรับเด็กจำนวนมาก แต่กระจายอยู่หลายที่และต่างไม่บูรณาการร่วมกัน โครงการที่เกิดขึ้นก็ใช้ระยะเวลาสั้นๆ และจบไปแบบไม่ยั่งยืน ภาครัฐควรเป็นเจ้าภาพจัดระดมให้ทุกฝ่ายมารวมกัน แล้วค่อยมีมาตรการอื่นตามมา ส่วนการจัดสรรงบประมาณเพื่อการผลิตสื่อเด็กที่ดี ควรมีการประเมินเชิงคุณภาพ ไม่ใช่แค่เชิงปริมาณ

"จะทำอย่างไรให้สังคมรู้สึกร่วมกันที่จะพัฒนาเด็ก ไม่ใช่แค่การใช้งบจากภาครัฐอย่างเดียว เราเคยกระทั่งถามว่า เป็นไปได้ไหมที่จะมีมาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับสื่อเด็ก เช่น หน่วยงานไหนที่สนับสนุนสื่อหรือกองทุนสำหรับเด็ก จะสามารถลดหย่อนภาษีได้ เพื่อเป็นการโน้มน้าวใจ

บางทีไม่ต้องไปแย่งกันทำก็ได้ แต่ขอรายการดีๆ สักรายการที่ทำให้เด็กมาดูแล้วรัฐทุ่มทุนไปเลย ที่ผ่านมาเวลาคนทำรายการเด็กไทยไปคุยกับต่างประเทศ เขาบอกว่าอายมาก เพราะต่างประเทศถามว่าได้งบผลิตต่อตอนเท่าไร พอทางเราบอกไป เขาถามกลับว่าหน่วยเป็นยูโรเหรอ พอบอกเป็นหน่วยเงินบาท เขาก็ตกใจว่าทำรายการด้วยงบเท่านั้นได้ด้วยเหรอ เพราะรายการเด็กต่างประเทศใช้ทุนสูงและมีกระบวนการเยอะมาก" อาจารย์มรรยาท กล่าว...

วิกฤติซ้ำซ้อน :

ประเทศไทยมีสถิติปัญหาเรื่องพัฒนาการเด็กจนน่าเป็นห่วงอยู่แล้ว แต่ช่วงโควิดทำให้ปัญหาวิกฤติจนเห็นชัดขึ้น เพราะเด็กเกิดบกพร่องทางการเรียนรู้

"ทุกคนรับรู้ว่าพัฒนาการของเด็กคือสายน้ำที่ไม่ไหลกลับ แต่ถ้าเราไม่ทำอะไรเลยจะยิ่งแย่ลงไปอีก แม้ว่าตอนนี้จะต้องทำเพื่อรักษาบาดแผลให้ดีขึ้นหน่อย แต่ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย สิ่งที่เกิดขึ้นคือภาครัฐไม่เห็นความสำคัญ จึงกลายเป็นปัญหาสะสมที่เกี่ยวเนื่องกันไปหมด

กลับกลายเป็นว่าการพัฒนาเด็ก ผู้ปกครองต้องลงทุนเองไปหมด ทำให้ครอบครัวที่เข้าไม่ถึงทรัพยากร โดนกันออกไปเป็นชายขอบ เมื่อลูกเราเติบโตขึ้นไป เราอาจจะบอกว่าเลี้ยงลูกดีแล้ว แต่อย่าลืมว่าลูกเรายังต้องไปอยู่ในสังคมที่เด็กคนอื่นก็โตมาเหมือนกัน

เราอาจจะบอกว่าเราเลี้ยงลูกดี แต่อยู่ในสังคมแบบนี้ไม่ดีเลย หรือทำไมคนสมัยนี้เลี้ยงลูกไม่ดี แต่นั่นคือการผลักคนที่เข้าไม่ถึงทรัพยากรให้เป็นปัญหาและชายขอบ โดยไม่ได้มองว่าสังคมคือจุดเริ่มต้นของปัญหา

วันเด็กของต่างประเทศคือการรำลึกว่าเด็กสำคัญ ผู้ใหญ่จะมานั่งคุยกันว่าต้องทำอะไรให้เด็ก แต่วันเด็กของบ้านเราทำให้เด็กสนุกวันเดียวแล้วจบ เราไม่ต้องมีคำขวัญวันเด็กก็ได้ เพราะนั่นคือสิ่งที่ผู้ใหญ่บอกว่าอยากให้เด็กทำอะไร มันควรกลายเป็นคำขวัญให้ผู้ใหญ่ เพื่อบอกว่าผู้ใหญ่ควรทำอะไรให้เด็ก"

รายการเด็กคงไม่มีวันหวนกลับ หากสังคมทุกส่วนยังไม่ตระหนักและร่วมมือกัน เราไม่สามารถรีรอได้อีกต่อไป เพราะเด็กโตขึ้นทุกวัน และวันหนึ่งเขาก็จะต้องกลายเป็นผู้ใหญ่ ทีมข่าวฯ เชื่อว่าสังคมวันข้างหน้าจะเป็นเช่นไร เราทุกคนช่วยกันกำหนดได้

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านบทความที่น่าสนใจ :