ซุปเปอร์ไต้ฝุ่นเซาลา (Saola) พายุลูกที่ 9 ของปีนี้ กำลังมุ่งหน้าถล่มเกาะฮ่องกงและเมืองเซินเจิ้น มณฑลกวางตุ้ง ทางตอนใต้ของจีน คาดว่าในช่วงดึกวันที่ 1 ก.ย. ทำให้ระบบคมนาคมขนส่ง หน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจ และโรงเรียน ต้องปิดชั่วคราว ขณะที่สายการบินยกเลิกเที่ยวบิน 300 กว่าเที่ยวบิน

นอกจากนี้ พายุไห่ขุย (Haikui) พายุโซนร้อนกำลังแรง กำลังเข้าใกล้ไต้หวัน ก่อนมุ่งหน้าไปยังเมืองฝูโจว ทางตะวันออกของจีน และจะเข้าใกล้จังหวัดโอกินาวาของญี่ปุ่น ในช่วงสุดสัปดาห์นี้ ทางกรมอุตุนิยมวิทยาของไทย คาดว่าซุปเปอร์ไต้ฝุ่นเซาลา จะขึ้นฝั่งจีน วันที่ 2 ก.ย. ไม่ส่งผลกระทบต่อไทยโดยตรง แต่จะดึงลมมรสุมให้มีกำลังแรงขึ้น ทำให้มีฝนเพิ่มขึ้นและฝนตกหนักในหลายพื้นที่ จนถึงวันที่ 5 ก.ย.นี้

1-4 ก.ย. ฝนตกหนักหลายจังหวัด กทม.ตกหนักสลับเบา

เพื่อเตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนัก “ดร.เสรี ศุภราทิตย์” ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ระบุว่า อากาศร้อนทั่วทุกภาคในช่วงที่ผ่านมา ทำให้มีไอน้ำในชั้นบรรยากาศมาก ก่อให้เกิดฝนตกหนักตามมา จากร่องมรสุมกำลังแรง และลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ไปจนถึงวันที่ 4 ก.ย. โดยภาคตะวันออก ช่วงวันที่ 2-4 ก.ย. และภาคใต้ วันที่ 1-4 ก.ย. ต้องเฝ้าระวังฝนตกหนักต่อเนื่องในหลายจังหวัด จะเกิดน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งตะวันตก โดยเฉพาะ จ.ระนอง พังงา และภูเก็ต ส่วนภาคเหนือ ภาคกลาง และกรุงเทพฯ จะมีฝนตกหนักสลับเบา ช่วยผ่อนคลายสถานการณ์ภัยแล้งในหลายพื้นที่

...

“แต่ช่วงปลายฝนตั้งแต่เดือน ต.ค.เป็นต้นไป จนถึงช่วงต้นฤดูฝนปีหน้า สถานการณ์ฝนจะไม่ค่อยดีมากนัก จากปรากฏการณ์เอลนีโญ ขณะที่ราคาข้าวในตลาดมีราคาดี จูงใจให้ชาวนาทำนาปีต่อเนื่อง เกษตรกร ชาวนาจึงควรประเมินพื้นที่ในการเพาะปลูกว่าสามารถมีน้ำต้นทุนรองรับเพียงพอหรือไม่ เพื่อจะให้ได้ผลผลิตที่ดีตามมา โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทาน”

ปรากฏการณ์เอลนีโญคาดว่าจะอยู่จนถึงประมาณเดือน มิ.ย. ปี 2567 หรืออาจจะอยู่ยาว ต้องติดตามข้อมูลต่อไป จึงต้องบริหารความเสี่ยงเรื่องน้ำสำหรับฤดูเพาะปลูกข้าวนาปรังอย่างระมัดระวัง เพราะปีนี้กำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ปรากฏการณ์เอลนิโญ จากระดับปัจจุบันประมาณ 1.1 องศาเซลเซียส และคาดการณ์จะเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 1.5 องศาเซลเซียส ในช่วงปลายปีนี้ ดังนั้นผลกระทบต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศไทยจะรุนแรงมากขึ้น ทั้งร้อน แล้ง น้ำน้อย ตั้งแต่ 6-9 เดือน นับจากเดือน ม.ค.ปี 2567

พายุปีนี้เหลืออีก 17 ลูก ยิ่งเกิดเอลนิโญ จะรุนแรงมาก

สถานการณ์พายุในปีนี้จนถึงสิ้นปี ยังเหลืออีก 17 ลูก จาก 19 ลูก และปัจจุบันมีพายุ 3 ลูก อยู่ในละติดจูดเดียวกัน ซึ่งลูกแรกอยู่ใกล้ฮ่องกง ลูกที่สองอยู่ทางตะวันออกของฟิลลิปินส์ และลูกที่สามอยู่กลางมหาสมุทรแปซิฟิก คาดว่าไม่เข้ามาไทย แต่จะเฉียดทางภาคเหนือของไทย และพบว่าพายุโซนร้อน 12 ลูกในปัจจุบัน ได้พัฒนาเป็นพายุไต้ฝุ่นแล้ว 8 ลูก

“ปกติแล้วในปีเกิดเอลนีโญ พายุจะไม่ค่อยผ่านเข้ามาไทย มีโอกาสน้อย มักจะม้วนไปทางตอนบนหมดแถวไต้หวัน ฮ่องกง ญี่ปุ่น แต่หากพายุเข้ามาไทย ก็แปลก เพราะในช่วงเอลนีโญ พายุมักรุนแรงกว่าปกติ มีพลังสูง อย่างพายุไต้ฝุ่นทกซูรี ได้สร้างความเสียหายอย่างหนักมาแล้ว ทั้งฟิลิปปินส์ ไต้หวัน และจีน หากเข้ามาไทยก็จะรุนแรง ไทยก็จะได้น้ำ ประมาณว่าแปลกแต่ดีทำให้มีน้ำ”

พายุไต้ฝุ่นลินดาปี 2540 สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน
พายุไต้ฝุ่นลินดาปี 2540 สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน

หากดูตามสถิติปีเอลนีโญที่รุนแรงในปี 2540 เคยมีพายุไต้ฝุ่นลินดาพัดถล่มเข้ามาในพื้นที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ในช่วงต้นเดือน พ.ย. และปีเอลนิโญในปี 2558 ไม่มีพายุเข้าประเทศไทย แต่ต้องไม่ประมาท เพราะหากปีนี้พายุเข้ามาจะมีพลังงานสูง จะเกิดความเสียหายได้เช่นเดียวกัน.

...