จับตาโผ “ครม.เศรษฐา 1” โดยเฉพาะเก้าอี้ รมต.กลาโหม ที่คุมกำลังพล ท่ามกลางการกดดันจากคนรุ่นใหม่ให้มีการปฏิรูปกองทัพ โดยนักวิชาการตั้งข้อสังเกตว่า การโหวตนายกฯ คนที่ 30 คือ เศรษฐา ทวีสิน จากพรรคเพื่อไทย มีคะแนนเสียงจาก สว.ฝั่ง “บิ๊กตู่” ยกมือโหวตให้กว่า 152 เสียง ต่างจาก สว.ฝั่ง “บิ๊กป้อม” ที่งดออกเสียง อาจมีรอยร้าวของ 2 ลุง หรือมีนัยซ่อนเร้นหรือไม่

แม้ขณะนี้ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ยังคงยืนยันถึงการเฟ้นหาผู้ที่เหมาะสมในการนั่งรัฐมนตรีในกระทรวงต่างๆ ท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศ แต่ก็มีข่าวลือโผ ครม.หลุดออกมาเป็นระยะ โดยเฉพาะ รมต.กลาโหม ที่ก่อนหน้านี้มีกระแสว่า คนจาก 2 พรรคลุงจะเข้ามาสานต่อ แต่ตอนนี้ก็มีกระแสของ สุทิน คลังแสง พรรคเพื่อไทย เข้ามาพลิกโผ

ดร.อมร วาณิชวิวัฒน์ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) วิเคราะห์กับทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ ว่า รมต.กลาโหม ถือเป็นตำแหน่งสำคัญ ที่ฝั่งแกนนำจัดตั้งรัฐบาลมักให้คนของตนเองมานั่ง ในภาวะเช่นนี้ พรรคเพื่อไทยจะส่งคนมานั่งในตำแหน่งนี้ แต่บุคคลที่มาต้องเข้าใจความพิเศษของกระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นเรื่องลำบาก หากส่งคนที่เป็นพลเรือนเข้ามาคุม

...

ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวคนของฝั่งบิ๊กป้อม จะเข้ามาคุมกระทรวงกลาโหม แม้บุคคลดังกล่าวเคยรับราชการเป็นนายตำรวจใหญ่ แต่การเข้ามาคุมทหารย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย โดยมีการตั้งข้อสังเกตจากหลายรัฐบาลที่ผ่านมา หากนายกฯ ที่เป็นพลเรือนมาคุมกลาโหมด้วย จะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

“แม้มีกระแสข่าวว่า สุทิน คลังแสง ของพรรคเพื่อไทย จะเข้ามาคุมกระทรวงกลาโหม ก็ยังเป็นที่เคลือบแคลงสงสัย เพราะตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ต้องมีบารมีในตำแหน่งสูงสุด เข้าใจความประณีตของทหาร ไม่ควรนำคนที่มีภาพลักษณ์มุทะลุมา แต่ต้องเป็นคนที่มีภาพลักษณ์ตามแบบพิธีการของกลาโหม ซึ่งคนที่เคยรับราชการทหาร เป็นตัวเลือกดีที่สุด”

สิ่งที่น่าจับตามอง แม้กระทรวงกลาโหมปัจจุบันมีบทบาทลดลง แต่ยังมีส่วนสำคัญในการแต่งตั้งผู้บัญชาการทหาร ซึ่งสิ่งที่รัฐมนตรีท่านใหม่ที่จะเข้ามาคุมกระทรวงนี้ต้องเจอคือ เรื่องเกณฑ์ทหาร ที่ฝั่งคนรุ่นใหม่มีข้อเสนอให้ออกกฎเกณฑ์การคัดเลือกแบบสมัครใจ แต่ขณะเดียวกันก็มีเสียงต่อต้านจากคนอีกบางส่วน

กรณีการตั้งข้อสังเกตการโหวตนายกฯ ครั้งที่ผ่านมา มีเสียง สว.ฝั่ง “บิ๊กตู่” ยกมือโหวตให้กว่า 152 เสียง ต่างจาก สว.ฝั่ง “บิ๊กป้อม” ที่งดออกเสียง อาจมีรอยร้าวของ 2 ลุงหรือไม่ ดร.อมร วิเคราะห์ว่า ไม่น่าจะเป็นสัญญาณของความแตกแยกของ 2 ลุง แต่เป็นการตกลงใจให้ออกมาแบบนั้น เพราะพรรคเพื่อไทยคงมีการประเมินแล้วว่า ถ้าไปทางบิ๊กตู่ จะได้รับคะแนนเสียงมากกว่า แต่ทั้ง 2 ลุงไม่ได้มีความขัดแย้งอย่างที่หลายคนคิด

ครม.เศรษฐา 1 ในภาวะที่มี 2 ลุงเข้ามาร่วมจัดตั้งรัฐบาลด้วย อาจแต่งตั้งทั้งคู่เป็นที่ปรึกษา โดยไม่รับตำแหน่งก็ยังได้ เพราะต้องยอมรับว่าบรรดาลุงเอง ก็ถูกกระแสสังคมโจมตีอย่างหนัก การมาเข้าร่วมรัฐบาลหนนี้ อาจลดบทบาทลง แต่ยังคอยดูจังหวะทางการเมืองอยู่

“เส้นทางต่อไปของบิ๊กตู่และบิ๊กป้อม จะต้องทอดเวลาออกไป เพื่อให้มีเวลาในการแก้ข้อกล่าวหา แต่ในที่สุดแล้วอำนาจคือสิ่งหอมหวาน อาจมีการปั้นตัวตายตัวแทนขึ้นมาทำหน้าที่ เพราะกลุ่มอำนาจเก่ารู้อยู่แล้วว่า ถ้าวันนี้ตนเองหลุดจากอำนาจทันที เสี่ยงกับปัญหาที่ตามมาแน่นอน”.