เบี้ยยังชีพผู้สูงวัยในปัจจุบัน 600-1,000 บาท นอกจากไม่เพียงพอต่อผู้สูงอายุที่มีฐานะยากจน ไม่มีรายได้จากการทำงานและไม่มีเงินออมแล้ว และเมื่อมีเกณฑ์ใหม่แนวคิดสวัสดิการอนุรักษนิยมแบบสงเคราะห์คนจน หรือผู้ด้อยโอกาส มุ่งเป้าด้วยการพิสูจน์ความจน เพื่อลดภาระทางการคลัง จะสร้างปัญหาในการดำเนินการ มากกว่าจะช่วยประหยัดงบประมาณ เพราะต้องมีกระบวนการในการพิสูจน์ความจน ทำให้เกิดต้นทุนการบริหารจัดการในส่วนนี้เพิ่มขึ้น หากผู้สูงอายุที่ไม่ได้ยากจนแต่ได้ใช้สิทธินี้ไป
มีการคาดการณ์ว่าอาจต้องใช้เงิน 9 หมื่นล้านบาท ในปีงบประมาณ 2567 ในการจ่ายเบี้ยยังชีพให้กับผู้สูงวัย และงบประมาณส่วนนี้จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จากจำนวนประชากรผู้สูงวัยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และกระบวนการพิสูจน์ความจน ยังก่อให้เกิดการรั่วไหลทุจริตคอร์รัปชัน เอื้อประโยชน์ผ่านการใช้อำนาจดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐในระดับปฏิบัติการได้ อาจเกิดการตกหล่นตกสำรวจของผู้สูงวัยที่มีฐานะยากจนได้
ในมุมมอง “รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ” กรรมการวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เห็นว่า ไม่ควรลดสวัสดิการผู้สูงวัยจากเดิมเป็นสิทธิ ให้ต้องไปพิสูจน์ความจน แต่ควรเป็นสิทธิถ้วนหน้าเหมือนเดิม และเพิ่มเบี้ยยังชีพจาก 600-1,000 บาท เป็น 2,000-3,000 บาทต่อเดือนแทน ต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้น 300,000-400,000 ล้านบาท นำมาจากกองทุนหมุนเวียนนอกงบประมาณต่างๆ ที่ไม่จำเป็น ทำการเบิกจ่ายสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ที่ไม่จำเป็น ลดการดูงานต่างประเทศของผู้บริหารในองค์กรของรัฐที่ไม่จำเป็น และต้องจัดเก็บภาษีทรัพย์สินในอัตราก้าวหน้ามากขึ้น
...
“หากสามารถจัดการงบประมาณให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และจัดเก็บภาษีทรัพย์สินได้เพิ่มขึ้น การจ่ายเบี้ยยังชีพหรือบำนาญผู้สูงอายุ 2,000-3,000 บาทต่อเดือน จะสามารถทำได้โดยไม่เกิดความเสี่ยงเรื่องฐานะการคลัง หากรัฐบาลใหม่วางเป้าหมายต้องการให้ประเทศไทยมีระบบสวัสดิการที่ดีขึ้นย่อมทำได้ แต่ต้องปฏิรูประบบการคลังใหม่และปฏิรูประบบราชการให้ทันสมัยเป็นรัฐบาลดิจิทัล มีระบบราชการและระบบการเมืองที่โปร่งใส มีประสิทธิภาพ ไม่เช่นนั้นแล้วจะกลายเป็นรัฐสวัสดิการที่ล้มเหลว”
เมื่อปีงบประมาณ 2564 รัฐบาลใช้งบกว่า 3 แสนล้านบาท เพื่อเป็นเงินบำนาญข้าราชการ มีอดีตข้าราชการที่ได้รับสิทธิ 9.5 แสนคน หรือคิดเป็นเงินบำนาญเฉลี่ย 2.6 หมื่นบาทต่อคนต่อเดือน แต่ผู้สูงอายุไทย 11 ล้านคน ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเพียงเดือนละ 600-1,000 บาทต่อเดือน และจะใช้เงินงบประมาณในปี 2567 ประมาณ 9 หมื่นล้านบาทเท่านั้น สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำของผู้สูงอายุกลุ่มหนึ่งและผู้สูงอายุอีกกลุ่มหนึ่ง
รายจ่ายสวัสดิการผู้สูงอายุไทย 1.5% ต่อจีดีพีเท่านั้น
ประเทศแถบสแกนดิเนเวีย มีรัฐสวัสดิการเต็มรูปแบบ มีสัดส่วนรายได้ภาษีอยู่ที่ระดับ 42-48.9% ของจีดีพี อย่างเดนมาร์ก มีสัดส่วนรายได้ภาษีต่อจีดีพีอยู่ที่ 48.9% สวีเดนอยู่ที่ 48.2% โดยประเทศพัฒนาในองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ OECD มีสัดส่วนรายได้ภาษีต่อจีดีพีเฉลี่ยอยู่ที่ 35%
ส่วนไทยมีสัดส่วนรายได้ภาษีต่อจีดีพีเพียงแค่ 14% เท่านั้น ยังห่างไกลต่อการมีฐานะทางการคลัง ที่สามารถสนับสนุนรัฐสวัสดิการแบบเต็มรูปแบบอย่างสแกนดิเนเวียได้ หากเดินหน้านโยบายประชานิยมแจกเงินต้องก่อหนี้สาธารณะเพิ่ม เพราะการเพิ่มอัตราภาษีใน 1-2 ปีข้างหน้า อาจไม่เหมาะสมกับเศรษฐกิจไทยที่เพิ่งฟื้นตัวในระยะแรก ต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการสังคม เมื่อเทียบกับจีดีพีและงบประมาณ โดยเฉพาะสวัสดิการผู้สูงวัย
ข้อมูลจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO แสดงให้เห็นว่า รายจ่ายรัฐบาลไทยสำหรับสวัสดิการผู้สูงอายุ คิดเป็น 1.5% ต่อจีดีพีเท่านั้น ถือว่าน้อยกว่าหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย และน้อยกว่าอย่างมาก เมื่อเทียบประเทศที่เผชิญการเปลี่ยนผ่านโครงสร้างทางประชากรผู้สูงวัยใกล้เคียงกัน ส่วนดัชนีประจำปี 2022 ของ Mercer บริษัทบริหารสินทรัพย์ชื่อดังระดับโลก แสดงให้เห็นว่าไทยได้คะแนนต่ำที่สุด เมื่อเทียบกับ 44 ประเทศ
“สะท้อนให้เห็นว่าระบบบำนาญของไทยยังไม่แข็งแรง หมายความว่า ผู้สูงอายุชาวไทยทั้งปัจจุบันและในอนาคต แทบไม่มีหลักประกันเพียงพอ และรายจ่ายด้านสวัสดิการสังคมในปัจจุบันของไทย ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศสแกนดิเนเวีย ต้นแบบรัฐสวัสดิการ มากกว่า 14-15 เท่า และในอีกด้านหนึ่ง หากไม่เร่งดำเนินการ ผู้สูงอายุที่ยากจนจะเดือดร้อนทางเศรษฐกิจและการดำรงชีวิตอย่างมาก และสังคมไทยก็ได้ก้าวสู่สังคมสูงวัยเต็มรูปแบบแล้ว ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และความไม่เป็นธรรมทางสังคมจะเพิ่มขึ้นอีก อาจเป็นเงื่อนไขในการเกิดความไม่สงบเรียบร้อยในสังคมได้”
...
โครงสร้างประชากรที่เข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างรวดเร็ว ส่วนใหญ่มีเงินออมไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ และไม่อยู่ในระดับบำนาญใดๆ จะเป็นปัญหาวิกฤติในอนาคตอันใกล้ จากประชากรวัยทำงานลดลงอย่างมาก ต้องอาศัยแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งการศึกษานโยบายการเพิ่มประชากรผ่านการตั้งถิ่นฐานใหม่ของแรงงานทักษะสูงการศึกษาสูง เป็นเรื่องที่ควรมีการเตรียมการเอาไว้ และสิ่งที่รัฐบาลใหม่ควรทำ ต้องปฏิรูประบบสวัสดิการสังคม มุ่งสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและลดความเหลื่อมล้ำ ผลักดันให้กลุ่มผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาส ให้เข้าถึงปัจจัยการผลิต พัฒนาระบบสวัสดิการโดยรัฐอย่างเป็นระบบ และทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดสวัสดิการถ้วนหน้า.