5 โรงพยาบาลริมชายแดน จ.ตาก 9 เดือนแรกปี 2566 สำรองจ่ายงบประมาณไปแล้วทั้งหมด 92 ล้านบาท เนื่องจากมีประชากรที่ยังไม่ได้สัญชาติไทย และชนกลุ่มน้อยฝั่งเมียนมา เข้ามารักษาจำนวนมาก ส่วนใหญ่ไม่มีเงินจ่ายค่ารักษา ทำให้โรงพยาบาลทั้ง 5 แห่ง งบประมาณเริ่มติดลบ โดยต้องคอยลุ้นว่าจะมีการแก้ปัญหาต่อจากนี้ ขณะเดียวกันหลัง "ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์" นำเสนอการขาดแคลนงบประมาณของ รพ.อุ้มผาง เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ทางกระทรวงฯ ได้อนุมัติงบเร่งด้วย เพื่อช่วยเหลือแล้ว 30 ล้าน/บาท
นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง จ.ตาก เปิดเผยกับทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ ว่า พื้นที่ จ.ตาก ด้วยความที่มีพรมแดนติดกับเมียนมา และมีปัญหาประชากรในพื้นที่ยังไม่มีบัตรประชาชนจำนวนมาก แม้อยู่ในไทยมานาน ทำให้เกิดปัญหาในการรักษาพยาบาลค่อนข้างมาก เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ยากจน ไม่มีเงินจ่ายค่ารักษา
“พื้นที่จังหวัดตาก แบ่งเป็นฝั่งตะวันตกและตะวันออก มีพื้นที่บริการสาธารณสุขคือ รพ.ท่าสองยาง รพ.แม่ระมาด รพ.แม่สอด รพ.พบพระ รพ.อุ้มผาง พื้นที่พรมแดนบางส่วนเป็นสันเขาผ่ากลางชุมชนของชนเผ่ากะเหรี่ยง โดยชนกลุ่มน้อยที่อยู่ฝั่งเมียนมาอยู่ในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยง ส่วนคนอยู่ฝั่งไทย เป็นชนเผ่ากะเหรี่ยงกระจัดกระจายใน 5 อำเภอ ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่บนภูเขา ห่างไกลจากความเจริญ ทำให้แต่ละปีหมอตำแยในชนเผ่าต้องทำคลอดเด็กกว่าร้อยคน ขณะที่ระบบทะเบียนราษฎรของไทยยังเข้าไม่ถึง ส่งผลให้ไม่มีเลขบัตรประชาชน"
...
ปัญหาในพื้นที่จังหวัดตาก ที่มี 5 โรงพยาบาลขณะนี้ มีผลกระทบจากประชากร ไม่มีเลขบัตรประชาชนถูกต้อง เนื่องจากตกหล่น และไม่ได้รับสัญชาติไทย ส่วนคนไข้อีกกลุ่มเป็นชาวกะเหรี่ยงอยู่ฝั่งเมียนมา เข้ามาใช้บริการสาธารณสุขฝั่งไทย และบางส่วนเป็นโรคติดต่อ อันตรายต่อชีวิต แพทย์จึงไม่สามารถปฏิเสธการรักษา ทำให้โรงพยาบาล 5 แห่ง ในพื้นที่มีงบประมาณติดลบเกือบทุกปี
ส่วนประชากรส่วนหนึ่งไม่มีสัญชาติไทย แต่ได้สิทธิรักษาในกองทุน ท.99 ที่มีงบช่วยเหลือ ขณะเดียวกัน มีประชากรในพื้นที่จำนวนมากอยู่ในพื้นที่ แต่ไม่มีสิทธิได้สัญชาติไทย ถึงจะอยู่ไทยกันมาหลายรุ่น ขณะเดียวกันปัญหาของทหารเมียนมาที่สู้รบกับชนกลุ่มน้อยในประเทศ ทำให้มีผู้อพยพเข้ามาในศูนย์อพยพ 3 แห่ง ของไทย ซึ่งมีจำนวนทั้งหมดกว่า 6 หมื่นคน เมื่อป่วยต้องเข้ามารักษาโรงพยาบาลฝั่งไทย
จากสถิติการเข้ามาใช้บริการของคนไข้นอก ที่ไม่มีสัญชาติไทย มาในโรงพยาบาล 5 แห่ง ปี 2563ทั้งหมด 1.5 แสน/ครั้ง ปี 2564 เหลือประมาณ 7 หมื่นคน จนล่าสุดปี 2566 (9 เดือน) มีคนไข้เข้ามา 5.3 หมื่น/ครั้ง
ถ้าประเมินปริมาณคนไข้จาก 5 โรงพยาบาล ในส่วนของคนไข้นอกจะมีคนไข้ 4 คน เป็นคนต่างด้าว 1 คน ด้านคนไข้นอก 5 คน มีคนต่างด้าว 1 คน โรงพยาบาลที่มีคนไข้ไม่มีสัญชาติมากที่สุดคือ รพ.อุ้มผาง เพราะเฉลี่ยคนไข้ที่มานอนที่โรงพยาบาล เป็นคนไข้ที่ไม่มีสัญชาติเกือบครึ่งหนึ่ง เนื่องจากพื้นที่นี้มีประชากรไร้สัญชาติมาก ไม่มีแม่น้ำกั้นพรมแดน ทำให้สามารถเดินข้ามมาไทยได้สะดวก
จากสถิติค่าใช้จ่ายด้านสังคมสงเคราะห์ ที่คิดจากคนไข้ที่มีความยากจน หรือที่โรงพยาบาลไม่สามารถเก็บค่าใช้จ่ายได้ จาก 5 โรงพยาบาลใน จ.ตาก โดยปี 2565 เป็นเงินทั้งสิ้น 175 ล้านบาท ส่วนปี 2566 ทั้งหมด 9 เดือน สำรองจ่ายงบประมาณแล้ว 92 ล้านบาท
หากคิดเฉลี่ยงบประมาณ ที่โรงพยาบาล 5 แห่งใน จ.ตาก สำรองจ่ายไปแล้ว 9 เดือน ในปี 2566 พบว่า โรงพยาบาลอุ้มผาง สำรองจ่ายมากสุด 40 ล้านบาท โรงพยาบาลพบพระ 8.8 ล้านบาท โรงพยาบาลท่าสองยาง 12.6 ล้านบาท โรงพยาบาลแม่ระมาด 7 ล้านบาท โรงพยาบาลแม่สอด 23 ล้านบาท
...
สิ่งที่อยากฝากถึงรัฐมนตรีสาธารณสุขในรัฐบาลใหม่ อยากให้เริ่มเรื่องสาธารณสุขชายแดน เพราะที่ผ่านมาเคยเริ่มแล้วหยุดไป เพราะเป็นงานที่มีความพิเศษไม่เหมือนพื้นที่อื่น เช่น พื้นที่ จ.ตาก ฝั่งตะวันตก มีงานที่ทำอยู่แล้ว แต่คนอื่นไม่ให้ความสำคัญ และไม่เคยมีงบประมาณมาช่วย ซึ่งถ้ามีงบมาช่วยในการส่งเสริมป้องกันได้จะช่วยทำให้โรงพยาบาล มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคระบาดที่อาจเข้ามาตามริมชายแดนได้มากขึ้น
ทั้งนี้ หลังทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ นำเสนอข่าว "รพ.อุ้มผาง วิกฤติหนัก ครึ่งปีงบติดลบ 40 ล้านบาท ต่างด้าวไม่มีเงินหาหมอให้ช่วยรักษา" มีรายงานจาก รพ.อุ้มผาง ว่า หลังจากได้ส่งหนังสือเรียนปัญหาขาดเงินดำเนินงานตั้งแต่เดือน มิ.ย.-ก.ย. 2566 (4 เดือน) ไปยังท่าน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตาก ท่านผู้ตรวจราชการฯ เขต 2 และท่านปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้รับทราบแล้วตั้งแต่ต้นเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา โดย รพ.อุ้มผาง ได้รับแจ้งมาจากท่านปลัดกระทรวงสาธารณสุขว่า ท่านได้ช่วยแก้ไขปัญหา โดยส่งงบเหลือจ่ายของกระทรวงสาธารณสุข มาให้จำนวน 10 ล้านบาท ให้ รพ.อุ้มผาง ชำระหนี้สินค่ายา ค่าวัสดุต่างๆ และจะโอนเงิน ท.99 ที่กระทรวงสาธารณสุขสำรองไว้ให้อีก 20 ล้านบาท เพื่อช่วยให้ รพ.อุ้มผาง ดำเนินการต่อไปได้จนสิ้นปีงบประมาณ 2566 (30 ก.ย.2566).