กลายเป็นกระแสฮือฮา หลังจาก ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมืองและจอมแฉ ออกมาเปิดเผยว่าเป็นโรคมะเร็งตับ อยู่ได้อีก 8 เดือน หลังจากนี้จะบินไปรักษาตัวที่อังกฤษ ทำให้หลายคนตกใจและเสียดาย แต่โรคมะเร็งตับที่พบมากในผู้ชาย ส่วนใหญ่เป็นไม่รู้ตัว เพราะรู้อีกทีก็อาการหนักในระยะที่ 4 หรือระยะสุดท้าย โดยหมอระบุว่ามะเร็งตับหากรู้ก่อนและรักษาอย่างถูกวิธีจะทำให้ก้อนเนื้อร้ายไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต
รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า การเกิดมะเร็งตับ หลายคนมองว่าสาเหตุมาจากการดื่มสุรา แต่จริงแล้วมีหลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี รวมถึงการได้รับสารอะฟลาท็อกซินที่มาจากถั่วลิสง ข้าวโพด
คนไข้ที่มาพบแพทย์ส่วนใหญ่มาในระยะท้ายๆ เช่น ระยะที่ 3-4 เนื่องจากระยะแรกของมะเร็งตับมีก้อนขนาดเล็กไม่เกิน 2 เซนติเมตร เลยยังไม่มีการแสดงอาการทำให้ผู้ป่วยต้องมาพบแพทย์
สำหรับ มะเร็งตับ สามารถแบ่งตามระยะได้ดังนี้ ระยะที่ 1 เนื้อร้ายมีขนาดใหญ่ไม่เกิน 2 เซนติเมตร และมีอยู่เพียงก้อนเดียว และยังไม่แสดงอาการร้ายแรง เลยทำให้ผู้ป่วยยังไม่มาพบแพทย์
...
ระยะที่ 2 เนื้อร้ายมีเพียงก้อนเดียว หรือมากกว่านั้น แต่ไม่เกิน 3 ก้อน และขนาดเนื้อร้ายเล็กกว่า 3 เซนติเมตร
ระยะที่ 3 ก้อนมะเร็งจะมีหลายก้อน ขนาดใหญ่มากกว่า 3 เซนติเมตร
ระยะที่ 4 จะเป็นช่วงที่ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่มากขึ้น และลุกลามไปยังอวัยวะข้างเคียง อาจลุกลามเข้าไปยังกระแสเลือด
ระยะที่ 5 เป็นช่วงที่มีการแพร่กระจาย ทำให้ร่างกายของผู้ป่วยทรุดโทรม บางรายนอนติดเตียง เพราะตับทำงานมากกว่าปกติ อาจจะมีอาการตับวายจนคนไข้เสียชีวิต
สำหรับอาการเตือน คนไข้จะมีอาการปวดแน่นบริเวณท้องด้านขวา ตรงใต้ลิ้นปี่ เพราะเป็นตำแหน่งของตับในร่างกาย การปวดท้องลักษณะนี้หลายคนอาจเข้าใจผิดว่าเป็นโรคกระเพาะ แต่บางรายก้อนเนื้อร้ายจะอยู่ในตำแหน่งใกล้กับพื้นผิวภายนอก จนทำให้มีลักษณะท้องโต จนสามารถคลำก้อนเนื้อร้ายนั้นได้
อาการของผู้ป่วยมะเร็ง จะมีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลดไม่ทราบสาเหตุ และเมื่อตับทำงานผิดปกติ จะทำให้ตัวเหลือง ตาเหลือง ถ้าเป็นมากท้องจะโต เรียกว่าท้องมาน ดังนั้นถ้ามีอาการลักษณะนี้ควรรีบไปพบแพทย์
ส่วนอาการลุกลามของโรค แต่ละคนจะมีระยะเวลาที่ไม่เท่ากัน แต่เคยมีผลวิจัยว่าผู้ป่วยมะเร็งตับในระยะ 3-4 จะมีการลุกลามของโรคตั้งแต่ 6 เดือน-1 ปี ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละบุคคล ถ้าเป็นผู้ป่วยระยะเริ่มต้น ถ้ามีการรักษาที่เหมาะสมจะมีอัตรารอดชีวิตมากกว่า 5 ปี
สำหรับการรักษามะเร็งตับ หากเป็นระยะที่ลุกลามมาก การผ่าตัดจะไม่สามารถรักษาได้ แต่มีอยู่หลายวิธี เช่น การฝังเข็มด้วยความร้อน หรือการรักษาโดยให้สารเคมีทางหลอดเลือดจะเป็นการฆ่าเซลล์มะเร็งตับเฉพาะจุด ส่วนการผ่าตัดมีทั้งแบบผ่าตัดส่องกล้องในระยะที่ไม่ลุกลาม
คนไข้ที่เป็นมะเร็งตับในระยะที่ 4 จะเป็นขั้นที่ลุกลาม หลายคนอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถช่วยตัวเองได้ แต่บางคนก็ยังสามารถใช้ชีวิตปกติได้ ซึ่งแพทย์จะแนะนำเรื่องการดูแลสุขภาพทั้งกายและใจ เพราะคนไข้หลายคนมีความวิตกกังวล จนทำให้อาการของโรคทรุดลง ดังนั้นคนรอบข้างจะต้องเข้าใจ และให้กำลังใจกับคนไข้อยู่เสมอ.