รพ.อุ้มผาง จ.ตาก วิกฤติหนัก งบติดลบ 40 ล้านบาท หลังเมียนมาเผชิญสงครามภายใน ทำให้คนไข้ทะลักมารักษาที่โรงพยาบาล ทั้งอาการบาดเจ็บจากกับระเบิด และโรคระบาดที่เสี่ยงแพร่กระจายเข้ามาสู่ไทย หากไม่มีการรักษา หมอย้ำกระทรวงสาธารณสุขควรให้การช่วยเหลือระบบการแพทย์ริมชายแดน ไม่ใช่ปล่อยทิ้งอย่างที่เป็นอยู่
นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง จ.ตาก เปิดเผยกับทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ ว่า หลังจากที่มีการสู้รบระหว่างทหารเมียนมากับชนกลุ่มน้อยริมชายแดน ทำให้ระบบการแพทย์ของประเทศเพื่อนบ้านถูกตัดขาด จากเดิมที่ประสิทธิภาพการรักษาก็ต่างจากไทยค่อนข้างมาก เลยทำให้มีคนไข้ชาวเมียนมาเข้ามารักษาในโรงพยาบาลมากขึ้น และส่งผลต่องบประมาณในการดูแลคนเหล่านี้ เพราะคนไข้หลายคนไม่มีเงินจ่ายค่ารักษา แต่ด้วยมนุษยธรรม หมอไม่สามารถปฏิเสธการรักษาได้ ประกอบกับโรคส่วนใหญ่เป็นโรคติดต่อ หากไม่รักษาจะมีการแพร่ระบาดมายังคนไทย
ชาวเมียนมาที่เข้ามารักษาหลายคนเป็นโรคติดต่อที่สามารถแพร่กระจายและทำให้เสียชีวิตได้ เช่น มาลาเรีย ที่มียุงเป็นพาหะ ถ้าไม่รักษาจะกลายเป็นรังของโรค แพร่กระจายจนไม่สามารถควบคุมได้ หรืออหิวาตกโรค มีอาการท้องร่วง ถ่ายอุจจาระได้แค่ 3 ครั้งก็เสียชีวิต หากไม่รักษาคนไข้จะถ่ายไปทั่วในป่า ทำให้เกิดการแพร่กระจายเป็นวงกว้าง
...
“หมอริมชายแดน เป็นเหมือนทหารด่านหน้าคอยสู้กับโรคภัยไข้เจ็บ เพื่อไม่ให้แพร่เข้าไปยังพื้นที่ชั้นในของประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มคนเมียนมาที่ตอนนี้หนีสงครามเข้ามาอยู่ในศูนย์อพยพ แม้ในศูนย์มีกลุ่มเอ็นจีโอคอยดูแล แต่บางโรคต้องใช้การรักษาซับซ้อน ก็ต้องส่งคนไข้มายังโรงพยาบาล คนไข้กลุ่มนี้บางครั้งโรงพยาบาลจะส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่มีประสิทธิภาพมากกว่า โดยโรงพยาบาลจะต้องสำรองจ่ายค่ารักษาไปก่อน แม้คนไข้รายนั้นไม่มีเงินค่ารักษา”
โรงพยาบาลอุ้มผาง มีชาวเมียนมามาพบแพทย์เฉลี่ยตอนนี้ 21 เปอร์เซ็นต์ โดยคนไข้ 5 คน มี 1 คนเป็นชาวต่างด้าว ซึ่งสถานการณ์ตอนนี้โรงพยาบาลทั้งหมดใน จ.ตาก โรงพยาบาลอุ้มผาง มีคนไข้มาหาหมอมากที่สุด โดยไม่มีสัญชาติไทยประมาณ 47 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นเกือบครึ่งของคนไข้ทั้งหมด เนื่องจากพื้นที่เขตแดนไม่มีแม่น้ำเมยกั้น สามารถเดินไปมาถึงกัน ประกอบกับชนกลุ่มน้อยที่ตั้งหมู่บ้านในเขตแดนไทยมานาน แต่ไม่มีสัญชาติอยู่มาก
จากข้อมูลค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลอุ้มผาง ปี 2566 ที่ผ่านไป 9 เดือน ต้องสำรองจ่ายงบประมาณให้กับคนไข้ต่างด้าวที่ไม่มีเงินจ่ายค่ารักษาแล้ว 40 ล้านบาท เงินส่วนนี้โรงพยาบาลต้องไปหาเงินมาอุดหนุนจากการบริจาคที่มีมากน้อยแตกต่างกันในแต่ละปี แต่มีการควบคุณคุณภาพการรักษาไม่ให้คนไข้สัญชาติไทยได้รับผลกระทบ
การโจมตีของทหารเมียนมากับชนกลุ่มน้อย ทำให้มีคนไข้ที่อพยพเข้ามารักษาในพื้นที่มากขึ้น จากเดิมมีการฝังกับระเบิดในพื้นที่ ทำให้มีคนไข้ที่เหยียบกับระเบิดเข้ามารักษาจำนวนมาก แต่ตอนนี้สถานการณ์ตึงเครียดมากขึ้น ทำให้ทหารเมียนมากดดันกลุ่มแพทย์เอ็นจีโอที่เข้าไปรักษาชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ ทำให้คนไข้ต้องอพยพมารักษาในโรงพยาบาลจำนวนมาก
ค่าใช้จ่ายคนไข้ต่างด้าวที่เข้ามารักษามีตั้งแต่หลักร้อย-หลักแสนบาท แนวทางการแก้ไขกรณีที่งบการเงินติดลบ จะมีโครงการขอรับบริจาคยาที่เหลือใช้ เพื่อนำมาใช้รักษาคนต่างด้าวในพื้นที่ ตอนนี้เครื่องมือแพทย์ในโรงพยาบาลค่อนข้างเพียงพอ แต่งบประมาณที่ต้องใช้ในการรักษาคนต่างด้าวยังขาดแคลนทุนทรัพย์
...
หลายคนมีคำถามว่าทำไมต้องรักษาให้คนไข้ต่างด้าวที่ไม่มีเงินจ่ายค่ารักษา หมอเจอคำถามนี้อยู่ตลอด แต่สิ่งสำคัญคือมนุษยธรรม ไม่มีแพทย์คนไหนอยากปล่อยให้คนไข้ตาย เพราะเขาไม่มีสัญชาติไทย หรือบัตรประชาชน อีกอย่างคนไข้ริมชายแดนเมื่อเป็นโรคที่สามารถระบาดสู่คนอื่นได้ ถ้าไม่รักษา สุดท้ายจะแพร่ระบาดมายังคนไทย บางโรคถ้าปล่อยให้มีการแพร่ระบาดหนักแล้วมารักษาเมื่อสาย ค่าใช้จ่ายการรักษาจะแพง เช่น บางโรคต้องใช้การรักษาเริ่มต้นถึงแสนบาท แต่ถ้ารักษาตั้งแต่เนิ่นๆ จะมีค่าใช้จ่ายไม่กี่ร้อยบาท
สิ่งที่ผมอยากขอร้องท่านผู้ใหญ่ในกระทรวงสาธารณสุขคือ การสนับสนุนระบบสาธารณสุขชายแดน บางงานมีการทำอยู่แล้ว แต่ไม่มีงบประมาณมาช่วย ที่ผ่านมาเคยมีการสนับสนุนแล้วก็หยุดไป แต่ถ้ามีงบประมาณมาช่วยในการส่งเสริมป้องกันบ้างก็จะดี เช่น สนับสนุนวัคซีน โดยที่โรงพยาบาลไม่ต้องไปหาเอง เพราะที่ผ่านมาโรงพยาบาลต้องไปขอรับบริจาควัคซีนจากสภากาชาดไทย เช่น วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก เพราะวัคซีนมีราคาแพง ทางหน่วยงานไม่มีงบเพียงพอในการจัดซื้อ
สำหรับผู้ที่อยากบริจาคทุนทรัพย์สิ่งของให้กับโรงพยาบาล สามารถติดต่อ หรือส่งไปรษณีย์มายังโรงพยาบาลได้โดยตรง อย่างน้อยก็ถือเป็นการทำบุญกับเพื่อนมนุษย์ แม้เขาไม่มีสัญชาติไทย แต่การมอบสิ่งเหล่านี้ให้ถือเป็นสิ่งที่พวกเขาต้องการในสภาวะที่ประเทศของเขาเผชิญกับการสู้รบ.