ภูเก็ต เฝ้าระวังคราบน้ำมันที่มีการรั่วไหลลงทะเล คาดมาจากเรือขนส่ง โดยตอนนี้มีเต่าทะเลตายแล้ว 1 ตัว และต้องเฝ้าระวังแนวปะการังที่ได้รับผลกระทบ 4 พันไร่ รวมถึงคราบน้ำมันพัดเกยตื้นบนหาดทรายอีกจำนวนมาก อาจกระทบต่อการท่องเที่ยว มีผลอันตรายต่อคนที่บริโภคอาหารทะเล ตอนนี้หน่วยงานรัฐ เร่งกำจัดคราบน้ำมัน ห่วงอ่าวพังงา ตอนใน พร้อมหาเรือต้นตอน้ำมันรั่ว
ดร.พรศรี สุทธนารักษ์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยกับทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ ขณะลงพื้นที่ติดตามปัญหาคราบน้ำมันใน จ.ภูเก็ต ว่า สถานการณ์คราบน้ำมันเริ่มขึ้นฝั่งมาจาก อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ตั้งแต่วันที่ 2 ส.ค. ที่ผ่านมา คราบน้ำมันไหลไปตามกระแสน้ำทะเลถึงพื้นที่ภูเก็ต จนวันที่ 7 ส.ค. ที่ผ่านมา คราบน้ำมันบางส่วนไหลถึง เกาะราชาใหญ่ จ.ภูเก็ต กินพื้นที่กว่า 125 กิโลเมตร
“ลักษณะคราบน้ำมันที่เกยหาด ส่วนใหญ่เป็นก้อนสีดำ ขนาดแตกต่างกัน มีลักษณะคล้ายยางมะตอย ขณะนี้คราบน้ำมันที่เกยชายหาด ทางจังหวัดได้มีทีมงานทุกภาคส่วนคอยตรวจเก็บออกจากหาด ถ้าเป็นในพื้นอุทยาน จะมีชุดตรวจคอยเก็บกวาด”
...
คราบน้ำมันตอนนี้มีบางส่วนปนเปื้อนอยู่ในทะเล แต่ท้ายที่สุดแล้วคราบน้ำมันเกือบทั้งหมดจะถูกพัดเข้าสู่ชายฝั่ง แต่ตอนนี้ยังคาดการณ์ไม่ได้ว่า ปริมาณคราบน้ำมันรั่วไหลในทะเลมีประมาณเท่าไร ทำให้ยากจะคำนวณว่า คราบน้ำมันที่เหลือจะพัดขึ้นสู่ฝังเมื่อใด เพราะตอนนี้มีบางหาดที่มีคราบน้ำมันขึ้นมาเก็บกวาดไปแล้ว 2-3 วัน จนถึงวันนี้ยังมีคราบน้ำมันเม็ดเล็กๆ ขึ้นมาอยู่
จากการประเมินคาดว่า ปริมาณคราบน้ำมันรั่วไหลในทะเล มีจำนวนมากมาจากเรือ เพราะฝั่งตะวันตกของเกาะภูเก็ต เป็นช่องทางเดินเรือ
สำหรับคราบน้ำมันที่รั่วไหลในทะเลครั้งนี้ พบผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม มีรายงานว่า เต่าทะเลถูกน้ำมันเคลือบบนตัว และมีเต่าที่กินคราบน้ำมัน เสียชีวิตแล้ว 1 ตัว ขณะที่แนวปะการังพื้นที่ จ.พังงา ที่มีกว่า 2 พันไร่ รวมถึงที่ภูเก็ตมีพื้นที่ 1.8 พันไร่ รวมพื้นที่ปะการังที่ต้องเฝ้าระวังผลกระทบประมาณ 4 พันไร่
ขณะนี้คลื่นลมทะเลมีกำลังแรง ทำให้ยังไม่สามารถดำน้ำลงไปดูผลกระทบปะการังได้ แต่หลังจากนี้ หากลมสงบ จะส่งทีมนักดำน้ำลงไปสำรวจผลกระทบปะการังทั้ง 4 พันไร่ รวมถึงมีการสำรวจผลกระทบระบบนิเวศบนหาดทราย และหาดหินต่อจากนี้
ผลกระทบจากคราบน้ำมันเห็นชัดที่สุดในรอบนี้คือ เต่าทะเล เนื่องจากวิถีชีวิตเต่า ต้องโผล่พ้นน้ำ ทำให้มีคราบน้ำมันติดตามตัวและใบหน้า ขณะเดียวกันเต่าไปเกาะขอนไม้หรือวัตถุต่างๆ ลอยน้ำในทะเล ทำให้มีคราบน้ำมันเกาะบริเวณนั้นจำนวนมาก
“ต้องจับตาสัตว์ทะเล ที่มีการกินคราบน้ำมันหรือเคลือบบนลำตัว แล้วคนนำไปรับประทาน จะมีกลิ่นน้ำมัน มีผลต่อชาวบ้านที่ทำประมงริมชายฝั่ง เพราะขนาดไปเดินริมชายหาด ก็มีคราบน้ำมันซัดขึ้นมา มีกลิ่นน้ำมันเล็กน้อย สำหรับพื้นที่น่าเป็นห่วงที่กังวลคือ อ่าวพังงา ตอนใน มีทรัพยากรอยู่จำนวนมาก เช่น พื้นที่หญ้าทะเล แนวปะการัง ป่าชายเลน”
...
การฟื้นฟูต่อจากนี้ ทางจังหวัดจะประสานการให้ความรู้กับชาวบ้านในพื้นที่ว่า คราบน้ำมันที่รั่วมาจากอะไร ควรมีการป้องกันตัวเองอย่างไร ขณะเดียวกันต้องมีการนำคราบน้ำมันที่รั่วไหลออกจากทะเลให้มากที่สุด ส่วนการฟื้นฟูระยะยาว มีการวางแผนร่วมกันอีกครั้ง
สำหรับการสืบสวนเพื่อหาเรือที่ทำให้น้ำมันรั่วไหล ทางจังหวัดมีการเก็บข้อมูล หาเรือที่สัญจรในพื้นที่วันเวลาดังกล่าว เพื่อหาต้นตอเรือเกิดเหตุ และมีการลงโทษต่อไป.