เทียบเคียงการเมือง ถอดสมการข้าวต้มมัดการเมืองที่ถูกคลี่ออก โดย Thaksin Factor...
สำหรับในตอนที่แล้ว ทักษิณ ชินวัตร ตัวตนผ่านเลนส์ เนติบริกร “เรา” ได้ทำความรู้จักตัวตนของ “นายทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ผ่านมุมมองการวิเคราะห์ของ “นายวิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี และรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กันไปแล้วในเบื้องต้น
ฉะนั้นวันนี้ “เรา” ลองนำบทวิเคราะห์มุมมองและชั้นเชิงทางการเมืองของ “คนแดนไกล” ดังกล่าว มา “เทียบเคียง” กับ “ปรากฏการณ์การจัดตั้งรัฐบาลอันสุดอลหม่านที่สุดครั้งหนึ่งของการเมืองไทย” ณ ปี 2566 ซึ่งไม่เป็นรองประวัติศาสตร์ “จัดบ้านแต่งชุดขาวรอเก้อ” ของ “พล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์” หรือ “ปรากฏการณ์กลุ่มงูเห่าพลิกขั้วตั้งรัฐบาล” สมัย “นายกรัฐมนตรีชวน หลีกภัย” กันดู....ว่ามันมีความสอดคล้องกับ การถอดสูตร “สมการข้าวต้มมัดการเมือง” ที่ว่าทั้งแน่นหนาและรัดตึง ไม่ต่างอะไรกับ “คู่บ่าวสาวที่ถูกประชาชนจัดคลุมถุงชนเข้าพิธีแต่งงาน” จนกระทั่ง “คลายเงื่อนปม” ลงได้ในที่สุด วันนี้ “เรา” ลองไปร่วมกันวิเคราะห์ “การถอดสมการการเมือง” ที่ว่านี้ร่วมกันดู...
...
ก่อนอื่น... “เรา” ไปย้อนฟังการวิเคราะห์ชั้นเชิงทางการเมืองของ “ทักษิณ ชินวัตร” ซึ่งอ้างอิงจาก “หนังสือเล่าเรื่องผู้นำ” ของ “นายวิษณุ เครืองาม” กันอีกสักครั้งก่อน
“มีคนเล่าภายหลังว่า ทางพรรคประชาธิปัตย์ (ในอดีต) ก็สนใจคุณทักษิณ แต่พรรคมีขั้นตอนการทำงานและการไต่เต้าเข้าสู่ตำแหน่งเป็นขั้นเป็นตอนอยู่มาก คุณทักษิณเป็นคนคิดใหม่ ทำใหม่ คิดเร็ว ทำเร็ว ใจร้อน ประกอบกับมีผู้เสนอแนะให้ตั้งพรรคเองจะดีกว่า อย่าไปเป็นไม้ต่อยอดอยู่เลย จึงหันไปหาพรรคพลังธรรม และแยกออกมาตั้งพรรคไทยรักไทยในที่สุด
ถ้าดูจากพฤติกรรมชักเข้าชักออกแล้ว หลายคนสรุปว่าคุณทักษิณเป็นคนโลเล เปลี่ยนใจง่าย ไม่คงเส้นคงวา แต่ผมว่าเป็นการอ่านเกม และรู้จักช่วงชิงความได้เปรียบมากกว่า ถ้ารู้ว่าตนกำลังเสียเปรียบ คุณทักษิณจะโอนอ่อนตาม ถ้ารู้ว่ากำลังได้ทีก็จะขี่แพะไล่ ถ้ารู้ว่าอยู่ไปจะลำบากก็จะถอย ถ้าอยู่ไปจะได้ช่องโอกาสก็จะรุก แต่ก็เห็นได้ว่าเป็นคนอดทนน้อย อดกลั้นน้อย ทั้งน้ำขุ่นน้ำใสออกมาหมดทางแววตา สีหน้า ท่าทาง และคำพูด”
1. การอ่านเกม :
พรรคเพื่อไทย เป็นพรรคการเมืองใหญ่เพียง “พรรคเดียว” ในการเลือกตั้ง 14 พ.ค. 2566 ที่มีการจัดวางแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ครบทั้ง 3 คน คือ อันดับ 1. นางสาวแพทองธาร ชินวัตร 2. นายเศรษฐา ทวีสิน 3. ชัยเกษม นิติสิริ และที่ “แปลก” ไปกว่านั้นคือ หัวหน้าพรรคเพื่อไทยโดยตำแหน่ง อย่าง “นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว” กลับ “ไม่ถูกจัดวาง” เป็นหนึ่งในสามแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของทางพรรคเสียอย่างนั้น!
ขณะเดียวกันทั้งช่วงหาเสียงและปรากฏผลการเลือกตั้งชัดเจนแล้ว พรรคเพื่อไทย “ไม่เคย” ออกมาพูดอย่างชัดเจนเลยสักครั้งว่า “ใครจะเป็นผู้ถูกเลือก” ทำให้บรรดานักวิเคราะห์มองตรงกันว่า “หน้าไพ่ทั้ง 3 ใบ” ซึ่งมีความโดดเด่นคนละแบบ ไม่ว่าจะเป็น สัญลักษณ์คนรุ่นใหม่และความเชื่อมโยงมนตร์ขลังยี่ห้อคนดูไบ, ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ, มือกฎหมายและผู้ประสานสิบทิศ นั้น จะถูกหยิบขึ้นมาใช้ให้เหมาะสมกับ “สถานการณ์การเมือง ณ เวลานั้นๆ” โดยเฉพาะในช่วง “หน้าสิ่วหน้าขวาน” การจัดตั้งรัฐบาลที่ พรรคเพื่อไทย มีทางเลือกเพียงหนทางเดียวเท่านั้น คือ...จะต้องเป็น “รัฐบาล” ให้จงได้!
...
ซึ่ง “กลยุทธ์การจัดวางตำแหน่ง” เช่นนี้ บ่งชี้ได้ชัดว่าผู้ที่อยู่เบื้องหลัง “สามารถอ่านเกมการเมืองในสภาวะไม่ปกติได้เด็ดขาด” จนกระทั่ง พรรคเพื่อไทยมีความพร้อมมากๆ สำหรับ “การแปรเปลี่ยนและลู่ไปทางทิศทางลมการเมืองที่เหมาะสมได้ในทุกสภาวการณ์”
2. รู้จักช่วงชิงความได้เปรียบ :
“ถ้ารู้ว่าเสียเปรียบจะโอนอ่อนตาม”
หลังผลการเลือกตั้งออกมา “พรรคเพื่อไทย” นอกจากจะ “พลาดเป้าแลนด์สไลด์” ไปไกลลิบ และได้มาเพียง 141 เสียง (สส.เขต 112 คน บัญชีรายชื่อ 29 คน) แล้ว ยังตกเป็นรองพรรคที่ได้คะแนนเสียงมาเป็นอันดับที่ 1 อย่าง “พรรคก้าวไกล” ที่ได้ สส. รวม 151 คนด้วย
อย่างไรก็ดี แม้ต้องลิ้มรสชาติความ “พ่ายแพ้” ครั้งแรกในการเลือกตั้ง แต่ “พรรคเพื่อไทย” กลับมีท่าทีที่สงบนิ่งและดูเจียมเนื้อเจียมตัว ท่ามกลาง “ปรากฏการณ์สีส้มเบ่งบาน” และแรงกดดันที่ถาโถมให้สนับสนุน “นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ในช่วงแรกๆ ผ่านบรรดา “ตัวจริงของพรรค” ไม่ว่าจะเป็นทั้ง “นางสาวแพทองธาร ชินวัตร” หรือ “นายภูมิธรรม เวชยชัย” จนราวกับว่า...การตั้ง “รัฐบาลพิธา 1” ภายใต้การสนับสนุนของพรรคเพื่อไทยกำลังเดินหน้าไปได้อย่างชื่นมื่น ท่ามกลางเสียงแซ่ซ้องของประชาชนที่ถวิลหาความเปลี่ยนแปลง
...
“ถ้ารู้ว่ากำลังได้ที ก็จะขี่แพะไล่”
หลังพรรคก้าวไกลเริ่มเดินเกมจับพรรคพันธมิตรมัดรวมให้แน่นหนา “ตามยุทธการข้าวต้มมัด” ผ่าน MOU นั่นแหละ “เรา” จึงเริ่ม “ได้กลิ่น” ชั้นเชิงทางการเมืองที่ผ่านการกรำศึกมายาวนาน
ในงานแถลงข่าว 8 พรรคพันธมิตร ที่ประกอบด้วย พรรคก้าวไกล, พรรคเพื่อไทย, พรรคประชาชาติ, พรรคไทยสร้างไทย, พรรคเพื่อไทรวมพลัง, พรรคเสรีรวมไทย, พรรคเป็นธรรม, พรรคพลังสังคมใหม่ รวม 312 เสียง ร่วมลงนาม MOU จัดตั้งรัฐบาล ซึ่ง “ฉากหน้า” เต็มไปด้วยความแช่มชื่นนั้น ถูกขุดคุ้ยในภายหลังว่า สาเหตุที่การแถลงข่าวล่าช้าออกไปเกือบ 30 นาทีนั้น เป็นเพราะมีการต่อรองและกดดันอย่างหนักให้ “มีการบรรจุถ้อยคำเพิ่มเติมลงไปใน MOU” ถึงขนาดที่ว่ากันว่า หากพรรคก้าวไกล “ไม่ยอม” อาจถึงขั้น “ยกเลิกการแถลงข่าวในวันนั้นเอาเสียด้วย”
...
และเมื่อได้แลเห็นแล้วว่า “พรรคก้าวไกล” ที่แต่ไหนแต่ไรมักเลือกยอมหักไม่ยอมงอ “ถอยเป็น” เราจึงได้เริ่มเห็น “เกมรุก” จากฝากฝั่งพรรคเพื่อไทยมากขึ้นและมากขึ้น! และนั่นเอง จึงนำมาซึ่ง “ยุทธการขอได้ไหมเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎร?” ในลำดับถัดมา
การเผชิญหน้าที่คุกรุ่นยาวนานระหว่าง “พรรคก้าวไกล และ พรรคเพื่อไทย” ในเรื่องตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร จบลงในแบบฉากหน้าเรียกว่า “บัวไม่ช้ำ น้ำไม่ขุ่น” เพราะคนที่ได้เก้าอี้นี้ไปครอง คือ “นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา” จากพรรคประชาชาติ ผู้หลักผู้ใหญ่ที่ดูเหมือนจะเป็นคนกลางระหว่างทั้งสองพรรคได้ อีกทั้งยังมี “พันธสัญญาผ่านตัวอักษร” เสียด้วยว่า พรรคเพื่อไทยจะต้องให้การสนับสนุน “นายพิธา” ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีอย่างสุดความสามารถ รวมถึงจะต้องร่วมมือกันผลักดันการปฏิรูปกองทัพและการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย
หากแต่...ในความเป็นจริง ทุกคนย่อมทราบกันดีว่า "นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา" หรือ "นายทวี สอดส่อง" สองแกนนำพรรคประชาชาตินั้น “มีอดีตที่ใกล้ชิด” กับ “คนแดนไกล” มากน้อยเพียงใด?
เมื่อจบปัญหา “เก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎร” ทุกอย่างก็ดูเหมือนจะกลับมา “ราบรื่น” อีกครั้งในเรื่องการผลักดัน “นายพิธา” ขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยในการประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีรอบแรกนั้น จะเห็นได้ว่า พรรคเพื่อไทยแสดงความ “จริงใจ” ด้วยการให้ผู้เสนอชื่อนายพิธา เป็น “นพ.ชลน่าน” อีกทั้งสมาชิกพรรคเพื่อไทยก็ลงเสียงให้กับนายพิธากันอย่างพร้อมเพรียง แต่แล้วเมื่อผลปรากฏออกมาว่า “นายพิธา” ไม่ผ่านความเห็นชอบ อะไรๆ ที่ “ราบรื่น” ก็กลับมาเริ่มมีปัญหาอีกครั้ง! พร้อมกับ...คำร้องขอที่ว่า “ขอได้ไหม ขอเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลแทน?”
“ถ้ารู้ว่าอยู่ไปจะลำบากก็จะถอย” :
เมื่อ “นายพิธา” ถูกศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ ในวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีรอบ 2 รวมถึง พรรคก้าวไกล “พ่ายแพ้เกมในสภา” เรื่องการห้ามนำญัตติ ซึ่งมีหลักการเดียวกันขึ้นเสนออีกในสมัยประชุมเดียวกัน หรือหมายถึง ไม่สามารถเสนอชื่อนายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรีซ้ำได้เรื่อยๆ จนเป็นผลให้พรรคก้าวไกล ที่เสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว ไม่สามารถเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลได้อีกต่อไป
ทั้งๆ ที่การติด “เงื่อนล็อก” เรื่องการเสนอชื่อนายพิธาซ้ำนั้น ฝ่ายพรรคก้าวไกลมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะเท่ากับเป็นการนำข้อบังคับการประชุมมาอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ และ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ในฐานะประธานรัฐสภา และประธานการประชุม น่าจะสามารถใช้อำนาจวินิจฉัยในประเด็นนี้ได้ แทนที่จะปล่อยให้การลงมติ และนำมาซึ่ง “การปิดทางสำหรับการเสนอชื่อนายพิธา ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง”
เมื่อพรรคก้าวไกลมาถึงทางตัน พรรคเพื่อไทย จึงเริ่มร้องขอเสียงดังขึ้นเรื่อยๆ ว่า “ช่วยเปิดทางให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลแทน (ได้ไหม)” ภายใต้คำพูดที่พูดซ้ำแล้วซ้ำเล่าไปมาที่ว่า “ประเทศชาติไม่อาจรอการมีรัฐบาลชุดใหม่ได้นานกว่านี้อีกแล้ว”
ถ้าอยู่ไปจะได้ช่องโอกาส ก็จะรุก :
อย่างไรก็ดี “เมื่อคุณได้รับสิทธินั้น” ...สิ่งที่ “พรรคเพื่อไทย” ทำออกสื่อนั้น “กลับค่อนข้างพิกล” ในสายตาของ “พรรคก้าวไกล” อยู่ไม่น้อย เพราะแทนที่จะแสดงออกด้วยการร่วมมือกัน “หาทางเติมจำนวน สว.” ให้ครบ 365 เสียง เพื่อพาพรรคก้าวไกลและพันธมิตรไปด้วยกันต่อ หรือร่วมมือกัน “กดดัน” ฝ่ายที่คัดค้าน ตามข้อเสนอที่ให้ยืดเวลาโหวตนายกรัฐมนตรีออกไป 10 เดือน เพื่อรอให้สมาชิกวุฒิสภาหมดอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี ตามบทเฉพาะกาล มาตรา 269 หรือร่วมมือกับพรรคก้าวไกลในการเสนอชื่อ “นายพิธา” ซ้ำไปเรื่อยๆ เพื่อกดดันกลุ่ม สว. หรือไม่อย่างน้อยที่สุด...ก็ร่วมมือกันแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 เพื่อไม่ให้ สว. มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีได้อีกตลอดกาล
หากแต่พรรคเพื่อไทย กลับเชื้อเชิญ “พรรคขั้วรัฐบาลเดิม” ที่รังเกียจรังงอนพรรคก้าวไกลมาตั้งแต่แรก เข้ามาหารือหน้าตาเฉย พร้อมกับจัดแถลงข่าวออกสื่อแบบเปิดหน้าเปิดตาในทำนองที่ว่า นอกจาก สว. แล้ว “ก็ยังไม่มีพรรคการเมืองไหน ที่อยากทำงานกับพรรคก้าวไกล” เสียด้วย! ประกอบกับในระหว่างการ “ระหองระแหง” นั้น ก็มักจะมีตัวละครใหม่ๆ ออกมาแสดงท่าทีที่ชัดเจนเสียอยู่เรื่อยๆ อีกด้วยว่า “พรรคก้าวไกลควรเป็นฝ่ายที่เสียสละ”
เป็นคนอดทนน้อย อดกลั้นน้อย ทั้งน้ำขุ่นน้ำใสออกมาหมด :
เมื่อการเจรจาเพื่อหวังให้เกิดภาพ “การลาจากกันด้วยดี” เกิดความยืดเยื้อ และดูเหมือนจะไร้ซึ่งหนทางที่จะให้ทางพรรคก้าวไกล ยอมจากไปแต่โดยดี จาก “ยุทธการเมื่อเจอคนหน้าด้านเราต้องหน้าด้านกว่า” ความอดทนของใครบางคนที่คิดถึงบ้านจึงดูเหมือนจะถึงจุดสิ้นสุด
ด้วยเหตุนี้ “เรา” จึงได้เห็น “การเปิดเผยตัวในที่แจ้งพร้อมกับบรรดาแกนนำจากหลากหลายพรรคการเมืองที่บินไปพบที่ฮ่องกง” พร้อมๆ กับการประกาศวันและเวลาที่ชัดเจนสำหรับการเดินทางกลับมาตุภูมิ
ซึ่งจาก “ปรากฏการณ์” ที่ “จงใจ” ให้เกิดขึ้นนี้ ถึงแม้จะไม่ใช่คอการเมือง ก็คงตีความได้ไม่ต่างกันว่า “การเดินไปข้างหน้านับจากนี้ คงจะไม่มีพรรคก้าวไกลเข้ามาร่วมอีกแล้ว!”
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน