วิเคราะห์ตัวตน “ทักษิณ ชินวัตร” ผ่านเลนส์ “วิษณุ เครืองาม” รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม หนึ่งในบุคคลที่ต้องเตรียมทำหน้าที่ “ต้อนรับกลับบ้าน”...

ทำความรู้จักตัวตนของ “นายทักษิณ ชินวัตร” หลังประกาศกลับบ้าน เวลา 10.00 น. ของวันที่ 10 สิงหาคม 2566 ผ่านเลนส์ของ “นายวิษณุ เครืองาม” ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งครั้งหนึ่งเคยทำงานใกล้ชิดกับ อดีตนายกรัฐมนตรีผู้ห่างบ้านไปเนิ่นนานถึง 17 ปี จนกระทั่งได้รับฉายาจากนักข่าวทำเนียบว่า “เนติบริกร” 

แล้ว “เนติบริกร” ที่ ณ วันนี้ ต้องรับภาระสำคัญในการดูแลอดีตนายกรัฐมนตรี ช่วงระหว่างที่ต้องเข้าเรือนจำจาก 1. คดีทุจริตหวยบนดิน 2. คดี Exim Bank และ 3. คดีนอมีนีถือหุ้นชินคอร์ป รวมจำคุก 12 ปี ในฐานะรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เคยบอกเล่าถึง “ตัวตน” ของ ทักษิณ ชินวัตร เอาไว้อย่างไรผ่าน “หนังสือเล่าเรื่องผู้นำ” กันบ้าง วันนี้ “เรา” ไปร่วมกัน “ทบทวน” เรื่องเล่าเหล่านั้น...เพื่อเป็นฐานสำหรับวิเคราะห์การเมืองไทยบทใหม่ ภายใต้ “Thaksin Factor” 

...

แบบอย่างทางการเมืองของ ทักษิณ ชินวัตร : 

"นายวิษณุ เครืองาม" ระบุเอาไว้ใน “หนังสือเล่าเรื่องผู้นำ” เอาไว้ว่า...“ผมเคยทราบว่าท่าน (คุณทักษิณ) สนใจการเมือง และแรกๆ ก็เคยคิดจะเข้าร่วมพรรคประชาธิปัตย์ ท่านเคยเล่าว่าบุคคลแบบอย่างทางการเมืองของท่านคือ นายชวน หลีกภัย และ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ถ้าเอามารวมกันแล้วหารสองก็จะได้ส่วนผสมที่ไม่ขาดไม่เกิน”

วิเคราะห์นิสัยส่วนตัว ทักษิณ ชินวัตร :  

“มีคนเล่าภายหลังว่า ทางพรรคประชาธิปัตย์ (ในอดีต) ก็สนใจคุณทักษิณ แต่พรรคมีขั้นตอนการทำงานและการไต่เต้าเข้าสู่ตำแหน่งเป็นขั้นเป็นตอนอยู่มาก คุณทักษิณเป็นคนคิดใหม่ ทำใหม่ คิดเร็ว ทำเร็ว ใจร้อน ประกอบกับมีผู้เสนอแนะให้ตั้งพรรคเองจะดีกว่า อย่าไปเป็นไม้ต่อยอดอยู่เลย จึงหันไปหาพรรคพลังธรรม และแยกออกมาตั้งพรรคไทยรักไทยในที่สุด

ถ้าดูจากพฤติกรรมชักเข้าชักออกแล้ว หลายคนสรุปว่าคุณทักษิณเป็นคนโลเล เปลี่ยนใจง่าย ไม่คงเส้นคงวา แต่ผมว่าเป็นการอ่านเกม และรู้จักช่วงชิงความได้เปรียบมากกว่า ถ้ารู้ว่าตนกำลังเสียเปรียบ คุณทักษิณจะโอนอ่อนตาม ถ้ารู้ว่ากำลังได้ทีก็จะขี่แพะไล่ ถ้ารู้ว่าอยู่ไปจะลำบากก็จะถอย ถ้าอยู่ไปจะได้ช่องโอกาสก็จะรุก แต่ก็เห็นได้ว่าเป็นคนอดทนน้อย อดกลั้นน้อย ทั้งน้ำขุ่นน้ำใสออกมาหมดทางแววตา สีหน้า ท่าทาง และคำพูด” 

ทักษิณ ชินวัตร กับงานวิจัยและฐานข้อมูล : 

ผมเข้าใจว่า คุณทักษิณ จะเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีด้วยความพร้อมที่สุดในบรรดาคนที่เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกที่ผมเคยพบมา ความพร้อมในที่นี้ไม่ได้หมายถึงความตั้งอกตั้งใจ แต่หมายถึงการมีอัฐบริขารพร้อมที่จะเกื้อกูลการทำงานต่อไป 

คุณทักษิณเป็นคนเชื่อ และใช้ระบบข้อมูลข่าวสารมาก โดยเฉพาะข้อมูลที่พิสูจน์ในทางวิทยาศาสตร์ได้ ไม่ใช่ข้อมูลจากหลักโหราศาสตร์หรือการคาดคะเน เมื่อรัฐบาลบริหารประเทศไปสักระยะแล้ว ภาคราชการประจำเป็นอันรู้กันทั่วว่า ใครจะ “แหกตา” ท่านนายกฯ เห็นจะลำบาก ใครอยากได้งบประมาณหรือโครงการอะไรไปทำ ต้องมีข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์มานำเสนอ มิฉะนั้นไม่มีทาง ตัวท่านเองก็เห็นวุ่นแต่กับการทำโพล การใช้ข้อมูลจากการวิจัยภาคสนาม แผนที่ทางอากาศ ข้อมูลดาวเทียม ข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต และการข่าวกรองหรือข่าวลับ ว่างๆ ท่านก็เล่าให้ฟังว่าระหว่างการเลือกตั้ง ท่านให้ทำโพล คือ แบบสำรวจความเห็นและวิจัยจุดอ่อนจุดแข็งของคนและของประเทศมาเป็นระยะๆ เพื่อทำแพลตฟอร์ม หรือเวทีพื้นฐานรองรับการแก้ปัญหา รวมทั้งเก็บข้อมูลว่าผู้สมัครคนใดใครจะได้ ใครจะตก นโยบายใดถูกใจประชาชน นโยบายใดคนไม่รับ นโยบายใดคนรู้สึกก้ำๆ กึ่งๆ นัยว่าหมดค่าวิจัยไปเป็นร้อยล้าน และสะสมข้อมูลเหล่านี้ไว้แรมปีจนตกผลึกชี้ชัดว่าใครควรทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เมื่อไร

...

ข้อมูลเหล่านี้ คุณทักษิณ นำมาใช้ชนิด “กินไม่หมด กินได้นาน อยู่เป็นปี” และเมื่อข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับความต้องการของประชาชนชักจะเชยไปแล้ว ก็เพียงแต่ให้ฝ่ายวิจัยของพรรคและของรัฐบาลไปวิจัยหรือสำรวจ “ต่อยอด” ใหม่อีกนิดเท่านั้น! 

บริหารพรรคการเมือง สไตล์ ทักษิณ ชินวัตร : 

ส.ส.จากเขตเลือกตั้งทั้งหลาย คุณทักษิณประกาศนโยบายชัดเจนว่า ให้ทำหน้าที่นิติบัญญัติอยู่ในสภาหรือไม่ก็เป็นฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล เช่น เลขานุการรัฐมนตรี ที่ปรึกษารัฐมนตรี แต่ไม่ให้ลาออกมาเป็นรัฐมนตรีเด็ดขาด เพราะจะสิ้นเปลืองงบประมาณรัฐบาลในการเลือกตั้งซ่อม 

ส.ส.บัญชีรายชื่อ พวกนี้ถ้าเหมาะสมก็ให้เป็นรัฐมนตรีได้ แม้จะต้องลาออกมาเป็น เพราะไม่มีการเลือกตั้งซ่อม มีแต่การเลื่อนขึ้นมาเป็นลำดับ 

ส่วนบรรดาผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อ แต่ยังไม่ถึงคราวจะเลื่อนเป็น ส.ส. เรียกว่ารอคิวอยู่ พวกนี้คุณทักษิณต้องการให้ทำงานพรรคนอกสภาอย่างหนักหน่วงต่อไป ทั้งให้คอยประกบรัฐมนตรีของพรรคไว้ด้วย จะเรียกว่า ส.ส.เงาและรัฐมนตรีเงาก็ได้ และเตรียมตัวว่าเมื่อได้เลื่อนขึ้นเป็น ส.ส. ก็สามารถปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ที่ดีได้ทันที 

...

ขณะที่บรรดา ส.ส. สอบตก และบุคคลสำคัญในพรรคที่ไม่ได้สมัครรับเลือกตั้ง แต่อาจลงเลือกตั้งสมัยหน้า พวกนี้ขอให้ลงพื้นที่ เกาะพื้นที่ให้มั่น ไม่ต้องวอกแวกกับอย่างอื่น

บริหารประเทศสไตล์ ทักษิณ ชินวัตร : 

เวลาคุณทักษิณเข้าประชุม ครม. เมื่อครั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สมัยรัฐบาลชวน 1 และ รองนายกรัฐมนตรีสมัยนายกรัฐมนตรี บรรหาร ศิลปอาชา ผมรู้สึกว่า คุณทักษิณ เป็นรัฐมนตรีที่ประหลาดกว่ารัฐมนตรีคนอื่นๆ เพราะปกติเวลาประชุม ครม. รัฐมนตรีมักจะไม่แสดงความเห็นข้ามกระทรวง ฉะนั้นคนที่จะแสดงความเห็น สอบถาม หรือท้วงติง ในเรื่องของกระทรวงใดที่เข้า ครม. โดยมากมักจะเป็นนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีคลัง เพราะต้องท้วงติงเกี่ยวกับเรื่องเงินๆ ทองๆ 

แต่สำหรับคุณทักษิณ จะแสดงความสนใจข้ามกระทรวงและสอบถามหรือท้วงติงอยู่บ่อยครั้ง โดยครั้งหนึ่ง มีผู้บริหารรัฐวิสาหกิจใหญ่แห่งหนึ่งเข้าไปต่อที่ประชุม ครม. เพื่อขออนุมัติเปิดโครงการร่วมทุนกับเอกชนมูลค่ามหาศาล คุณทักษิณจึงสอบถามขึ้นว่า “อีบิทดา (EBITDA) ของคุณเท่าไร?”....เกือบทุกคนใน ครม. เงี่ยหูฟัง ในใจนึกว่า “อะไรนะ” แต่อะไรก็ไม่เท่ากับผู้บริหารรัฐวิสาหกิจคนนั้นก็ไม่รู้ว่า “อีบิทดา” ที่ว่านี้มันเป็นตัวอะไร? 

...

ทำให้คุณทักษิณ ต้องอธิบายว่า “อีบิทดา” คือ รายได้ก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี และอื่นๆ ผู้บริหารคนนั้นจึงร้อง “อ๋อ” แล้วไม่บอก! ต่อจากนั้นจึงอธิบายรายได้ของรัฐวิสาหกิจของตน ซึ่งพอฟังจบทุกคนรู้สึกตรงกันว่า ด้วยรายได้เท่านี้ อีบิทดาขนาดนี้ จะลงทุนอย่างนี้ น่าจะไปไม่รอด ที่ประชุมจึงไม่อนุมัติตามที่คุณทักษิณเปิดประเด็นเอาไว้! 

การคิดใหม่ ที่นำไปสู่การบริหารสไตล์ใหม่ :  

เมื่อคุณทักษิณเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้มีการนำสโลแกนเรื่องคิดใหม่ทำใหม่มาใช้ตั้งแต่แรก โดยถือหลักว่า พยายามทำอะไรให้ต่างจากแนวเดิม เผื่อจะทำให้อะไรต่ออะไรดีขึ้น ทั้งความรู้สึกและผลลัพธ์ที่บังเกิด 

สิ่งที่ผมเห็นว่าเป็นการคิดใหม่ทำใหม่อย่างแรก คือ การจัดตั้งรัฐบาลที่เร็ว การแถลงนโยบายให้เร็ว การลงมือทำงานทันทีอย่างถึงลูกถึงคน ด้วยการเปิดโผชักบัญชีปัญหาบ้านเมืองขึ้นมาตั้งบนโต๊ะ แล้วไล่ทำไปทีละอย่างสองอย่างโดยเร็ว ยังกับว่าเหลือเวลาไม่กี่วัน 

ขนาดยังไม่ทันเป็นรัฐบาล แค่แว่วว่าอาจจะได้เป็นเพราะผลเลือกตั้งเริ่มทยอยออกมาแล้ว คุณทักษิณยังเชิญหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ มาปรึกษาที่บ้านเลยว่ากระทรวงนี้มีปัญหาอะไร จะให้แก้อย่างไร ทั้งยังวางระบบภายในทำเนียบ แจกงานแก่ผู้เกี่ยวข้อง มอบอำนาจไปให้มากที่สุดและเป็นการมอบแบบเด็ดขาด งานใดใครว่ายาก ดีแล้ว! เอามาทำก่อน งานใดใครบอกว่าไม่ควรเสี่ยง ดีแล้ว! เอามาเสี่ยงก่อน คุณทักษิณใช้คำง่ายๆว่า ถ้ายากก็ทำตอนนี้ ถ้าผิดจะได้มีเวลาแก้ไข เพราะงานยากต้องใช้เวลาไม่ใช่หรือ งานเสี่ยงก็ต้องรีบทำ ถ้าเสี่ยงแล้วผิดจะได้แก้ใหม่ 

ส่วนการประชุม ครม. ก็ใช้สไตล์ใหม่ไม่เหมือนใคร ด้วยการประชุมเช้า (เริ่มเวลา 08.30 น.) เลิกเที่ยง ไม่ให้ประชุมเลยเที่ยงเด็ดขาด ถ้าไม่เลิกไม่ให้กินข้าว รวมถึงให้มีคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอ ครม. หลายๆ ชุดคานกันเอง เรียกว่าแผนแบ่งทีมแยกกันทำงานโดยมีตัวเองเป็น CEO ให้รัฐมนตรีทำงานตามระบบบริหารธุรกิจแบบใหม่ที่เรียกว่า Matrix คือ ไขว้กันได้ ไม่ให้เกี่ยงงอนสร้างอาณาจักรเฉพาะกระทรวง เรียกว่า “มาตรการใช้คนให้ถูกกับงาน” 

ยิ่งกระจายอำนาจ ยิ่งมีอำนาจ การบริหารอำนาจสไตล์ทักษิณ : 

คุณทักษิณ ถามผมว่า หากจะกระจายอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีเซ็นแฟ้มเอกสารแทนจะได้ไหม? (เนื่องจากคุณทักษิณไม่ต้องการเป็นทาสแฟ้มเอกสารของทางราชการ) 

ผมตอบไปว่า ได้ ถ้าท่านไว้ใจ คุณทักษิณ รีบตอบทันทีว่าเรื่องไว้ใจไม่มีปัญหา เพราะถ้าใครไม่ควรไว้วางใจ ผมก็จะปลดออก กลัวแต่ว่าผิดกฎหมาย ถ้าตามกฎหมายมอบอำนาจได้ กระจายอำนาจได้ ขอมอบอำนาจไปให้หมด คุณไปเขียนคำสั่งมอบอำนาจมา ต่อมาคุณทักษิณก็ลงนามมอบอำนาจไปเกือบหมดสิ้นยกเว้นแฟ้มเอกสารสำคัญที่ไม่อาจมอบผู้อื่นได้

หลายเดือนต่อมาผมกราบเรียนถามว่า มอบอำนาจไปแล้ว อย่างนี้ท่านรู้สึกไหมว่ารู้ความเป็นไปอะไรต่ออะไรน้อยลง ทำนองบอกไปแล้วไม่เชื่อ ท่านตอบว่า... 

“ไม่เลย ถ้ามอบแล้วผมไม่วางระบบติดตาม ก็จะรู้น้อยและเสียอำนาจ แต่ถ้ามอบแล้ววางระบบติดตามให้ดี สงสัยอะไรก็ถามผู้รับมอบอำนาจเห็นเรื่องหายไปนานก็ทวง และกำหนดให้มีรายงานกลับมาในที่สุดยิ่งมอบอำนาจ ย่ิงกระจายอำนาจ ก็จะยิ่งมีอำนาจมากขึ้น เพราะเราไม่เป็นทาสของแฟ้ม ไม่เป็นทาสของกรอบเวลา ไม่เป็นทาสของระบบราชการที่ตั้งเรื่องเสนอขึ้นมาจากเด็กซี3 หรือ ซี4 รายงานขึ้นมาเป็นทอดๆ ว่าโปรดทราบโปรดพิจารณา พอถึงนายกรัฐมนตรีก็เซ็นเพียงแค่ว่า ทราบ หรือเห็นชอบตามเสนอ 

เมื่อเรามอบอำนาจไปแล้ว เราก็ไม่ถูกบีบคั้นและจำกัดกรอบความคิด ไม่ต้องนั่งทับกองแฟ้ม หรือให้กองแฟ้มทับเรา ของอะไรมอบอำนาจไปแล้วไม่ควรรู้ก็ไม่ต้องรู้ รู้ไปทำไม จำก็ไม่ได้ แต่ถ้าอยากรู้ก็เรียกมาถาม จะได้ทั้งต้นสายและปลายเหตุ คือการตัดสินใจสุดท้าย ข้อสำคัญอยู่ที่ว่า เราต้องไว้ใจเพื่อนร่วมงาน ถ้าไม่ไว้ใจก็เปลี่ยนคน ถ้าพบว่าทำผิดต้องเรียกอำนาจคืนหรือลงโทษ”  

คุณทักษิณ สรุปด้วยว่า รู้ไหมว่าคนยิ่งมอบอำนาจออกไป ยิ่งกระจายอำนาจออกไป ยิ่งมีอำนาจ เพราะจะมีเวลาคิด มีเวลาใช้อำนาจเรื่องอื่นๆ ถ้าเก็บอำนาจไว้ ของที่ควรทำได้ 10-20 เรื่อง ก็จะหมกมุ่นทำได้แค่เรื่องเดียว บางทีได้แต่เดินไปเดินมาเสียเวลาเพราะคิดไม่ออก บางทีตัดสินใจผิด เรื่องเก่าก็ไม่เสร็จ เรื่องใหม่ก็ไม่ได้ทำ นั่งบ้าอยู่กับกองแฟ้ม!

ความดื้อดึงของ ทักษิณ ชินวัตร : 

มีคนถามว่า คุณทักษิณ เป็นคนดื้อไหม และที่ถามว่า โกรธง่าย อารมณ์เสียบ่อยไหมก็มี ท่านเคยสารภาพไว้เองว่า “ดื้อ” เพราะเคยดึงดันทำอะไรหลายอย่างที่คนห้ามปรามมาแล้ว และมีวันนี้ได้เพราะความดื้อนี่เอง คือ ดื้อที่จะคิดแตกต่างและดื้อที่จะเสี่ยง ดังนั้น “ผมจะดื้อต่อไป” 

มีคนบอกว่า คุณทักษิณ เป็นคนไม่ค่อยฟังใคร มีความเป็นตัวของตัวเองมากไป เชื่อมั่นในตัวเองมากไปว่าเก่ง มีเงิน มีอำนาจ และมีปัญญา ผมก็ตอบไปว่า ผมไม่ได้ใกล้ชิดขนาดจะตัดสินเรื่องพรรค์นี้ได้ ถ้าพูดจากที่เห็นก็ต้องตอบว่า คงเป็นอย่างนั้นบ้างในบางครั้ง แต่เท่าที่ผมมีโอกาสทำงานด้วย ก็เห็นว่าเป็นคนฟังคน ถ้าการพูดให้ฟังนั้น คนพูดทำตามหลักสัปปุริสธรรม 7 ประการ หรือ ธรรมะ 7 ประการของผู้ได้ชื่อว่าสัตบุรุษ หรือ ผู้น่านับถือ ได้แก่ การทำอะไรให้ถูกเหตุ ถูกผล ถูกตน ถูกประมาณ ถูกกาล ถูกประชุมหรือสังคม และถูกกับบุคคลนั้นๆ หรือ รวมความแล้วคือ ทำถูกกาลเทศะ และแยบคายแนบเนียนนั่นเอง 

ธรรมะของพระพุทธเจ้าประเสริฐและเป็นสัจธรรม ใครเจอเข้าที่ดื้อก็ต้องคลาย ที่รั้นก็ต้องละลาย ดื้อเกินสัปปุริสธรรมไปไม่ได้หรอก แต่ที่ไม่ใคร่ยอมกัน คือ การกลัวเสียหน้า!  

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง