เนื่องใน “วันสตรีไทย” อัปเดตความเหลื่อมล้ำ เปลี่ยนแปลงไปแค่ไหน และบทบาททางการเมืองไทย ที่ผู้หญิงไทยให้ความสนใจมากขึ้น..

1 สิงหาคม “วันสตรีไทย” เป็นวันที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 เพื่อให้ผู้หญิงมีโอกาสแสดงความรู้ความสามารถในการพัฒนาประเทศ ควบคู่ไปกับการสร้างความเข้มแข็งให้สถาบันสังคม

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน เราเห็นว่า “สตรีไทย” หรือ “ผู้หญิงไทย” มีบทบาทมากขึ้นในหลายมิติ ทั้งการเมือง สังคม แต่ก็ยังมีบางส่วนที่ยังมีความ “เหลื่อมล้ำ” แฝงอยู่...

ภาพรวมสิทธิสตรี และความเหลื่อมล้ำ ณ ปี 2023 

นางสาวสุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม กล่าวว่า แม้ภาพรวมปัจจุบันจะดูว่า ผู้หญิงมีโอกาสทางสังคมมากขึ้น แต่ก็ยังมีสิ่งที่เป็นอุปสรรคหลายด้านที่เกิดขึ้นกับผู้หญิง โดยเฉพาะ “มายาคติ” ในความเป็น “เพศหญิง” มองผู้หญิงไม่มีความรู้ ไม่มีความสามารถ มีความไม่เหมาะสม เช่น เรื่องบางเรื่อง หากเป็นผู้ชายทำได้ แต่พอผู้หญิงทำบ้าง กลายเป็น “ความก้าวร้าว” ในทุกบริบท เช่น ในที่ทำงาน ในบทบาททางการเมือง หรือแม้แต่การวิพากษ์วิจารณ์ในรัฐสภา ก็ตาม

“บางครั้งจะแฝงไปด้วยอคติในความเป็นเพศ และมีคำที่สื่อถึงการดูถูก ดูหมิ่น แม้ภาพจะดูว่าเป็นการให้โอกาส แต่มักไม่ได้รับการยอมรับอย่างเท่าเทียม”

หากจะให้เห็นภาพ นางสาวสุเพ็ญศรี ยกตัวอย่างว่า การเติบโตในบทบาทการทำงานของผู้หญิง จะยากกว่าผู้ชาย จะมีไม่มากนัก ที่ผู้หญิงจะเติบโตถึงขั้นฝ่ายบริหาร เช่น ธุรกิจการธนาคาร หรือในส่วนราชการบางกระทรวง เราจะเห็นผู้หญิงทำงานเยอะมาก แต่โอกาสในการเติบโตกลับเป็นเพศชาย และผู้บริหารที่มีอำนาจตัดสินใจ ก็มักจะเป็นเพศชาย ดังนั้น ในประเด็น “ภาวะผู้นำ” สังคมไทย ยังให้น้ำหนักไปที่ผู้ชายมากกว่า...หรือแม้แต่การกำหนดยุทธศาสตร์ประเทศ หรือนโยบายต่างๆ ก็มักเกิดขึ้นโดยผู้ชาย ซึ่งการออกแบบบ้าน เราจำเป็นต้องคำนึงถึงคนใช้ประโยชน์ด้วย

...

ทั้งนี้ ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 71 กำหนดไว้ การจัดสรรงบประมาณต้องคำนึงถึงเพศ วัย สถานะ ยกตัวอย่างการการจัดประชุม ที่เกี่ยวข้องกับ อปท. (องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) สมัยก่อนจะมีแต่ผู้ชายเป็นหลักในการประชุม เพราะผู้ชายได้เป็นผู้นำในการเมืองท้องถิ่น เช่น นายก อบจ. นายกเทศมนตรี หรือแม้แต่ปลัด อบจ. หรือ เทศบาล อบต. ก็ตาม

นั่นคือ ภาพรวมของคน แต่....บางครั้ง สถานที่ก็บ่งบอกได้ เช่น ห้องน้ำ เราพบว่าอาคารประชุมบางแห่ง มีห้องน้ำชายมากกว่าห้องน้ำหญิง เป็นต้น

การเลี้ยงลูก “ไม่ใช่หน้าที่ผู้หญิง” ฝ่ายเดียว

นอกจาก ความไม่เท่าเทียมในสังคม และสังคมการทำงานแล้ว ผอ.มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม ยังระบุว่า ปัญหาความเท่าเทียมยังเกิดขึ้นภายในครอบครัวด้วย ดังคำว่า “หน้าที่เลี้ยงลูก” เป็นของผู้หญิง ซึ่งในความเป็นจริง บทบาทในตามธรรมชาติที่เป็นหน้าที่ของผู้หญิง คือ การตั้งครรภ์ แต่การเลี้ยงลูก เพศใดก็ดูแลได้ การจะอยู่ร่วมกันในครอบครัวได้ เราต้องเคารพเสรีภาพ และสิทธิการแสดงออกด้วย

“ปัญหาของประเทศไทย มักไม่เคารพความเห็นต่างของคนที่มีความคิดเห็นไม่เหมือนกันได้ โดยเฉพาะคนที่เติบโตมาจากระบบผู้ชายเป็นใหญ่”

การแสดงออกทางการเมือง กับบทบาทผู้หญิง

นางสาวสุเพ็ญศรี ยอมรับว่า ปัจจุบัน ผู้หญิงมีบทบาททางการเมืองมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของ “จำนวน” แต่สุดท้ายมันอยู่ที่อำนาจตัดสินใจ ซึ่งที่ผ่านมาเคยไปประชุมเมื่อปี 2538 ในหัวข้อ สตรี เสมอภาค พัฒนา ที่ประเทศจีน ถึงเวลานี้ผ่านมาเกือบ 30 ปี พบว่ามีผู้หญิงเข้าสู่ระบบการเมืองของประเทศไทยมากขึ้น แต่ตำแหน่งการตัดสินใจ อย่างเช่น รัฐมนตรี ก็ยังเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ที่ผู้ชายได้ยึดครองอำนาจ

“ดังนั้น เมื่อเกิดปัญหาในประเด็นความเหลื่อมล้ำ ไม่เสมอภาค ก็มักจะเกิดกับเพศหญิง”

เมื่อถามว่า ปัจจุบัน เราจะเห็นผู้หญิงออกมาชุมนุมทางการเมืองมากขึ้น นางสาวสุเพ็ญศรี มองว่าการชุมนุมมี 2 ลักษณะ คือแบบจัดตั้ง กับธรรมชาติ ซึ่งหากเป็นเรื่องธรรมชาติ หมายถึงว่า บางครั้งมันมีสถานการณ์บีบบังคับ เช่น โรงงานปิดตัวกะทันหัน ต้องออกมาประท้วง หรือบางเรื่องเป็นเรื่องของ “จิตวิญญาณ”

“ดังนั้น การชุมนุมแต่ละครั้งจึงมีหลากหลาย และที่สำคัญคือ รัฐธรรมนูญไทยก็รองรับการชุมนุม การมีเพศใดมาชุมนุมมากกว่าหรือน้อยกว่า หาใช่ประเด็นสำคัญ เพราะหากเราเคารพเสรีภาพระหว่างเพศแล้ว นั่นก็หมายถึงสิ่งที่เขาต้องการแสดงออกให้เห็น ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ เป็นสิทธิพลเมือง แต่ว่าต้องถูกกำหนดโดยกฎระเบียบ

...

ประเด็นกฎหมาย กับความเหลื่อมล้ำ

กับหัวข้อด้านกฎหมาย ผอ.มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม ย้ำว่า เป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะโครงสร้างในการออกกฎหมายเดิม (ของเก่า) มาจากผู้ชาย ฉะนั้นคำบางคำที่อยู่ในกฎหมาย มันก็ส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำได้ ยกตัวอย่าง กฎหมายความผิดเกี่ยวกับเพศ ตั้งแต่เรื่องการข่มขืนกระทำชำเรา ที่ระบุว่า “ชายใดข่มขืนหญิงอื่นที่ไม่ใช่ภรรยาตน”

คำคำนี้ แปลว่า กฎหมายต้องการคุ้มครองไม่ให้ภรรยาถูกชายอื่นกระทำ โดยลืมคิดว่า การข่มขืนภรรยาตัวเองก็มีความผิด ซึ่งเรื่องนี้องค์กรเกี่ยวกับผู้หญิงได้เรียกร้อง และมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย

“จากคุยกับนักกฎหมายในอดีต บอกว่ารากความคิดมาจากการ “คุ้มครองฝ่ายสามี” เพราะกฎหมายเดิม สามีข่มขืนภรรยาตัวเอง ไม่สามารถแจ้งความได้ และต่อมามีการแก้ไขกฎหมาย การข่มขืนภรรยาตัวเอง สามารถนำไปสู่การฟ้องหย่าได้ นอกจากนี้ ยังมีรายละเอียดอื่นๆ เช่น กระบวนการสอบปากคำผู้หญิงในคดีข่มขืน หากเขายังถูกผู้ชายสอบปากคำ และคนที่สอบสวนไม่ได้เรียนจิตวิทยามา บางคำถามจึงอาจเป็นการ “กระทำซ้ำ” กับเหยื่อได้ และที่ผ่านมาคดีข่มขืนนั้น มักเกิดกับเพศหญิงเป็นส่วนใหญ่”

...

ฝากรัฐบาลใหม่ คัดสรร รมว.พม.

สำหรับสิ่งที่อยากฝากไปถึงรัฐบาลชุดใหม่ นางสาวสุเพ็ญศรี กล่าวว่า เวลานี้คนกำลังสนใจในการเลือกนายกรัฐมนตรี แต่สิ่งที่อยากฝากคือ คนที่จะมานั่งตำแหน่งสำคัญอย่าง กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ อยากให้คัดเลือกคนที่มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ มาทำหน้าที่ เพราะ “วิสัยทัศน์” เป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะไม่เลือกคนที่เคยละเมิดสิทธิเด็ก สตรี แม้จะไม่เคยถูกฟ้องร้องก็ตาม

“หากเราเลือกคนที่ความประพฤติไม่เหมาะสม ไม่เคารพสิทธิ หน้าที่ผู้อื่น เวลาเขาใช้อำนาจ อาจเป็นการกระทำเพื่อความต้องการของตนเอง เราอยากได้ผู้นำที่มีความสง่างาม โดยเฉพาะประเด็นเรื่องความรุนแรงในครอบครัว หน่วยงานยุติธรรมทุกหน่วยต้องร่วมดูแล เพราะหากหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งละเลย มันส่งผลให้เกิดซ้ำ มันจะนำไปสู่ความปลอดภัยของชีวิต ไม่ว่าฝ่ายใดก็ตาม”

การเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสมอภาคระหว่างเพศ จะเป็นยุทธศาสตร์ในการสร้างสมดุลเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาสังคม ตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก...ดังนั้นการคัดเลือกบุคคลเข้ามาทำงาน จำเป็นต้องตระหนักและใส่ใจ

...

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านบทความที่น่าสนใจ