“สะพานถล่ม ที่ ลาดกระบัง เป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นครั้งแรกในกรุงเทพฯ” 

รศ.เอนก ศิริพานิชกร ประธานที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการ วิศวกรรมโครงสร้างและสะพาน วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) บอกกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ พร้อมอธิบายขั้นตอนการก่อสร้างสะพาน จะแบ่งเป็น 3 ขั้นตอนสำคัญ พร้อมตั้งข้อสังเกตถึงสาเหตุในการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงกันต่อ 

สำหรับ เหตุคานสะพานถล่ม เกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 18.00 น. วันที่ 10 ก.ค.66 โดยคานสะพานข้ามแยก บริเวณหน้าโลตัส ลาดกระบัง เกิดทรุดตัวและถล่ม โดยในเบื้องต้น มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และบาดเจ็บหลายราย 

ขั้นตอนที่ 1 การออกแบบสะพานและโครงสร้าง  

ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมโครงสร้างและสะพาน อธิบายว่า จุดเริ่มต้นของกระบวนการก่อสร้างจะเริ่มต้นด้วยการ “ออกแบบ” ซึ่งการออกแบบเป็นโครงข้อแข็ง โดย “เสา” กับตัว “คานสะพาน” ถูกก่อสร้างต่อเนื่องกัน โดยเป็นการวาง “ไม่เชื่อม” ต่อกับเสา ซึ่งการดำเนินการก่อสร้างลักษณะนี้ ถือเป็นการก่อสร้างแบบเก่า ซึ่งจะทำให้เกิด “รอยต่อ” ระหว่างตอม่อ 

...

“ช่องที่เป็นรอยต่อ เวลาขับรถผ่าน มันจะเกิดความรู้สึกสั่นสะเทือน ตึกๆ ตึกๆ ต่อมา บางสะพานจะเปลี่ยนวิธีการด้วยการสร้างหลายช่วง แบ่งเป็น 3-4 ช่วง เป็นต้น ทั้งนี้ วิธีการสร้างแบบนี้ถือว่ามีมาตรฐาน เพราะทำกันมามากมายแล้ว" 

ขั้นตอนที่ 2 การเลือกใช้วัสดุ และอุปกรณ์ 

รศ.เอนก อธิบายว่า โดยทั่วไปการดำเนินการก่อสร้าง ที่ใช้ตัวยกสะพาน หรือ Launcher โดยก่อนจะนำมาใช้จะมีการทดสอบก่อนว่ารับน้ำหนักได้ขนาดไหน เพราะต้องคำนวณชิ้นส่วนต่างๆ เมื่อทำการก่อสร้างไปแล้ว สัก 30 ต้น ก็จะมีการทดสอบอีกครั้งเพื่อความมั่นใจ 

ขั้นตอนที่ 3 ปัญหาระหว่างก่อสร้าง 

ประธานที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการ วิศวกรรมโครงสร้างและสะพาน  วสท. กล่าวว่า การก่อสร้าง ก็ต้องวางตรงกับ “ตอม่อ” ตรงนี้คงต้องไปพิจารณารายละเอียดว่าเป็นอย่างไร ซึ่งเราก็มีการเก็บภาพในที่เกิดเหตุไว้เยอะ 

การที่ “สะพานถล่ม” ได้มันต้องมีสาเหตุ  ตอนนี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่ามีสาเหตุมาจากอะไร แต่หลังจากนี้ก็คงต้องไปหาคำตอบในประเด็นต่างๆ เช่น การตั้ง Launcher เป็นอย่างไร, ยกขึ้นไปเป็นอย่างไร, สลิงที่ขึงหลุดหรือไม่, การดึงต่างๆ มีลำดับขั้นที่ดีหรือไม่ ทั้งหมด จะต้องมีการตรวจสอบ จากข้อมูลที่เกิดเหตุ และเอกสาร...

ตั้งข้อสังเกต “ต้นตอ” อุบัติเหตุ อาจอยู่ในขั้นตอน 2 และ 3 

เมื่อถามว่า เท่าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบ มีการตั้งข้อสังเกต ที่อาจจะเป็นต้นตอสาเหตุการถล่มครั้งนี้ได้บ้าง ผู้เชี่ยวชาญด้านโครงสร้างสะพาน เผยว่า ขั้นตอนการออกแบบ ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะสะพานลักษณะนี้ใช้กันมาเยอะมากแล้ว ส่วนขั้นตอนที่ 2 และ 3 คือ การเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ ว่าตัวยึดสะพานต่างๆ ดีหรือไม่ และการทำงานระหว่างการก่อสร้างนั้น เป็นอย่างไร เป็นไปได้แค่ไหนที่จะเกิดอุบัติเหตุขึ้น 

“เหมือนการตรวจสอบ กรณี สะพานถล่มที่ พระราม 2 สิ่งที่เราไปดู ก็คือ ขั้นตอนที่ 2 และ 3 แบบนี้ ส่วนเคสนี้จะเป็นอย่างไร คงตอบไม่ได้โดยทันที เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่เกิดอุบัติเหตุในเมืองแบบนี้ เพราะการเดินทางตรงนี้มันอยู่ในชีวิตประจำวันของคนจำนวนมาก ซึ่งในนามวิศวกรคนหนึ่งก็อยากขออภัยพี่น้องประชาชนด้วย” 

...

ทำอย่างไรต่อไป กับ สะพานมูลค่าพันล้าน

ประธานที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการ วิศวกรรมโครงสร้างและสะพาน กล่าวว่า สิ่งที่อยากแนะนำในเวลานี้ คือ การ “ตัด” โครงสร้างที่แล้วเสร็จ และไม่พัง ซึ่งตรงนี้มันมีขั้นตอนการแก้ไขอยู่ แต่ก็ต้องตรวจสอบให้ดีว่า การพังลงมามันกระทบไปถึงไหน 

การก่อสร้างขึ้นมา มันมีมูลค่าอยู่ ฉะนั้น สิ่งที่เราต้องทำ คือ การรื้อถอนซากที่พังลงมา เพราะไม่แน่ใจว่ามีคนอื่นติดอยู่ในซากเหล่านั้นหรือไม่ ตรวจสอบให้ชัดเจน ว่าผลจากการถล่มมันเป็นอย่างไร ชิ้นส่วนที่อยู่ในพื้นที่ก่อสร้างแม้ว่าจะยังไม่นำมาใช้งาน ก็อาจจะ “ยกเลิก” ห้ามใช้ โดยต้องให้เขาขนของที่มีออกไป เราจะต้องตรวจสอบเพื่อป้องกันไม่ให้กลับมาใช้อีก ก่อนอื่นต้องตรวจสอบโครงสร้างที่เหลืออยู่ให้ “แข็งแรง”   

“ส่วนการตัดออก ยังไม่จบนะครับ มันต้องตรวจด้วยว่า ส่วนที่ไม่พังยังใช้ได้อยู่หรือไม่ ส่วนตัวมีความมั่นใจว่า น่าจะยังใช้โครงสร้างส่วนที่เหลือได้ แค่ต้องดูว่า มันลามไปถึงไหน ที่แน่ๆ คือ สะพานที่ติดกับตัวที่พัง น่าจะต้องรื้อถอนออก คำว่า “รื้อถอน” ในเชิงวิศวกรรม หมายความว่า เราต้องรื้อถอนออก เพื่อแก้ไขโครงสร้างให้มันมั่นคง ไม่ให้พังลงมา แต่จะใช้หรือไม่ จะต้องผ่านการตรวจสอบทางวิศวกรรมอีกครั้ง”

...

สิ่งที่เกิดขึ้น มันเกี่ยวข้องกับความมั่นใจของประชาชน? รศ.เอนก กล่าวยอมรับว่า ถูกต้อง ฉะนั้น การทำงานเกี่ยวกับวิศวกรรมสถาน ต้องลงรายละเอียดมากกว่างานอื่นๆ ที่เราเคยทำและแก้ไขมา โดยท่าน “วัชรินทร์ กาสลัก” นายกวิศวกรรมสถาน ย้ำว่า ต้องโปร่งใส และให้รายละเอียดมากที่สุด 

มีอะไรที่อยากจะแนะนำไปทาง กรุงเทพมหานครบ้างหรือไม่ รศ.เอนก บอกว่า เป็นสิ่งที่ทำอยู่แล้ว เพราะทาง กทม. เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ และรับผิดชอบโดยตรง เรามีการประสานงานอย่างใกล้ชิดโดยตรงอยู่แล้ว 

“สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ว่าใคร ทาง กทม. หรือ เราเองก็ตกใจ เรามีความมั่นใจว่า ท่านชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. รับมือได้ แต่เราก็ไปช่วยเพื่อเสริมความมั่นคง แข็งแรง ของโครงสร้าง ณ วันนี้ก่อน คำแนะนำที่ให้ไป จะเริ่มใช้ และทดสอบอย่างไรบ้าง คงขึ้นอยู่กับทางทีมบริหาร อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เราจะติดตามใกล้ชิด เพราะเป็นเหตุที่ใหญ่มาก...” 

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

ภาพ : ธนัท ชยพัทธฤทธี

อ่านบทความที่น่าสนใจ 

...