"ชนาธิป สรงกระสินธ์" กับ การวิเคราะห์ปัจจัย ที่อาจเป็นเหตุผลให้ต้องกล่าวคำอำลา "เจลีก" อาการบาดเจ็บ, แรงกดดัน และสภาพแวดล้อม...
"ชนาธิป สรงกระสินธ์" ถึงเวลาต้องเปลี่ยนถ่ายจาก “ชนาคุง” คืนสู่ “ชนาธิป” อีกครั้ง เพื่อปรับโหมดพร้อมรบเข้าสู่ “สมรภูมิไทยลีก” อันคุ้นเคยอีกครั้ง หลังออกไปเฉิดฉายบนลีกฟุตบอลที่แข็งแกร่งลำดับต้นๆ ของทวีปเอเชียมาเนิ่นนานถึง 7 ฤดูกาล ท่ามกลางความ “เซอร์ไพรส์เล็กๆ” ของแฟนบอลที่ว่า...เหตุใด “เมสซีเจ” ซึ่งยืนยันตลอดก่อนหน้านี้ว่า “พร้อมสู้ต่อเพื่อสานฝันคว้าแชมป์เจลีกให้ได้สักครั้งหนึ่งในชีวิต” จึงตัดสินใจโบกมือลา “สโมสรคาวาซากิ ฟรอนตาเล” มหาอำนาจลูกหนังเมืองปลาดิบ เพื่อกลับมาร่วมกับ “สโมสรบีจี ปทุม ยูไนเต็ด” ในท้ายที่สุด วันนี้ “เรา” ลองไปพิจารณาข้อมูลแวดล้อมต่างๆ ที่อาจพอให้ “คำตอบ” ในประเด็นนี้กันดู
...
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง :
ปัจจัยอะไรที่ทำให้ ชนาธิป สรงกระสินธ์ อำลาเจลีก :
1. อาการบาดเจ็บรุมเร้า
“โทรุ โอนิกิ” กุนซือสโมสรคาวาซากิ ฟรอนตาเล ให้สัมภาษณ์กับสื่อญี่ปุ่นถึงประเด็นนี้ว่า...
“ผมคิดว่ามันเป็นการตัดสินใจที่ยากลำบากสำหรับทั้งเขา (ชนาธิป) และผม เพราะชนาคือจุดแข็งของทีม แต่อย่างไรก็ดี เมื่อต้องพิจารณาถึงเส้นทางการค้าแข้งในอนาคต ชนาควรมีโอกาสในการลงสัมผัสเกม หากแต่ที่ ฟรอนตาเล เขาอาจมีโอกาสลงเล่นได้ไม่มากนัก และผมเองก็คงไม่สามารถให้โอกาสกับชนาได้ เนื่องจากเขามีอาการบาดเจ็บรบกวนอยู่บ่อยครั้ง ผมปรารถนาให้เขาไม่บาดเจ็บ เพราะเวลาที่เขาไม่มีอาการบาดเจ็บรบกวน เขาจะเล่นได้ดีอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้นผมจึงหวังว่า เขาจะกลับประเทศไทยและสนุกกับฟุตบอลได้อีกครั้ง ในตอนที่เราคุยกัน เราตัดสินใจเรื่องการย้ายทีมภายใต้มุมมองในด้านบวก และถึงแม้เวลาที่เราอยู่ร่วมกันที่ฟรอนตาเลจะแสนสั้น แต่มันก็เป็นช่วงเวลาที่สำคัญสำหรับเราทั้งคู่”
จริงหรือไม่? ที่อาการบาดเจ็บรบกวนฟอร์มการเล่นของ “เมสซีเจ” และนี่คือ...ข้อมูลอาการบาดเจ็บของ “ชนาธิป” ตลอด 7 ฤดูกาลการค้าแข้งในเจลีก :
สโมสรคอนซาโดเล ซัปโปโร (Consadole Sapporo) :
ฤดูกาล 2016-17 : (1 ก.ค.-2 ธ.ค.)
ลงเล่น : 17 นัด จากโปรแกรมการแข่งขันรวมทุกถ้วย 19 นัด ทำ 1 แอสซิสต์
ถูกเปลี่ยนตัวออก : 2 ครั้ง
อาการบาดเจ็บ : -
ฤดูกาล 2017-18 :
ลงเล่น 31 นัด จากโปรแกรมการแข่งขันรวมทุกถ้วย 43 นัด ยิง 9 ประตู 3 แอสซิสต์
ถูกเปลี่ยนตัวออก : 6 ครั้ง
บาดเจ็บจนพลาดการลงสนาม : 2 นัด
อาการบาดเจ็บ : ข้อเท้า 2 นัด
ฤดูกาล 2018-19 :
ลงเล่น 30 นัด จากโปรแกรมการแข่งขันรวมทุกถ้วย 48 นัด ยิง 4 ประตู 7 แอสซิสต์
ถูกเปลี่ยนตัวออก : 10 ครั้ง
บาดเจ็บจนพลาดการลงสนาม : 9 นัด
...
อาการบาดเจ็บ : เอ็นร้อยหวาย 1 นัด, กล้ามเนื้อฉีกบริเวณต้นขาด้านหลัง 4 นัด, บาดเจ็บที่น่อง 4 นัด
ฤดูกาล 2019-2020 :
ลงเล่น 20 นัด จากโปรแกรมการแข่งขันรวมทุกถ้วย 38 นัด ยิง 1 ประตู 5 แอสซิสต์
ถูกเปลี่ยนตัวออก : 13 ครั้ง
บาดเจ็บจนพลาดการลงสนาม : 16 นัด
อาการบาดเจ็บ : โคนขาหนีบ 2 นัด เอ็นร้อยหวาย 14 นัด
ฤดูกาล 2020-2021 :
ลงเล่น 25 นัด จากโปรแกรมการแข่งขันรวมทุกถ้วย 50 นัด ยิง 1 ประตู 6 แอสซิสต์
ถูกเปลี่ยนตัวออก : 14 ครั้ง
บาดเจ็บจนพลาดการลงสนาม : 12 นัด
อาการบาดเจ็บ : หัวเข่า 2 นัด โคนขาหนีบ 10 นัด
...
สโมสรคาวาซากิ ฟรอนตาเล (Kawasaki Frontale) :
ฤดูกาล 2021-2022 :
ลงเล่น 22 นัด จากโปรแกรมการแข่งขันรวมทุกถ้วย 45 นัด ยิง 2 ประตู 3 แอสซิสต์
ถูกเปลี่ยนตัวออก : 18 ครั้ง
บาดเจ็บจนพลาดการลงสนาม : 17 นัด
อาการบาดเจ็บ : กล้ามเนื้อน่อง 12 นัด, กล้ามเนื้อฉีกบริเวณต้นขาด้านหลัง 3 นัด, โคนขาหนีบ 2 นัด
ฤดูกาล 2022-2023 :
ลงเล่น 6 นัด ยิง 1 ประตู โดยปัจจุบันแข่งไปแล้วรวม 23 นัด
ถูกเปลี่ยนตัวออก : 5 ครั้ง
บาดเจ็บจนพลาดการลงสนาม : 5 นัด
อาการบาดเจ็บ : ไม่มีการระบุ
อ้างอิงข้อมูล : transfermarkt.com
จริงหรือไม่? ที่อาการบาดเจ็บที่รบกวนการลงสนามจนส่งผลกระทบต่อฟอร์มการเล่น และนี่คือ...ข้อมูลการลงสนามของ “ชนาธิป” ในสีเสื้อ : “คาวาซากิ ฟรอนตาเล”
...
ฤดูกาลแรก กับ “คาวาซากิ ฟรอนตาเล” ชนาธิป ซึ่งย้ายทีมมาด้วยค่าตัวมหาศาล ได้ลงสนาม “เฉพาะในลีก” ไปเพียง 16 นัด (ตัวจริง 15 นัด) รวมเวลา 942 นาที (ค่าเฉลี่ยลงเล่นต่อนัดอยู่ที่ 59 นาที) ทำให้เขาเป็นนักเตะต่างชาติใน “ฟรอนตาเล” ที่มี “ค่าเฉลี่ยลงเล่นต่อนัดในลีกให้กับทีมในลำดับสุดท้าย!” (ขนาด “เจเซล” (Jesiel) กองหลังชาวบราซิล ที่ได้ลงเล่นไปเพียง 12 นัด (ตัวจริง 11 นัด) รวม 937 นาที ยังมีค่าเฉลี่ยลงเล่นต่อนัดนานถึง 78 นาที!)
นอกจากนี้ “จอมทัพร่างเล็ก” ยังถูกเปลี่ยนตัวออก 15 ครั้ง! หรือแปลว่าทุกนัดที่ “ชนาธิป” ได้ลงเล่นเป็นตัวจริงในลีกจะถูกเปลี่ยนตัวออกทุกนัด ในขณะที่บาดเจ็บทำให้ “เมสซีเจ” พลาดการลงเล่นในลีกไปรวม 13 นัดจากทั้งหมด 34 นัด
ส่วนฤดูกาลนี้ (2022-23) ผ่านไปแล้ว 18 นัด ชนาธิป ซึ่งปัจจุบันอายุ 29 ปีแล้ว เพิ่งได้ลงสนามไปเพียง 2 นัด ซึ่งแม้จะได้เป็นตัวจริงทั้ง 2 นัด (รวม 138 นาที) แต่ก็ยังมีค่าเฉลี่ยการลงเล่นต่อนัดอยู่ที่เพียง 69 นาที เนื่องจากถูกเปลี่ยนตัวออกทั้ง 2 นัดเช่นเดิม!
ขณะที่ปัญหาอาการบาดเจ็บจนพลาดการลงสนามนั้น มีรวมทั้งสิ้น 5 นัด แต่ไม่มีการระบุถึงสาเหตุของอาการบาดเจ็บแต่อย่างใด หากแต่ที่ดูแย่กว่าฤดูกาลแรก คือ ในฤดูกาลนี้ “ชนาคุง” ไม่มีชื่อติดทีมแม้กระทั่งตัวสำรองมากถึง 7 นัด และมีรายชื่อเป็นตัวสำรอง 3 นัด แต่ทั้ง 3 นัดที่ว่านี้ เจ้าตัวไม่เคยถูกเปลี่ยนตัวลงสนามเลยแม้แต่นัดเดียวเสียด้วย!
2. ปัญหาการปรับตัวกับสภาพแวดล้อมใหม่ :
หากจะพูดว่า...การพาตัวเองจากสภาพแวดล้อมอันคุ้นชินไปสู่สภาพแวดล้อมใหม่ “จะไม่มีผลกระทบต่อฟอร์มการเล่นในสนามเสียเลย” ย่อมเป็นเรื่องที่ “เป็นไปได้ยาก” ฉะนั้น “เรา” ลองไปย้อนฟังจากปากของ “เมสซีเจ” ถึงสภาพแวดล้อมใหม่ที่ “คาวาซากิ ฟรอนตาเล” ว่ามีความแตกต่างจาก สภาพแวดล้อมเดิมที่ “คอนซาโดเล ซัปโปโร” ทีมที่ช่วยให้เขาสามารถเฉิดฉายจนได้เป็น 11 ผู้เล่นยอดเยี่ยมของเจลีกในฤดูกาล 2018 ขนาดไหน?
โดย “เจ ชนาธิป” ได้ให้สัมภาษณ์กับ “ช่องฟุตบอล 108” และมีหลากหลายประเด็นที่ “น่าสนใจ” ซึ่งอาจจะพออธิบายถึง “ปัญหาการปรับตัวอันแสนยุ่งยาก” ที่เกิดขึ้นได้พอสมควร...
การฝึกซ้อม :
“ตอนอยู่กับซัปโปโรคิดว่าซ้อมหนักแล้ว แต่ที่ฟรอนตาเลซ้อมหนักกว่า ตอนอยู่กับซัปโปโร มันจะมีแค่ปี 2017 เท่านั้นที่รู้สึกกดดัน แต่หลังจากนั้นมันเป็นตัวเรา คือมันมีความสบาย เพราะอย่างไรเราก็ได้ลง ต่อให้เจ็บกลับมา ร่างกาย แค่ 70% โค้ชมิชา (มิไฮโล เปโตรวิช) เขาก็ต้องใช้ผม
ส่วนที่ฟรอนตาเล ทุกคนใส่กันสุด มีการแข่งขันกันสูงมาก ความเข้มข้นเรื่องการซ้อมในแต่ละวัน ผมต้องใส่ 100% ตลอดเวลา บางทีใส่ 100% ในสนามไปหมดแล้ว เพื่อนๆ ทุกคนยังมาโชว์เตะโน่นเตะนี่....วิ่ง...เราก็ต้องวิ่งตาม เพราะถ้าไม่ทำเราก็ไม่มีคะแนนอีกแล้ว (หัวเราะ) คือสภาพเรานี่มันร่อแร่แล้ว เพราะผมต้องใช้กำลังมากกว่าคนอื่น คือ บางทีก็รู้สึกทำไมมันเหนื่อยขนาดนี้ คือมันอาจจะเหนื่อยเพราะสภาพจิตใจด้วย หัวด้วย ร่างกายด้วย ยิ่งพอเจ็บกลับมามันก็ยิ่งเหนื่อยเข้าไปอีก”
“ผมว่าทุกคนในคาวาซากิ นี่คือ เรียกว่า มาจิเมะ (Majime) คือทุกคนจะจริงจัง ทุกคนมาเช้า ทุกคนเข้าห้องยิม ไม่มีมานั่งที่ล็อกเกอร์ คุยกันเล่นๆ น้อยมาก ทุกคน คือ ลงมาซ้อมแบบตัวเองต้องได้เล่น และในวันที่แข่ง Mentality ของทีมใหญ่ คือ ทีมเราเก่ง ฝ่ายตรงข้ามจะเป็นใครไม่รู้ แต่ทีมเราเก่ง ทีมเราต้องชนะ พวกเขาอาจจะไม่ค่อยพูด แต่ทุกคนมืออาชีพ”
เพื่อนร่วมทีม :
“มันก็มีบางช่วงเหมือนกันที่รู้สึก...ทำไมต้องให้ทำแบบนั้นแบบนี้ มันเหมือนอาจจะไม่ใช่ความอิสระที่เราอยากได้ โค้ช (โทรุ โอนิกิ) บอกให้ผมอิสระ แต่คุณภาพของคนรอบข้าง หรือรุ่นพี่ที่อยู่รอบข้าง มันจะทำให้ผมอิสระได้อย่างไร เขามาปุ๊บผมก็ต้องให้ (จ่ายบอล) แต่อยู่ที่ซัปโปโร ทุกคนต้องให้บอลผม แต่ในทุกทีมมันก็ต้องมีแบบนี้แหละ แต่ผมไม่ได้อะไรนะเพราะผมเข้าใจ”
“ตอนผมเจ็บ ลูกพี่ใหญ่ (อากิฮิโระ อิเอนากะ กองหน้าจอมเก๋าของฟรอนตาเล) ส่งข้อความมาหาผมเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า รีบกลับมาได้ไหมอยากเล่นกับผม หรือ ยู โคบายาชิ (กองหน้าฟรอนตาเลและทีมชาติญี่ปุ่น) ก็ส่งข้อความมาว่า อยากเล่นกับชนา เพราะชนามองเห็นเขาตลอด ซึ่ง โค้ช (โทรุ โอนิกิ) ก็บอกผมเหมือนกันว่า เขามองตลอดเวลาลงเล่นด้วยกัน ชนา จะสามารถจ่ายบอลให้ ยู โคบายาชิ ยิงได้ตลอด เวลาซ้อมด้วยกัน”
ระบบการเล่น :
“ผมอาจจะกดดันตัวเอง ไม่เป็นธรรมชาติ เหมือนเราก็ต้องเล่นตามระบบ คือ นักเตะหมายเลข 8 เห็นแบบนั้นมันเล่นยากนะ เพราะหนึ่งเมื่อตัดบอลได้แล้ว ข้างหน้าไม่มีใครก็ต้องส่งบอลคืนหลัง อีกอย่างเล่นตำแหน่งนี้จะเสียบอลไม่ได้ มันก็ต้องส่งบอลคืนหลังเพื่อขยับใหม่ และหาจังหวะเทิร์นบอลใหม่ เพราะฟุตบอลทีมฟรอนตาเล คือต้องครอบครองบอล ให้บอลที่เท้า และจะไม่ค่อยมีใครให้บอลหลังไลน์...มีน้อยมาก ส่วนใหญ่จะให้ที่เท้าแล้วขยับ มันจะเป็นแบบให้แล้ว ขยับหนึ่งสอง ซึ่งบางครั้งอาจจะเซตบอลกันนานโดยไม่เข้าทำเลย”
“ที่ซัปโปโร จะเน้นเกมรุกจ๋า ให้ตัวนี้ ปุ๊ปๆ บอลเร็วแป๊บเดียวถึงประตู เสียบอลปุ๊บตั้งเอาขึ้นมาใหม่ แต่ที่คาวาซากิ จะเน้นการครองบอล ให้คนอื่นมาไล่ ครองเกม ครองเกม คือเน้นแบบถึงเท้า ถึงเท้า มันก็จะเป็นคนละสไตล์”
โทรุ โอนิกิ :
“ต้องเข้าใจกันก่อนว่า...คือผมไม่ได้มาพร้อมโค้ช (โทรุ โอนิกิ) โค้ชเขาได้แชมป์ประสบความสำเร็จมาแล้ว ทีมก็ประสบความสำเร็จ ในบรรดานักฟุตบอลก็มีแค่ผมคนเดียวที่มาใหม่ (ฤดูกาล2021-22) และได้เล่นมากกว่าคนอื่น ขนาดตัวเก่าๆ บางคนยังแทบไม่เคยได้ลงเล่นเลย ผมเป็นคนที่มาแล้วได้ลงเล่นเยอะสุด”
โค้ช มิไฮโล เปโตรวิช VS โทรุ โอนิกิ :
“ที่ซัปโปโร โค้ชมิชา (มิไฮโล เปโตรวิช) ถามผมเลยว่าวันนี้ อยากเล่นกับกองหน้าคนไหน?”
“ที่ ฟรอนตาเล โค้ช (โทรุ โอนิกิ) จะถามว่าชอบเล่นกับใครมากที่สุด โค้ชนี่คุยเหมือนเพื่อนเลย โค้ชโอนิกิเนี่ย (หัวเราะ) คุยกับผมเยอะที่สุดเลยในทีม คือ ชอบมาคุยไม่รู้ทำไม (หัวเราะ)”
การต่อสู้กับความคาดหวัง :
“โค้ชโอนิกิ เขาบอกกับผมตลอด ถ้าให้ชนา 5 นิ้ว บนนิ้วของเขาเนี่ย ชนา มีครบ 5 อย่าง ชนา คือนักฟุตบอลที่ท็อปของคาวาซากิเลย แต่มีอย่างเดียวที่ขาด คือ เมื่อมาอยู่ที่นี่คือ ชนา เกรงใจคนอื่น”
“ผมก็คาดหวังนะ ผมคาดหวังว่ามันน่าจะเหมาะกับเรา ตอนจะก่อนไป เพราะผมไม่กลัวว่าจะสู้คนอื่นไม่ได้ ผมสู้ได้ เพราะในเจลีกผมเจอมาหมดทุกคนแล้ว ซ้อมก็สู้ได้ ตอนอุ่นเครื่องผมยิงตลอด เพราะผมไม่คิดอะไรเลยตอนอุ่นเครื่องอยากเล่นอะไรก็เล่น แต่พอไปแข่งจริง อยากเล่นอะไร เล่นไม่ได้ไง”
“ผมเป็นแบบนี้มาโดยตลอด (ความเกรงใจ) ตอนเล่นให้ทีมชาติไทย ผมรู้สึกอิสระมาก ผมจ่ายบอลเสีย ผมก็ยังรู้สึกว่า ก็ยังจะจ่ายบอลต่อไป เพราะผมต้องการเสี่ยง แต่อยู่คาวาซากิ ถ้าจ่ายบอลเสียสักลูกหนึ่ง เอาแล้ว...ผมจะรู้สึกว่า ต้องโดนเปลี่ยนตัวออกแน่ๆ หรือแม้กระทั่งตอนซ้อม เวลาจ่ายบอลเสีย ผมจะคิดว่า ไม่ได้ลงเล่นแน่ๆ เลยว่ะ คือไม่รู้เราคิดไปเองคนเดียวหรือเปล่า แต่คนอื่นๆ (นักเตะฟรอนตาเล) เขาจ่ายบอลเสียเขาก็ยังเล่นอยู่”
แรงกดดันจากค่าตัวมหาศาล :
“ในวันที่ทีมพลาดแชมป์เจลีก (2021-22) ผมเดินไปถามโค้ช (โทรุ โอนิกิ) ว่า โค้ช ไม่ได้แชมป์เพราะผมรู้เปล่า? เขาบอกว่า ไม่ใช่ แพ้ก็แพ้ด้วยกัน ไม่ได้เกี่ยวกับ ชนา เลย (น้ำตาไหล)
ผมรู้สึกผิด เขาเรียกว่าอะไรอะ...มันน่าจะดีกว่านี้ หมายถึงว่า ผมน่าจะช่วยทีมได้มากกว่านี้ แค่นั้นเอง เพราะถึงผมไม่ได้ลงก็จริง เราก็เชียร์ให้ทีมได้แชมป์ เพราะถ้าทีมได้แชมป์เราก็ได้ด้วย เพราะผมก็เป็นเพื่อนซ้อมให้เขา ผมรู้สึกว่าความรับผิดชอบส่วนหนึ่งมาจากเรา เพราะเขาเชื่อมั่นในตัวเรา ทีมซื้อมา...และซื้อมาแพง”
ทั้งหมดนั้นเป็นเพียง "อดีต" และความพ่ายแพ้ไม่ใช่ "จุดสิ้นสุด" เพราะทุกๆ ความพ่ายแพ้ มักจะให้ "บทเรียนอันล้ำค่า" สำหรับการพัฒนาตัวเองให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปได้เสมอ เพราะมนุษย์ทุกคนไม่เคยมีใครที่ไม่เคยลิ้มรสกับความพ่ายแพ้ หรือลอยฟูฟ่องอยู่แต่ "ชัยชนะ" ได้เสมอไป "เรา" จึงขอเอาใจช่วย มิดฟิลด์จอมทัพคนสำคัญสำหรับทีมชาติไทยในยุคนี้ ให้สามารถ "ก้าวผ่าน" อดีต เพื่อไปสู่ "อนาคตที่สดใสได้ในเร็ววัน!"
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง